สัมภาษณ์ ชาติชาย เกษนัส ความแตกต่างทางวัฒนธรรมหนังไทย-พม่า และการไม่พัฒนาของหนังไทย

สัมภาษณ์ ชาติชาย เกษนัส ความแตกต่างทางวัฒนธรรมหนังไทย-พม่า และการไม่พัฒนาของหนังไทย
แน็ต ชาติชาย เกษนัส เป็นบุคคลที่โลดแล่นอยู่ในวงการภาพยนตร์ไทยมานาน เริ่มต้นสั่งสมประสบการณ์จากการอยู่เบื้องหลังในหลาย ๆ ด้าน ทั้งมีส่วนร่วมในการลำดับภาพ “Final Score: 365 วันตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์” (พ.ศ. 2550, ร่วมเขียนบทภาพยนตร์ “ปาฏิหาริย์รักต่างพันธุ์” (พ.ศ. 2550) ฯลฯ ก่อนจะมีโอกาสได้นั่งแท่นผู้กำกับภาพยนตร์ฉายโรงเรื่องแรก “ตายโหง” (พ.ศ. 2553) ในตอน ซานติฆ่า ไม่นาน โชคชะตาก็พาเขาเดินทางข้ามประเทศไปยังพม่าเพื่อสร้างภาพยนตร์ร่วมทุน “From Bangkok to Mandalay: ถึงคน..ไม่คิดถึง” (พ.ศ. 2559) ภาพยนตร์ดังกล่าวประสบความสำเร็จในการบุกตลาดหนังพม่าอย่างถล่มทลาย และล่าสุดเขามีโอกาสสร้างภาพยนตร์ที่พูดภาษาพม่าทั้งเรื่อง “The Only Mom: มาร-ดา" (พ.ศ. 2562) ภาพยนตร์สยองขวัญที่ประสบความสำเร็จในพม่าเช่นกัน ซึ่งกำลังนำเข้ามาฉายในประเทศไทยวันที่ 4 เมษายนนี้ พม่าเชื่อเรื่องผีมากกว่าเรา ความละเอียดอ่อนในความเชื่อเรื่องสิ่งที่มองไม่เห็นของเขาเยอะกว่าเรา” The Only Mom ว่าด้วยเรื่องราวครอบครัวหนึ่งที่เดินทางย้ายเข้ามาในบ้านหลังใหญ่ ที่นั่นลูกสาวได้ค้นพบฟิล์มกระจกเก่าแก่อายุกว่า 50 ปี หลังจากนั้นพฤติกรรมของเธอก็เปลี่ยนไป ราวกับว่าเธอไม่ใช่หนูน้อยคนเดิม ความที่ ชาติชาย เกษนัส มีโอกาสได้ทำงานในวงการภาพยนตร์ทั้งในไทยและพม่า The People จึงอยากรู้ถึงความแตกต่างทางอุตสาหกรรมและวัฒนธรรมหนังของเพื่อนบ้านเรา   สัมภาษณ์ ชาติชาย เกษนัส ความแตกต่างทางวัฒนธรรมหนังไทย-พม่า และการไม่พัฒนาของหนังไทย   The People: ภาพยนตร์เข้ามาในชีวิตคุณได้อย่างไร ชาติชาย: เราเป็นเด็กต่างจังหวัด หนังเรื่องแรกที่ดูในโรงหนังคือ “น้ำพุ” (พ.ศ. 2527) (หัวเราะ) รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ได้ดู วรุฒ วรธรรม สมัย “คู่กรรม” (พ.ศ. 2512) หล่อมาก หรือว่า “เรือนแพ” (พ.ศ. 2504) ซึ่งจำไม่ได้แล้วว่าต้นฉบับของใคร ส่วนหนังฝรั่งได้ดูเป็นหนังพากย์ไทยหรือพากย์อีสาน เราได้ดู Fright Night (1985) พากย์อีสาน มันจะเป็นโรงหนังเกือบ ๆ จะเรียกว่าโรงหนังชั้นสอง ฉายหนังควบกับหนังโป๊ญี่ปุ่น (หัวเราะ) พี่ชายก็จะปิดตาเราเวลาดูหนังโป๊ญี่ปุ่น ส่วนเราจะได้ดู Fright Night (หัวเราะ) ผมจะโหยหาหนังซาวด์แทร็ก เพราะตอนนั้นหนังพากย์แย่มาก แล้วหนังที่ฉายก็ค่อนข้างจำกัด วันดีคืนดีตอนประมาณ ป.5-ป.6 เราเดินผ่านโรงหนังเห็นว่ามีรอบพิเศษ Dead Poets Society (1989) เราอ่านนิตยสาร “เอนเตอร์เทน” กับ “สตาร์พิคส์” อยู่ ก็จะรู้จักหนังเรื่องนี้ เราก็ขอพี่เข้าไปนั่งดู ปรากฏว่า โอ้โห... มันมีทั้งความฝัน การตั้งคำถาม และอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง O Captain! My Captain! (หัวเราะ) กลับบ้านมาเราถามตัวเองว่า “อยากทำอะไร” ซึ่งต้องยอมรับว่ามันเป็นอิทธิพลจากหนัง พอประมาณสัก ม.2 ก็เริ่มชัดเจนว่า “อยากทำหนัง” กระทั่งเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนคือตอนนิยาย “ปีศาจ” (ของนักเขียน เสนีย์ เสาวพงศ์) ความคิดแรกนึกว่าเป็นนิยายผี (หัวเราะ) อ่านไปอ่านมามันเป็นเรื่องราวความรัก อ่านจบก็ค่อนข้างโดนใจ เราก็ตั้งคำถามหลาย ๆ อย่างจากหนังสือเล่มนี้   The People: อีกหนึ่งความสนใจของคุณคือประเด็นประวัติศาสตร์และการเมือง? ชาติชาย: วันหนึ่งตอนพักเที่ยงเราเข้าห้องสมุดแล้วอ่านเจอเหตุการณ์ 6 ตุลา กับ 14 ตุลา อ่านจบก็ค่อนข้างตกใจ เฮ้ย ทำไมเราไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้เลย และมันดูโหดร้ายมาก เราก็เลยเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริงของสังคมไทย หรือมีอะไรมากกว่าสิ่งที่เรารับรู้กันในสังคมและห้องเรียน แล้วที่บอกว่า “เราเป็นเมืองพุทธ เราจะไม่โหดร้าย” เฮ้ย มันใช่เหรอ? คำถามเหล่านี้มันไม่ได้คำตอบในระบบการศึกษาปกติ เราเคยถามครูบาอาจารย์ก็จะตอบเลี่ยง ๆ กันตลอดเวลา เราก็เก็บมาเป็นคำถามและเก็บข้อมูลมาเรื่อย ๆ เหมือนโลกที่เราอยู่มันไม่มีคำอธิบายอะไรในชั้นเรียนหรือสังคม ทำให้เรามองแล้วมีคำถามประกอบไปพร้อมกับสิ่งที่เป็น stereotype ในสังคม ช่วงที่เรียนเราเคยไปฝึกงานที่เชียงใหม่ เจอข่าวเกี่ยวกับรัฐฉาน ความขัดแย้งของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ทำให้เราไม่ค่อยชอบพม่าเท่าไหร่ แต่พอเราเดินทางเข้าพม่าเพื่อทำหนัง หลาย ๆ คนก็บอกว่าพม่าไม่ใช่แบบที่ผมคิด พม่าไม่ได้เกลียดคนไทย เขาเรียนประวัติศาสตร์คนละเล่มกับเรา ศัตรูของเขาคืออังกฤษ พม่าไม่ได้มีไทยเป็นศัตรู ช่วงที่เราทำหนัง “From Bangkok to Mandalay: ถึงคน..ไม่คิดถึง” ตอนแรกจะทำในประเทศไทย แต่พอคนอื่นบอกกับเราแบบนี้ เราก็ลองย้ายเรื่องราวไปใช้พื้นที่ในประเทศพม่าดู ซึ่งพอเข้าไปแล้วโอเคมาก คนพม่า welcome เราดีมาก   The People: เพราะช่วงนั้นพม่าเพิ่งเปิดประเทศด้วยหรือเปล่า ชาติชาย: เปิดในเชิงการรับรู้ของโลกตะวันตก แต่จริง ๆ กับไทย พม่าไม่เคยปิดครับ เราเข้า-ออกช่วยเหลือกันมาตลอด สิ่งหนึ่งที่เขาประทับใจเราก็คือตอนเหตุการณ์พายุนาร์กิส เราเป็นชาติแรกที่เข้าไปช่วยเขา พม่าจึงรู้สึกดีกับเรามาตลอด    The People: ทำไมต้องเข้าไปทำหนังในพม่า ชาติชาย: ต้องบอกว่าประเทศไทยเป็นฐานทำ post-production เป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนังที่ตัดเนกาทีฟ ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงพม่า ก็ส่งมาทำที่เมืองไทย ผมไม่ค่อยเข้าใจเวลาทำหนังเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน เรามักมีปัญหาตลอด เรามักมีความ sensitive กับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ไม่น้อย ถามว่ามันเกิดจากอะไร? มันไม่ได้เกิดจากเขาครับ มันเกิดจากเรา เกิดจากไอ้นิทานก่อนนอนที่เราสร้างขึ้นมา แต่งเติมบ้าง จริงบ้าง กลายเป็นตำนานที่ส่งต่อกันมาเรื่อย ๆ โดยเป็นการเล่าที่ไม่ใช่เชิงประวัติศาสตร์ด้วย พอเรามองประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของความบันเทิง เรามักชอบทำง่าย ๆ ให้มีคู่ขัดแย้ง ฝั่งดี ฝั่งร้าย และถูกทำให้เป็นชั้นเดียวตลอด เราก็เลยมีปัญหากับเพื่อนบ้านตลอดเวลา   The People: สภาพสังคมไทยกับพม่าแตกต่างกันอย่างไร ชาติชาย: พม่าเป็นพหุสังคมที่อยู่ด้วยกันแบบผสม แต่ไม่ได้ผสาน ดังนั้นจักรวาลสังคมของเขาจะแยกกันชัดเจน เช่น ฮินดู พราหมณ์ คริสต์ พุทธ มุสลิม ผี พระ แยกกันหมด ผีอยู่ส่วนผีไม่ได้เข้าวัด ไปฟังอภิธรรมแล้วเผา เมรุไม่ได้อยู่ในวัด เป็นต้น ในความเหมือนและคล้ายนี้กลับมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่ เช่น เขาจะอยู่กันเป็นรัฐ ๆ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ (ethnic group) ที่มีกรอบวัฒนธรรมแตกต่างกัน แต่เขาอยู่เป็นสหพันธรัฐ แต่ประเทศไทยผ่านการหลอมรวมให้เป็นชาติมาก่อน เราผ่านการทำตรงนี้หลายครั้งในช่วงรัตนโกสินทร์ เราก็เลยค่อนข้างมีวัฒนธรรมเดียว ภาษาเดียว แต่พม่าไม่ใช่แบบนี้ เขามีความซับซ้อนของเขา ตอนแรกเขาอยากให้เราทำหนังผี แต่เราไม่กล้า ก็พยายาม convince ให้เขาทำหนังรักก่อน   สัมภาษณ์ ชาติชาย เกษนัส ความแตกต่างทางวัฒนธรรมหนังไทย-พม่า และการไม่พัฒนาของหนังไทย   The People: คุณเคยทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งไทยและพม่า ระบบการทำหนังของไทยแตกต่างกับพม่าอย่างไร ชาติชาย: แตกต่างกันมหาศาล เวลาที่พูดถึงทีมไทย พวกเขาทำงานกันมา 20 ปีเป็นอย่างน้อยทุกคน ทุกแผนก การที่เขาอยู่ในอุตสาหกรรมหนังไทยเท่ากับการสั่งสมองค์ความรู้ที่ยาวนานกว่า 20 ปี แต่เวลาที่เราเข้าไปในพม่า อุตสาหกรรมหนังยังไม่เคยเปิดร่วมงานกับต่างประเทศเท่าไหร่ อีกทั้งระบบการทำงานจะฝากที่ shooting manager คนเดียว เป็นทั้งคนดูแลพร็อพ คนดูแลสถานที่ คนนัดหมายนักแสดง คนดูแลเครื่องแต่งกาย เราก็แบบ... โอ้ ตายแล้ว มันจะปรับตัวไม่ทัน ไหนจะอุปสรรคเรื่องการสื่อสารอีก ปรากฏว่าหนังเรื่องแรกจบลงที่เราขนทีมงานไทยไปประมาณ 30 คน เราจึงมีคนในกองถ่ายรวมกันกว่า 80 คน พอสร้างเรื่องที่สองเราก็พยายามลดคนลง อีกอย่างคือระบบการลงทุนที่แตกต่างกัน โปรดิวเซอร์ของเขาหมายถึงนักลงทุน (investor) ด้วย เวลาเราบอกว่าเป็น film producer เขาจะคิดว่าเราเป็นนายทุนด้วย แล้วที่นั่นจะมีผู้ลงทุนอยู่เต็มไปหมด นั่นคือข้อดี คนลงทุนมันเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นเอกชนทั้งหมด เขาไม่ค่อยอยากยุ่งกับรัฐบาล เขาก็เลยสร้างองค์กรขึ้นมา Myanmar Motion Picture Organization เพื่อที่จะต่อรองและบาลานซ์กับ Myanmar Motion Picture Association of Development ที่เป็นของภาครัฐ เพราะว่าถ้าเอกชนจับมือกันไม่แน่น เดี๋ยวรัฐก็แบบว่าออกกฎหมายนู่นนี่นั่นออกมา เขาก็เลยเกาะกันแน่นมาก บวกกับความพยายามกีดกันภาพยนตร์ต่างประเทศหรือภาพยนตร์ฮอลลีวูดด้วยการไม่ยอมให้ขึ้นซับไตเติล ตอนแรกไปดูหนังในโรง นึกว่าคนพม่าเก่งอังกฤษ ปรากฏว่า ไซ ไซ (คำ แลง) บอกว่า “ไม่จริง" แต่การศึกษาภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานของเขาก็ยังดีอยู่   The People: องค์กรเอกชนของพม่าต่อรองกับรัฐบาลได้อย่างไร ชาติชาย: เขาสามัคคีกัน ถ้าเกิดเขาตกลงแล้วออกกฎข้อนี้มา ไม่ว่าจะถูก จะผิด จะชอบ จะไม่ชอบ เขาก็จะ follow ตามกฎนี้    The People: คุณเองก็เป็นหนึ่งในการเรียกร้องพร้อม “กลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์” ทว่าการเรียกร้องในไทยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ชาติชาย: เพราะว่ามันไม่มีการต่อรองในเชิงธุรกิจ คือเราไม่ได้มี power ในเชิงธุรกิจ เพราะสิ่งที่เราเรียกร้องมันไปกระเทือนการทำธุรกิจของเขาโดยตรง   The People: ถ้าอย่างนั้น ปัญหาของวงการหนังไทยคืออะไร ชาติชาย: หนึ่ง มันเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศเล็ก ๆ อย่างเราจะไม่มี backup เป็นภาครัฐ เพราะว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่คือทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศ ลองคิดดูว่าหนัง Marvel ลงทุนกี่พันล้าน โดยที่ market size ของเขาคือคนทั่วโลก แต่ของไทย ไทยเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่หนังไทยก็พยายามสู้และพยายามดีดตัวขึ้นมา ต้องยอมรับว่าหนังไทยมีคุณค่าในสายตาคนต่างชาตินะ ผมเคยได้ยินว่าผู้บริหารต่างประเทศหลาย ๆ คน บอกว่าหนังจากประเทศไทยมีศักยภาพในการขายให้กับคนทั่วโลก แต่ลองดูตัวเลขรายรับหรือตัวเลขการลงทุนสิ เราผลิตหนังจำนวนแค่ปีละประมาณ 50 เรื่องต่อปี มีคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย 50 เรื่องนี้กี่คน กี่ชีวิต มันน่าคิด เรากำลังมองข้าม human resource ที่มีการสั่งสมประสบการณ์องค์ความรู้มาไม่ต่ำกว่า 50-60 ปี เรากำลังเสียโอกาสและกำลังจะทิ้งตรงนี้อยู่หรือเปล่า ถามว่าทำไมเราต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐใช่ไหม เพราะว่าไอ้องคาพยพตรงนี้ใหญ่มาก ถ้าเกิดภาครัฐไม่คิดอะไรที่เป็นนโยบายเชิงโครงสร้าง มันไม่มีทางเลยที่อุตสาหกรรมหนังไทยจะเติบโต ผมไม่เห็นด้วยกับการให้ทุนต่าง ๆ ทุน กสทช. ทุนกระทรวงวัฒนธรรม ทุนไทยเข้มแข็ง หรือทุนอะไรก็ตามแต่ที่เป็นทุนโปรเจกต์ ผมไม่เห็นด้วยเพราะมันเป็นการช่วยเหลือแค่คนบางกลุ่มและบางประเภทงาน แต่สิ่งที่เรากำลังมองคือจะทำยังไงให้เกิดการช่วยเหลือในเชิงโครงสร้างให้ได้ เหมือนเราต้องการนักกฎหมายที่คุ้มครอง creator ในประเทศนี้ โดยเฉพาะเรื่องเทปผีซีดีเถื่อน หรือเว็บไซต์ฉายหนังออนไลน์เถื่อน ถามจริง ๆ เถอะ รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้จริง ๆ เหรอ ผมไม่เชื่อ คุณจะบอกว่ามันซับซ้อนอะไรยังไงก็ตาม แต่ผมไม่เชื่อ ถ้าเกิดแก้ไขไม่ได้จริง ๆ ก็อยากให้ภาครัฐออกมาแถลงข่าวว่าทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะเทคโนโลยีเราไม่ถึง หรือประเทศเรา corrupt ไปหมดแล้ว? ผมว่าสินค้าที่จะทำให้ GDP ประเทศนี้อยู่รอดในอนาคตคือสินค้าเชิงไอเดีย เป็น creative economy ซึ่งตรงนี้คือความมั่นคงของประเทศ การที่คนทำหนังมีสิทธิ์ในสิ่งที่เขา create ผมคิดว่าสำคัญ ถ้าเราจัดการเรื่องออนไลน์เถื่อนได้ หรือสามารถจับไอ้คนคนนั้นได้จริง ๆ ถ้าเกิดผมฟ้องร้องสัก 10 ล้านบาท ผมก็ทำหนังเรื่องหน้าได้แล้วนะ ล่าสุดคนที่ถูกจับเป็นเพื่อนของเพื่อนผมที่ติดร่างแหเข้า สน. เขาบอกผมว่าเขารอดมาได้ เขาไม่กลัว เพราะเขารู้ว่าต้องจ่ายใคร   The People: “รู้ว่าจ่ายใคร” หมายความว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง? ชาติชาย: ตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้องครับ แล้วทำไมรัฐบาลถึงทำอะไรตรงนี้ไม่ได้เลยล่ะ ผมไม่กลัวนะ เพราะผมจ่ายภาษี แล้วเราต้องเลิกกลัวคนเหล่านี้ได้แล้ว! เพราะเขาอยู่ได้ด้วยเงินภาษีของเรา รัฐจะต้องเป็นรัฐสมัยใหม่ เป็นรัฐที่ต้องทำงานเพื่อคนในรัฐ หรือคนที่จ่ายภาษีให้เขาให้สามารถประกอบธุรกิจโดยมีผลกำไรเลี้ยงดูตัวเองได้ เพียงพอที่จะสร้างงานได้เรื่อย ๆ เมื่อไหร่ที่รัฐไม่ปกป้องตรงนี้ รัฐรังแกเชิงโครงสร้างกับเรา อยากจะถามกลับว่า ตำรวจ ผู้มีอิทธิพล หรือคนที่รับเงินจากธุรกิจนี้ได้ contribute อะไรกลับมาให้เราหรือเปล่า นอกจากทำร้ายเรา อนาคตไทยกำลังสูญเสีย human resource ในอุตสาหกรรมนะ เพราะทักษะการทำหนังถ้าเลิกสักเจนฯ หรือ สองเจนฯ ทักษะจะหายไปเลย ผมกล้าพูดอย่างนี้เพราะเห็นการล่มสลายของประเทศพม่ามาครับ แม้ผมไม่ได้เห็นกับตา แต่การเข้าไปในพม่าทำให้ผมได้ study วงการหนังและประวัติศาสตร์ของเขา เห็นเลยว่าเมื่อสัก 50-60 ปีก่อน ธุรกิจหนังพม่าใหญ่กว่ากรุงเทพฯ อีก เมืองของเขาก็รุ่งเรืองกว่ากรุงเทพฯ มาก ถนนเส้นหนึ่งมีโรงหนังแบบสแตนด์อะโลนทั้งเส้น 5-6 โรง ผมไปดูหนังเก่า ๆ ของเขามี cinematography เต็ม editing เต็ม แต่พอภาครัฐเข้าไปยุ่มย่าม ไปเซนเซอร์ บวกกับการปิดประเทศต่าง ๆ นานา ทำให้คนหายไป พอคนไม่ถูกสานต่อหรือพัฒนาประมาณ 2 เจเนอเรชัน องค์ความรู้หายไปเลย เวลานี้พูดถึงโรงหนังสแตนด์อะโลน เด็กก็จะถามว่ามันคืออะไร (หัวเราะ)   The People: ถัดจากอุตสาหกรรม “ผู้สร้าง” มาที่ “ผู้เสพ” กันบ้าง วัฒนธรรมการดูหนังของพม่าแตกต่างกับไทยไหม ชาติชาย: คงคล้าย ๆ อินเดีย เขา response มาก ไม่เหนียม ไม่สุภาพ ชอบก็ร้องตบมือ เขา response กับหนังมาก ซึ่งส่วนนี้ช่วยทำให้เราจับทางคนดูได้เร็ว ตอนฉาย From Bangkok to Mandalay เราจะรู้อาการเขาทันที มันดูง่ายกว่าคนไทยที่ชอบดูหนังเงียบ ๆ เราจะเดาไม่ออกว่าตรงไหนเขาชอบหรือไม่ชอบ คนพม่ายังดูหนังในโรงกันเยอะ อาจเพราะเทคโนโลยีอย่างอื่น เช่น เทคโนโลยี streaming ยังไม่แข็งแรง ตั๋วหนังยังมีราคาถูกกว่า เขาจึงยังออกไปดูหนังกันทั้งครอบครัว มีตั้งแต่คนแก่จนกระทั่งเด็ก ๆ เลย   สัมภาษณ์ ชาติชาย เกษนัส ความแตกต่างทางวัฒนธรรมหนังไทย-พม่า และการไม่พัฒนาของหนังไทย   The People: ล่าสุดคุณกำลังนำภาพยนตร์พม่าเรื่องที่สองเข้ามาฉายในไทย “The Only Mom: มาร-ดา" แนวคิดเรื่องนี้มาจากอะไร ชาติชาย: มาจากรูปที่มีในทุกบ้าน...ในประเทศพม่า (หัวเราะ) เป็นรูปถ่ายคนในองค์กรและนายพลอองซานนั่นแหละครับ เราก็รู้สึกสงสัยว่าทำไมคนพม่าถึงมีรูปถ่ายนี้อยู่ในทุกบ้าน ทุกรัฐเลย เราสงสัยว่าทำไมรัฐบาลเขาถึงปล่อยให้มีรูปถ่ายนี้อยู่ เราได้คำตอบที่ใกล้เคียง คือสรุปเอาเองจากการทำความเข้าใจเรื่องผี “นัต” ภาษาอังกฤษ N-A-T สะกดเหมือนชื่อเราเลย (หัวเราะ) ย่าน Southeast Asia ทั้งหมด เราอยู่กันด้วยความเชื่อเรื่องผี ซึ่งเป็นความเชื่อที่เก่าแก่ดึกดำบรรพ์มาก่อนที่พุทธศาสนา ฮินดู คริสต์หรือมุสลิมจะมาถึง เราเชื่อเรื่องผี แล้วความเชื่อนี้ในประเทศพม่าก็ฝังรากลึก จนกระทั่งอาณาจักรพุกามที่พระเจ้าอโนรธาซึ่งเลื่อมใสพระพุทธศาสนามาก อยากจะกำจัดความเชื่อนี้ให้หมดไป ด้วยการรวบรวมนัตไปไว้อีกที่หนึ่ง แล้วก็พยายามที่จะปราบนัตให้หมด อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องนัตยังคงอยู่กับสังคมพม่า มีทั้งนัตหลวง นัตเถื่อน นัตหลวงบางทีเป็นกษัตริย์หรือเป็นนักรบที่มีชื่อเสียง พอตายด้วยวิธีตายโหงก็จะกลายไปเป็นนัต หรือบางคนช่วงที่มีชีวิตอยู่ก็จะเป็น magician เป็น alchemist พอตายแล้วก็มีอิทธิพล บางคนถูกกษัตริย์ประหารชีวิตแล้วแต่งตั้งให้เป็นนัตก็มี มันคล้าย ๆ กับเรื่องภาพที่มีอยู่ในบ้านของเขาที่อาจเป็นการจัดการเรื่องอำนาจ การจัดการความทรงจำ ตัวตนไม่อยู่แล้วแต่คุณยังคิดถึงเขา ยังรู้สึกผูกพัน แต่เขาไม่มีอำนาจหรือผลกระทบกับเราในทางโลกอีกต่อไป ดังนั้นภาพนายพลอองซานจึงไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อรัฐบาลเลย ในเรื่องมีผู้ชายมารำ เขาก็คือนัตหรือคนทรงผู้สื่อสารที่เรียกว่า “นัตกะดอว์” คำว่า “กะดอว์” แปลว่า “เมีย” ฉะนั้นเขาคือ “เมียนัต” แต่นัตกะดอว์เป็นผู้ชาย แต่งงานแล้วมีลูก เขาได้ยินเสียงเรียกให้ทำหน้าที่ พอได้ยินเสียงเรียกนี้หนัก ๆ เข้าก็อยู่ไม่ได้ สุดท้ายต้องแต่งตัวร่ายรำเป็นผู้หญิง แล้วเขาก็จะสื่อสารกับนัตได้ มองในแง่สังคมวิทยามันก็เป็นพื้นที่ของ LGBT ซึ่งจักรวาลในพม่ามีความเข้มข้นมาก ความเป็นพม่าจะ extreme ไม่ compromise ดังนั้นการที่คุณเป็น LGBT ในสังคมที่ผู้ชายสุดโต่งมันจะอยู่ยาก แต่เขาก็จะมีวิธีการจัดการคนเหล่านั้นให้สามารถร่ายรำและมีชีวิตของเขา ยังมีคนนับถือ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเต็มที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก   [caption id="attachment_5567" align="aligncenter" width="1536"] สัมภาษณ์ ชาติชาย เกษนัส ความแตกต่างทางวัฒนธรรมหนังไทย-พม่า และการไม่พัฒนาของหนังไทย อู หล่า เอย์ เป็นนัตกะดอว์ตัวจริง เขาอยากเป็นนักแสดงมาตลอดจึงตอบรับการแสดงทันที เมื่อถึงฉากทำพิธี เขาขอทีมงานเปิดเพลงเพื่อร่ายรำราวกับทำพิธีจริง ๆ จนผู้กำกับเชื่อว่ามีการเข้าทรงเกิดขึ้นจริงในขณะถ่ายทำ หลังถ่ายฉากสุดท้ายของ อู หล่า เอย์ เพียงสองชั่วโมง เขาเกิดหัวใจวายเสียชีวิต ทิ้งผลงานการแสดงในหนังที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในพม่าเอาไว้[/caption]   The People: อีกประเด็นหนึ่งที่เห็นคือ การถ่ายภาพคนตายด้วยฟิล์มกระจก อธิบายเรื่องนี้ให้ฟังหน่อย ชาติชาย: เป็นแนวคิดที่ได้จริง ๆ น้องที่ถ่ายสารคดีกับผม เขาเล่าให้ฟังถึงการถ่ายฟิล์มกระจกที่ต้องผสมเคมีลงกระจกแล้วถ่าย มันติดอยู่ในหัวนานมาก และภาพพวกนี้มีความน่าสนใจตรงเวลาโพสต์ คนโพสต์ต้อง strong มาก และมันถูกถ่ายด้วย professional ตลอด จะไม่มีภาพเละ ๆ เทะ ๆ แบบ snap เพี้ยน ๆ หลุดออกมาเลย การโพสต์จะต้องเฟิร์ม แววตาจ้องแบบแข็งแรงมาก มันเกิดจาก long exposure คือต้องยืนนิ่ง ๆ เคยได้ยินมาว่าบางทียืนนาน 4 นาที จนต้องมีเครื่องช่วยพยุง เครื่องช่วยจับ เราเลยนึกถึงภาพถ่ายความตาย ในสมัยยุกวิคตอเรีย การถ่ายรูปจะเป็นสตูดิโอแบบบ้าน ๆ ใช้แสงธรรมชาติ และราคาแพงมากในการถ่ายแต่ละครั้ง บวกกับสมัยนั้นอัตราการเกิดเยอะ และอัตราการตายก็เยอะเช่นกัน เวลาเด็กเจอโรคหรือเจออะไรนิดเดียวก็เสียชีวิตแล้ว เขาก็เลยมีการถ่ายรูปเด็กที่ตาย ถ้าสังเกตดูรูปหลาย ๆ รูป วิธีที่ดูง่าย ๆ คือ เด็กที่ตาย ภาพจะนิ่งมาก ส่วนเด็กที่มีชีวิต ภาพจะเบลอ ๆ เพราะมันจะยืนนิ่ง ๆ นาน ๆ ไม่ได้ เราก็เลยสนใจ   สัมภาษณ์ ชาติชาย เกษนัส ความแตกต่างทางวัฒนธรรมหนังไทย-พม่า และการไม่พัฒนาของหนังไทย   The People: คำโปรยที่ว่า “ลูกไม่มีสิทธิ์เลือกแม่” มีนัยยะล้อการเมืองหรือเปล่า ชาติชาย: เป็นความคิดพื้นฐานของคนในย่านนี้ ถามว่าเราต้องการอะไรที่ดีกว่านี้ไหม? เราต้องการ แต่เราไม่รู้ตัว เราโตมาแบบนี้ ในสังคมแบบนี้ ก็อยากให้เป็นประเด็นที่ดูในหนังแล้วมาฉุกคิคว่าจริงไหม ลองดูฉาก climax ตอนเรียกลูกกลับบ้าน สุดท้ายตัวละครมันจะ...   The People: อย่าเพิ่งสปอยล์สิ! ชาติชาย: (หัวเราะ) เราอยากรู้ว่าฉากนั้นทำงานกับพม่าหรือไม่ ปรากฏว่าคนพม่าดูแล้วไม่ตะขิดตะขวง ไม่มีใครติด ไม่มีใครพูดถึงซีนนี้เลย แสดงว่าเราก็ยังอยู่ในสังคมอำนาจนิยมอย่างแท้จริง ลองดูว่าเมืองไทยจะมีการพูดถึงฉากนี้หรือเปล่า   The People: สัมผัสสังคมในประเทศพม่ามานาน คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับ อองซาน ซูจี ชาติชาย: เธอเป็นสัญลักษณ์ของการทวงสัญญาที่พ่อของเธอเคยให้ไว้กับหลายรัฐ ที่จะสามารถแยกเป็นอิสระได้เมื่อเวลามาถึง ดังนั้นเธอจึงได้ใจชนกลุ่มน้อยในรัฐต่าง ๆ แต่ช่วงที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าหลายคนอกหักกับเธอ แล้วสิ่งที่เธอทำก็ต้อง compromise กับรัฐบาลทหาร แล้วพรรค NLD (สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย) เองก็ยังไม่มีประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมือง ต้องบอกว่ายังใหม่ ยังมีปัญหาอยู่ เราเคยบอกเพื่อนที่เป็น NLD ว่า “ใจเย็น ๆ แล้วกัน เพราะว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว สิ่งหนึ่งที่คุณต้องถือไว้คือคุณสามารถเลือกรัฐบาลให้กับตัวเองได้” (หัวเราะ) เขาหัวเราะแล้วบอกกลับมาว่า “บ้านยูก็เริ่มเหมือนบ้านไอในอดีตแล้วนะ” (หัวเราะ)   The People: การเมืองพม่ามีผลต่อการทำหนังไหม ชาติชาย: ไม่ค่อยมีนะ ตอน From Bangkok to Mandalay เราเหนื่อยเพราะถ่ายทำในช่วงเคอร์ฟิวที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง มันเลยเป็นที่มาของคำว่า “ไม่มีใครอยากจะยุ่งเรื่องการเมือง แต่มันก็เสือกมายุ่งกับเราเหลือเกิน” (หัวเราะ) ถามว่ามีปัญหาอะไรไหม ไม่ค่อยมีนะ แต่ถ้าเราทำเรื่องที่แตะต้องกับการเมืองตรง ๆ อันนี้น่าจะมีปัญหา ในอดีตช่วงที่นายพลเน วิน ครองอำนาจ “เน วิน” แปลว่า “พระอาทิตย์ขึ้น” ก็จะมีการออกกฎห้ามมีฉากพระอาทิตย์ตกดิน ต้องเป็นพระอาทิตย์ขึ้นอย่างเดียว ต้องเข้าใจว่าพม่าเคยผ่านช่วงสังคมนิยม เป็นสังคมนิยมที่ไม่ทำร้ายศาสนา เพราะพุทธศาสนาแข็งแรงกว่าทุกอย่างในประเทศพม่า ประเทศที่ดำเนินการด้วยสังคมนิยมในย่านนี้ สิ่งที่มันหายไปคือ “ศิลปะ” เพราะศิลปะถูกควบคุมโดยภาครัฐและเป็นเครื่องมือของรัฐ ทั้งที่จริงแล้วมันต้องเป็นศิลปะเพื่อมวลชน ฉะนั้นความนุ่มนวลหรือความซับซ้อนของงานก็จะหาย แล้วทักษะก็จะลดน้อยถอยลง   The People: วงการหนังไทยอยู่ด้วยตนเองแบบไม่พึ่งพารัฐได้ไหม ชาติชาย: ต้องบอกว่าช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้คนไทยเก่งเพราะเราอยู่ได้ด้วยตัวเองครับ ทั้งหมดเกิดขึ้นจากภาคเอกชนล้วน ๆ แต่เราต้องไม่ลืมว่าในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา รัฐที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม เช่น จีนหรือสิงคโปร์มันไปเร็วมาก แล้วก็เป็นองคาพยพที่ใหญ่มาก ผมอยากถามกลับว่า หนังไทยจะหายไปแบบพม่าหรือไม่? ถ้าเกิดรัฐทำข้อมูลแล้วมั่นใจว่าอุตสาหกรรมหนังไทยกรุณาอยู่ด้วยตัวเองต่อไป เราก็จะขอเรียกร้องสั้น ๆ ว่า เงินภาษีที่จ่ายไปจะคืนกลับมาพัฒนาวงการกี่เปอร์เซ็นต์   The People: วงการหนังไทยกำลังขาดอะไรอยู่ ชาติชาย: ผู้ที่ตัดสินใจลงทุนในภาพยนตร์น้อยเกินไป เอาเข้าจริงมันมีอยู่ไม่กี่คนหรอก มันเลยขาดความหลากหลาย การจัดเก็บรายได้ก็เป็นไปได้ยาก บางทีการที่มีสายหนังอยู่ก็ไม่เป็นธรรม แล้วก็มีเรื่องปัญหาลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ ตรงนี้ก็ทำให้เราสูญเสียรายรับไปอย่างมหาศาล สมัยนี้ทำหนัง 30 ล้านมันต้องคืนรายได้จากการฉายหนังในโรงภาพยนตร์อย่างเดียว มันเลยส่งผลกระทบว่า เราต้องลดต้นทุนลงมาเรื่อย ๆ พวกเราแก่ขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น เราควรได้รับค่าแรงหรือค่าวิชาที่ดีขึ้นใช่ไหมครับ แต่เราขึ้นค่าแรงไม่ได้ เด็กรุ่นใหม่ก็อยากจะขึ้นมา อยากมีงานทำ เขาก็ยอมรับค่าแรงที่ถูกลงไปอีก ดังนั้นมันจะเป็นงูกินหางต่อไป กระเทือนกันหมดทั้งวงการ ถามว่าภาครัฐจะสนับสนุนไหม ก็ต้องสนับสนุนเชิงโครงสร้าง อย่าสนับสนุนเป็นเรื่อง ๆ   The People: สุดท้ายคุณยังอยากกลับมาทำหนังในไทยไหม ชาติชาย: อยาก อยากมาก แต่มันยากเหลือเกิน อาจเป็นเพราะเรารู้สึกว่าเรา success ที่พม่าแล้ว เรามีภาพความสำเร็จที่นั่น มันก็เลยทำให้เขาตัดสินใจทำหนังง่าย เขาไว้ใจเรา การ develop อะไรในอุตสาหกรรมหนังไทยตอนนี้มันยากมาก ก็เลยพยายามหาจุดที่ทุกคนมั่นใจ จุดที่ปลอดภัยที่สุด ซึ่งจุดที่ปลอดภัยที่สุดมันอันตรายต่อการทำหนังมาก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราตอบการประชุมได้ทุกคน หนังเรื่องนั้นอาจไม่สนุกแล้ว ถ้าการทำหนังมีทุกอย่างที่ที่ประชุมต้องการ มันอาจจะไม่สนุกอีกต่อไป สัมภาษณ์ ชาติชาย เกษนัส ความแตกต่างทางวัฒนธรรมหนังไทย-พม่า และการไม่พัฒนาของหนังไทย   ผู้ร่วมสัมภาษณ์: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย