ชีวิต ปิยะ ตระกูลราษฎร์ ผู้แต่งเพลง ‘ไก่จ๋า’ กับเรื่องเบื้องหลังอันเป็นอนุสรณ์รักอมตะ

ชีวิต ปิยะ ตระกูลราษฎร์ ผู้แต่งเพลง ‘ไก่จ๋า’ กับเรื่องเบื้องหลังอันเป็นอนุสรณ์รักอมตะ

ปิยะ ตระกูลราษฎร์ นักแสดง นักแต่งเพลง นักพากย์ ฝากผลงานมากมายในหลายวงการ ตั้งแต่ภาพยนตร์ ครูบ้านนอก แต่งเพลง ‘ไก่จ๋า’ มาจนถึงพากย์มวยนานหลายสิบปี โดยไม่เคยมีข่าวเชิงลบตลอดอาชีพ

“ไก่จ๋า ได้ยินไหมว่าเสียงใคร มันเหมือนเสียงคนร้องไห้ แต่คล้ายชายเจ้าน้ำตา...”

เพลงลูกทุ่ง ‘ไก่จ๋า’ ขับร้องโดย สายัณห์ สัญญา ซึ่งปิยะ ตระกูลราษฎร์ แต่งเพื่อเป็นอนุสรณ์ความรักของเขา กลายเป็นเพลงอมตะเพลงหนึ่งของวงการที่อยู่ในความทรงจำแฟนเพลงลูกทุ่งตลอดมา

เพลงนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ปิยะ กำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง ในฐานะพระเอกภาพยนตร์ ไปพบรักกับดาราสาวคนสวย ไก่ - ปริศนา วงศ์ศิริ แต่ความรักไม่สมหวัง ทำให้เกิดความว้าวุ่นใจ ระบายออกมาเป็นตัวหนังสือแบบกลอนเศร้ากินใจ

จนกระทั่งไปพบกับครูพงษ์ศักดิ์ จันทรรุกขา (ศิลปินแห่งชาติ นักแต่งเพลง ผู้ล่วงลับ) ครูจึงแนะนำให้แต่งเป็นเพลง แต่ปิยะ ไม่รู้จักใครในวงการเพลง มอบบทกลอนนี้ให้ครู ครูก็ไม่รับ คิดหนักอยู่หลายวันจึงนึกถึง สายัณห์ สัญญา นักร้องสุพรรณบ้านเดียวกัน ซึ่งกำลังโด่งดัง จึงตัดสินใจโทรศัพท์ไปหา

สายัณห์ นัดไปพบที่ปาป้าคาเฟ่ ฝั่งธนบุรี คุยแล้วถูกชะตากัน สายัณห์ จึงติดต่อห้องบันทึกเสียงไพบูลย์ และประสานครูจิตรกร บัวเนียม นักเรียบเรียงเสียงประสานยอดฝีมือมาทำดนตรีให้ โดยสายัณห์ ไม่คิดค่าตัวเลย

พอถึงวันนัดทำเพลงนัดเวลาเที่ยง แต่สายัณห์มาตั้งแต่ 9 โมงเช้า ต่อเพลงและขัดเกลาทำนองกันในวันเดียวกัน

เพลงชุดนี้มีด้วยกัน 10 เพลง อาทิ เพลง รักน้อยๆแต่ให้นานๆ ส.หางยาว ครูบ้านนอกบอกรัก ความรักคือการให้ เป็นต้น รวมถึงเพลง ‘หนึ่งปีที่ทรมาน’ ที่มีวรรคทองว่า

“...สิบสี่กุมภา วันวาเลนไทน์ ของขวัญจากใจฉันเคยให้เธอ...”

ภายในเวลาเพียงหนึ่งเดือน สายัณห์ นำไปร้องหน้าเวทีและวิทยุนำไปเปิด เพลง ‘ไก่จ๋า’ ‘หนึ่งปีที่ทรมาน’ โด่งดังมาก จนปิยะ ถูกบันทึกเข้าทำเนียบนักแต่งเพลง โดยมีเพลงที่แต่งไว้ประมาณ 500 เพลง รวมถึงเพลง ‘สาวเมืองกาญจน์’ ที่ปริศนา วงศ์ศิริ ขับร้องไว้เป็นต้นฉบับด้วย

ชีวิตสุพรรณหนุ่มกับความบังเอิญมาเป็นดารา

ชีวิตวัยเด็กของปิยะ หนุ่มอำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี มีความโลดโผนมาก หลังเรียนจบป.4 พ่อแม่ที่มีลูก 8 คน ก็ส่งให้เรียนช่างไม้ที่โรงเรียนการช่าง สุพรรณฯ แต่ไม่ชอบ จึงไปเรียนตัดผม และเรียนไม่จบ กลับมาอยู่บ้านเฉย ๆ ไม่มีอะไรทำ เพื่อน ๆ จึงชวนเข้ากรุงเทพฯ มาหางานทำ

ปิยะ เข้ากรุงเทพฯ ไปรับจ้างแบกกล่องลำไยแถวคลองมหานาค จากนั้นก็ไปเป็นช่างตัดผมที่ตลาดเมืองนนท์ แต่วันหนึ่งพลาด ทำมีดโกนบาดใบหูลูกค้า จึงถูกให้ออกจากงาน มาถีบสามล้อรับจ้างที่นนทบุรี แต่ด้วยเป็นคนตัวเล็ก เรี่ยวแรงน้อย วันหนึ่งขณะเข็นสามล้อขึ้นเนิน บังคับรถไม่อยู่ รถคว่ำจนพังเสียหาย เจ้าของจึงไล่ออก ทำให้ต้องกลับมาบ้านที่สุพรรณเพื่อตั้งหลักชีวิตใหม่

พี่ชายจึงพาเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้งเพื่อให้เรียนต่อ จะได้มีอนาคตที่ดี โดยมาฝากเป็นศิษย์วัดพระพิเรนทร์ แถวตลาดคลองถม และเรียนต่อมัธยมที่วัดราชบพิตร จนจบมศ.5

ในระหว่างเดินไปโรงเรียนต้องผ่านสะพานเหล็ก โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ขณะที่เดินผ่านบริเวณที่ตั้งศูนย์การค้าดิโอลด์สยามพลาซ่าในปัจจุบัน บริเวณนี้เป็นแหล่งชุมนุมของบุคคลในวงการภาพยนตร์ มีทั้งผู้สร้าง ผู้แสดง ตัวประกอบเดินกันขวักไขว่เรียกกันว่า ‘มะขามสแควร์’

ซึ่งในปี 2516 ชุติมา สุวรรณรัตน์ จะสร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘นี่หรือชีวิต’ ทีมงานจึงเรียกตัวประกอบที่สมัครไว้แล้วขึ้นรถ ซึ่งปิยะ ปะปนอยู่ในกลุ่มจึงถูกดึงตัวขึ้นรถไปด้วย จึงได้ไปเป็นตัวประกอบภาพยนตร์ด้วยความบังเอิญ โดยเรื่องแรกได้รับบทเป็นบุรุษพยาบาลเข็นศพ

จากนั้นก็ได้แวะเวียนไปทุกวัน ได้แสดงประกอบภาพยนตร์ประเภทหางแถวนับร้อยเรื่อง แบบที่เรียกกันว่า ‘โป้งเดียวจอด’ หรือ ‘โป้งแอ๊ะ’ หมายถึง ตัวประกอบที่ออกมาแสดงได้นิดเดียวก็ผู้ร้านยิงตายซะแล้ว

จากดาราตัวประกอบ สู่นักแสดงรางวัลระดับเอเชีย

ภาพยนตร์ที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิต คือเรื่อง ‘มนต์รักแม่น้ำมูล’ ของครูรังสี ทัศนพยัฆค์ และครูพงษ์ศักดิ์ จันทรรุกขา เป็นผู้เขียนบทและกำกับภาพยนตร์ 

ปิยะ ได้รับเลือกไปแสดงเป็นตัวประกอบ รับบทครูบ้านนอก บทบาทเด่นพอสมควรจนเข้าตา ผู้สร้างคือ ดวงกมลมหรสพ ของ กมล กุลตังวัฒนา เมื่อเห็นแววจึงได้ทาบทามมาแสดงเป็นพระเอกภาพยนตร์เต็มตัวในเรื่อง ‘ครูบ้านนอก’ บทประพันธ์ของ คำหมาน คนไค ที่สุรสีห์ ผาธรรม กำกับการแสดง ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากคนในวงการมากมาย เพราะเป็นดาราหน้าใหม่ หน้าหนังขายสายหนังต่างจังหวัดไม่ได้

วันที่ 17 มิถุนายน 2521 กมล เจ้าของค่ายสร้างหนัง กล้าหาญเปิดฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในรอบพิเศษ โดยเชิญ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีมาร่วมชม

หลังจากนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนวิจารรณ์ว่า “ครูบ้านนอก เป็นหนังดีที่น่าดู” เท่านั้นเอง จากภาพยนตร์ที่ไม่มีกระแส ดาราหน้าใหม่ที่คนไม่รู้จัก จากคนดูปากต่อปากทำให้ ‘ครูบ้านนอก’ ประสบความสำเร็จสูงเกินคาดทำรายได้สูงถึง 9 ล้านบาท ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมไทย และนักศึกษาวิทยาลัยครูทั่วประเทศแห่ไปดูเรื่องนี้ และภาพยนตร์ยังได้รางวัลชนะเลิศจากประเทศรัสเซีย 2 รางวัลคือ ภาพยนตร์สร้างสรรค์และผู้กำกับดีเด่น

ปิยะ - วาสนา สิทธิเวช คู่พระคู่นางจึงแจ้งเกิดทันทีจากภาพยนตร์เรื่องนี้และถูกจับคู่ให้แสดงเป็นครูคู่กันอีกหลายเรื่องและยังส่งผลให้เกิดกระแสการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับครูตามมาอีกหลายเรื่อง ภาพลักษณ์ของปิยะ คือ ครูบ้านนอก นักต่อสู้เพื่อความเที่ยงธรรม และได้รับรางวัลดารารนำฝ่ายชายเอเชีย เมื่อปี 2522 จากเรื่อง ‘ครูบ้านนอก’ จากการประกวดที่มาเลเซีย

จากนั้นปิยะ ก็มีผลงานภาพยนตร์ติดต่อกันหลายเรื่อง ร่วมกับนางเอกพระเอกหลายคนในยุคนั้น เช่น จารุณี สุขสวัสดิ์ สุพรรษา เนื่องภิรมย์  ลลนา สุลาวัย์ นันทิดา แก้วบัวสาย สินจัย หงษ์ไทย ฯลฯ

และได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง พระสุรัสวดี ดารานำชายจากภาพยนตร์เรื่อง ‘เทพเจ้าบ้านบางปูน’

เบื้องหลังคนจัดงานศพ ระพิน ภูไท ยิ่งใหญ่ลบคำสบประมาท

 ช่วงปี 2524 ปลายเดือนมีนาคม นักร้องลูกทุ่งชื่อดังในอดีต ระพิน ภูไท เสียชีวิตและมีการจัดงานศพที่วัดปากน้ำ นนทบุรี ซึ่งมีข่าวว่างานเงียบเหงามาก แทบไม่มีคนในวงการมาร่วมงาน

ปิยะ ได้ไปที่งานและด้วยหัวใจที่รักเพลงลูกทุ่งมาก แม้ไม่เคยรู้จักกันกับ ระพิน ภุไทเลย แต่ได้จัดการประสานงานเรื่องวัด และออกค่าใช้จ่ายในงานศพให้ทั้งหมด ติดต่อหนังกลางแปลงมาฉายเพื่อให้งานฌาปณกิจศพขุนพลเพลง ระพิน ภูไท มีความยิ่งใหญ่และมีผู้คนมาร่วมงานมากมาย

ครอบครัวของระพิน ซาบซึ้งใจมากทั้ง ๆ ที่อยู่คนละวงการ (ในขณะนั้น) แต่มีน้ำใจมาช่วยเหลือโดยที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนใดจากการจัดงานเลย ข้อมูลนี้ น้อยคนนักจะทราบและไม่ได้มีการบันทึกไว้ในนิตยสารหรือข่าวใด ๆ 

ส่วนใหญ่ที่ทราบกันคือข่าวลวงที่เขียนให้หวือหวาแบบมีอคติว่า ระพิน ตายโดยไม่มีโลงศพจะใส่ และการจัดงานแทบไม่มีคนไปร่วมงาน

จากดารา คนเขียนเพลง สู่นักพากย์มวย

ช่วงหลัง ๆ ปิยะ เบนเข็มจากดาราไปเป็นนักพากย์มวยจนเป็นที่รู้จักทั่วไปใน ‘ศึกอัศวินดำ’ ทางช่อง 9 อสมท. ช่วงเริ่มแรกพากย์เดี่ยว ต่อมาจับคู่กับ เทพพิทักษ์ จันทร์สุภาพ แฟนมวยติดใจกัน

มีสำนวนแปลก ๆ ชวนให้ขำ เช่น เวลานักมวยโดนเตะเข้าที่คาง ก็จะบรรยายว่า “ยืมปลายคางไว้วางเท้า” พากย์มวยอยู่ 20 ปี จนได้รับรางวัลเทพทอง ฐานะพากย์มวยยอดเยี่ยม

ระหว่างนั้นก็หันมาแต่งเพลงประกอบละครโทรทัศน์ด้วย มีเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘ขุนเดช’ ทางช่อง 7 สี ที่ปิยะ ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ สาขานักแต่งเพลงประกอบละครยอดเยี่ยมอีกรางวัล

ตลอดชีวิตที่อยู่ในวงการ ปิยะ ตระะกูลราษฎร์ เป็นที่รักใคร่ของคนในหลายวงการ โดยเฉพาะวงการเพลง ซึ่งเมื่อมีการขอใช้ลิขสิทธิ์เพลงเพื่องานการกุศล ปิยะ ไม่รั้งรอที่จะช่วยเหลือให้อนุญาตโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ เลย

ล่าสุดเมื่อมีการจัดงานรำลึก 10 ปี สายัณห์ สัญญา ก็มอบลิขสิทธิ์เพลงให้มาขับร้องในงานด้วย และหลายคนรวมทั้งผู้เขียน เมื่อได้โทรศัพท์พูดคุยกันก็ไม่พบว่า มีการบอกกล่าวเรื่องอาการเจ็บป่วยเลย ทราบภายหลังว่า เจ้าตัวขอปกปิดไว้เป็นส่วนตัว ด้วยความเกรงใจเพื่อน ๆ พี่น้องในวงการ  

ปิยะ มีบุตร 3 คน เสียชีวิตไป 1 คน โดยครอบครัวพำนักอยู่ที่จ.นครปฐม

ถ้าจะเอ่ยชื่อคนบันเทิงในวงการที่มีความสามารถหลายด้านในระดับมีรางวัลการันตี และประพฤติตัวเป็นที่ชื่นชมยอมรับนับถือในหลายวงการ โดยที่ไม่มีข่าวในเชิงลบออกมาเลยในตลอดชีวิตการทำงาน สุภาพบุรุษหนุ่มสุพรรณ ปิยะ ตระกูลราษฎร์ ยืนหนึ่งในเรื่องนี้

และน่าทึ่งตรงที่เป็นผู้ที่สามารถนำเรื่องความผิดหวังในความรักมาแปลงเป็นพลังในการเขียนเพลงจนกลายเป็นเพลงที่โด่งดังฮิตติดหู

 

เรื่อง: เคน สองแคว

ภาพ: ปิยะ ในงานรับรางวัลเมื่อปี 2004 ภาพจาก NATION PHOTO