จักรพรรดินีมิจิโกะ จักรพรรดินีสามัญชนผู้อาภัพ

จักรพรรดินีมิจิโกะ จักรพรรดินีสามัญชนผู้อาภัพ
"ในวันเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นผู้ใหญ่นี้ ฉันอยากตั้งคำถามกับตัวเองอีกสักครั้ง จริงอยู่ว่าเราเกิดในช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่เราควรจะก้มหน้ายอมรับว่าเป็นชะตากรรม เหมือนคนเชื่อในพรหมลิขิตจากศตวรรษที่ 19 อย่างนั้นหรือ? ถ้าเราต้องใช้ชีวิตโดยไม่ทำอะไร เอาแต่เสียใจกับการแบกภาระที่ตามมาจากสงคราม แล้วคิดว่ามันเป็นชะตากรรม การมาเกิดในช่วงเวลาที่ไม่เป็นสุข ก็เชื่อได้แน่ว่าอนาคตของเราก็คงจะหมองหม่นเช่นกัน "ความปรารถนาในวัย 20 ปี ของฉันก็คือ เยาวชนรุ่นเราควรเลิกคิดว่าผลจากอดีตมีแต่จะนำไปสู่อนาคตอันมืดมน แต่ขอให้ใช้ชีวิตและฝันถึงอนาคตอันสดใส ในเวลาเดียวกันก็จงมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันด้วยความหวัง และใช้มันเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเรา ฉันอยากจะเชื่อว่า ปัจจุบันคือสิ่งที่จะกำหนดจุดหมายในอนาคตของเรายิ่งเสียกว่าอดีต" ความตอนหนึ่งของบทความที่เขียนขึ้นเนื่องในโอกาสวันเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศในการประกวดของหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง เมื่อปี 1954 ที่แสดงถึงมุมมองอันสดใสงดงามในช่วงเวลาอันยากลำบากของญี่ปุ่นที่เพิ่งผ่านพ้นความบอบช้ำจากสงคราม ซึ่งเป็นผลงานของ มิจิโกะ โชดะ (Michiko Shoda) นักศึกษาเอกภาษาอังกฤษ ผู้ฝันจะเป็นนักเขียนหนังสือสำหรับเด็ก และหญิงสามัญชนคนแรกที่ก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดินีของญี่ปุ่น มิจิโกะ โชดะ เกิดในครอบครัวที่มีพ่อเป็นนักธุรกิจและแม่เป็นทายาทจากตระกูลซามูไร ซึ่งในอดีตการแต่งงานของคนต่างฐานันดรอย่างพ่อและแม่ของเธอถือเป็นเรื่องยากจะเกิดแล้ว การแต่งงานที่ไม่คาดคิดยิ่งกว่าก็คือการแต่งงานของเธอกับเจ้าชายอากิฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ซึ่งแม้ว่าเธอจะมาจากครอบครัวที่ร่ำรวยแต่ก็ยังเป็นเพียงสามัญชน การแต่งงานของทั้งคู่จึงนับเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย เหมือนที่สื่อพากันขนานนามว่าเป็นดั่ง "เทพนิยายความรักจากสนามเทนนิส" อันเป็นสถานที่ที่ทั้งคู่ได้พบเจอกัน ครอบครัวโชดะเลี้ยงดูเธอแบบสมัยใหม่ผสมผสานทั้งความเป็นตะวันตกและญี่ปุ่น เธอเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็ก ถูกสอนให้รู้จักตัดสินใจและเลือกสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เธอจึงเป็นนักเรียนที่มีความโดดเด่นเหนือเพื่อนร่วมชั้นหญิงล้วนที่มักจะไม่กระตือรือร้นที่จะแสดงความเห็นใด ๆ ตามแบบฉบับหญิงญี่ปุ่นในอุดมคติสมัยก่อน แต่นั่นต้องเปลี่ยนไปเมื่อเธอกลายมาเป็นสะใภ้หลวง การที่เจ้าชายอากิฮิโตะทรงตัดสินพระทัยเลือกมิจิโกะ โชดะ สาวสามัญชนที่พระองค์ได้พบในการแข่งขันเทนนิสมาเป็นพระชายาด้วยพระองค์เอง ย่อมเป็นการแหวกขนบธรรมเนียมเดิมของราชวงศ์ ที่การสมรสก่อนหน้าล้วนเป็นการคลุมถุงชนซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายเสียก่อน ในกรณีของพระองค์ แม้ว่าจักรพรรดิฮิโรฮิโตะจะทรงเห็นชอบ แต่สมาชิกราชสำนักสายอนุรักษนิยมต่างไม่เห็นด้วยที่มกุฎราชกุมารจะแต่งงานกับสามัญชนที่เรียนโรงเรียนคาทอลิก (แม้จะไม่ได้รับศีลเป็นคริสเตียนก็ตาม) และรายงานของสื่อตะวันตก (The New York Times) เมื่อคราวที่จักรพรรดินีโคจุงสวรรคตได้เผยถึงความสัมพันธ์ระหว่างแม่สามีและลูกสะใภ้เอาไว้ว่า เมื่อคราวที่เจ้าชายอากิฮิโตะทรงหมั้นกับมิจิโกะ โชดะนั้น ไม่แน่ชัดว่าจักรพรรดินีโคจุงจะคัดค้านด้วยหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ พระองค์มิได้ปลื้มลูกสะใภ้สามัญชนสักเท่าใดนัก ด้วยความที่เจ้าหญิงมิจิโกะเป็นคนหัวสมัยใหม่ การแสดงออกหลายอย่างจึงขัดต่อธรรมเนียมเก่าของราชสำนัก ทั้งการอุ้มลูก ๆ ในที่สาธารณะ เลือกที่จะให้นมของตัวเองกับลูก และพยายามเลี้ยงลูก ๆ ด้วยตัวเอง ทำให้เจ้าหญิงมิจิโกะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากฝ่ายอนุรักษนิยมและจักรพรรดินีโคจุงก็อยู่ข้างผู้ส่งเสียงวิจารณ์นั้น และแม้จะมีสถานะเป็นถึงมกุฎราชกุมาร แต่เจ้าชายอากิฮิโตะก็ช่วยพระชายาได้ไม่มากนัก ครั้งหนึ่งเมื่อทั้งคู่พยายามจะปลดหัวหน้านางสนองพระโอษฐ์ของเจ้าหญิงมิจิโกะซึ่งถูกมองว่าเป็น "สาย" ให้กับจักรพรรดินีโคจุง แต่ก็ทำไม่สำเร็จเมื่อทางสำนักพระราชวังไม่อนุมัติ ความเครียดและแรงกดดันที่พระองค์ต้องแบกรับ ทำให้มีข่าวว่าพระองค์ทรงประสบกับปัญหาสุขภาพจิตอย่างร้ายแรงจนถึงขั้นหมดสติ และแท้งตั้งแต่เมื่อพระองค์แต่งเข้าวังได้ไม่นาน และอีกครั้งในปี 1993 ที่เมื่อฟื้นขึ้นมาพระองค์ก็พูดไม่ได้เป็นเวลาหลายเดือน และร่างกายผ่ายผอมลงอย่างมาก ไม่เหลือภาพของความสดใสและมองโลกในแง่ดีเหมือนเมื่อครั้งที่พระองค์ยังเป็นนักศึกษาและแต่งบทความถึงอนาคตของคนรุ่นใหม่ สำหรับเหตุการณ์ในปี 1993 มีรายงานว่า ก่อนที่พระองค์ (ซึ่งได้ครองตำแหน่งจักรพรรดินีแล้ว) จะป่วย พระองค์ถูกสื่อรายสัปดาห์หลายฉบับโจมตีอย่างหนักว่าพระองค์ใช้งานนางสนองพระโอษฐ์อย่างหนักหน่วง ทั้งการเปลี่ยนฉลองพระองค์บ่อย ๆ ในงานพิธี รวมถึงการจัดหาอาหาร น้ำชา และอาหารว่างมาให้สหายของพระองค์ที่มาเยี่ยมเยือนในยามค่ำ และยังกล่าวหาว่าพระองค์ฟุ่มเฟือย จะสั่งตัดสวนป่าในพระราชวังเพื่อสร้างพระตำหนักหลังใหม่ ทั้งยังเอาเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการพบปะสหาย และการใส่กระโปงสั้นเล่นเทนนิส ทำให้ภาพลักษณ์สถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างไปจากชาวบ้านธรรมดา The New York Times กล่าวว่า บทความที่โจมตีพระองค์เหล่านี้เชื่อว่าผู้เขียนน่าจะเป็นอดีตข้าราชการสำนักพระราชวัง หรือคนใกล้ชิดของทางสำนักพระราชวังผู้โกรธแค้นกับแนวทางขององค์จักรพรรดิและจักรพรรดินี ที่เปลี่ยนแปลงธรรมเนียมเดิมของสถาบันอย่างมากมาย โดยเฉพาะองค์จักรพรรดิเองที่ออกมาแสดงความเสียใจต่อความก้าวร้าวทางการทหารของกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่บ่อยครั้ง และจักรพรรดินีผู้ยกฐานะขึ้นมาจากสามัญชนก็ยิ่งตกเป็นเป้าการโจมตีของฝ่ายขวา ซึ่งไม่เพียงเพราะฐานะเดิมของพระองค์เท่านั้น แต่การวิจารณ์จักรพรรดิโดยตรงยังเป็นสิ่งที่ล้ำเส้นเกินไป ทำให้จักรพรรดินีมิจิโกะตกเป็นเป้าใหญ่รองรับความเกลียดชังของฝ่ายขวา สืบเนื่องจากรุ่นของพระองค์ ปัญหาสถานภาพของผู้หญิงในราชสำนักญี่ปุ่นก็ยังคงดำเนินต่อไป เจ้าหญิงมาซาโกะ พระชายาของเจ้าชายนารูฮิโตะ มกุฎราชกุมารองค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นอดีตหญิงสามัญชนเช่นเดียวกับจักรพรรดินีมิจิโกะ ตอนแรกก็มีข่าวว่าไม่อยากจะแต่งเข้าวัง แต่กล่าวกันว่าเป็นจักรพรรดินีมิจิโกะเองที่โน้มน้าวให้เจ้าหญิงมาซาโกะแต่งงานกับพระโอรสของพระองค์ โดยรับรองว่าจะช่วยคุ้มกันมิให้สะใภ้ของพระองค์ต้องรับชะตากรรมเหมือนเช่นที่พระองค์เคยประสบมาก่อน (The New York Times) แต่ดูเหมือนพระองค์เองก็จะช่วยได้ไม่มากเท่าไรนัก เมื่อเจ้าหญิงมาซาโกะเองก็ยังต้องเผชิญแรงกดดันจากสังคมอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะการมีรัชทายาทไว้สืบบัลลังก์ และการวางตัวต่อสาธารณะ ทำให้พระองค์ต้องทิ้งบุคลิกของนักการทูตและชีวิตส่วนตัวไปทั้งหมด ซึ่ง เบน ฮิลล์ นักข่าวออสเตรเลียผู้ค้นคว้าเรื่องของเจ้าหญิงมาซาโกะเปรียบเปรยว่า ชีวิตในวังของพระองค์คงไม่ต่างไปจากนักโทษ (ซึ่งแน่นอนว่าทางสำนักพระราชวังญี่ปุ่นปฏิเสธ)