วิเคราะห์ ‘อาร์บอนนีย์ เกเบรียล’ และ ‘แอนนาเสือ’ บนเวที มิสยูนิเวิร์ส 2022 จากยุค IMG สู่ JKN

วิเคราะห์ ‘อาร์บอนนีย์ เกเบรียล’ และ ‘แอนนาเสือ’ บนเวที มิสยูนิเวิร์ส 2022 จากยุค IMG สู่ JKN

มิสยูนิเวิร์ส ครั้งที่ 71 ผลออกมาเป็น ‘อาร์บอนนีย์ เกเบรียล’ จากสหรัฐอเมริกาได้มงกุฎไปครอง ขณะที่ แอนนา เสืองามเอี่ยม ตัวแทนจากไทยตกรอบอย่างน่าเสียดาย ในเวทีประกวดยุค JKN

  • เวทีประกวด มิสยูนิเวิร์ส ครั้งที่ 71 ได้นางงามจากสหรัฐอเมริกาเป็นผู้คว้ารางวัลไป 
  • แอนนา เสืองามเอี่ยม นางงามจากไทยตกรอบในเวทียุค JKN ที่มี แอน จักรพงษ์ ในนามบริษัท JKN ถือครองลิขสิทธิ์การประกวดมิสยูนิเวิร์ส

การประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2022 (จัดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2023 ตามเวลาในไทย) ที่หลายคนรอคอยจบลงแล้วพร้อมกับชัยชนะของ ‘อาร์บอนนีย์ เกเบรียล’ ตัวแทนสาวงามจากประเทศสหรัฐอเมริกา (เธอถือเป็นสาวงามสัญชาติอเมริกันคนที่ 9 ที่คว้ามงกุฏนางงามจักรวาล)

ในบทความชิ้นนี้ เราจะชวนผู้อ่านทำความรู้จักกับเธอ รวมถึงรีวิวผลงานของตัวแทนสาวไทย #แอนนาเสือ และร่วมวิเคราะห์การเปลี่ยนผ่านและมองอนาคตของการประกวดมิสยูนิเวิร์สภายใต้การนำของ JKN

 

‘อาร์บอนนีย์ เกเบรียล’: จาก CEO สู่มิสยูนิเวิร์ส

‘อาร์บอนนีย์ เกเบรียล’ สาวงามวัย 28 ปี เกิดและเติบโตที่รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอเป็นลูกครึ่ง คุณพ่อของเธอเป็นชาวฟิลิปปินส์ที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา และคุณแม่ที่เป็นชาวอเมริกัน ตั้งแต่วัยเด็ก อาร์บอนนีย์มีความสนใจกิจกรรมหลายด้าน เช่น การท่องเที่ยว กีฬา แต่ที่โดดเด่นคือศิลปะ

ด้วยวัยเพียง 15 ปี ตัวตนของเธอเริ่มชัดเจน เธอเริ่มมีความสนใจเรื่องแฟชั่นและสิ่งทอ ตัดสินใจศึกษาต่อด้านนี้และจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเท็กซัส พร้อมกับวิชาโทในด้านเส้นใย (Fiber)

หลังจากการศึกษา นอกจากอาร์บอนนีย์ จะทำงานเป็นนางแบบอาชีพแล้ว เธอยังเป็น CEO แบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองที่มีชื่อว่า ‘อาร์ บอนนีย์ โนลา’ ซึ่งมีเอกลักษณะเฉพาะตัวคือมุ่งเน้นขั้นตอนการตัดเย็บของวัสดุการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ไม่เพียงความโดดเด่นในด้านอาชีพ เธอยังมีความใส่ใจงานเพื่อสังคมโดยการเป็นครูสอนเย็บผ้าที่ Magpies & Peacocks ห้องเสื้อที่ทำงานแบบไม่แสวงผลกำไร ยึดมั่นการพัฒนาอย่างยั่งยืน และในโปรแกรม ‘MAKR’ เธอได้มีโอกาสแบ่งปันความรู้เรื่องการเย็บผ้าให้แก่ผู้หญิงที่รอดพ้นจากการค้ามนุษย์และความรุนแรงในครอบครัว

ในทุกรอบของการประกวด เธอทำผลงานได้ออกมาอย่างดีเยี่ยม แทบจะไม่มีข้อผิดพลาดให้ได้เห็น ที่โดดเด่นที่สุดคือการตอบคำถาม และนี่คือคำตอบในรอบ 3 คนสุดท้ายของเธอ

(คำถาม) หากคุณเป็นผู้ชนะ คุณจะทำอย่างไรเพื่อแสดงออกให้เห็นว่ามิสยูนิเวิร์สคือองค์กรที่ส่งเสริมผู้คนให้แข็งแกร่ง

(คำตอบ) “ฉันเคยเป็นผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลง ในฐานะของคนที่มีความสนใจเรื่องแฟชั่นอย่างแรงกล้า ฉันตัดเย็บเสื้อผ้ามาเป็นเวลา 13 ปี ฉันใช้แฟชั่นเป็นพลังแห่งความดี (ตรงกับอุดมการณ์ของ Magpies & Peacocks) ในอุตสาหกรรมที่ฉันทำงานอยู่

ฉันลดมลภาวะโดยผ่านการใช้วัสดุรีไซเคิลเมื่อตัดเย็บเสื้อผ้า แบ่งปันความรู้เรื่องการเย็บผ้าให้แก่พวกผู้หญิงที่รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์และความรุนแรงในครอบครัว

และฉันต้องพูดเรื่องแบบนั้น เพราะมันถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่ลงทุนกับคนและกับสังคม และใช้ความสามารถเฉพาะตัวของคุณเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เราทุกคนมีบางสิ่งบางอย่างที่พิเศษ และเมื่อเราเพาะพันธุ์เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นสู่คนอื่น ๆ ในชีวิตของเรา เราก็จะเปลี่ยนแปลงพวกเขาได้และใช้มันเป็นเครื่องมือสร้างความเปลี่ยนแปลง”

ซึ่งเทียบคำถามของทั้ง 3 สาวในรอบสุดท้าย จะเห็นได้ว่าคำตอบของ อาร์บอนนีย์ เกเบรียล ดูเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้มากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น หากมองในแง่ของธุรกิจ มิสยูนิเวิร์สในสภาวะที่การหารายได้ถือเป็นเรื่องจำเป็นก็คงต้องการคนอย่างอาร์บอนนีย์ที่อาจจะสร้างผลกำไรให้องค์กร สร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบรับกับกระแสโลกในห้วงขณะที่การพูดถึงพลังงานสีเขียวเป็นเรื่องจริงจังมากขึ้นทุกที และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยเรื่องของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

นี่อาจเป็นเหตุผลที่เธอจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของปีนี้ และกลายเป็นความน่าสนใจและชวนจับตามองว่า นับจากนี้ไปคือเธอและองค์กรมิสยูนิเวิร์สจะนำเสนออะไรออกมาสู่โลก เปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ดีขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมได้มากน้อยเพียงไร เธอและผลงานของเธอจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของมิสยูนิเวิร์สหรือไม่

 

รีวิวแอนนาเสือสาวเลือดนักสู้

The People เคยนำเสนอชีวิตของ แอนนาเสือ หรือ แอนนา เสืองามเอี่ยม ไว้แล้วตอนเธอคว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ที่ทำเอาแฟน ๆ หลายคนติดตาตรึงใจกับที่มาและความเป็นนักสู้ของเธอ เช่น ชีวิตครอบครัวที่ลำบาก ของเล่นเด็กที่พ่อดัดแปลงจากเศษขยะ วัยเด็กที่ถูกอบรมบ่มเพาะจากธรรมะโดยทวดของเธอที่เป็นแม่ชี ฯลฯ สตอรี่เหล่านี้ของเธอจับใจกรรมการและแฟน ๆ นางงามจนไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามงต้องลงหัวเธอ แม้คู่แข่งของเธอจะแกร่งมากเพียงไรก็ตาม 

คลิกอ่านบทความ แอนนาเสือ เพิ่มเติมที่นี่

แต่ชัยชนะการประกวดภายในประเทศแบบสมมงนั้นก็ไม่ได้หมายความทุกอย่างที่ตามต่อมาจะราบรื่น เพราะหลังจากนั้น ข้อกังขาต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับคุณสมบัติที่จะเป็นมิสยูนิเวิร์สของแอนนาก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น รูปลักษณ์ที่คนอาจติดภาพความเป็นดารามากกว่าจะเป็นนางงาม บุคลิกภาพโดยเฉพาะการพูด การออกเสียง ทัศนคติที่ยังติดอยู่กับการมองโลกแบบไทย ๆ ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ

อีกทั้งตลอดช่วงหลังจากที่เธอได้รางวัล เธอยังถูกวิจารณ์เรื่องเสื้อ ผ้า หน้า ผม ตลอดเวลา ซึ่งนั่นยิ่งทำให้แฟน ๆ นางงามใจฝ่อ จนหลายคนถอดใจและออกปากว่าปีนี้ไม่หวังไทยมง ดูเอาสนุก ๆ    

แต่แล้วระเบิดก็ปะทุขึ้น เมื่อแอนนาเริ่มเข้ากองประกวดที่สหรัฐอเมริกา เธอปรับลุคที่ดูสว่างขึ้น สดใสขึ้น เสื้อผ้าที่ทั้งขับและส่ง สีหน้าแววตาที่สะท้อนความสุข ไร้ความกังวล เธอเต้น เธอยิ้มแย้ม เธอหัวเราะ และเอาอยู่กับทุกสิ่งที่แฟนนางงามกังวลเกี่ยวกับเธอ โดยเฉพาะทักษะภาษาอังกฤษ เธอทำออกมาได้ดีทุกครั้งเมื่อมีสื่อต่างชาติเรียกเธอสัมภาษณ์

บรรยากาศการเชียร์มิสยูนิเวิร์สในปีนี้จึงกลับคึกคักขึ้นเรื่อย ๆ เธอเริ่มซื้อใจแฟน ๆ นางงามชาวไทยกลับคืนได้ และยิ่งใจฟูขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อรู้ว่าเธอถูกสปอนเซอร์เรียกใช้งานและได้รับความสนใจจากสื่อต่างชาติไม่น้อย

กระทั่งรอบคัดเลือก (preliminary) แอนนาเสือได้สร้างปรากฏการณ์ให้เป็นที่พูดถึงอีกครั้งจากชุดราตรีของเธอ ที่ไม่ใช่เพียงชุดราตรีที่ส่วมใส่ได้อย่างสง่างามเพียงเท่านั้น แต่วัสดุหลักของชุดดัดแปลงมาจากฝากระป๋อง ซึ่งเล่นล้อกับที่มาของเธอที่เธอมักเปรียบตัวเองว่ามาจากขยะ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งงดงามและเลอค่าได้ดั่งเพชรเฉกเช่นทุกวันนี้

ก่อนวันประกวดจริง มีข่าวจากกองประกวดว่าแอนนาได้รับรางวัล Transformational leadership ซึ่งทำให้เรายิ่งเกิดแรงฮึดกันขึ้นไปใหญ่ว่าหรือเวลาที่พวกเรารอคอยมานานใกล้จะเกิดขึ้นจริงแล้ว

แต่ในที่สุดก็เป็นอย่างที่ทุกคนอาจจะทราบกันแล้ว แอนนาเสือไม่อาจผ่านเข้ารอบได้ ทำเอาแฟน ๆ นางงามอกหักเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เราทุกคนก็มองเห็นและชื่นชนในความพยายามอันแรงกล้าของเธอ และหากมิสยูนิเวิร์สคือผู้หญิงที่เป็นแรงบันดาลใจ ฉันก็เชื่อมั่นเหลือเกินว่าความพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเองของแอนนาเสือนั้นจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ใครหลาย ๆ คนที่จะลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ตัวเองหวังให้ได้ ซึ่งนั่นเองก็ถือว่าแอนนาเสือได้ลบคำสบประมาทที่ว่าเธอไม่มีความเป็นมิสยูนิเวิร์สลงแล้ว (เพียงแค่เธอไม่ได้ชนะการแข่งขันในวันนี้)

โจทย์ใหญ่สำหรับกองที่ประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์คือจะทำอย่างไรให้เขาซื้อเลยเสียที นางงามสายคอนเทนต์... เราก็เคยส่งไปแล้ว นางงามสายสวยบาดใจ... เราก็ส่งไปแล้ว แต่กระนั้น หากพิจารณาผู้ที่เข้ารอบหลาย ๆ คน เราจะเห็นได้ว่ามิติหนึ่งที่พวกเธอมีและทำให้ประวัติชีวิตดูน่าสนใจ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่นางงามไทยยังขาดหรือมีแต่ยังไม่ชัด คือการนำเสนอประเด็นที่เป็นการเมืองหรือแรงขับเคลื่อนสังคม หรือ social movement ซึ่งดูไม่ใช่เรื่องง่ายนักในบริบทของสังคมหรือผู้สนับสนุนกองประกวด เป็นเรื่องชวนติดตามว่าเราจะแก้เกมกันต่อไป อย่างไร

 

การเปลี่ยนผ่านของมิสยูนิเวิร์สจากยุค IMG สู่ JKN

ตั้งแต่ยุคมิสยูนิเวิร์สภายใต้การนำของ IMG เป็นต้นมา เป็นที่รู้กันดีในหมู่แฟน ๆ นางงามว่าการประกวดมิสยูนิเวิร์สเป็นธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนให้แก่ต้นสังกัดได้น้อยลงทุกที สังเกตได้ชัดจากแสง สี เสียง และความยิ่งใหญ่ของเวทีที่ลดลงเรื่อย ๆ จนน่าใจหาย จนช่วงกลางถึงปลายปีที่แล้ว ข่าวลือหนาหูขึ้นทุกทีว่าจะมีการเปลี่ยนเจ้าของลิขสิทธิ์

จนกระทั่งปลายปีที่แล้ว คุณ แอน จักรพงษ์ ในนามของบริษัท JKN ออกแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่าได้ถือครองลิขสิทธิ์การประกวดมิสยูนิเวิร์ส การเปลี่ยนแปลงสร้างทั้งเสียงฮือฮาและชวนจับตามองว่าการประกวดมิสยูนิเวิร์สในยุค JKN จะนำเสนอออกมาในรูปแบบใด ความเปลี่ยนแปลงจะมีให้เห็นเพียงแค่ไหน จะยิ่งใหญ่หรือย่อมเยาว์ คูรแอนจะชอบคนสวยโดดหรือยังคงต้องการคนที่สวยและยังเป็นแรงบันดาลใจอยู่หรือไม่

หรือแม้แต่ประเด็นเนื้อหาที่เชิดชูอุดมการณ์ประชาธิปไตย เช่น สิทธิผู้หญิง สิทธิมนุษยชน การเรียกร้องความเสมอภาคเท่าเทียม การประณามความรุนแรงจากรัฐต่อพลเมือง ยังจะถูกพูดถึงมาหรือน้อยกว่าในยุคที่เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นสัญชาติอเมริกัน

และจากการประกวดที่ผ่านมานั้น ภาพรวมยังถือว่าแกรมมาร์ในการประกวดมิสยูนิเวิร์สไม่ได้แตกต่างจากยุคก่อน ๆ สักเท่าไหร่นัก ถือว่าเป็นเรื่องชวนโล่งอกและน่ายินดี

จริงอยู่ เมื่อ สาร หรือ ‘message’ แบบที่มิสยูนิเวิร์สถูกส่งไปยังประเทศที่ค่อนข้างก้าวหน้า มันอาจจะดูเป็นเรื่องประโลมโลก ดาษดื่น ขัดแย้งในตัวเอง แต่สำหรับประเทศที่การเปิดทัศนคติของพลเมืองไปสู่ความเป็นสากลยังคงเป็นเรื่องสำคัญ ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ไม่น้อย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในบริบทของสังคมไทย เราปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมานี้ การประกวดนางงามถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้สังคมเกิดบทสนทนา การถกเถียง หรือแม้แต่ดราม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครองและพลวัตทางวัฒนธรรม ถือเป็นสื่อที่เป็นประโยชน์มากต่อการขับเคลื่อนสังคมแม้มันจะถูกมองจัดประเภทเป็นเพียงสื่อบันเทิง

แต่นี่ก็เป็นเพียงปีแรกซึ่งอาจจะยังบอกอะไรเราไม่ได้ขนาดนั้น คงต้องตามดูกันว่าปีต่อ ๆ ไป หน้าตาของมิสยูนิเวิร์สจะยังคงยึดมั่นหลักการสากล หรือจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามอุดมการณ์ของทุนที่หนุนหลัง?