04 เม.ย. 2562 | 16:00 น.
ย้อนกลับไปประมาณ 20 ปีที่แล้ว ในบรรดาพี่น้อง 5 คน “สุริยะ” เป็นเพียงคนเดียวที่สนใจการเมือง โดยร่วมกับกิจสังคมเป็นพรรคแรก มีตำแหน่งที่ปรึกษาเลขารัฐมนตรีอยู่หลายปี กระทั่งไต่เต้าขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในยุครัฐบาลชวน 2
เส้นทางสู่การเป็นนักการเมืองระดับบิ๊กเนมของสุริยะเริ่มขึ้นเมื่อปี 2544 มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งขณะนั้นลาออกจากพรรคกิจสังคมย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย แนะนำสุริยะให้รู้จักกับ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หรือ “เจ๊แดง” เพื่อชักชวนให้ย้ายพรรคในเวลาต่อมา
การจับมือระหว่าง “เจ๊แดง” น้องสาวทักษิณ ชินวัตร สมศักดิ์ซึ่งมีฐาน ส.ส. ในภาคเหนือตอนล่าง และทุนใหญ่อย่างสุริยะ ทำให้ “กลุ่มวังบัวบาน” กลายเป็นมุ้งใหญ่ มี ส.ส. ในสังกัดมากกว่าร้อยคน
ทุนและอำนาจต่อรองในมือ ส่งผลให้สุริยะขยับขึ้นเป็นแกนนำหลักของ พรรคไทยรักไทย ในเวลาไม่นาน มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค ผู้สมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ต้น และเจ้ากระทรวงเกรดเอ อย่าง รมว.อุตสาหกรรม และ รมว.คมนาคม เรื่อยมา โดยมีสมศักดิ์ พันธมิตรการเมืองที่ดูแลกันมาตั้งแต่สมัยพรรคกิจสังคม ช่วยเหลือผลักดันอยู่เบื้องหลัง
ความยิ่งใหญ่ของ “สุริยะ-สมศักดิ์” สร้างความหวาดระแวงแก่คนในตระกูลชินวัตร ที่สุดทั้งคู่ตัดสินใจแยกตัวออกจากเงา “เจ๊แดง” ไปตั้งกลุ่มใหม่ชื่อว่า “วังน้ำยม” ต่อมาปรับ ครม.ทักษิณ 2 สุริยะถูกลดบทบาทเหลือแค่เก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งสุดท้าย ก่อนรัฐบาลพรรคไทยรักไทยถูกยึดอำนาจเมื่อปี 2549
หลังยึดอำนาจปี 2549 สุริยะเก็บตัวเงียบ พร้อมข่าวลือที่ว่าเขาหลบไปรักษาอาการป่วยหนักที่สหรัฐอเมริกา ก่อนย้ายกลับมาเมืองไทย โดยมี “คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” อดีตภริยาทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ช่วยดูแลเป็นธุระจัดหาทีมแพทย์ฝีมือดีให้
ไม่ใช่แค่อาการป่วยทางกาย แต่ “พิษการเมือง” คืออีกสาเหตุที่สุริยะต้องลดบทบาทตัวเอง ทั้งกรณีถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรคไทยรักไทย และระหว่างนี้เขาถูก คสต. ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหาร หยิบยกคดีทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจสัมภาระภายในสนามบินสุวรรณภูมิ หรือ CTX 9000 ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม เมื่อปี 2548 มาตรวจสอบ แต่ต่อมา ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องไปเมื่อปลายปี 2555 เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
ด้วยสถานะทับซ้อนระหว่างคำว่า นักธุรกิจ-นักการเมือง สุริยะจึงตกเป็นเป้าติดโผรัฐมนตรีสีเทา ครั้งหนึ่งสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลเคยตั้งฉายาเขาว่า “ซาก CTX” แม้ว่าจะหาพยานหลักฐานมาการันตีความบริสุทธิ์ แต่มันได้กลายเป็นบาดแผลติดตัว เพราะสังคมปักใจเชื่อไปเสียแล้ว
ว่ากันว่าอำนาจเป็นสิ่งหอมหวาน ยิ่งเคยมีแล้วแล้วก็โหยหาอยากจะมีอีก จู่ ๆ ในเดือนมกราคม 2552 สุริยะก็หวนคืนสนามการเมืองอีกครั้งในนาม พรรคภูมิใจไทย ร่วมกับอดีตแกนนำจากไทยรักไทย นำโดย นายเนวิน ชิดชอบ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุชาติ ตันเจริญ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล แต่กระแสตอบรับต่ำกว่าเป้า ได้ ส.ส. แค่ 34 ที่นั่งในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 กลายเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนสุริยะก็หายไปจากหน้าสื่อ
กระทั่งต้นปี 2560 ชื่อ “สุริยะ” ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ ในคดีสินบนโรลสรอยซ์ในการบินไทย ตามการเปิดเผยของสำนักสืบสวนการฉ้อฉลรุนแรงของอังกฤษ หรือ SFO พบบริษัทโรลสรอยซ์จ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 3 ครั้ง ระหว่างปี 2534-2548 รวม 1,273 ล้านบาท ครั้งหลังสุดเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2547 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2548 ตรงกับช่วงเวลาที่สุริยะเป็น รมว.คมนาคม ป.ป.ช. อยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริงบุคคลที่เข้าข่ายพัวพันรวม 26 ราย
การเมืองไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร ปลายปี 2561 ภายใต้รัฐบาลทหาร สุริยะกลับมาแท็กทีม สมศักดิ์ เทพสุทิน-สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ตั้ง กลุ่มสามมิตร ก่อนกลายร่างเป็น พรรคพลังประชารัฐ หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย
“สุริยะ” ไม่ใช่แค่ผู้เล่นหลังฉาก แต่ถูกวางงานเป็นกุนซือป่วนเพื่อไทย ดูดนักการเมือง-ส.ส. ออกจากพรรคได้ร่วม 30 ชีวิต การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พลังประชารัฐกวาด ส.ส. ไปได้กว่าร้อยที่นั่ง ตามหลังพรรคเพื่อไทยที่มากกว่าสิบกว่าที่นั่ง
ส่วน “จึงรุ่งเรืองกิจ” กลายเป็นตระกูลที่โดดเด่นในสนามการเมืองและถูกจับตามองมากที่สุด จากปรากฎการณ์แยกขั้ว เมื่อ “สุริยะ” เลือกเป็นเบี้ยเพื่อรักษาขุนให้ฝ่าย คสช. ขณะที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ผู้เป็นหลานชาย เลือกยืนข้างฝ่ายที่แทนตัวเองว่าประชาธิปไตย