06 ม.ค. 2566 | 23:08 น.
- วิเวียน เวสต์วูด แฟชั่นไอคอนคนสำคัญอีกรายของโลกเสียชีวิตในวัย 81 ปี เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2022
- อิทธิพลทางวัฒนธรรม ความเป็นพังก์ และด้านแฟชั่นจากวิเวียน เวสต์วูด ส่งผลต่อเนื่องมาหลายยุคสมัย
หากย้อนกลับไปในช่วงยุค 60s กระแสแฟชั่นซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดดูจะเป็นแฟชั่นแนวฮิปปี้ แต่ในทางตรงกันข้าม ดูจะมีคู่รักที่ไม่ได้ไหลตามไปกับกระแสนั้นและมุ่งสู่ความขบถ การต่อต้าน รวมไปถึงเสื้อผ้าในแนวที่แตกต่างออกไป
สไตล์การแต่งตัวแนวพังก์ส่วนหนึ่งเริ่มขึ้นจากความสัมพันธ์ของ ‘วิเวียน เวสต์วูด’ (Vivienne Westwood) กับคนรักของเธอ ‘มัลคอล์ม แม็คลาเรน’ (Malcolm McLaren) เมื่อปี 1970 ในปีถัดมาจากนั้น ช่วงสมัยที่เธอยังเป็นวัยรุ่น วิเวียน บอกว่า ที่จริงแล้วเธอไม่ได้อยากจะเป็นดีไซเนอร์ เพียงแต่อยากทำเสื้อผ้าตามความต้องการของเธอเองเพียงเท่านั้น แล้วเธอก็ถูกขอให้มาออกแบบเสื้อผ้าให้กับวงดนตรีที่คนรักของเธอเป็นผู้จัดการในตอนนั้น ซึ่งคือวง Sex Pistols วงดนตรีที่ถือได้ว่าเป็นพังก์ยุคแรกเริ่มด้วยเช่นกัน จึงทำให้เธอเปิดร้านเสื้อผ้าเล็ก ๆ ในลอนดอน อย่างร้าน ‘SEX’ เมื่อปี 1974
“ร้านที่แหวกจากทุกสิ่งที่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ณ ช่วงเวลานั้น”
คือนิยามของร้านนี้
ที่จริงแล้วร้านนี้เคยใช้ชื่อ ‘Let It Rock’ มาก่อนเมื่อปี 1971
หนึ่งปีถัดมา วิเวียน สนใจในแฟชั่นชุดหนังซึ่งประดับด้วยซิปที่เหล่าไบค์เกอร์ชอบใส่กัน ทำให้เกิดการ re-branding โดยใช้โลโก้หัวกะโหลกและกระดูกไขว้ และยังเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Too Young to Live, Too Young to Die’
ถัดมาในปี 1975 วิเวียนและมัลคอล์ม เริ่มออกแบบเสื้อผ้าของตัวเองที่มีการปรินท์สโลแกนสองแง่สองง่ามมาเป็นส่วนหนึ่งในเสื้อผ้าที่เธอออกแบบ คงเพราะผลงานของพวกเขาดูจะสื่อความลามกอนาจารอย่างโจ่งแจ้งเกินไป เลยทำให้พวกเขาถูกดำเนินคดีตามข้อกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์
แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะมาขวางเธอในการทำตามสิ่งที่ใจเธอต้องการ วิเวียน ตอบโต้ด้วยการเปลี่ยนแปลงร้านอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เธอทำผลงานที่มีภาพที่รุนแรงมากขึ้นไปอีก
วิเวียน ออกแบบเสื้อผ้าที่สะท้อนถึงแนวคิดเรื่องอนาธิปไตยของวง Sex Pistols และกล่าวได้ว่า วิเวียน เวสต์วูด มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของพังก์ ทำให้มันก่อร่างเป็นสไตล์ เป็นชุดแนวคิดของกลุ่มชน และการเคลื่อนไหวทางสังคมในตอนนั้น
แต่แล้วเมื่อเพลงของ Sex Pistols อย่างเพลง ‘God Save the Queen’ ถูกแบนจากวิทยุบริทิช วิเวียน จึงเปลี่ยนชื่อร้านของเธอเป็น ‘Seditionaries’ แล้วสร้างสรรค์แฟชั่นที่สื่อถึงเรื่องทางเพศและความเป็นทาส
ผลงานซึ่งเป็นที่น่าจดจำที่สุดดูจะเป็นเสื้อมัสลินสีหม่นที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่สอง และเสื้อยืด ‘Destroy’ ที่มีสัญลักษณ์สวัสดิกะกับรูปของพระเยซูที่ถูกตรึงบนไม้กางเขนกลับหัว สื่อชื่อดังต่างเรียกงานศิลปะบนเสื้อผ้าที่รุนแรง ไร้ซึ่งความเกรงกลัวของวิเวียน ว่าแฟชั่นแนว ‘Punk Rock’ และทำให้วิเวียน เวสต์วูด กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสายงานของเธอ
ในแง่ของการแสดงออกทางการเมือง วิเวียน เชื่อว่าเสื้อผ้าของเธอนำเสนอตัวตนแบบหัวรุนแรงของเธอในช่วงยุค 70s และเธอก็ต้องการจะออกแบบงานที่มีความหมายเกี่ยวกับการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เธอกล่าวอีกว่า ต้องการกระตุ้นให้ชาวพังก์รุ่นเยาว์เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย
แต่การล่มสลายของวง Sex Pistols ประกอบกับบริบทที่พังก์เริ่มถูกผู้คนในกระแสหลักหยิบยกองค์ประกอบความเป็นพังก์ไปใช้ด้วย ทำให้วิเวียน เริ่มจะไม่ชอบสิ่งที่ทำอยู่อีกแล้ว จนเมื่อปี 1980 วิเวียน เปลี่ยนชื่อร้านอีกครั้ง ครั้งนี้เธอเลือกใช้ชื่อ ‘Worlds End’ ที่ปัจจุบันก็ยังคงใช้ชื่อนี้อยู่ โดยร้านนี้ถูกปรับแต่งมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ยังคงเก็บรายละเอียดภายในที่วิเวียน และมัลคอล์ม เคยออกแบบเมื่อ 40 ปีที่แล้วเอาไว้
นี่คือเรื่องราวของผู้หญิงในยุคต้นกำเนิดแฟชั่นพังก์ซึ่งยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างดีและส่งอิทธิพลจนถึงปัจจุบัน วิเวียน เวสต์วูด คือผู้ถ่ายทอดตัวตนและจุดยืนของเธอออกมาในรูปแบบของเสื้อผ้าและเครื่องประดับอีกมากมาย
แม้เธอจะจากไปแล้วด้วยวัย 81 ปี แต่เรื่องราวและผลงานของอีกหนึ่งผู้สร้างงานศิลปะให้กลายเป็นตำนานจะคงอยู่ตลอดไป
เรื่อง: ปิยวรรณ พลพุทธ (The People Junior)
ภาพ: วิเวียน เวสต์วูด และมัลคอล์ม แม็คลาเรน เมื่อปี 1977 ไฟล์จาก Getty Images ประกอบกับภาพวิเวียน เวสต์วูด เมื่อ 2017 ไฟล์จาก Getty Images
อ้างอิง: