เพิ่ม Thepeople
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
31 ต.ค. 2565 | 17:55 น.
ค่ำคืนวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2022 วันหยุดสุดสัปดาห์คือช่วงที่คนท้องถิ่นรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างออกมาปฏิสังสรรค์ เฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีน (Halloween) ซึ่งกำลังจะมาถึงในวันที่ 31 ต.ค. ในพื้นที่สาธารณะครั้งแรกในรอบหลายปี นับตั้งแต่โลกเผชิญโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลทำให้การจัดกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ถูกยกเลิกไป
ไม่มีใครคาดคิดว่า จำนวนผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาในย่านอิแทวอน (Itaewon) ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ จะมีจำนวนมากมายเกินคาดจนพื้นที่บางจุดอยู่ในสภาพแออัด ผู้คนเบียดเสียดกันอย่างหนาแน่นจนถึงขั้นหายใจไม่ออก สถานการณ์รุนแรงถึงขั้นผู้คนเบียดเสียดแออัดและทับกันจนมีผู้เสียชีวิตมากกว่าร้อยราย และผู้บาดเจ็บในจำนวนไล่เลี่ยกัน
ย่านอิแทวอน
ข้อมูลในเชิงพื้นที่จากบทความทางวิชาการที่เผยแพร่เมื่อปี 2016 อิแทวอน กินพื้นที่ประมาณ 1.4 กิโลเมตร มีประชากรราว 18,000 ราย จากข้อมูลในเว็บไซต์ของทางการของเกาหลีใต้เคยระบุตัวเลขนักท่องเที่ยวในย่านนี้เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 1.6 ล้านคนต่อปี
ทั้งนี้ รายงานข่าวจากสื่อตะวันตกหลายแห่ง รวมถึง วอชิงตัน โพสต์ (Washington Post) ระบุว่า ในวันเกิดเหตุเมื่อ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาย่านอิแทวอนภายในวันนั้นแตะหลักแสนรายในวันเดียว
ภูมิหลัง
ก่อนหน้าโศกนาฏกรรมที่พรากลมหายใจของคนหนุ่มสาวที่มีความฝันและอนาคตอันยาวไกลแบบไม่มีวันหวนคืน ย่านอิแทวอนเป็นแหล่งยอดฮิตสำหรับชาวต่างชาติ และขึ้นชื่อเรื่องการผสมผสานกันอย่างหลากหลายทางวัฒนธรรม และต้องยอมรับว่า พัฒนาการของย่านนี้ซับซ้อนไม่น้อยทีเดียว
พื้นที่อิแทวอน อยู่ในเขตยงซาน (Youngsan) ย้อนไปในช่วงที่เกาหลีตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น เขตยงซานเป็นหนึ่งในที่ตั้งของกองทัพญี่ปุ่น
ภายหลังจากการประกาศอิสรภาพจากจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งตามมาด้วยสงครามเกาหลี และการแบ่งแยกโซนเหนือ-ใต้ สนธิสัญญาการป้องกันร่วมเมื่อปี 1954 (Mutual Defense Treaty) ทำให้กำลังพลจากสหรัฐฯ สามารถมาตั้งฐานทัพในเกาหลีใต้
ในยุค 60s ย่านอิแทวอนโดยภาพรวมแล้วเป็นแหล่งรวมเจ้าหน้าที่ทางการทหารจากต่างชาติที่เกี่ยวกับงานด้านทหารในกองทหารรักษาการณ์ของยงซาน และตัวแทนของสถานทูตในบริเวณโดยรอบ สภาพแวดล้อมเหล่านี้ดึงดูดชาวเกาหลีที่เป็นคนท้องถิ่นซึ่งมีฐานะยากจนให้เข้ามาประกอบการค้าขนาดเล็กตอบสนองความต้องการชาวต่างชาติ ไม่นานนักก็มีเศรษฐกิจนอกระบบ หรือการค้าใต้ดินเกิดขึ้น
จากการศึกษาข้อมูลทางวิชาการของ Yebin So นักศึกษาในมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) ย่านอิแทวอน ในยุค 60s มักถูกตีตราเป็นพื้นที่อันตราย
ในยุค 70s อันเป็นช่วงที่เกิดการเคลื่อนย้ายโรงพยาบาลทหารเข้ามาสู่พื้นที่บริเวณนี้ นำมาสู่การเคลื่อนย้ายหลักแหล่งของเจ้าหน้าที่ทางการทหารและแน่นอนว่า พ่อค้าชาวเกาหลีท้องถิ่นด้วย อิแทวอน เป็นย่านการค้าที่เต็มไปด้วยสินค้าราคาถูก ตั้งแต่เสื้อผ้าไซส์ใหญ่ เสื้อผ้าสั่งตัด ขนสัตว์ หนัง ซึ่งหาซื้อยากในพื้นที่อื่น
อิแทวอน ถูกรับรู้ในฐานะย่านที่มีชื่อเสียงในด้านแหล่งช้อปปิ้ง ยิ่งเมื่อรัฐบาลสนับสนุนส่งเสริมด้วยนโยบายยกเว้นภาษีบางประการ ฐานลูกค้าที่เป็นทหารต่างชาติ บุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาล อิแทวอนจึงกลายเป็นย่านการค้าที่มีชื่อเสียงในหมู่ชาวต่างชาติ
ที่สำคัญ ในช่วงยุค 80s อิแทวอน ยังเป็นที่รับรู้ในหมู่วัยรุ่นท้องถิ่นว่า เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมอเมริกัน ยกตัวอย่างเช่น สำหรับชาวเกาหลีท้องถิ่นที่เป็นคนรุ่นใหม่ อิแทวอน เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับฝั่งอเมริกาอย่างแฟชั่น ดนตรี ในทางกลับกัน สำหรับทหารอเมริกัน อิแทวอน เป็นพื้นที่แบบอเมริกันนอกอาณาเขตดินแดนตัวเองคล้ายกับเป็นดินแดน ‘อเมริกันในแผ่นดินโซล’ ซึ่งทหารอเมริกันสามารถสัมผัสบรรยากาศบางอย่างที่คล้ายกับในบ้านเกิด
ย้อนกลับไปไม่นานนักสัก 3 ทศวรรษก่อน(นับจากปัจจุบัน) ในยุค 90s จนถึงต้นยุค 2000s พื้นที่ละแวกใกล้เคียงในย่านดังกล่าวเป็นที่รู้จักจากชื่อเสียงเรื่องสินค้าจากนักออกแบบที่มีราคาย่อมเยา และย่าน ‘โคมแดง’ ที่มีผู้อุดหนุนหลักคือทหารอเมริกัน
บริเวณโดยรอบฐานทัพของทหารอเมริกันในยงซาน กลายเป็นพื้นที่กึ่งเชิงพาณิชย์ที่ตอบสนองความต้องการของทหารอเมริกันไม่ต่ำกว่าหมื่นนายที่เข้ามาตั้งฐานทัพและพำนักในเกาหลีใต้
ขณะที่อิแทวอน ตั้งอยู่ติดกับฐานของกองกำลังทหารอเมริกันในยงซาน โดยข้อมูลในช่วงปี 2014 คาดว่ามีชาวอเมริกันอยู่ในละแวกนั้นเกือบ 17,000 นาย
ในทางยุทธศาสตร์ การเข้ามาของกองทัพสหรัฐฯ และฐานของทหารอเมริกันในยงซานสำคัญต่อกองกำลังทหารต่างชาติที่เข้ามาประจำการในเกาหลีด้วย และจากงานศึกษาทางวิชาการบางชิ้นมองว่า ฐานทัพอเมริกันและความสำคัญของกองทหารรักษาการณ์ในยงซานเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางวัฒนธรรม-สังคมของอิแทวอน
ในปัจจุบัน (2022) อิแทวอนขึ้นชื่อในเรื่องแหล่งท่องเที่ยวยามราตรี ย่านนี้ดึงดูดชาวต่างชาติจำนวนมาก สะท้อนอิทธิพลที่หลากหลายจากทั่วโลก อิแทวอนถือได้ว่าเป็นย่านที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงโซล บนท้องถนนมีทั้งเลานจ์ตกแต่งสไตล์เก๋ไก๋ ไปจนถึงบาร์และคาเฟ่ที่ตกแต่งขึ้นตามสถานที่ต่าง ๆ จากยุโรป, สหรัฐฯ และรัสเซีย
ไม่เพียงแค่ในเชิงกายภาพ ในเชิงแนวคิดทางสังคม ย่านอิแทวอนก็เป็นกระจกสะท้อนทัศนคติแบบเสรีนิยมที่ปรากฏอยู่ในสังคมนั้นด้วย อาทิ ความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ซีรีส์ที่โด่งดังอย่าง อิแทวอน คลาส (Itaewon Class) ซึ่งใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นฉากหลังและบริบทหนึ่งของเรื่องมีตัวละครผิวดำและตัวละครข้ามเพศ
และหากพูดถึงด้านรสนิยมทางเพศโดยเฉพาะ ในโลกความเป็นจริง ละแวกดังกล่าวมีคลับหรือที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่ด้วย ขณะที่สังคมโดยรวมหรือแม้แต่ในสื่อบันเทิงจากเกาหลีใต้ยังมีองค์ประกอบหนึ่งที่พบเห็นได้น้อย นั่นคือเรื่องความลื่นไหลทางเพศ และความหลากหลายทางเชื้อชาติ
แต่ในขณะเดียวกัน ในช่วงหนึ่ง อิแทวอน เป็นพื้นที่อันตรายในมุมมองของบางกลุ่ม จากเรื่องอัตราการเกิดอาชญากรรมที่ค่อนข้างสูง ธุรกิจบันเทิงที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ ไปจนถึงเรื่องร้านค้าที่ขายสินค้าปลอมแปลงและของลอกเลียนแบบ และยังเป็นพื้นที่ซึ่งสะท้อนสภาพการมีอยู่ของฐานทัพอเมริกันที่ภายหลังก็ถูกมองว่าอยู่ในสภาพทรุดโทรม มีเพียงสิ่งก่อสร้างและโครงสร้างที่จำเป็นสำหรับให้เพียงพอต่อการทำภารกิจทางทหารเท่านั้น
อิแทวอนในปัจจุบัน
งานศึกษาของ Yebin So ยังระบุว่า อิแทวอน ในระยะหลังยุค 2000s เป็นต้นมา เริ่มหลุดไปจากรายละเอียดดังกล่าวแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากแรงผลักดันของนโยบายเพื่อความเปลี่ยนแปลงโดยรัฐบาลที่ต้องการโปรโมตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในโซล
แม้ว่าวัตถุประสงค์ของการเป็นโซนท่องเที่ยวพิเศษเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่ขับเคลื่อนและขับเร่งธุรกิจ แต่ภูมิหลังที่นำมาสู่การตัดสินใจผลักดันให้อิแทวอน เป็นแหล่งท่องเที่ยวพิเศษนั้น ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากสภาพหลังจัดโอลิมปิก เกมส์ เมื่อปี 1988 ซึ่งส่งอิทธิพลต่อพัฒนาการทางสังคมและทางประชากรในเกาหลีอย่างมาก ต่อเนื่องมาสู่วาระที่เกาหลีจะได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2002 ร่วมกับญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้มีผู้มาเยือนชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศเพิ่มจำนวนแบบก้าวกระโดด
ด้วยภูมิหลังเหตุการณ์เหล่านี้ อิแทวอน จึงถูกวางหมุดหมายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพิเศษเมื่อปี 1997 กิจการยามราตรีอย่าง โรงแรม บาร์ คลับ และร้านอาหาร ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อและยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินและผลประโยชน์อื่นจากโครงการของภาครัฐเพื่อใช้พื้นที่ในเมืองแห่งนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการต้อนรับชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยว
ผู้ศึกษาพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของอิแทวอน กล่าวไว้ในบทความตอนหนึ่งว่า
“ความเปลี่ยนแปลงนี้เปิดให้อิแทวอน ก้าวข้ามจากสถานะแค่แหล่งการค้าและย่านบันเทิงมาเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโซลและยังเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่หลากหลาย”
เมื่อก้าวผ่านจุดเปลี่ยนดังกล่าว อิแทวอน ไม่ใช่แค่เป็นปากท้องสำหรับชาวอเมริกันหรือมีชาวอเมริกันเป็นกลุ่มหลักอีก ภาพจำที่โยงอิแทวอนเข้ากับเมืองที่พักของอเมริกันก็ลดลง
นับตั้งแต่นั้น รัฐบาลเกาหลีไปจนถึงเจ้าของกิจการท้องถิ่น ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ขับเน้นอัตลักษณ์ด้าน ‘ต่างชาติ’ ให้เพิ่มมากขึ้น หลังจากนั้น พื้นที่แห่งนี้จึงแปรสภาพไปสู่สัญลักษณ์ของการเติบโตแง่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและขับเน้นสถานะของโซลให้เป็นเมืองที่มีความเป็นสากลแบบเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
อิแทวอน ในวันนี้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวราตรี หมุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเป็นแหล่งที่สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเชิงพื้นที่ ท่ามกลางสภาพสังคมเกาหลีใต้ที่เบ่งบานจากกระแสการเติบโตทางวัฒนธรรมจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบันเทิง และวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เป็นฟันเฟืองสำคัญซึ่งช่วยสร้างภาพการรับรู้ไปสู่คนทั่วโลก
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง:
Soo Youn. ‘Itaewon, vibrant area where tragedy struck, has complex history in Seoul’. Washington Post. Website. Published 30 OCT 2022. Access 31 OCT 2022. <https://www.washingtonpost.com/world/2022/10/30/itaewon-halloween-crowd-crush-south-korea/>
Yebin So. ‘The Making of Modern Itaewon: From Colonialism to Multiculturalism’. Capstone Report. 2016. Access 2022. <https://www.academia.edu/30426782/The_Making_of_Modern_Itaewon_From_Colonialism_to_Multiculturalism>