read
social
26 มี.ค. 2562 | 15:31 น.
ปีเตอร์ ทาบีชี ครูดีเด่นโลกที่ปฏิวัติการสอนจากพ่อแม่เด็ก
Play
Loading...
"การเป็นครูมันฝังอยู่ในสายเลือดผม ทั้งพ่อ ลุง หรือญาติ ๆ ของผมอีกแปดคนก็เป็นครูกันหมด ผมเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ผมทำนั้นจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง และไม่เพียงแค่เด็กในประเทศนี้ แต่เป็นทั้งทวีปแอฟริกา”
ปีเตอร์ โมคายา ทาบีชี (Peter Mokaya Tabichi)
ครูหนุ่มชาวเคนยา ผู้ได้รับรางวัล
ครูดีเด่นโลก ประจำปี 2019
จากมูลนิธิวาร์คีย์ (Varkey Foundation) มีแรงบันดาลใจในการเป็นแม่พิมพ์อยู่ในสายเลือด โดยเขาบริจาคเงินเดือนครูกว่า 80% ให้กับโครงการของชุมชนท้องถิ่น เปรียบเทียบให้พอเห็นภาพว่า ถ้าเป็นครูในประเทศไทยที่จบปริญญาตรีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 บาท เขาบริจาคไปแล้ว 12,000 บาท เหลือไว้ใช้เองแค่ 3,000 บาท
ก่อนมาประจำที่โรงเรียนมัธยมศึกษาเคริโค (Keriko Secondary School) โรงเรียนชนบทอันห่างไกลในนาคูรู ประเทศเคนยา ครูหนุ่มวัย 36 ปีคนนี้ เคยสอนในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ติดอันดับ 1 ใน 3 โรงเรียนชั้นนำของเคนยา ซึ่งเขาได้รับเงินเดือนมากกว่า มีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย และรองรับนักเรียนได้พร้อมกว่าโรงเรียนเล็ก ๆ อันห่างไกลที่เขาตัดสินใจย้ายมาอยู่อย่างเทียบกันไม่ติด
สิ่งที่ผลักดันให้เขาเลือกมาสอนเด็ก ๆ ในโรงเรียนด้อยโอกาส ที่นักเรียนกว่า 95% มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนมาก หลายคนต้องเดินเท้าไกลกว่า 7 กิโลเมตรมาเรียน บางรายที่บ้านแทบไม่มีอาหารรับประทาน เกือบ 1 ใน 3 เป็นเด็กกำพร้าหรือมีเพียงพ่อหรือแม่ เด็กต้องเผชิญกับปัญหายาเสพติด การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ต้องลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาแต่งงาน รวมไปถึงปัญหาการฆ่าตัวตาย นั่นก็เพราะ “ความรัก”
“เด็ก ๆ ที่นี่ต้องการผม ผมอยากกระจายและแบ่งปันความรักไปให้กับชุมชนรอบ ๆ นี่แหละที่ทำให้ผมได้มาอยู่ตรงนี้”
ส่วนหนึ่งของความรักของครูปีเตอร์มาจากการที่เขาเป็นนักบวชคณะฟรังซิสกัน ความรักที่เขาได้ให้กับลูกศิษย์และโรงเรียนเคริโคมี มีทั้งการเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นครูผู้ก่อตั้งชมรมใหม่ ๆ ในโรงเรียนอย่างชมรมวิทยาศาสตร์ ที่สนับสนุนให้ลูกศิษย์ของเขามีโอกาสไปโชว์โครงงานเครื่องวัดขนาดวัตถุสำหรับผู้บกพร่องทางสายตาและการได้ยินเสียง ในงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของเคนยา ประจำปี 2018 และคว้ารางวัลจากสมาคมเคมีหลวง (Royal Society of Chemistry) ของประเทศอังกฤษ จากโครงงานการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพืชท้องถิ่น ส่วนลูกศิษย์สาวที่เรียนวิชาคณิตศาสตร์กับเขา ก็ได้เข้ารอบคัดเลือกไปแข่งขันในรายการแข่งขันวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา
"ผมภูมิใจในตัวลูกศิษย์ แม้จะไม่มีปัจจัยพื้นฐาน ไม่มีห้องสมุด ไม่มีห้องทดลอง ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนโรงเรียนอื่น แต่ก็ทำได้ถึงขนาดนี้ ผมคิดว่าการจะเป็นครูที่ยิ่งใหญ่นั้น คุณต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ากับการเรียนการสอน ที่สำคัญคือทำให้มาก และพูดให้น้อย"
ไม่น่าเชื่อว่าเทคโนโลยีที่ครูปีเตอร์หมายถึง คือ คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวของโรงเรียน ที่แทบจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่ได้ เขาเลยใช้การแว้นมอเตอร์ไซด์คู่ใจไปดาวน์โหลดข้อมูลใหม่ ๆ ที่จำเป็นสำหรับเด็กจากอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เพื่อมาเปิดสอนแบบออฟไลน์ในห้องเรียน ซึ่งครูปีเตอร์ใช้คอมพิวเตอร์เก่า ๆ เครื่องเดียวนี้เป็นอุปกรณ์สำคัญในการสอนนักเรียนมากกว่า 400 คน และ 80% ของหลักสูตรการสอนทั้งหมดของเขาก็มาจากคอมพิวเตอร์เครื่องนี้
ครูปีเตอร์ยังได้จับมือกับเพื่อนครูคนอื่น เดินทางไปสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนแบบตัวต่อตัวถึงที่บ้านในช่วงวันหยุด ทำให้โรงเรียนเล็ก ๆ ที่มีอัตราครู 1 คน ต่อนักเรียนถึง 58 คนนี้ มีนักเรียนมาลงทะเบียนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า อัตราการขาดเรียนลดลงจาก 30% เหลือแค่ 3% ในปี 2017 มีเด็กได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษา 16 คน จากนักเรียน 59 คน แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 26 คนในปีต่อมา ซึ่งครูปีเตอร์ได้ให้ความสำคัญกับนักเรียนหญิง ทำให้พวกเธอมีคะแนนที่ดีขึ้นมากจนแซงนักเรียนชายในการทดสอบ 4 วิชา
สิ่งหนึ่งที่มีส่วนทำให้เขาโดดเด่นกว่าตัวแทนคุณครูอีก 10,000 คน จาก 179 ประเทศ จนคว้ารางวัล "ครูดีเด่นโลก" มาได้นั้น มาจากการที่ครูปีเตอร์ ทาบีชี ตัดสินใจลงไปให้ความรู้ เริ่มตั้งแต่ระดับผู้ปกครองนักเรียน
“เด็กหลายคนของโรงเรียนนี้ต้องเผชิญปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหิว เด็กบางคนไม่ได้กินข้าวเช้ามาจากบ้าน ทำให้ท้องร้องไม่มีสมาธิเวลาเรียน ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องใหญ่มาก การสอนผู้ปกครองและคนในชุมชนให้รู้จักการทำเกษตรแบบใหม่จึงเป็นทางออกที่สำคัญ”
ครูปีเตอร์ใช้เวลาถึง 4 ปี และเงินเดือนกว่า 80% ทุกเดือน เพื่อเปลี่ยนให้คนในชุมชนและพ่อแม่เด็กหันมาทำการเกษตรสมัยใหม่ที่ให้ผลดีกว่าเดิมมาก เป็นการปฏิวัติการสอนแบบใหม่ที่เน้นผลลัพธ์ปลายทาง โดยไม่ยึดติดกับวิธีการเดิม ทั้งการแก้ไขปัญหาสมาธิของนักเรียนที่มีต้นเหตุมาจากความหิวโหย และการทุ่มเทด้วยใช้เงินเดือนส่วนตัว เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าโดยไม่คำนึงถึงตัวเอง และแน่นอนว่าเขาเตรียมการใช้เงินรางวัลจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 31 ล้านบาทที่ได้มานี้ ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กนักเรียนของเขาดีขึ้น
เมื่อปี 2007 เกิดสงครามความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าขึ้นในเคนยา ที่ขยายตัวกลายเป็นสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มีการประเมินว่าจำนวนผู้เสียชีวิตมากถึง 1,500 คน สูญหายอีกกว่า 600,000 คน ที่ตั้งของโรงเรียนมัธยมศึกษาเคริโค ของครูปีเตอร์ อยู่ใจกลางพื้นที่สู้รบ ไม่แปลกที่นักเรียนของโรงเรียนนี้จะมาจากเผ่าต่าง ๆ ทั้ง 7 เผ่าที่เคยขัดแย้ง เหมือนเดิม-ครูดีเด่นโลกคนนี้ แก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการตั้งชมรมสันติภาพเพื่อให้ทุกคนมาอยู่ใต้ชายคาเดียวกันได้
“ชมรมสันติภาพของเรา ได้เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ที่มาจากคนละเผ่าได้ดีเบตแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน มีชวนกันนั่งรถไปทัศนศึกษานอกสถานที่บ้าง ทั้งหมดเพื่อช่วยให้พวกเขาได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ”
ชมรมสันติภาพของครูปีเตอร์ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้แห่งสันติภาพ ที่นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของสันติแล้ว ยังเป็นต้นไม้ที่คอยให้ร่มเงาและออกผลที่ให้กินอิ่มท้องในอนาคตอีกด้วย
ภาพ : Global Teacher Prize
ที่มา
https://www.globalteacherprize.org
https://www.bbc.com
https://www.youtube.com
https://en.wikipedia.org
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3487
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
818
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Social
The People
ครู
โรงเรียน
PeterTabichi
GlobalTeacherPrize