เด็กชอบซ่อมรองเท้าให้ที่บ้าน ผู้ให้กำเนิด ‘รองเท้าสกอลล์’ (Scholl)

เด็กชอบซ่อมรองเท้าให้ที่บ้าน ผู้ให้กำเนิด ‘รองเท้าสกอลล์’ (Scholl)

รองเท้าสกอลล์ (Scholl) เป็นอีกหนึ่งรองเท้าในตำนานของเด็กยุค 80s - 90s โดยเฉพาะรุ่นที่เป็นรองเท้าแตะกับรุ่นแบบสายรัด แค่เห็นดีไซน์รองเท้าและสีสันก็รู้แล้วว่านี่แหละ ‘สกอลล์’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์มาจากเด็กที่ชอบซ่อมรองเท้า

ใครจะคิดว่าผู้ก่อตั้งแบรนด์นี้เป็นเพียงชายคนหนึ่งที่มีความชอบเรื่องการซ่อมแซมรองเท้าตั้งแต่เด็ก ๆ เรียกว่าเป็น ‘มือซ่อมประจำบ้าน’ เลยก็ว่าได้

เติบโตในครอบครัวเกษตรกรโคนม

วิลเลียม มาเธียส สกอลล์ (William Mathias Scholl) เกิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 1882 ในเมืองลาปอร์ต รัฐอินดีแอนา สหรัฐอเมริกา เขามีพี่น้องทั้งหมด 12 คน เกิดและโตในครอบครัวที่มีอาชีพเป็นผู้ผลิตรถม้าและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหาเลี้ยงชีพ

สกอลล์ เป็นเด็กที่ชอบในการซ่อมแซมรองเท้าเป็นชีวิตจิตใจ หน้าที่หลักของเขานอกจากการช่วยพ่อทำงานหาเงินแล้ว เขายังเป็นช่างซ่อมตัวจิ๋วที่คนในบ้านยกตำแหน่งนี้ให้ สกอลล์มักจะมีความคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับวิธีการซ่อมหรือสร้างรองเท้าที่ทนทานและสวมใส่สบาย

ซึ่งในวัยเด็ก สกอลล์คิดค้นการนำด้ายมาเคลือบขี้ผึ้งก่อนที่จะเย็บรองเท้า โดยพิสูจน์แล้วว่าการซ่อมของเขาจะต่ออายุรองเท้าให้ทนทานยิ่งกว่าเดิมได้

พ่อแม่ของสกอลล์เห็นแววความสนใจในเรื่องนี้ จึงส่งเขาไปฝึกวิชากับช่างทำรองเท้าในตัวเมือง 1 ปี ซึ่งขณะนั้นเขาอายุได้เพียง 16 ปี โดยตลอดเวลาที่ฝึกฝนที่นั่น สกอลล์เห็นสารพัดปัญหาเรื่องเท้าของลูกค้า และเจอกับปัญหาเดิม ๆ คือ รองเท้าทำให้เท้าเจ็บ

จุดเปลี่ยนเกิดจากปัญหาที่คนมองข้าม

พอครบ 1 ปี แรงบันดาลใจจากจุดเริ่มต้นนี้ ทำให้สกอลล์ตัดสินใจสมัครเรียนแพทย์ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ โดยเขาได้ศึกษาเรื่องกายวิภาคศาสตร์ และสรีรวิทยาของเท้าเพิ่มเติม

เขามองว่าปัญหาเรื่องเท้ายังเป็นเรื่องเล็กสำหรับคนในสมัยนั้น และกลับไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

เขาได้รับคุณวุฒิในฐานะแพทย์ในปี 1904 ขณะที่อายุได้เพียง 22 ปี และหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ถูกเรียกว่าเป็น ‘ดร.รองเท้า’ ตั้งแต่ที่จดสิทธิบัตรผลงานชิ้นแรกที่มีชื่อว่า ‘Foot-Eazer’ แผ่นที่สอดไว้ในรองเท้าเพื่อเสริมส่วนโค้งของอุ้งเท้า ซึ่งนับว่าเป็นประดิษฐ์อย่างหนึ่งในยุคนั้นที่มีกระแสฮือฮามาก

 

จุดเริ่มต้นของรองเท้าสกอลล์

ดร.สกอลล์ ได้จัดตั้งบริษัท Scholl Manufacturing Co. Inc. ในปี 1907 ด้วยความตั้งใจที่จะนำวิทยาศาสตร์มาเป็นหัวใจของการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้เขายังได้จัดตั้ง ‘วิทยาลัยอิลลินอยส์’ สำหรับการรักษาโรคเท้า และการรักษากระดูกและกล้ามเนื้อโดยเฉพาะ จนกลายเป็นสถาบันสอนศาสตร์นี้ที่สำคัญในสหรัฐอเมริกา

ดร.สกอลล์ได้ทำงานร่วมกับน้องชาย ‘แฟรงค์’ เพื่อขยายธุรกิจต่างประเทศมากขึ้น โดยใช้คอนเซ็ปต์เดิมตั้งแต่แรกที่ก่อตั้งบริษัทว่า “เมื่อไหร่ที่เท้าคุณเจ็บ คุณจะเจ็บไปทั้งตัว” (when your feet hurt, you hurt all over.)

ตลอดช่วงชีวิตที่เขาสร้างบริษัทและพัฒนารองเท้าสกอลล์ มีข้อมูลบันทึกไว้ว่า ดร.สกอลล์พัฒนาโซลูชั่นเพื่อสร้างรองเท้าเพื่อสุขภาพกว่า 1,000 คู่ออกสู่ตลาดทั่วโลก

นอกจากนี้ ดร.สกอลล์ยังได้สร้างถุงเท้าเพื่อการบีบรัด สำหรับผ่อนคลายเท้าที่บวมและเส้นเลือดขอด และต่อมา ดร.สกอลล์ได้สร้างและจำหน่ายพื้นในของรองเท้า และกลุ่มผลิตภัณฑ์รองเท้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดในเวลาไม่นาน

ปรัชญาที่พูดปากต่อปากถึง ดร.สกอลล์ หนึ่งในคีย์ความสำเร็จที่ทำให้แบรนด์สกอลล์ยังเป็นที่นิยมในตลาดโลกก็คือ “สร้างความสะดวกสบายให้กับสุขภาพเท้า และสวัสดิภาพของผู้คนดีขึ้นด้วยการดูแลเท้าของพวกเขา สุขภาพที่ดีเริ่มต้นที่สุขภาพเท้า”

 

สกอลล์กับตลาดไทย

สกอลล์เข้ามาในตลาดประเทศไทยตั้งแต่ปี 1989 โดยเริ่มผลิตภัณฑ์รุ่น Fitness Deluxe เป็นรุ่นแรก

ถึงแม้ว่าสกอลล์จะผลิตและจำหน่ายรองเท้าในหลาย ๆ รุ่น แต่รุ่นที่ถือว่าเป็นตำนานและคนตามหามากที่สุด ยังคงเป็นรุ่น Scholl Fitness 3.0 สีน้ำเงิน แดง ซึ่งเคยกลับมาผลิตซ้ำอีกครั้งในปี 2019 เพื่อเอาใจคนยุค 90s

 

ดร.รองเท้าในคราบนักบุญ

ในปี 1947 ดร.สกอลล์ได้ก่อตั้งมูลนิธิ Dr.Scholl เพื่อให้ญาติพี่น้องและลูกหลานได้สืบสานงานการกุศลของเขา และช่วยถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับรองเท้าเพื่อสุขภาพต่อไป

โดยเขาได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 1968 ส่วนทรัพย์สินที่เป็นที่ดินเปล่าส่วนใหญ่ ดร.สกอลล์มอบไว้ให้กับมูลนิธิฯ เพื่อสามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

ส่วนแบรนด์สกอลล์ ครอบครัวของเขาตัดสินใจขายให้กับบริษัทยารายใหญ่แห่งหนึ่ง ‘Schering-Plough’ ในปี 1979 และในปี 2009 บริษัทยา Merck & Co. ได้เข้าซื้อตราสินค้าของ ดร.สกอลล์ และซื้อกิจการต่อจาก Schering-Plough

จากนั้นบริษัท Bayer เข้าซื้อกิจการต่อในปี 2014 และในปี 2019 แบรนด์รองเท้าสกอลล์ได้ถูกบริษัท Yellow Wood Partners เข้าซื้อกิจการต่อด้วยมูลค่า 585 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Scholl’s Wellness Company ซึ่งก็ยังประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้

 

ภาพ: drscholls

อ้างอิง:

https://www.drscholls.com/t/about-dr-william-scholl/

https://schollshoesthailand.com/pages/about

https://blog.history.in.gov/dr-scholls-or-dr-scholls-a-hoosiers-empire-built-on-advertising/

https://solefootandankle.com/the-history-of-dr-scholl/