สัมภาษณ์ ริท เดอะสตาร์ ถอดเคล็ดลับความสำเร็จด้านการเรียนของ ‘เด็กหลังห้อง’ ที่ติดเกม

สัมภาษณ์ ริท เดอะสตาร์ ถอดเคล็ดลับความสำเร็จด้านการเรียนของ ‘เด็กหลังห้อง’ ที่ติดเกม

บทสัมภาษณ์ เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช หรือ ริท The Star นักร้องที่มีดีกรีคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น เกียรตินิยมอันดับ 2 แต่เบื้องหลัง เขาเป็นเด็กหลังห้อง และติดเกมด้วยซ้ำ

เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช หรือ ริท The Star เป็นคนหนึ่งในวงการบันเทิงที่ใครหลาย ๆ คน ยกให้เป็นไอดอลด้านการเรียน ด้วยดีกรีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (เกียรตินิยมอันดับ 2) ปัจจุบัน (ปี 2562 - กองบรรณาธิการ) เขาเป็นแพทย์ใช้ทุนอายุรศาสตร์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ The People จึงชวนคุยกับเขาในฐานะเด็กหลังห้องและเด็กติดเกม เพื่อเสาะหาเคล็ดลับความสำเร็จของเขา

สัมภาษณ์ ริท เดอะสตาร์ ถอดเคล็ดลับความสำเร็จด้านการเรียนของ ‘เด็กหลังห้อง’ ที่ติดเกม The People: ชีวิตวัยเด็กของคุณเป็นอย่างไรบ้าง

เรืองฤทธิ์: ริทเกิดมาในครอบครัวธรรมดาทั่วไปครับ เป็นครอบครัวต่างจังหวัดที่ไม่แตกต่างไปจากเด็กทั่วไป บ้านไม่ได้รวยหรือจนเวอร์ แบบว่าปกติทุกอย่างเลย  

The People: ทำไมถึงสนใจงานในวงการบันเทิง

เรืองฤทธิ์: ริทว่าเป็นโชคชะตาพามาครับ ที่บ้านริทชอบดู The Star แล้วตอนนั้นเขามีการเปิดรับสมัครตามภาคต่าง ๆ พอมาถึงภาคอีสานริทก็เข้าไปประกวดพร้อมเพื่อน ปรากฏว่าติดและเข้ารอบมาเรื่อย ๆ จนเป็น 8 คนสุดท้าย จนกลายเป็น ริท The Star ทุกวันนี้

The People: มีความฝันเข้าวงการบันเทิงมาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า

เรืองฤทธิ์: ตอนเด็กอยากเป็นอยู่ 2 อย่าง คือ หนึ่ง – อยากเป็นหมอ และ สอง – อยากเป็นดารา แต่ความฝันอยากเป็นดาราไม่ได้กล้าบอกใคร มันดูเป็นไปไม่ได้ เพราะตอนนั้นผมเป็นเด็กตัวเล็ก หน้าตาไม่โดดเด่น ผมเลยไม่ได้ตั้งใจหรือพยายามกับความฝันนี้ ก็เลยมาโฟกัสกับอีกความฝันหนึ่งแทน

ตอนเด็ก ๆ ผมไม่รู้ตัวหรอกว่า “อะไรคือสิ่งที่อยากเป็นที่สุดในชีวิต” รู้แค่ว่าตอนนั้นคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย รอบตัวเราบอกว่า “เป็นหมอสิดีนะ” บวกกับสังคมต่างจังหวัดด้วยนะครับ เขาจะมองว่าหมอเป็นอาชีพที่มั่นคง มีเกียรติ ทำให้เราแบบซึมซับมาเรื่อย ๆ จนเรารู้สึกว่าอยากเป็นหมอ ก่อนริทจะสอบเข้ามาเป็นหมอ ริทไม่รู้หรอกว่าจริง ๆ แล้วหมอทำงานอย่างไร พอเข้ามาทำงานจริงถึงรู้ว่ามันได้ช่วยคน ให้เราได้ทุ่มเทชีวิตเพื่อใครอีกหลายคน  

The People: ถ้าตัดการปลูกฝังจากครอบครัวในอาชีพหมอ จริง ๆ แล้วริทอยากทำอาชีพอะไร

เรืองฤทธิ์: ถ้าตอนเด็ก ๆ นะ สิ่งที่เคยตอบออกรายการคือ อยากนอนอยู่บ้านเฉยๆ (หัวเราะ) ริทไม่อยากทำอะไรเลย ริทไม่อยากมีอาชีพ หรือไม่อยากมีอะไรเป็นพิเศษ ขอแค่อยู่เฉย ๆ ไปวัน ๆ แล้วมีเงินใช้ มีข้าวกิน แค่นี้ก็โอเคแล้ว แต่มันเป็นไปไม่ได้ไง ริทว่า The Star คือจุดเปลี่ยนของชีวิตครับ แต่สำหรับผมไม่ได้คิดว่ามันได้มาด้วยความสามารถ แต่คือโชคชะตาลิขิตให้เรามาทางนี้ ผมเป็นไม่เชื่อเรื่องดวง ไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์ใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เชื่อว่าฟ้าข้างบนมีจริง แล้วเขาก็ขีดเส้นให้เราเดินไว้แล้ว

สัมภาษณ์ ริท เดอะสตาร์ ถอดเคล็ดลับความสำเร็จด้านการเรียนของ ‘เด็กหลังห้อง’ ที่ติดเกม The People: ทราบมาว่าจริง ๆ แล้วริทไม่ใช่เด็กเรียนด้วยซ้ำ

เรืองฤทธิ์: ผมเป็นเด็กหลังห้องมาตลอด นั่งหลังห้องไม่ได้หมายความว่าเรียนเก่งไม่สู้เพื่อนนะ แต่หมายความว่าพฤติกรรมการเรียนชอบอยู่หลังห้อง ชอบนั่งห่าง ๆ อาจารย์ ชอบแอบกินขนมใต้โต๊ะ แอบเล่นอะไรสักอย่างหนึ่งใต้โต๊ะ หลังเลิกเรียนก็จะชอบไปเล่นเกมกับเพื่อน คือวิถีค่อนข้างแตกต่างไปจากคนสอบติดหมอในอุดมคติคนอื่น

ผมไม่ค่อยซีเรียสกับการเรียนเท่าไหร่ ใช้คำนี้ก็ไม่ถูก เป็นคนที่ไม่ทำให้การเรียนเป็นเรื่องเครียด ต้องเอาความสุขตัวเองมาด้วย ผมรู้ว่าตัวเองชอบเล่นเกม ผมต้องได้เล่นเกม แต่ริทต้องทำการบ้านเสร็จ ริทต้องอ่านหนังสือสอบทัน เพราะสมัยประถมฯ ริทโง่ภาษาอังกฤษมาก ท่อง 1-10 ภาษาอังกฤษไม่ได้

ริทก็พยายามถามตัวเองว่าทำไมทำไม่ได้ บอกตัวเองว่าเราเป็นคนโง่ในวิชานี้ จนมาถึงจุดเปลี่ยนตอนมัธยมฯ ที่อาจารย์ภาษาอังกฤษมาหลอกล่อให้ผมเรียนพิเศษภาษาอังกฤษฟรี เขาให้การบ้านเป็นคำศัพท์วันละ 1 กระดาษ A4 ท่องทุกวัน ผมใช้เวลาจำตั้งแต่ 1 สัปดาห์ 5 วันบ้าง 3 วันบ้าง 2 วันบ้าง ทำเรื่อย ๆ เป็นเวลา 2-3 ปี จนกระทั่งอาจารย์ไม่มีกระดาษให้ผมแล้ว

ริทก็ไปถามอาจารย์ว่าทำไมไม่มีกระดาษแล้ว เขาก็หยิบดิกชันนารีเล่มใหญ่เล่มหนึ่งออกมาแล้วบอกว่า เราท่องศัพท์ครบทั้งหมดของเล่มนี้แล้ว ริทตกใจมาก เหมือนถูกหลอกให้อ่านดิกชันนารี แต่สุดท้ายกลายเป็นว่านั่นเป็นพื้นฐานภาษาอังกฤษให้กับผมมาถึงทุกวันนี้  

The People: คุณคิดว่า “ความฉลาด” เป็นพรสวรรค์หรือพรแสวง

เรืองฤทธิ์: ถ้าพูดแค่ความฉลาดเป็นพรสวรรค์ เพราะแต่ละคนเกิดมาไม่เท่ากัน บางคนเรียนรู้ไว บางคนเรียนรู้ช้า แต่คนที่เรียนรู้ช้าไม่ได้แปลว่าจะเป็นคนที่เรียนรู้ไม่ได้ เขาแค่อาจมาช้าหน่อย แต่พอเขาเรียนรู้แล้วก็อาจฉลาดเท่ากับคนที่เรียนรู้ไวก็ได้ สิ่งสำคัญคือต้องบวกความพยายามของตนเอง สิ่งที่ผมพยายามบอกกับคนทุกคน 2 อย่าง หนึ่งคือต้องมีความรับผิดชอบ

สองคือต้องไม่เครียดครับ ความรับผิดชอบแปลว่านักเรียนหรือเด็กไทยทุกคนมีหน้าที่คือการเรียนหนังสือ การเรียนหนังสือที่ดีไม่ใช่แปลว่าเราจะต้องทุ่มเวลาทั้งหมดกับหนังสือ กับการอ่าน กับการทำการบ้าน เราต้องอย่าลืมความสุขของเราด้วย อย่างผมรู้ตัวว่ามีความสุขกับการเล่นเกม ผมก็จะเล่นเกมผมจะเล่นวันละกี่ชั่วโมงก็ได้ แต่ผมจะเล่นในวันที่ผมรู้ว่าไม่มีอะไรต้องรับผิดชอบ  

The People: คุณติดเกมระดับไหน

เรืองฤทธิ์: สมัยก่อนเล่นเกมวันละประมาณ 6-8 ชั่วโมง คือเยอะมาก (หัวเราะ) ถ้าเป็นภาษาเกมก็คือล่าบอสได้ พาคนลงดันเจียนได้ แล้วก็เอาของมาขายได้เงินจริง คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าเราเล่นเกมเยอะ วันหนึ่งเขาก็เดินมาถามว่า “ทำไมเล่นเกมเยอะจังเลย” เราก็ตอบไปว่า “ให้ผมเล่นเถอะเพราะเกมคือความสุขของผม” คือตราบใดที่ผลการเรียนยังไม่ตก ให้ผมเล่นต่อไปนะ ถ้าผลการเรียนตก ผมจะยอมเลิกเล่นเอง

แต่ผลการเรียนมันไม่ตก (หัวเราะ) เลยไม่ได้เลิกสักที มันคือการ balance ชีวิต โชคดีที่ผมประเมินตัวเองได้ว่าต้องทำการบ้านกี่ชั่วโมง และจะเล่นเกมในเวลาที่เหลือ บางคนเขาอาจจะลืมนึกไปว่าเขาต้องแบ่งเวลาให้กับสิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบมากกว่านี้ แต่ให้รับผิดชอบแล้วก็อย่าลืมให้ความสุขตัวเองด้วย  

The People: คุณคิดว่าการเรียนการสอบเป็นการวัดอะไรในตัวมนุษย์ไหม

เรืองฤทธิ์: ผลการเรียนการสอบไม่เป็นการวัดคนครับ เป็นการวัดสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เป็นการวัดวิชาการที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ต้องย้ำว่าในโรงเรียนด้วยนะ คนที่สอบได้คะแนนสูงสุดไม่ได้แปลว่าคนนั้นจะเข้าสังคมได้ดีที่สุด หรือไม่ได้แปลว่าคนคนนั้นจะออกมาทำงานได้ดีที่สุด ผมว่าการเข้าสังคมกับการทำงานเป็นตัววัดที่ดีที่สุด

สัมภาษณ์ ริท เดอะสตาร์ ถอดเคล็ดลับความสำเร็จด้านการเรียนของ ‘เด็กหลังห้อง’ ที่ติดเกม
The People: เรามักได้ยินว่า “หมอทำงานหนัก”, “จำนวนหมอไม่เพียงพอ” พอคุณเข้ามาทำงานจริงพบว่าคำพูดเหล่านั้นเป็นจริงไหม

เรืองฤทธิ์: หมอทำงานหนักจริงครับ จริงแบบ 100% เลย โดยเฉพาะหมอที่ทำงานอยู่ในโรง'บาลรัฐบาล เราต้องนับถือน้ำใจเขาเลย เพื่อนของผมบางคนจบมาไปใช้ทุนที่ต่างจังหวัด ต่างอำเภอในถิ่นทุรกันดาร บางคนต้องอยู่เวรวันเว้นวัน ทำงานข้ามคืน มันเหนื่อยจริง ๆ ครับ

ส่วนจำนวนหมอไม่เพียงพอก็จริงนะครับ ประเทศไทยโชคดีมากที่เรามีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนไทยทุกคนไม่ว่าจะยากจนหรือว่ารวยสามารถเข้ามารับการรักษาในมาตรฐานเดียวกัน แต่ตรงนี้นำมาซึ่งการทำงานที่มากขึ้นของทีมแพทย์และโรงพยาบาล อัตราการรับผิดชอบของหมอ 1 คนอาจมีมากถึงหลักพัน นั่นทำให้เกิดเป็นความไม่เพียงพอของแพทย์ในบ้านเรา  

The People: ล่าสุดคุณกำลังมีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก “สิ้น 3 ต่อน” รู้สึกอย่างไรบ้าง

เรืองฤทธิ์: ตื่นเต้นที่ได้เล่นครับ เพราะเป็นครั้งแรกของผมด้วย ตื่นเต้นที่ไม่รู้ว่าเราจะทำถูกไหม เราเคยเล่นละครมาก่อน  เล่นซิทคอมและซีรีส์มาก่อน แต่ไม่เคยสัมผัสการเล่นหนังมาก่อน กลัวว่าจะเล่นไม่ดี เล่นไม่ได้ กลัวว่าจะทำให้ทีมงานช้าหรือเปล่า แต่ก็พยายามเต็มที่นะครับ ทำให้ดีที่สุด

หนังเรื่องนี้เป็น romantic comedy ไม่ต้องการสาระมาก ขอแค่คนที่เข้ามาดูมีความสุขมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็พอ แต่ละฉากจะมีมุกตลกผมก็พยายามทำให้ดีที่สุด มันเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ไม่รู้ว่าเราจะได้เล่นหนังอีกหรือเปล่า ก็หวังว่าทุกคนจะมีความสุขกลับไปครับ