มาร์ค เจนมานะ มองทางแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ-โอกาสไม่เท่ากัน ผ่านมุมเศรษฐศาสตร์

มาร์ค เจนมานะ มองทางแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ-โอกาสไม่เท่ากัน ผ่านมุมเศรษฐศาสตร์

ต้นเหตุของปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำ’ สังคมและเศรษฐกิจไทยถือกำเนิดมาจากหลากหลายที่มาไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง กติกา หรือวัฒนธรรม เฉกเช่นเดียวกับแนวทางการแก้ไข ‘มาร์ค-ธนสักก์ เจนมานะ’ ชี้ให้เห็นถึงวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้ผ่านภาษีและการกระจายอำนาจ

การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ถ้าจะตอบในเชิงปฏิบัติเลย เราก็ต้องหาว่าจะทำอย่างไรให้โอกาสของคนทุกคนเท่าเทียมกันมากขึ้น

มาร์ค-ธนสักก์ เจนมานะ’ อดีตศิลปินจากบทเพลง ‘ถ้าพระจันทร์’ ผู้ผันตัวเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งวิจัยและหาคำตอบในเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างเต็มตัว เอ่ยตอบเมื่อ The People กล่าวถามถึงวิธีการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ก่อนจะเจาะรายละเอียดถึงวิธีการลงมือแก้ไข ธนสักก์ชี้ให้เราเห็นภาพว่าก่อนอื่นเราต้องเป้าก่อนว่า ‘การแก้ไข’ ที่ว่าคืออะไร ก่อนจะลงมือทำมันจริง ๆ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าเมื่อกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำ เราก็จะนึกถึงการที่คนเราครอบครองทรัพย์สินไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเงินตรา ทรัพย์สิน หรือที่ดิน แต่หากเจาะลึกลงไปแล้ว ความเหลื่อมล้ำคือการที่คนเราเข้าถึง ‘โอกาส’ ไม่เท่ากัน

แล้วโอกาสเหล่านั้นรวมถึงอะไรบ้าง? ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข หรือโอกาสในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ เพราะหากโอกาสเหล่านี้ถูกแจกสรรไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่แรก ก็เปรียบเสมือนการเริ่มต้นวิ่งแข่งด้วยจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน และจะยิ่งทำให้แนวโน้มความเหลื่อมล้ำขยับกว้างขึ้นกว่าเดิม

เมื่อประชาชนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง ก็มีโอกาสที่เขาเหล่านั้นจะเสียโอกาสในการมทำงานหารายได้ที่สูงเท่าเทียมกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง หากคนบางกลุ่มมีรายได้แตกต่างจากคนอีกกลุ่ม เขาเหล่านั้นก็จะสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการรักษาสุขภาพตัวเองได้แตกต่างออกไปอีก เป็นต้น

แน่นอนมันต้องเป็นบทบาทของรัฐ ในการที่จะแก้ไขสิ่งนี้ รัฐก็ต้องสะท้อนความต้องการของประชากรส่วนใหญ่ของไทย ซึ่งถามว่าปัจจุบันนี้สะท้อนหรือไม่ ก็อาจจะไม่… ประชากรส่วนใหญ่ไทยในปัจจุบัน ถ้าอยากให้ลูกได้การศึกษาที่ดี อยากเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขที่ดี ก็ต้องมีรายได้ที่ค่อนข้างสูง” 

ธนสักก์ชี้ให้เราเห็นว่าการที่จะกระจายโอกาสให้ผู้คนสามารถได้รับโอกาสได้อย่างเท่าเทียม รัฐ (ผู้ควบคุมกติกา) ถือว่ามีบทบาทมาก ๆ ในการจะบรรลุเป้าหมายนั้น ไม่ว่าจะจากนโยบายหรือสวัสดิการที่จะทำให้ผู้คนในสังคมเริ่มวิ่ง ณ จุดเริ่มต้นที่ไม่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันมากเกินไป

 

การปฏิรูประบบภาษี

"แล้วรัฐจะเอาเงินมาจากไหน ปัจจุบันรัฐไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายได้น้อยมาก"

รายได้ของรัฐบาลไทย (Government Revenue) เมื่อสามารถคิดเป็นแค่ 17 เปอร์เซ็นต์ของ GDP เพียงเท่านั้น ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสที่รัฐบาลมีรายได้คิดเป็น 30 และ 40 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

"เรามีปัญหาในด้านความสามารถของรัฐในการใช้จ่าย… คนไทยรายได้น้อยเลยทำให้เก็บภาษีได้น้อย ไม่ว่าจะรวยหรือจน ภาระภาษีไม่ว่าจะรวมทางอ้อมทางตรง ค่อนข้างที่จะเท่ากัน รัฐควรจะมีบทบาทในการกระจายโอกาส คนที่มีรายได้มากกว่า คนที่จะมีภาระในการเสียภาษีให้รัฐบาลมาใช้จ่ายกับนโยบายสวัสดิการต่างๆ มากกว่าที่จะเป็นภาระของคนจน"

เราจะเห็นได้ว่าโครงสร้างทางการเก็บภาษีส่งผลต่อรายได้ของรัฐและไหลมากระทบการแจกแจงโอกาสของผ่านความสามารถในการมอบสวัสดิการแก่ประชาชน ธนสักก์จึงคิดว่าการจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในทางหนึ่งคือการจัดการกับโครงสร้างการเก็บภาษีเสียใหม่ เพื่อที่จะได้สามารถเก็ยภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพและแฟร์แก่ทุกคนที่สุด กล่าวคือ ระหว่างผู้คนที่มีรายได้น้อยและรายได้มาก ควรมีภาระในเรื่องของการจ่ายภาษีที่ต่างกัน

นอกจากนั้น ธนสักก์ยังชี้ให้เห็นไปถึงการเก็ยภาษีทรัพย์สิน เพราะเป็นการนำเอาปัจจัยและความมั่งคั่งในด้านทรัพย์สินเข้ามาอยู่ในสมการการประเมินภาระที่แต่ละคนต้องแบกรับในด้านภาษีด้วย เพราะบางคน แม้ไม่ต้องทำงานเลย แถมยังมีรายได้มากกว่าหลายคนที่ทำงานแต่กลับไม่ต้องเสียภาษีเท่าคนทำงาน เพราะไม่ได้มีการเก็ยภาษีทรัพย์สิน กลับกัน คนที่ทำงานแม้จะมีรายได่ที่น้อยกว่ามากอาจจะต้องเสียภาษีในสัดส่วนที่ใหญ่กว่ารายได้ทั้งหมดของตนเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ทำงานและถือเพียงทรัพย์สิน

เราจะเห็นว่า ภาระที่แต่ละคนเจอจะไม่เท่ากันในกรณีของคนที่มีทรัพย์สินเยอะ บางทีอาจจะไม่ต้องทำงานเลยก็ได้ ได้รายได้จากค่าเช่า ได้รายได้จากดอกเบี้ย ได้รายได้จากเงินปันผล ซึ่งหลายอย่างไม่เสียภาษี เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าจริงๆแล้ว 

กลายเป็นว่าเราเก็บภาษีกับคนทำงานมากกว่าคนไม่ทำงานแล้วได้รายได้จากทรัพย์สิน

ดังนั้น การปฏิรูปภาษีจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ต้องลงมือปฏิบัติเพื่อที่จะในแง่หนึ่งทำให้รัฐมีรายได้ที่เหมาะสมและสูงขึ้นกว่าเก่า และในอีกแง่หนึ่งก็เพื่อให้ภาระการแบกรับภาษีระหว่างผู้คนในสังคม ‘แฟร์’ และ ‘สมเหตุสมผล’ มากขึ้น 

 

การกระจายอำนาจกลับคืนสู่ท้องถิ่น

“เราจะเห็นว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีช่องว่างของรายได้เชิงพื้นที่ระหว่างจังหวัด สูงอันดับต้น ๆ ของโลก

นิยามของช่องว่างทางด้านรายได้ที่ว่าก็คือควมแตกต่างระหว่างรายได้เฉลี่ยของจังหวัดโดยเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักผ่านจำนวนของประชากรในแต่ละจังหวัด เมื่อนำมาเทียบกันเช่นนี้แล้วเราก็จะเห็นได้ว่าแต่ละพื้นที่มีรายได้น้อย-มาก ต่างกันขนาดไหน และทำให้สามารถเห็นภาพของความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ได้ชัดเจนขึ้น

ซึ่งผลลัพธ์ก็บ่งชี้ว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างจังหวัดถือว่าสูงมาก ๆ 

เพราะฉะนั้นเราจะแก้ปัญหานี้ยังไง คำตอบคือเราต้องพูดถึงการกระจายอำนาจ

สู่ท้องถิ่นมากขึ้น ถ้าเกิดเราเริ่มต้นเก็บภาษีทรัพย์สิน แน่นอนทรัพย์สินมันกระจายอยู่ทั่วประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ที่ดิน โคราชที่มีเยอะมากแถมมูลค่าก็สูง ทีนี้เราก็ต้องให้รายได้ที่เก็บจากทรัพย์สินในแต่ละท้องถิ่น เข้าสู่ท้องถิ่น เพื่อที่ท้องถิ่นเหล่านั้นจะสามารถพัฒนาพื้นที่ของตัวเองได้ เพราะพวกเขาเองรู้ว่าความต้องการของตัวเองดีที่สุด พวกเขารู้ว่าปัญหาของท้องถิ่นคืออะไร

เพราะการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น (Decentralization) ไม่เพียงแต่จะทำให้พวกเขาได้รับผลประโยชน์ที่แต่ละพื้นที่ควรจะได้อย่างเต็มที่ แต่ยังทำให้พวกเขาสามารถจัดสรรทรัพยากรได้ด้วยตนเองและเป็นการสะท้อนสิ่งที่เขาต้องการจริง ๆ ได้มากที่สุด 

ธนสักก์กล่าวว่าส่วนกลางอาจจะไม่ได้ตระหนักปัจจัยนานาประการได้ดีเท่าคนในท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้การกระจายอำนาจที่รวมไว้ ณ ศูนย์กลางอาจจะทำให้การจัดสรรทรัพยากรและพการพัฒนาดำเนินไปแบบถูกทิศถูกทางมากกว่ารวมศูนย์ก็เป็นได้ 

 

ประชาธิปไตยและความเหลื่อมล้ำ

ก่อนจะจบการสัมภาษณ์ในประเด็นแนวทางการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ เราจึงได้เอ่ยถามธนสักก์ถึงความเกี่ยวโยงกันระหว่างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งกับการที่รัฐจะสะท้อนความต้องการของประชากรส่วนใหญ่ได้ดี เพื่อที่จะนำพาสังคมให้หลุดพ้นไปจากปัญหาความเหลื่อมล้ำได้

"ผมยกตัวอย่างที่ Extreme มาก หลายคนอาจจะได้ยินบ่อย ก็คืองานของ ‘อมาตยา เซน’ (Amartya Sen) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย ที่บอกว่า ‘ในสังคมประชาธิปไตยไม่เคยมีประชากรเสียชีวิตจากความอดอยาก’ ซึ่งแน่นอนประชาธิปไตยที่ทำงานได้ดีก็จะสะท้อนความจำเป็น และความต้องการของประชากรได้ดีกว่าสิ่งที่ไทยเป็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้…"