ฮาโลวีน กับประวัติฉบับพิศวง ทำไมเทศกาลสากลอย่าง Halloween ยังไม่ถูกทำให้ ‘เป็นไทย’?

ฮาโลวีน กับประวัติฉบับพิศวง ทำไมเทศกาลสากลอย่าง Halloween ยังไม่ถูกทำให้ ‘เป็นไทย’?

ประวัติ ฮาโลวีน (Halloween) เดิมมีจุดกำเนิดที่ไอร์แลนด์เหนือ เป็นคติที่กลุ่มชาติพันธุ์เซลติกโบราณยึดถือ ทำไมประเพณีที่สืบมาจากคติความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์นี้กลายเป็นวัฒนธรรมสากลจนถึงปัจจุบัน? มีปัจจัยใดบ้างที่ยังไม่ถูกทำให้ ‘เป็นไทย’?

งานเทศกาลวันฮาโลวีน (Halloween day) [ในที่นี้ใช้คำสะกดว่า ฮาโลวีน ตามที่นิยมกัน ขณะที่สำนักงานราชบัณฑิตสภาสะกดว่า ฮาลโลวีน - กองบรรณาธิการ] ที่จัดกันในวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็นงานใหญ่ในโลกตะวันตก เช่นเดียวกับงานเทศกาลเนื่องในวันสำคัญอื่น ๆ ของชาวยุโรปที่มักจะถือเป็นวันสำคัญระดับสากลไปด้วย จะว่าสิ่งนี้เป็นเพราะอิทธิพลจากระบบโลกยุคอาณานิคมที่ชาวชาติตะวันตกเคยมีอำนาจปกครองเหนือดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลกก็ไม่ผิดนัก แต่งานเทศกาลวันฮาโลวีนก็มีประเด็นย้อนแย้งจนเกิดข้อถกเถียงมากมายทั้งในสังคมและโลกวิชาการ 

สำหรับในคติของคริสตจักรแล้ว ต้องถือว่าฮาโลวีนเป็นประเพณีของพวกนอกศาสนา (Pagans) ไม่ใช่คติของชาวคริสต์ ไม่มีในพระคัมภีร์ไบเบิล แต่กลับแพร่หลายในหมู่ชาวคริสต์ทั่วโลก 

สิ่งนี้ดูจะขัดแย้งกับลัทธิอาณานิคมแบบดั้งเดิมที่เน้นการแผ่ศาสนา ให้พวกนอกรีตได้รู้จักพระเจ้า ตามแบบฉบับของ ‘ภารกิจคนขาว’ (White mission)  

อย่างไรก็ตาม หากแม้นว่าการแพร่ขยายระดับสากลของฮาโลวีนเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับลัทธิอาณานิคมตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้ว 

เหตุใดเมื่อเจ้าอาณานิคมถอนตัวออกจากเมืองขึ้นไปนานแล้ว ฮาโลวีนไม่เพียงไม่หมดไปจากประเทศอาณานิคม กลับแพร่หลายมากยิ่งขึ้น 

แน่นอนว่าสำหรับผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์อาณานิคมก็จะอธิบาย (แบบไม่ต้องคิดวิเคราะห์หรือค้นคว้าอะไรมาก) ว่าอาณานิคมไม่เกี่ยวกับอำนาจของเจ้าอาณานิคมที่มีองค์ประธาน (Subject) เป็นชาติตะวันตกเท่านั้น 

ในช่วงหลังนับแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ระเบียบโลกแบบอาณานิคมก็ถอยห่างจากยุโรปเป็นศูนย์กลาง (Euro-centrism) มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้แต่ปัจจุบันที่จีน รัสเซีย หรือบางชาติในตะวันออกกลางอย่างตุรกี อิสราเอล ล้วนแต่เล่นบทเป็นมหาอำนาจเจ้าอาณานิคม หรืออย่างพวกรัฐอดีตอาณานิคมทั้งหลาย เมื่อปลดแอกเป็นเอกราชกันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ชนชั้นนำรัฐชาติที่เป็นเอกราชเหล่านี้กลับยังคงอาศัยโครงสร้างอำนาจแบบเจ้าอาณานิคมมาใช้ปกครองประชาชนของตนเอง 

เป็นที่รับรู้กันว่า ฮาโลวีนเดิมมีจุดกำเนิดอยู่ที่ไอร์แลนด์เหนือ เป็นคติที่กลุ่มชาติพันธุ์เซลติกโบราณ (Ancient Celtic) ยึดถือปฏิบัติกันมาช้านานกว่า 2,000 ปีล่วงมาแล้ว บริเวณไอร์แลนด์เหนือนั้นถือเป็นดินแดนชายขอบของโลกตะวันตก เป็นที่สนใจน้อยกว่าดินแดนในเขตร้อนแถบเอเชียมาก  

ฉะนั้น ลำดับแรกจึงเกิดประเด็นปัญหาทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาว่า เพราะเหตุใด ประเพณีที่สืบมาจากคติความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์เล็ก ๆ ที่โลกแทบไม่รู้จักจึงกลายเป็น ‘วัฒนธรรมสากล’ สืบมาจนปัจจุบัน?

เอาล่ะ! เมื่อพร้อมแล้ว ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมการสำรวจและขุดค้นประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วย ‘ฮาโลวีน’ กันเป็นลำดับถัดไป...

กำเนิดและความเป็นมาของเทศกาลฮาโลวีน

ประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับกำเนิดและการแพร่ขยายของประเพณีวันฮาโลวีน อย่างเช่นเล่มเรื่อง ‘The Book of Hallowe'en: The Origin and History of Halloween’ เขียนโดย Ruth Edna Kelley ถือเป็นงานคลาสสิคเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ฮาโลวีน (History of Halloween) อ้างอิงและเชื่อถือกันมาก พิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1919 (พ.ศ.2462 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6)  

และอีกชิ้นที่อ้างกันมากในหมู่นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาฮาโลวีนคือเล่มที่ชื่อ ‘The Halloween Tree’ เขียนโดย Ray Bradbury ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) ทั้งสองเล่มต่างก็เสนอข้อมูลหลักฐานว่า ปีที่ 43 หลังคริสตกาลเป็นช่วงเวลาสำคัญอันเป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีความเชื่อเนื่องในวันฮาโลวีน เพราะในปีดังกล่าวนั้นจักรวรรดิโรมันซึ่งมีฐานที่มั่นแห่งหนึ่งบนเกาะอังกฤษ ได้ขยายอำนาจขึ้นเหนือไปยึดครองดินแดนของชาวเซลติก 

40 กว่าปีหลังการเสด็จกลับสู่สววรรค์ของพระเยซูนั้น เป็นช่วงเวลาที่คริสตจักรยังไม่ได้มีอำนาจมั่นคงเหนือจักรวรรดิโรมันเท่าไรนัก อีกทั้งชาวโรมันที่เกาะอังกฤษขณะนั้นยังเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนน้อย ต้องอยู่ท่ามกลางแวดล้อมชนชาติป่าเถื่อนที่มีจำนวนมากกว่า ถ้าไม่ได้ป้อมปราการที่แข็งแกร่ง ชุดเกราะ ม้าศึก และอาวุธโลหะเนื้อแกร่งแล้ว ยากจะตั้งมั่นอยู่ได้ เป็นช่วงเวลาอ้างอิงของตำนานว่าด้วยกษัตริย์อาร์เธอร์ (King Arthur) ดาบศักดิ์สิทธิ์เอ็กคาลิเบอร์ (Excalibur) และอัศวินโต๊ะกลม (Knights of the Round Table)

สำหรับกลุ่มชนในวัฒนธรรมแบบโรมันบนเกาะอังกฤษ กรุงโรมอยู่ห่างไกลจากพวกเขามาก ไม่อาจให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขาได้ บางกระแสก็กล่าวถึงขั้นว่าพวกโรมันรุ่นบุกเบิกที่อพยพไปตั้งมั่นอยู่ที่เกาะอังกฤษนั้น เป็นพวกเห็นต่างไม่ลงรอยกับโรมันที่อยู่แหลมอิตาลีด้วยซ้ำ

ลำพังป้อมปราการกับความเหนือกว่าทางเทคโนโลยีวิทยาการไม่ช่วยให้โรมันมีความมั่นคงขึ้นบนเกาะอังกฤษ ต่อให้ผู้นำมีดาบศักดิ์สิทธิ์ที่ตัดทำลายได้ทุกสิ่ง ก็ไม่อาจนำพาให้คนเหล่านี้อยู่รอดปลอดภัยท่ามกลางวงล้อมของศัตรูที่เป็นเจ้าถิ่น นโยบายทางสังคมการเมืองที่มีต่อชนพื้นเมืองต่างหากที่เป็นหลักประกันความอยู่รอด หรือนัยหนึ่งการประนีประนอมและปรับตัวเข้ากับคนพื้นถิ่นต่างหาก คือดาบศักดิ์สิทธิ์ในตำนานที่แท้ทรู    

จากจุดนี้เองจึงเกิดความจำเป็นที่ต้องปรับตัวเข้ากับชนพื้นเมืองที่อยู่มาก่อนหน้า เมื่อพิชิตดินแดนของแต่ละชนเผ่า ก็จะอนุญาตให้วัฒนธรรมของชนพื้นเมืองแพร่เข้ามาในหมู่พวกตน  หรืออย่างน้อยชาวโรมันผู้พิชิตก็มักจะแสดงตนเป็นผู้ที่ยอมรับวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง  โดยเฉพาะวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดที่ไม่นำไปสู่อำนาจต่อต้านส่วนกลาง พวกเขาไม่ได้แอนตี้ทุกสิ่งอย่างของชาวพื้นเมือง ตรงข้ามกลับยอมรับจุดแข็งบางประการของวัฒนธรรมพื้นเมืองเข้ามาปรับใช้    

ในระบบสังคมของชาวเซลติกโบราณนั้น จะมีกษัตริย์เป็นประมุข นอกนั้นสังคมยังประกอบด้วยคน 3 ชนชั้น คือ (1) อัศวินและนักรบผู้ทรงเกียรติ (the noble knights and warriors) (2) ผู้ทรงภูมิปัญญาหรือผู้นำทางจิตวิญญาณที่เรียกว่า ‘ดรูอิด’ (the Druids or religious leaders) และ (3) ชาวนาและสามัญชน (the farmers and commoners)

กษัตริย์มักจะมาจากการคัดเลือกกันในหมู่อัศวินซึ่งเป็นชนชั้นที่ได้รับอนุญาตให้ถืออาวุธ แต่ผู้ที่มีอิทธิพลต่อคนส่วนใหญ่ (ชนชั้นชาวนาและสามัญชน) แท้จริงคือพวกดรูอิด เพราะนอกจากเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณแล้วยังมีบทบาททางโลกย์เช่นเป็นผู้พิพากษา ครูอาจารย์ หมอ ชาวเซลติกยังเชื่อว่า ดรูอิดของพวกเขานั้นมีอำนาจพิเศษลี้ลับ (Magical power) ที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึงอีกด้วย 

ดังนั้น แม้ว่ากษัตริย์และบรรดาอัศวินของชาวเซลติกจะพ่ายแพ้และถูกยึดครองดินแดน ไม่ได้หมายความว่า พวกดรูอิด ชาวนา และสามัญชน จะพ่ายแพ้และถูกยึดครองไปด้วย พวกเขาอาจสูญเสียอำนาจทางการเมืองการปกครอง แต่พวกเขายังเหลือดรูอิด ซึ่งเป็นผู้รักษาวัฒนธรรมของพวกเขาให้คงอยู่ต่อมา    

สำหรับคริสตจักรเอง การอนุญาตให้วัฒนธรรมของพวกนอกศาสนาสามารถมีพื้นที่อยู่ได้นั้น  แม้จะด้วยความหวังว่าการทำงานอุทิศตนอย่างหนักในหมู่บาทหลวงเผยแผ่ศาสนา จะสามารถเกลี้ยกล่อมพวกป่าเถื่อนเหล่านี้ให้ยอมรับพระเจ้าได้ในที่สุดก็ตาม 

การมีอยู่ของตัวละครปกรณัมพื้นเมืองอย่างภูตผีปีศาจ เท่ากับยืนยันถึงความมีตัวตนในลักษณะเป็นคู่ตรงข้าม (Binary opposite) เมื่อมีผีก็ต้องมีพระ (บาทหลวง) เมื่อมีปีศาจซาตานก็ต้องมีพระเจ้า การกำจัดคู่ตรงข้ามออกสิ้นเชิง ย่อมหมายถึงการกำจัดบทบาทตนเองไปด้วย 

แต่แน่นอนว่ากระบวนการนี้ไม่ได้ดำเนินอย่างราบรื่น การต่อต้านจากชนพื้นเมืองนั้นมีอยู่ตลอด  กว่าที่สันติภาพจะเกิดขึ้นอย่างถาวรมั่นคงก็ล่วงมาจนอีกราว 2-3 ศตวรรษต่อมา วันสำคัญของชาวเซลติกถึงจะกลายมาเป็น ‘วันแห่งวิญญาณทั้งมวล’ (All Souls' Day) และ ‘วันแห่งนักบุญทั้งหลาย’ (All Saints' Day) โดยกำหนดให้วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสดังกล่าว 

คำว่า ‘Halloween’ มีที่มาจากคำเรียกในคริสตศาสนาที่ว่า ‘All-hallows’ (สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งมวล) ชาวเซลติกมีคำเรียกว่า ‘All Hallows Eve’ หมายถึง ‘วันก่อนฉลองนักบุญทั้งหลาย’ เมื่อสองคำสมาสกัน ‘Hallows+Eve’ ตามเสียงของคนแองโกลแซกซอนและสกอต ก็กลายเป็น ‘Hallowe’en’ และ ‘Halloween’ ในที่สุด     

ช่วงเวลาหลังจากพระเยซูเสด็จกลับสู่สวรรค์ไปกว่า 2-3 ศตวรรษ และหลังจากนั้นมาอีก 5-600 ปีต่อมา เป็นช่วงที่มีคริสตจักรมีอำนาจมั่นคงเหนือจักรวรรดิโรมัน (ที่มีการประเมินตัวเลขปีไว้สูงขนาดนั้นก็เพราะไม่มีหลักฐานแน่ชัด) ก่อนที่จะนำพาสังคมยุโรปเข้าสู่ยุคกลางและก่อสงครามครูเสดกับโลกมุสลิมในตะวันออกกลาง ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ศัตรูของคริสตจักรไม่ใช่ชนพื้นเมืองชายขอบที่ไม่รู้จักพระเจ้าอีกต่อไป หากแต่คือกลุ่มคนที่รู้จักพระเจ้าเช่นกัน แต่เป็นพระเจ้าคนละองค์ 

การกำเนิดและขยายตัวต่อเนื่องจนครอบคลุมดินแดนตะวันออกกลางเกือบทั้งหมด รวมทั้งดินแดนกำเนิดพระคริสต์อย่างเยรูซาเล็มเองด้วย สร้างความตระหนกตกใจให้แก่คริสตจักร  การสงบศึกกับศัตรูเก่า สร้างความสมานฉันท์ ก่อนจะเกลี้ยกล่อมให้ช่วยตนไปทำสงครามยังอีกซีกโลกหนึ่งนั้นเป็นสิ่งจำเป็น มันคือการปะทะอารยธรรมระลอกแรกระหว่างยุโรปกับตะวันออกกลาง 

พวกนอกศาสนาที่เป็นชนพื้นเมืองชายขอบในยุโรปถูกมองเป็นพวกเดียวกับตน คือต่างเป็นพวกยูโรเปี้ยนด้วยกัน เพราะเวลานั้นศัตรูคือชาวมุสลิม ถึงจะนับถือภูตผีปีศาจอย่างไร ก็เป็นชาวยุโรปด้วยกัน เนื่องจากเห็นว่าพวกที่นับถือพระเจ้าองค์อื่นนั้นเป็นภัยคุกคามยิ่งกว่า 

จากจุดนี้ เทศกาลวันฮาโลวีนก็ถือเป็นกุศโลบายหนึ่งที่คริสตจักรใช้เพื่อการสงบศึก สร้างความสมานฉันท์ และหลอมรวมความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวยุโรป ก่อนจะจัดส่งเด็กหนุ่มฉกรรจ์ลูกหลานของพวกนี้ให้ไปตายแทนตนอยู่ในแถบทะเลทรายของอีกทวีปหนึ่ง    

การแพร่ระบาดของกาฬโรค (Black death) ก็ส่งผลทำให้อำนาจความแข็งกร้าวของคริสตจักรที่มีต่อพวกนอกศาสนาอ่อนลง เพราะพระเจ้ายังไม่อาจช่วยเหลือพวกที่เคร่งศาสนาให้พ้นจากภัยร้ายนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นภัยที่มีคำอธิบายจากชาวพื้นเมืองว่าเกิดจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของภูติผีปีศาจที่ถูกคริสตจักรกดลงก่อนหน้านั้น กระทั่งผู้คนจำนวนมากถอยห่างจากความเชื่อหลักของคริสตจักรไปแล้ว (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพวกเขาตัดขาดจากความเป็นคาทอลิกโดยสัมบูรณ์ เขาแค่ไม่เชื่อคำลวงของพวกองค์กรศาสนา)  

แม้ว่าสังคมยุโรปเวลานั้น พวกเจ้าที่ดิน (Landlord) จะมีอำนาจมาก แต่พวกนี้ก็ไม่ได้สนใจว่าบรรดาผู้ใช้แรงงานบนที่ดินของตนนั้นจะกราบไหว้หรือมีความศรัทธาในสิ่งใด ต่อให้ไหว้ภูติผีปีศาจแต่ตราบใดที่เวลาเรียกใช้แรงงานหรือเกณฑ์ไปรบ ไม่ขาดตกบกพร่อง ก็ไม่เป็นไร และต่อให้คนเหล่านี้จะมีงานเทศกาลรื่นเริงอะไรใน 1-3 วันต่อปี ในขณะที่อีก 360 กว่าวันของแต่ละปีนั้น ต้องทำการผลิตและให้ส่วนเกินจากการใช้แรงงานแก่เจ้าที่ดิน ตราบนั้นเจ้าที่ดินก็ไม่ข้องแวะหรือยุ่งเกี่ยวอะไรด้วย ตรงข้าม การผ่อนปรนไม่เคร่งให้แก่แรงงานบนที่ดินของตน เป็นวิธีหนึ่งที่เจ้าที่ดินใช้ ‘ซื้อวิญญาณ’ ของพวกเขาไปจากคริสตจักร ซึ่งเป็นคู่แข่งของพวกเจ้าที่ดินอยู่ด้วย 

แน่นอนว่ามีเจ้าที่ดินบางคนเป็นชาวคริสต์ที่เคร่ง แต่ท้ายสุดแล้ว พวกนี้ก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของคริสตจักร พวกเจ้าที่ดินสายผ่อนปรนและประนีประนอมกับความเชื่อพื้นถิ่นมักจะมีแรงงานและอำนาจมากกว่าพวกที่เคร่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะการมีแรงงานมากหมายถึงจะได้ผลผลิตทางเศรษฐกิจที่มากตามมา มีกำลังคนในสังกัดกองทัพส่วนตัวมาก ความมั่งคั่งและบารมีก็มากตามมา

ฮาโลวีน กับประวัติฉบับพิศวง ทำไมเทศกาลสากลอย่าง Halloween ยังไม่ถูกทำให้ ‘เป็นไทย’?

ฮาโลวีน กับข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์

งานคลาสสิกของ Ruth Edna Kelley และ Ray Bradbury นั้น มองการมองประวัติศาสตร์ฮาโลวีนแบบต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับบทบาทของพวกดรูอิดในฐานะที่เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทอย่างมากในการรักษาและแพร่วัฒนธรรมของชาวเซลติก

แต่ปัญหาที่นำมาสู่การรื้อถอนข้อเสนอข้างต้นก็คือ เมื่อสังคมยุโรปวิวัฒน์จากยุคกลางมาสู่สมัยใหม่แล้ว การอธิบายการแพร่วัฒนธรรมฮาโลวีนที่เน้นบทบาทของตัวละครในประวัติศาสตร์ยุคกลางยังใช้ได้อยู่หรือ? 

ฮาโลวีนไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากยุคสมัยของดรูอิดเลยหรือ? 

แม้ว่างานทั้งสองชิ้นข้างต้นจะนำเสนอข้อมูลหลักฐานไว้เป็นอย่างดี แต่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไม่ใช่แค่เรื่องหลักฐานชั้นต้น-ชั้นรอง เมื่อนักประวัติศาสตร์มีการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) หลักฐานเก่าก็สามารถนำไปสู่ข้อเสนอใหม่ได้ หรือการปรับเปลี่ยนดังกล่าวนี้ก็อาจนำมาซึ่งการแสวงหาหลักฐานใหม่ที่ถูกมองข้ามมาก่อนหน้านั้นก็ได้   

มีงานอยู่สองกลุ่มด้วยกันที่เปิดโลกการศึกษาวัฒนธรรมประเพณีในมิติทางประวัติศาสตร์คือ (1) งานเรื่อง ‘Making History’ (ประวัติศาสตร์ที่กำลังสร้างขึ้น/สด ๆ ร้อน ๆ) ที่เป็นกระแสนิยมในหมู่นักประวัติศาสตร์ยุโรปและอเมริกันรุ่นหลัง 1968

และ (2) งานเรื่อง ‘The Invention of Tradition’ (การประดิษฐ์สร้างประเพณี) ซึ่งเป็นงานศึกษาประวัติศาสตร์ของประเพณีโดยตรง  เราอาจจะคุ้นเคยกับชื่อของ Eric J. Hobsbawm กับ Terence Ranger จากงานชิ้นนี้ แต่ที่จริงทั้งสองเป็นบรรณาธิการของเล่มดังกล่าว ซึ่งเป็นผลงานรวมบทความจากนักประวัติศาสตร์สำคัญอีกหลายท่าน จากหลายพื้นที่ศึกษา (Fields) และจากนักประวัติศาสตร์คนสำคัญทั้งในอังกฤษและอเมริกา อาทิ:

  1. สก็อตแลนด์: ‘The Invention of Tradition: The Highland Tradition of Scotland’ (pp. 15-42) โดย Hugh Trevor-Roper จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด 
  2. เวลส์: ‘From a Death to a View: The Hunt for the Welsh Past in the Romantic Period’ (pp. 43-100) โดย Prys Morgan จากมหาวิทยาลัยคอลเลจ
  3. ราชวงศ์อังกฤษ: ‘The Context, Performance and Meaning of Ritual: The British Monarchy and the ‘Invention of Tradition’, c. 1820–1977’ (pp. 101-164) โดย David Cannadine จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย  
  4. อาณานิคมอินเดียยุควิกตอเรีย: ‘Representing Authority in Victorian India’ (pp. 165-210) โดย Bernand S. Cohn จากมหาวิทยาลัยชิคาโก

ส่วน Terance Ranger กับ Eric J. Hobsbawm นอกจากบทบรรณาธิการแล้ว ได้นำเสนอผลการศึกษาของตนอีกสองที่คือ:

  1. อาณานิคมอังกฤษในอาฟริกา: ‘The Invention of Tradition in Colonial Africa’ (pp. 211-262) โดย Terence Ranger จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด  
  2. ประเพณีของชนชั้นแรงงานในยุโรป: ‘Mass-Producing Traditions: Europe, 1870–1914’ (pp. 263-308) โดย Eric J. Hobsbawn จากมหาวิทยาลัยลอนดอน

โดยตัวมันเอง ‘Making History’ กับ ‘The Invention of Tradition’ ไปด้วยกันได้จนเกือบเป็นกระแสเดียวกัน เพราะต่างก็ท้าทายแง่มุมเดิมของนักวิชาการที่มองประวัติศาสตร์แบบเป็นเส้นตรงและต่อเนื่องแบบอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต หันมาให้ความสำคัญกับความขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลง และการหยุดชะงัก/ขาดตอน/ไม่ต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ ‘ความรู้ประวัติศาสตร์’ อาจเป็นเรื่องของ ‘การสร้าง’ (Creating/Making) จากปัจจุบันแล้วย้อนกลับไปมีผลให้เกิดมุมมองต่ออดีตแบบใหม่ มากกว่าจะเป็นเรื่องของ ‘การสืบทอด’ (Linkage) หรือขยายคลี่คลายตามลำดับเวลาจากอดีตมาสู่ปัจจุบันและกำลังจะดำเนินต่อไปสู่อนาคต (อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต)        

งานเรื่อง ‘The Invention of Tradition’ เสนอว่าประเพณีหลักที่ใช้กันในหมู่ราชวงศ์อังกฤษ สกอต เวลส์ อินเดียยุควิกตอเรีย อาณานิคมในแอฟริกา หรือแม้แต่ประเพณีบางประเภทในหมู่ชนชั้นแรงงานในยุโรปในช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ต่างก็เป็นประเพณีใหม่ที่ไม่มีมาก่อนในอดีต แต่กลับอ้างว่าสืบทอดมาจากอดีตเพื่อความชอบธรรม โดยมีวัตถุประสงค์ที่นำไปสู่การสร้าง ‘วัฒนธรรมแห่งชาติ’ (National culture) บิดเบือนประเด็น ‘ความสัมพันธ์ทางชนชั้น’ ภายในสังคม     

เมื่อมองประวัติศาสตร์ฮาโลวีนจากแง่มุมแบบ ‘Making History’ กับ ‘The Invention of Tradition’ ฮาโลวีนแต่ละถิ่นที่ย่อมมีความแตกต่างกัน อังกฤษแบบหนึ่ง ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ เวลส์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี อเมริกา ฮ่องกง ไต้หวัน สยาม ฯลฯ ล้วนแต่เป็นฮาโลวีนที่มีลักษณะเฉพาะที่สังเกตเห็นได้ทั้งสิ้น  

และที่สำคัญแม้จะเป็นที่เดียวกันประเทศเดียวกัน แต่เมื่อต่างเวลากัน ฮาโลวีนย่อมต่างกันด้วย นัยความหมายของการใช้ประเพณีนี้แต่ละสังคมก็ต่างกัน ถ้าต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเมื่อไหร่ นั่นคือต้องถือเป็นคนละประเพณี จะบอกว่าเป็นประเพณีเดียวกันไม่ได้ แต่เช่นเดียวกับประเพณีทั้งหลายในโลกที่มักจะอ้างว่ามีมาเนิ่นนานตั้งแต่ในอดีต

 

การปฏิวัติอเมริกา 1776 กับการประดิษฐ์ประเพณีใหม่

ก่อนหน้านี้งานประวัติศาสตร์ฮาโลวีนฉบับเก่า เช่น ‘The Halloween Tree’ ผลงานของ Ray Bradbury ก็เคยนำเสนอว่าการค้นพบอารยธรรมอียิปต์จากการดำเนินงานโบราณคดี  นำมาซึ่งการเพิ่ม ‘มัมมี่’ (Mummy) เป็นชุดแต่งกายในงานฮาโลวีนในอังกฤษและฝรั่งเศสอยู่ช่วงหนึ่ง และผลงานการค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเกี่ยวกับประติมากรรมรูปสัตว์ประหลาดที่เรียกว่า ‘การ์กอยล์’ (Gargoyle) ที่พบมากในฝรั่งเศส ทำให้ ‘การ์กอยล์’ ก็เกิดเป็นที่ฮอตฮิต นิยมแต่งกายกันในช่วงเทศกาลฮาโลวีน 

สองกรณีนี้ Ray Bradbury ได้ใช้ชี้ให้เห็นคุณูปการของงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีที่มีต่อเทศกาลฮาโลวีน แต่เนื่องจากงานของเขานั้นตีพิมพ์ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1972  ก่อนหน้าการตีพิมพ์ ‘The Invention of Tradition’ เป็นเวลากว่า 11 ปี และถึงแม้ทศวรรษ 1970 จะเริ่มมีงานประวัติศาสตร์แบบ ‘Making History’ เป็นบทความตีพิมพ์ตามสื่อวารสารวิชาการอยู่บ้างแล้ว 

แต่งานในแนวนี้ก็ยังไม่เป็นกระแสมากเหมือนอย่างช่วงหลัง ข้อเสนอของ Ray Bradbury จึงออกมาในแนวอธิบายทำนองว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากข้อค้นพบทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะนั้นเป็นส่วนขยายจากความเปลี่ยนแปลงก่อนหน้าในอดีต มัมมี่กับการ์กอยล์ถึงจะไม่เคยมีมาก่อนในจักรวาลความเชื่อของพวกดรูอิดเซลติก ก็ไม่ได้ส่งผลทำให้ประเพณีฮาโลวีนพบจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่การก่อเกิดเป็นประเพณีใหม่ 

อย่างไรก็ตามงานของ Ray Bradbury ก็ได้อภิปรายแตะประเด็นเรื่องความหมายที่แตกต่างกันระหว่างฮาโลวีนในยุโรป อเมริกา และเม็กซิโก สำหรับในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ยุโรปยังมองเทศกาลนี้ในฐานะเป็น ‘วันของนักบุญ’ (Saint’ s day) ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนความพยายามของคริสตจักรในการทำให้ประเพณีของพวกนอกรีตได้กลายมาเป็นประเพณีของชาวคริสต์มากขึ้นโดยสัมบูรณ์ 

ขณะที่ในอเมริกาหลังการปฏิวัติ ค.ศ.1776 ฮาโลวีนมีความหมายเป็น ‘วันปล่อยผี’ (Ghost release day) ไปแล้ว ส่วนเม็กซิโกกลับมองเทศกาลนี้เป็น ‘วันแห่งความตาย’ (Day of the death)

เป็นไปได้อย่างไรที่ประเพณีสากลของคนทั่วโลกในปัจจุบันนี้ จะเป็นประเพณีเดียวกับที่ชาวเซลติกโบราณปฏิบัติกันมากว่า 2,000 ปี หรือยังคงเป็นประเพณีเดียวกับที่อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของคริสตจักรในสมัยกลาง

ต่อมาเมื่อปี ค.ศ.1998 นักประวัติศาสตร์อเมริกันนาม Lesley Pratt Bannatyne ได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นสำคัญของเขาอย่างเล่ม ‘Halloween: An American Holiday, an American History’ โดยเสนอว่า ฮาโลวีนในแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน (สำหรับ Lesley Pratt Bannatyne คือทศวรรษ 1990) มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอเมริกันที่เน้นเรื่องเสรีภาพของปัจเจกชนและการปลดปล่อยอิสระตัวตนของผู้คน ซึ่งเป็นอุดมคติแบบอเมริกันหลังการปฏิวัติ ค.ศ.1776  Lesley Pratt Bannatyne จึงเสนอการมองประวัติศาสตร์ฮาโลวีนโดยสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์อเมริกาและการแพร่วัฒนธรรมแบบเสรีนิยมอเมริกัน 

ไม่เพียงแต่กิจกรรมการแต่งกายคอสเพลย์ในวันงานฮาโลวีน หากแต่มีสิ่งประดิษฐ์ (Artificial) ใหม่ ๆ เข้าไปมีบทบาท เช่น กวีนิพนธ์, บทเพลงขับขาน, นวนิยาย, ภาพยนตร์ และที่สำคัญคือการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีการบันทึกความทรงจำของผู้คนอย่างกล้องถ่ายรูป

ภาพหนึ่งที่นิยมติดผนังบ้านเรือนหรือภาพอัลบั้มครอบครัว มักจะมีภาพการแต่งกายในวันงานฮาโลวีนของปีสำคัญ ๆ ภาพการแต่งกายเนื่องในวันฮาโลวีนเป็นภาพแปลก ๆ ที่ไม่พบในชีวิตประจำวัน  สร้างความตื่นเต้นและบันเทิงให้แก่ผู้รับชมภาพ โดยที่บุคคลในภาพอาจเป็นคนที่รู้จักกันในชีวิตประจำวัน 

จากความสำคัญของภาพถ่ายฮาโลวีนที่ Lesley Pratt Bannatyne ใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในงานของเขา ได้ข้อสรุปออกมาว่า ฮาโลวีนไม่ใช่แค่ ‘วันฮาโลวีน’ หากแต่คือภาพที่เชื่อมร้อยคนในครอบครัวและชุมชนเข้าด้วยกัน 

แม้ว่าพวกเขาจะแต่งกายเป็นภูตผีปีศาจน่าเกลียดน่ากลัวอย่างไร ความรู้สึกของผู้ดูผู้ชมภาพเหล่านี้กลับไม่ได้รู้สึกถึงความน่าเกลียดน่ากลัว หากแต่มองเป็นภาพล้อตลกขบขันสร้างเสียงหัวเราะและความสุข ซึ่งมันจะติดตราตรึงใจคนไปอีกนาน ฮาโลวีนคือการสร้างเวลาในความทรงจำแปลก ๆ (exotic memory) แตกต่างจากวันปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง

ฮาโลวีน กับประวัติฉบับพิศวง ทำไมเทศกาลสากลอย่าง Halloween ยังไม่ถูกทำให้ ‘เป็นไทย’?

ฮาโลวีนใหม่กับการขยายไปสู่ ‘วัฒนธรรมสากล’  

สำหรับคำถามที่ว่าทำไมฮาโลวีนถึงเป็นประเพณีที่ชาวอเมริกันหลังปฏิวัติ ค.ศ.1776 เลือกหยิบเอามาประดิษฐ์ใหม่ถ่ายทอดอุดมคติเสรีนิยมในแบบของตน ก่อนจะแพร่กลับไปมีอิทธิพลต่อผู้คนในสังคมเดิมที่อ้างอิงที่มาของตัวมันเองอย่างยุโรป รวมถึงการแพร่ขยายมายังเอเชีย จะพบว่าจุดเด่นของฮาโลวีนช่วงนี้มีอย่างน้อย 3 ประการคือ:

(1) ฮาโลวีนมีลักษณะเป็น ‘ประเพณีของคนพื้นเมือง’ (Native custom) ที่ไม่ใช่อเมริกันอินเดียน (American Indians หรือที่ไทยนิยมเรียก ‘อินเดียนแดง’) ซึ่งชาวอเมริกันกระแสหลักไม่ชอบและพยายามกีดกันอยู่ตลอด    

(2) ฮาโลวีนมีที่มาจากเกาะอังกฤษแต่ไม่ใช่ประเพณีของคนอังกฤษ เป็นของชาวเซลติก  ที่ต่อต้านอังกฤษอยู่ด้วย  เช่นเดียวกับที่การปฏิวัติอเมริกา 1776 ก็เป็นการปฏิวัติปลดปล่อยอเมริกาจากการปกครองอาณานิคมของอังกฤษ 

(3) ความที่ไม่ใช่ประเพณีที่คริสตจักรในยุโรปควบคุมและผูกขาดความหมายได้เบ็ดเสร็จ จึงเหมาะจะเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงการปลดปล่อยตัวตนและความเป็นอิสระ (จากอังกฤษและยุโรป)

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากแสดงให้เห็นความเป็นประเพณีประดิษฐ์ของอเมริกันชนหลังการปฏิวัติ ค.ศ.1776 เช่นเดียวกับงานของ Lesley Pratt Bannatyne แล้ว งานชิ้นเยี่ยมของ Lisa Morton นักประวัติศาสตร์อเมริกาอีกคนที่มีผลงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ฮาโลวีน อย่างเล่มเรื่อง ‘Trick or Treat: A History of Halloween’ ของเธอ ซึ่งได้รับการยกย่องจากสื่อมวลชนว่า เป็นงานประวัติศาสตร์ฮาโลวีนที่ยอดเยี่ยมที่สุดในรอบทศวรรษ    

Lisa Morton ได้เขยิบประเด็นมาสู่การอธิบายอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการขยายตัวจากอเมริกามายังเอเชียของประเพณีนี้ ซึ่งนั่นหมายถึงการยกระดับอีกขั้นของตัวประเพณีจากความเป็น ‘ประเพณีในสังคมตะวันตก’ หรือ ‘ประเพณีตะวันตก’ (Western tradition) (หรือถ้าพูดแบบไทยก็คือ ‘ประเพณีฝรั่ง’) มาสู่การเป็น ‘ประเพณีสากล’ (Global tradition) ไม่ใช่โดยการบังคับด้วยอำนาจ จะเรียกว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) ก็ไม่ผิดนัก

จากจุดเริ่มที่เป็นประเพณีใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้นในอเมริกาหลังการปฏิวัติ ค.ศ.1776 ตามมาด้วยคลื่นผู้อพยพชาวไอริช สก็อต เวลส์ จากเกาะอังกฤษและยุโรปสู่อเมริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้ประเพณีชายขอบของยุโรปแพร่มาสู่สังคมกระแสหลักของอเมริกา

กล่าวกันว่า ชาวไอริช สก็อต เวลส์ มีบุคลิกสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลทำให้เกิดการแพร่ขยายของประเพณีของพวกเขาจนกลายไปเป็นประเพณีของคนอื่น คือการที่พวกเขาไม่มีความรู้สึกชาตินิยมล้นเกินจนหวงแหนวัฒนธรรมของตน พวกเขากลับชื่นชอบที่คนชนชาติอื่นนำเอาวัฒนธรรมของตนไปปรับประยุกต์ใช้ แม้ว่าพวกเขาส่วนหนึ่งสืบสายมาจากพวกดรูอิดในสังคมเซลติกโบราณก็จริง แต่ไม่ปรากฏความพยายามที่จะผูกขาดความหมายของวัฒนธรรมของตนเองแต่อย่างใด

งานของ Lisa Morton เริ่มต้นโดยการชี้ให้เห็นพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงและความแตกต่างระหว่างฮาโลวีนที่อเมริกากับแหล่งที่ได้ชื่อเป็นต้นกำเนิดเดิมของมันอย่างสังคมชาวเซลติกโบราณในไอร์แลนด์เหนือ ส่วนนี้เป็นเหมือนการทบทวนวรรณกรรมที่ผ่านมาของประวัติศาสตร์นิพนธ์ฮาโลวีนก่อนหน้างานของเธอ 

ข้อมูลประวัติศาสตร์บอกเล่า (Oral history) และบันทึกต่าง ๆ ทำให้ทราบว่า ชาวเซลติกมีความเชื่อว่าประเพณีฮาโลวีนเกี่ยวข้องกับ ‘ประตูสู่ชีวิตหลังความตาย’ (The door to the afterlife) ที่รู้จักกันในภาษาเซลติกว่า ‘Tir na tSamhraidh’ แปลว่า ‘ดินแดนแห่งฤดูร้อน’ (the Land of Summer) ประตูนี้จะเปิดขึ้นปีหนึ่งเพียงครั้งเดียวที่ซัมเฮน (ในไอร์แลนด์) อันเป็นดินแดนบรรพชนของชาวเซลติก 

นอกจากนี้ ประเพณีนี้ยังจัดในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับประเพณีการเก็บเกี่ยว (Harvest custom) เป็นช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว มีมิติของการรื่นเริง มีการเต้นรำรอบกองไฟ หนุ่มสาวแต่งกายออกมาพบกัน การหาคู่ (Dating) ก็เกิดขึ้นในงานนี้ด้วย เพราะหลังจากนั้นผู้คนจะต้องใช้ชีวิตอยู่แต่อาคารบ้านเรือนเป็นหลัก เป็นช่วงที่ความสว่างกับความมืดจะมาบรรจบกัน  หากต้องอยู่อย่างเดียวดายไร้คู่ในช่วงเวลาหลังจากนั้น ชีวิตก็ย่อมจะต้องเผชิญความเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวเอกาเป็นธรรมดา    

แถมยังเชื่อด้วยว่าใครที่ได้คู่ครองในช่วงนี้จะครองรักกันยืนยาว กว่าคู่ที่ตกลงปลงใจร่วมหมอนกันในช่วงเวลาอื่น หรือไม่ก็อาจเป็นได้แค่ ‘คนคุย’ ที่สำคัญประเพณีนี้ให้สิทธิผู้หญิงเป็นฝ่ายเลือกสามี เพราะความเชื่อเดิมของชนเผ่าโบราณนั้นผู้หญิงเป็นใหญ่ (Femininity) ตรงนี้ชาวไอริชยังคงยึดถือปฏิบัติอยู่ตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีกำลังมีการบุกเบิกสร้างชาติในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ อาจเป็นเพราะ Lisa Morton เป็นนักประวัติศาสตร์สตรีจึงมีมุม Gender ที่ช่วยให้เธอ ‘โฟกัสได้ถูกจุด’ แบบนั้น    

ส่วนต่อมาเป็นการอธิบายการแพร่ขยายจนป๊อปปูลาร์ (Popular culture) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อมีภาพยนตร์เรื่อง ‘Halloween’ ผลงานการกำกับโดย John Carpenter เมื่อปี 1979  อย่างไรก็ตาม คริสเตียนขาว (White Christian) บางกลุ่มในอเมริกาก็มองแง่ร้ายว่าฮาโลวีนเป็นงานฉลอง ‘วันเกิดของปีศาจ’ (the Devil’s Birthday) ภาพยนตร์ Halloween ถูกส่งออกฉายทั่วโลกในช่วงเดียวกับที่เกิดกระแสแอนตี้ฮาโลวีนโดยกลุ่มคริสเตียนขาวที่คลั่งศาสนา 

แต่ทว่ากระแสนี้ได้รับการต้อนรับอย่างมากที่ฮ่องกงและญี่ปุ่น พวกเขาเรียกมันว่า ‘วันของเหล่าภูติปีศาจ’ (Most demonized of days) Lisa Morton อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเป็น ‘การเบ่งบานไปสู่วัฒนธรรมย่อยในระดับสากลแบบหนึ่ง’ (the verge of blossoming into a global subculture) ซึ่งก็เป็นปกติอีกที่เมื่อประเพณีหนึ่งขยายไปสู่อีกที่ ถึงจุดหนึ่งก็จะถูกประดิษฐ์ใหม่จนมีความหมายและกระทั่งเป็นอีกประเพณีหนึ่งไป นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของฮาโลวีนที่กลายไปเป็น ‘ประเพณีของมนุษยชาติ’ (Mankind tradition)

ฮาโลวีน กับประวัติฉบับพิศวง ทำไมเทศกาลสากลอย่าง Halloween ยังไม่ถูกทำให้ ‘เป็นไทย’?

Jack-o’-Lantern: ‘ตัวแทนหมู่บ้านมนุษย์’ & ‘โลกนี้’  

งานชิ้นต่อมาสำหรับประวัติศาสตร์ฮาโลวีนระลอกล่าสุดนี้คือ งานของ David J. Skal เรื่อง ‘Death Makes a Holiday: A Cultural History of Halloween’ ถือเป็นงาน ‘ประวัติศาสตร์วัฒนธรม’ (Cultural history) ที่สำคัญชิ้นหนึ่งของแวดวงประวัติศาสตร์อเมริกา

Skal ให้ความสำคัญกับการตีความสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของฮาโลวีน โดยหยิบยืมมุมมองแบบนักมานุษยวิทยามาใช้ ผู้อ่านที่คุ้นเคยกับงานทฤษฎีทางมานุษยวิทยาอาจจะนึกถึงงานของคลิฟฟอร์ด เกียร์ซ (Clifford Geertz) อย่างเรื่อง ‘The Interpretation of Cultures’ แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า Geertz มีอิทธิพลต่อ Skal หรือไม่ อย่างไร เพราะงานประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของอเมริกันมีพัฒนาการความเป็นมาของตนเองอยู่ และ Geertz เองต่างหากที่อาจรับอิทธิพลจากงานในกระแสนั้นมาอีกต่อหนึ่ง     

การแกะสลักฟักทองเป็นรูปหน้าตาผี ข้างในมีแสงส่องสว่าง สื่อถึง ‘แจ๊ค-โอ’-แลนเทิร์น’ (Jack-o’-Lantern) ตามตำนานที่เป็นผู้โกงความตาย หลอกปีศาจหรือบังคับปีศาจให้ทำตามใจปรารถนาตนเองได้ ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของงานฮาโลวีน 

ทั้งนี้ก็เพราะตำนานเกี่ยวกับ ‘แจ๊ค-โอ’-แลนเทิร์น’ มีมิติที่สะท้อนแนวคิดแบบมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Anthropocene) ไม่ใช่ภูตผีปีศาจ 

แม้ว่าแจ๊คในตำนานจะถูกลงทัณฑ์ให้ไม่สามารถไปสวรรค์หรือลงนรกได้ เพราะเป็นตัวป่วน  จนไม่เป็นที่ต้องการทั้งสวรรค์และนรก เมื่อตาย วิญญาณแจ๊คจึงต้องวนเวียนอยู่บนโลกนี้ต่อไป ตำนานและคติแวดล้อมแจ๊คนี้จึงไปกันได้กับแนวคิดของคนสมัยใหม่ที่ไม่เชื่อในภพภูมิอื่น นอกเหนือจาก ‘โลกนี้’ 

สติปัญญาความฉลาดจนกระทั่งหลอกปีศาจแห่งความตายได้ สะท้อนความเชื่อมั่นต่อสติปัญญาแบบมนุษย์ที่มีเหนือกว่าอำนาจลี้ลับตามความเชื่อศาสนา แจ๊คจึงกลายเป็น ‘วีรบุรุษทางวัฒนธรรม’ (Cultural hero) ของมวลมนุษยชาติในยุคสมัยใหม่ เรียกได้ว่าเป็น ‘ตัวแทนของหมู่บ้านมนุษย์’ เมื่อสวรรค์และนรกไม่ใช่จุดหมายปลายทางของมนุษย์ในยุคสมัยใหม่อีกต่อไป  และความตายก็ไม่ใช่จุดสิ้นสุดที่ต้องเป็นกังวลกับมัน 

ในแง่นี้แจ๊คถูกใช้ล้อเลียนและเยาะหยันศาสนา เมื่อสวรรค์ไม่อาจเป็นที่ปรารถนาเพราะเทพก็ฉ้อฉล และซาตานก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกลัวเกรงอีกต่อไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะละขาดจากการทำความดี หากแต่มีความเชื่อว่าผลแห่งการทำความดีนั้นอยู่ที่ ‘โลกนี้’ ไม่ใช่ ‘โลกหน้า’ การละเล่นที่เรียกว่า ‘หลอกหรือเลี้ยง?’ (Trick or treat?) คือสิ่งที่ใช้แสดงให้เห็นเรื่องนี้     

ฮาโลวีน กับประวัติฉบับพิศวง ทำไมเทศกาลสากลอย่าง Halloween ยังไม่ถูกทำให้ ‘เป็นไทย’?

Trick or treat? การสร้างสายสัมพันธ์ข้ามชนชั้นและเครือญาติ

สำหรับการอภิปรายประเด็นความสำคัญของการละเล่น Trick or treat? ในเทศกาลฮาโลวีน  จำเป็นต้องย้อนกลับไปพิจารณางานของ Lisa Morton ชิ้นเดิมอีกครั้ง (ชิ้นที่ชื่อ ‘Trick or Treat: History of Halloween’) เพราะเป็นงานที่อธิบายที่มาและสัญญะของการละเล่น Trick or treat? ได้เป็นระบบมีหลักฐานอ้างอิง อันที่จริงส่วนนี้เป็นแกนสำคัญของงานชิ้นนี้ของ Lisa Morton เลยด้วยซ้ำ 

Morton ยืนยันว่า Trick or treat? มีจุดกำเนิดในสังคมอเมริกัน ไม่ได้เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวเซลติก ไม่ใช่ประเพณีที่เคยเล่นกันในยุโรป Morton ชี้ให้เห็นว่าการละเล่นประดิษฐ์ใหม่ที่จากเดิมมองกันเป็นแค่ส่วนขยายของงานเทศกาล แกนหลักของงานอยู่ที่การเดินขบวนและการชุมนุมของเหล่ามนุษย์ที่ปลอมเป็นผี แต่สำหรับ Morton การละเล่นนี้ต่างหากคือหัวใจหลักสำคัญของประเพณีประดิษฐ์ใหม่นี้ 

Trick or treat? เป็นการผนวกรวมความหมายของฮาโลวีนในฐานะ ‘วันปล่อยผี’ กับ ‘เทศกาลเก็บเกี่ยว’ เข้าด้วยกัน โดยพวกเด็ก ๆ จะแต่งกายเป็นผี แม่มด พ่อมด แดรกคูล่า สัตว์ประหลาด แมวดำ ฯลฯ (ตามแต่เด็กจะคิดสร้างสรรค์) แล้วรวมกลุ่มกันเดินไปเคาะประตูบ้านต่าง ๆ ในละแวกย่านชุมชน เมื่อเจ้าของบ้านเปิดประตู เด็ก ๆ ก็จะร้องถามว่า ‘Trick or treat?’ (หลอกหรือเลี้ยง?)

ถ้าตอบว่า ‘Treat’ (เลี้ยง) ก็เหมือนกับว่า ‘ยอมแพ้’ เจ้าของบ้านจะต้องเอาขนมของกินมามอบให้แก่เด็ก ๆ หากตอบว่า ‘Trick’ (หลอก) เด็กก็จะต้องทำท่าทางเป็นผีหลอก จนกว่าเจ้าของบ้านจะตอบว่า ‘Treat’ แล้วเอาขนมมาให้เด็ก 

ลองนึกภาพเด็ก ๆ แต่งกายเป็นผีหรือสัตว์ประหลาดทำท่าหลอก มันจะดูน่ารักน่าชังมากกว่าน่ากลัวแค่ไหน บ่อยครั้งการตอบว่า ‘Trick’ เป็นแค่การประวิงเวลาในการเตรียมขนมบรรจุหีบห่อให้แก่เด็ก ๆ  แต่โดยปกติแล้วจะไม่ ‘Trick’ นานเพราะอากาศหนาวเย็น เด็กจะไม่สบายได้  โดยปกติเมื่อถึงเทศกาลทุกบ้านจะมีการจัดเตรียมขนมไว้ให้เด็กอยู่แล้ว

ถ้าไม่มีขนม ก็สามารถให้สิ่งของเป็นของขวัญ หรือให้เหรียญเงินแก่เด็กก็ได้  Morton ยังแสดงข้อมูลหลักฐานยืนยันด้วยว่า เดิมเด็กที่เล่น Trick or treat? มักเป็นเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน แต่ช่วงหลังเด็กบ้านที่มีฐานะดีก็นิยมปล่อยให้ลูกออกมาเล่นด้วย 

บ้านที่เด็กไปเคาะประตูถือว่าเป็นบ้านที่จะโชคดีมีความสุขตลอดช่วงหลังเทศกาล ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการแสดงออกถึงความมั่งคั่งอัธยาศัยดีงาม พ่อแม่ของเด็กจะจดจำบ้านไหนให้ขนมแก่ลูกของตน ก่อเกิดเป็นความรู้สึกนับหน้าถือตากันต่อไป มีสิ่งใดที่บ้านที่ให้ขนมแก่เด็ก ๆ ไหว้วานขอความช่วยเหลือ พ่อแม่เด็กจะไม่ค่อยอยากปฏิเสธ 

และสำหรับเด็ก พวกเขาก็จะจดจำเจ้าของบ้านที่ให้ของกินนั้นในฐานะผู้ใหญ่ใจดี Trick or treat? จึงเป็นประเพณีสร้างสรรค์ที่สร้างสายใยความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนและระหว่างคนต่างรุ่นในละแวกย่าน ต่างชนชั้น โดยข้ามพ้นระบบเครือญาติ        

ฮาโลวีน กับประวัติฉบับพิศวง ทำไมเทศกาลสากลอย่าง Halloween ยังไม่ถูกทำให้ ‘เป็นไทย’?

‘แมวดำ’ ในวัฒนธรรมฮาโลวีนแบบอเมริกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาแสดงให้เห็นลักษณะที่เป็นแบบเฉพาะสะท้อนสังคมอเมริกัน  ก็คือ ‘แมวดำ’ ในฐานะสัญลักษณ์หนึ่งของฮาโลวีน  ในยุโรป อิทธิพลของคริสตจักรมักจะมองว่า ‘แมวดำ’ เป็นสัตว์อัปมงคล เป็นลูกรักของพวกแม่มดหมอผี บ้างก็ว่าเป็นแม่มดแปลงกาย บ้างก็ว่าเป็นปีศาจซาตานจำแลงมา ในยุคกลางที่มีการล่าแม่มดกันมากนั้น ‘แมวดำ’ จึงเคราะห์ร้ายถูกฆ่าทิ้งตามเจ้าของมัน (ที่ถูกหาว่าเป็นแม่มด) ไปด้วย 

แต่ในสังคมอเมริกัน ซึ่งปกติก็เป็นแหล่งรวมของพวกที่เห็นต่างจากยุโรปกระแสหลักอยู่แล้ว ก็มีมุมมองต่อ ‘แมวดำ’ ต่างออกไปด้วย ส่งผลให้เกิดการ Create แมวดำในงานฮาโลวีนต่างจากฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ ฯลฯ

ในยุโรปหากแมวดำร้องเหมียว ๆ แล้วเดินตามหลังมา คนนั้นจะโชคร้าย แต่ในสังคมอเมริกันกลับถือว่าคนผู้นั้นจะโชคดี แมวดำตัวนั้นจะให้โชคลาภ ยิ่งหากเขานำเอามันกลับไปเลี้ยงที่บ้านด้วยแล้ว มันยิ่งจะนำความสุขในชีวิตมาให้แก่เขา ในตำนานฮาโลวีน ‘แมวดำ’ เป็น ‘สหาย’ ของ ‘ตัวแทนหมู่บ้านมนุษย์’ อย่าง Jack-o’-Lantern ภาพถ่ายเก่าของฮาโลวีนมักจะพบแมวดำอยู่ข้างฟักทองแกะสลักมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19     

งานประวัติศาสตร์ฮาโลวีนที่อภิปรายประเด็นนี้มีอยู่ 2 ชิ้น คือ ‘Halloween: An American Holiday, an American History’ โดย Lesley Pratt Bannatyne ซึ่งได้อภิปรายถึงไปแล้ว อีกเล่มคือเรื่อง ‘Halloween in America:  A Collector's Guide with Prices’ ผลงานของ Stuart Schneider ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1995   

ไม่แต่เฉพาะนักประวัติศาสตร์ฮาโลวีน นักประวัติศาสตร์ที่เขียนเรื่องแมว/วิฬาร์ศึกษา (Cat studies) ต่างก็ยกให้ประเด็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์แมวดำจากปีศาจมาเป็น ‘สัตว์มงคล’ นั้นเป็นคูณูปการจากนักเขียนนวนิยายอเมริกันรุ่นบุกเบิก หนึ่งในนั้นก็อย่างเช่น Edgar Alan Poe ผู้ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดวรรณกรรมแนวสืบสวนสอบสวน งานของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนในแนวเดียวกันรุ่นต่อมาอีกหลายคน อาทิ Arthur Conan Doyle, Agatha Christie, Stephen King เป็นต้น 

เรื่องของเรื่องก็คือว่า Poe ได้พบแมวดำตัวหนึ่งในร้านเหล้า ระหว่างที่เขากำลังดื่มผ่อนคลายกับเพื่อนและทักทายกับคนรู้จักกันตามปกติ แต่เมื่อเขาออกจากร้านจะกลับบ้าน แมวดำตัวน้อยนั้นก็เดินตามเขาออกมา พร้อมกับร้องเรียก ‘เหมียวๆๆ’

ปกติแล้ว ถ้าเป็นคนที่เชื่อคริสตจักร นั่นคือ ‘คราวซวยจะมาเยือน’ แต่นักเขียนเช่น Poe หาได้เชื่อเช่นนั้นไม่ เขากลับรู้สึกสงสารมัน อากาศตอนนั้นก็ช่างหนาวเหน็บทรมาน เขาจึงอุ้มมันมาซุกเข้าในเสื้อสูทตัวหนาของเขา พามันกลับไปบ้านด้วย ตั้งแต่นั้นแมวดำตัวจ้อยนี้ก็กลายเป็น ‘สหายรัก’ ของ Poe

ไม่เพียงเท่านั้น มันยังสร้างคุณูปการให้แก่มวลมหาประชาแมวดำร่วมเผ่าพันธุ์ของมัน เพราะสัมพันธภาพของมันที่มีต่อ Poe ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนอัจฉริยะอย่าง Poe สร้างผลงานวรรณกรรมอมตะอย่างเรื่อง ‘The Black Cat’ ถือเป็นงานวิพากษ์อคติของชาวคริสต์ต่อแมวดำ การทารุณกรรมและสังหารสัตว์เล็ก ๆ อย่างไร้ความปรานีที่ทำกันในยุโรปสมัยกลางนั้นเป็นจุดตกต่ำอย่างที่สุดอย่างหนึ่งที่มนุษยชาติเคยกระทำมา

กล่าวกันว่างานของ Poe นั้นเปลี่ยนทัศนคติของอเมริกันชนที่มีต่อแมวดำไปได้หลายส่วน แต่กระนั้น ลัทธิแบ่งแยกสีผิว (Racism) ที่มีต่อคนผิวสีในสังคมอเมริกัน ก็ยังทำให้ชาวอเมริกันบางส่วนไม่อาจปลดแอกตนเองจากความรู้สึกแง่ลบต่อสัตว์ที่มีสีขนเหมือนสีผิวมนุษย์ที่พวกเขารังเกียจไปด้วย

ฮาโลวีน กับประวัติฉบับพิศวง ทำไมเทศกาลสากลอย่าง Halloween ยังไม่ถูกทำให้ ‘เป็นไทย’?

ทำไมถึงไม่ถูกทำให้เป็นไทย?  

ประเด็นสุดท้ายที่ผู้เขียนเพิ่มเติมไปจากงานเล่มต่าง ๆ ที่หยิบยกมาอภิปรายข้างต้น เนื่องจากงานเหล่านั้นไม่ใช่งานประวัติศาสตร์ไทย และประเทศไทยก็เป็นประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีส่วนสำคัญอะไรสำหรับประเพณีระดับโลกสากลแบบนั้น งานประวัติศาสตร์ฮาโลวีนจึงไม่มีเรื่องไทยเป็นหัวข้ออยู่ในนั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม อาศัยมุมมองที่ได้จากงานต่าง ๆ ข้างต้น ก็พอจะตอบคำถามที่หลายคนมีเกี่ยวกับเทศกาลวันฮาโลวีน ในประเด็นว่าทำไมในสังคมไทยสยามประเพณีนี้จึงยังดูเป็น ‘ของฝรั่ง’ ไม่ถูกทำให้เป็นไทย ทั้งที่ก็รู้จักประเพณีมาพอสมควรแล้ว   

ประการแรก, ฮาโลวีนนั้นอย่างที่ได้กล่าวแล้วว่า เป็นประเพณีที่ถูกยกระดับไปสู่ ‘ความเป็นสากล’ ดังนั้นจึงง่ายที่จะตอบคำถามข้างต้น (อย่างกว้าง ๆ) ได้ว่า ก็เช่นเดียวกับหลายสิ่งอย่างที่ดูเป็น ‘ของสากล’ สำหรับประเทศนี้ที่มีการสร้างวัฒนธรรมหลัก (วัฒนธรรมไทย) ให้แข็งตึงโป๊ะจนเกินพอดีมาตลอด วัฒนธรรมหลักของไทยจึงขาดความยืดหยุ่นและช่องว่างมากพอที่จะยินยอมให้วัฒนธรรมอื่นแทรกปนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งได้ 

ประการที่สอง, ศาสนาไทยนั้นพื้นฐานหนึ่งมาจากการปฏิรูปศาสนาในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งกลายเป็นรัชกาลที่ 4 ในเวลาต่อมานั้น สร้างอัตลักษณ์เป็นสายเคร่งและบริสุทธิ์ผุดผ่องจากคติความเชื่อสาขาอื่น อย่าว่าแต่ ‘ผีฝรั่ง’ เลย ขนาด ‘ผีท้องถิ่น’ ในประเทศเดียวกัน ก็ยังผลักไสให้ตกขอบออกจากความบริสุทธิ์สะอาดในแบบฉบับของพุทธไทยสมัยใหม่ 

ประการที่สาม, ในช่วงที่ฮาโลวีนกำลังถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นใหม่ (ในแบบที่จะเป็นฮาโลวีนที่รู้จักกันภายหลัง) กลุ่มคนที่มีโอกาสได้สัมผัสใกล้ชิดและมีบทบาทในการนำเข้าวัฒนธรรมประเพณีจากโลกตะวันตกรุ่นบุกเบิกในสังคมสยามนั้นโดยมากเป็น ‘อีลีต’ (Elite) คือลูกท่านหลานเธอ ไปจนถึงชั้นพระราชโอรสและอนาคตรัชกาลต่อมา (เช่น เจ้าฟ้าวชิราวุธ-รัชกาลที่ 6 หรืออย่างเจ้าฟ้าประชาธิปก-รัชกาลที่ 7) 

ในขณะที่ฮาโลวีนกำลังเกิดกระบวนการประดิษฐ์ใหม่ เพื่อให้เป็น ‘ประเพณีของประชาชน’ เป็นภาคปฏิบัติการทางวัฒนธรรมของอุดมการณ์เสรีนิยมอยู่นั้น โดยนัยนี้สำหรับชนชั้นนำสยาม  ฮาโลวีนจึงคือวัฒนธรรมประเพณีของไพร่ฝรั่ง และเป็นวัฒนธรรมของพวกประเทศที่ปกครองในระบอบรีพับลิก เรื่องอะไรจะต้องเรียนรู้จนกระทั่งนำกลับเข้ามาสู่ประเทศสยามด้วย 

ประการที่สี่, แม้ว่าชาวชาติฝรั่งตะวันตกจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยสยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และคนเหล่านั้นก็มีทายาทสืบสายตระกูลอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ แต่กระนั้นวัฒนธรรมไทยก็ปฏิเสธความมีตัวตนของพวกเขา ‘ฝรั่ง’ ยังคงเป็นอื่น เช่นเดียวกับ ‘แขก’ ‘เจ๊ก’ ‘ส่วย’ ฯลฯ ถึงไหว้ผีมีบรรพชนล่วงลับย้อนไปถึงกรุงศรีอยุธยากันอย่างไร ก็ไม่นับ ‘ฝรั่ง’ เป็นผีบรรพชนของตนเองด้วยเลย 

ประการที่ห้า, คติความเชื่อเรื่อง ‘ผี’ ในกลุ่มชนตระกูลไท-ลาวนั้นมีลักษณะแทรกอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างแบบที่เรียกว่าเป็น ‘จักรวาล’ (Cosmological) ไม่ได้เป็นเพียงตัวละครหนึ่งในคติปรัมปราเหมือนอย่าง ‘ผีฝรั่ง’ เมื่อผีเป็นเจ้าจักรวาล ผีก็ศักดิ์สิทธิ์และทรงอำนาจมากเสียจนมนุษย์ไม่อาจต่อต้านหรือท้าทายได้ ยกเว้นแต่พระยาคันคาก (คางคกยกรบ) ซึ่งก็ไม่ใช่สัตว์ธรรมดาอีก เพราะนั่นคือพระโพธิสัตว์ ถึงพร้อมด้วยบุญบารมีในฐานะอนาคตพระพุทธองค์ ซึ่งไม่ว่าจะผีแถนหรือเทพยดาตนไหน ก็ต้องยอมถอยฉากให้อยู่แล้ว 

สิ่งนี้ส่งผลอยู่โดยนัยให้ผู้ที่นับถือหรือเป็นสาวกพระพุทธองค์ พลอยรู้สึกยกตนไปด้วยว่า พวกตนนั้นเหนือกว่าสูงส่งกว่า เรื่องอะไรจะต้องประนีประนอมกับพวกที่ยังกิเลสหนา 

ประการสุดท้าย, เมื่อพุทธไทยมีคติว่าคืนวันก่อน ‘วันพระ’ นั้นคือวันที่พระยมจะปล่อยวิญญาณจากนรกภูมิให้ขึ้นมารับส่วนบุญจากญาติที่จะกรวดน้ำอุทิศให้ในวันรุ่งขึ้น คนไทยจึงมีความรู้สึกนึกคิดว่า ‘วันปล่อยผี’ หรือ ‘วันผี’ นั้นพวกตนมีอยู่แล้ว แถมหลายวันด้วย อีกทั้งการแสร้งตายกลายเป็นผี ถ้าไม่ใช่ด้วยเหตุเพื่อการสะเดาะเคราะห์แล้ว ถือว่าไม่เป็นมงคล โลกศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะนำมาล้อกันเล่น   

ด้วยเหตุนี้ในสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มชนตระกูลไท-ลาว ผีจึงมีอำนาจมากกว่าคน คนธรรมดาสามัญชนที่ไม่มีบุญบารมีแก่กล้าถึงขนาดจะไปเกิดเป็นพระพุทธองค์ได้นั้น ไม่มีทางเอาชนะผีได้ ตรงนี้ไทยจึงไม่เคยมีตัวแทนหมู่บ้านมนุษย์ที่เอาชนะผีได้ด้วยสติปัญญาแบบมนุษย์ธรรมดาทั่วไปสามารถทำได้เหมือนอย่าง Jack-o’-Lantern ยกเว้นจะมีคำอธิบายว่า Jack-o’-Lantern คือพระเยซูกลับชาติมาเกิดหรือเป็นบุตรของพระเจ้าอีกองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ 

กล่าวโดยสรุปคือ เมื่อแตกต่างและขัดแย้งกันมากเสียจนดูราวกับ ‘ฉลามชอบงับคุณ (แต่) คุณเองก็ชอบจะงับฉลาม (เช่นกัน)’ ดังนั้นในเมื่อยังเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ละเอียดอ่อน และ sensitive กันมากไปเช่นนี้แล้ว ทางที่ดี (เอาที่สบายใจ) ก็เป็นแค่ ‘คนคุย ๆ’ กันต่อไปนั่นแหล่ะดีแล้ว...

 

อ้างอิง:

Anonymous name. ‘The origins of Halloween: Archive, 1904’ https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2017/oct/31/halloween-superstition-supernatural-1904 (Published: Tue 31 Oct, 2017).

Bannatyne, Lesley Pratt. Halloween: An American Holiday, an American History. New York: Pelican Publishing, 1998.

Bradbury, Ray. The Halloween Tree. New York: Yearling, 2001.

Cabarga, Leslie. Popular Advertising Cuts of the Twenties and Thirties. New York: Dover, 1996.

Donovan, Blair and Gold, Marissa. ‘What's the Origin of Halloween and Why Do We Celebrate It on October 31?’ in https://www.countryliving.com/entertaining/a40250/heres-why-we-really-celebrate-halloween/ (Updated: OCT 11, 2022).

Geertz, Clifford. The Interpretation of Cultures: Selected Essays. New York: Basic Books, 1973.

Hobsbawm, Eric J. and Ranger, Terence (ed.). The Invention of Tradition. Cambridge University Press, 1983.

Images, Getty. ‘Halloween: Origins, Meaning & Traditions’ in https://www.history.com/topics/halloween/history-of-halloween (Updated: OCT 3, 2022 Original: NOV 18, 2009).

Kelley, Ruth Edna. The Book of Hallowe'en: The Origin and History of Halloween. Create Space Independent Publishing Platform, 2014.

Lambert, Peter and Schofield, Phillip (ed.). Making History: An Introduction to the History and Practices of a Discipline. London: Routledge, 2004.

Lang, Cady. ‘What Is Samhain? What to Know about the Ancient Pagan Festival that Came before Halloween’ in https://time.com/5434659/halloween-pagan-origins-in-samhain/ (Published: OCT 30, 2018). 

Morton, Lisa. Trick or Treat: A History of Halloween. New York: Reaktion books, 2019.

Poe, Edgar Alan. The Black Cat: Best Story of Edgar Alan Poe. Charleston SC: BookSurge Classics, 2004.

Schneider, Stuart. Halloween in America: A Collector's Guide with Prices. Chicago: Schiffer Publishing, 1995.

Skal, David J. Death Makes a Holiday: A Cultural History of Halloween. New York: Bloomsbury USA, 2003.

Worland, Rick. The Horror Film: An Introduction. Malden MA. : Blackwell Publishing, 2007.