ยูวัล แฮรารี:จินตนาการ วิปัสสนา สามี เบื้องหลังความสำเร็จ Sapiens สู่ 21 Lessons
ชื่อของยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) นี่คือนักเขียนชาวยิวที่ถูกพูดถึงในระดับปรากฏการณ์ world phenomenon ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เริ่มต้นในปี ค.ศ. 2014 ที่หนังสือของเขาอย่าง Sapiens: A Brief History of Humankind ได้ถูกแปลจากภาษาฮิบรู ภาษาบ้านเกิดของเขา-อิสราเอล มาเป็นภาษาอังกฤษ หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือ non-fiction ที่ขายดีในระดับโลกที่ปัจจุบันตีพิมพ์ไปแล้วมากกว่า 8 ล้านเล่มทั่วโลก เป็นหนังสือที่คนดังอย่าง บารัค โอบามา, บิลล์ เกตส์ และมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ต่างก็เคยหยิบมาอ่าน และในตอนนี้ริดลีย์ สก๊อตต์ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ของฮอลลีวูด กำลังจะนำเนื้อหาในหนังสือ non-fiction เล่มนี้ให้กลายเป็นภาพยนตร์
Sapiens คือหนังสือที่พูดถึงประวัติศาสตร์การเดินทางของเผ่าพันธุ์มนุษย์เซเปียนส์ จนกลายเป็นเผ่าพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งในแง่สร้างสรรค์และทำลายล้าง หากเล่มนี้เป็นภาพตัวแทนการเขียน “อดีต” ของยูวัล หนังสือเล่มต่อมาของเขาอย่าง Homo Deus: A Brief History of Tomorrow (2016) ที่ว่าด้วยการหาคำตอบให้กับความเป็นไปได้ของมนุษย์ในวันข้างหน้า คงจะเป็นภาพตัวแทนของการเขียน “อนาคต” ของเขา
และ 21 Lessons for the 21 st Century ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2018 นี่คือการเขียนถึง “ปัจจุบัน” ว่าด้วยเรื่องราวของการทำความเข้าใจสังคมโลกยุคใหม่ ตั้งแต่เรื่องราวของการเมืองไปจนถึงเทคโนโลยี
อดีต-อนาคต-ปัจจุบัน ภาพรวมความเป็นไปของโลก ผ่านสายตาของยูวัลในหนังสือที่เขาเขียน แม้ว่าจะถูกวิจารณ์ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า มุมมองในหนังสือของยูวัล ที่พยายามสืบหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างหนักแล้วร้อยเรียงมันเข้ากับวิธีคิด ตรรกะของตัวเอง ทำให้งานของเขาโดดเด่นออกมาเป็นพิเศษ
ในมุมมองของผู้เขียนบทความ หากพอจะร้อยเรียงได้ว่า อะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จของหนังสือชุดของยูวัลโดยเฉพาะ Sapiens นอกจากการทำงานหนักของผู้เขียนเอง คงจะมี 3 ประเด็นกว้าง ๆ ที่น่าสนใจ
1.ความแตกต่างในงานเขียน
ช่วงกลางปี ค.ศ. 2018 ผู้เขียนบทความนี้ได้มีโอกาสเดินทางไปสัมภาษณ์ยูวัล ที่สิงคโปร์ ในขณะที่เขาได้รับเชิญมาบรรยายที่นี่ มีคำถามหนึ่งที่ได้ถาม ยูวัล โนอาห์ แฮรารี กับคำถามที่ว่า คนพูดถึงเรื่องราวของมนุษย์พันธุ์เซเปียนส์มากมายแล้ว อะไรคือประเด็นใหม่ในหนังสือของเขา? ยูวัลอธิบายว่า งานที่เขาทำ อาจจะไม่ใช่ความคิดใหม่ แต่เขาสนใจเรื่องการดำรงอยู่ของสังคมที่เกิดจากการที่ผู้คนจำนวนมากมีจินตนาการบางอย่างร่วมกัน และความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างอำนาจ (power) และความสุข
“สองความคิดที่สำคัญที่สุดในหนังสือ Sapiens สำหรับผม อาจจะไม่ใช่ความคิดใหม่เสียทีเดียวแต่มันยังคงใหม่สำหรับงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โลกทั่วไป อย่างแรก คือการจินตนาการถึงเรื่องแต่งในทางชาติพันธุ์วิทยา บ่อยครั้งที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญในการใช้เครื่องมือหาความรู้อย่าง ภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรืออะไรทำนองนี้ และส่วนเนื้อหาหลักของหนังสือ Sapiens ที่พูดถึงพลังอำนาจของมนุษยชาติที่มาจากความร่วมมือกันในสเกลที่ใหญ่มาก
“และความร่วมมือกันของมนุษย์ จะอยู่บนพื้นฐานของเรื่องจินตนาการ (mythology) และเรื่องแต่ง (fictional story) อยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการเมือง ศาสนา เศรษฐกิจ มันต้องอาศัยการประนีประนอมของคนจำนวนมากที่เชื่อในเรื่องราวเดียวกัน และเรื่องราวนี้ โดยทั่วไปอยู่บนพื้นฐานของการใช้พลังอำนาจของมนุษย์ที่ใช้ในการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ ที่ชัดเจนที่สุดก็กรณีศาสนา มีเรื่องราวของพระเจ้า คัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ หรืออะไรทำนองนี้ หรือเรื่อง ชาติ ก็เป็นเรื่องแต่งเช่นกัน เรื่องของชาติไม่ใช่ความจริงในเชิงภววิสัย (objective reality) แต่เป็นเรื่องราวที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยมนุษย์ มันคงอยู่ตราบเท่าที่ผู้คนจำนวนมากเชื่อในเรื่องราวเดียวกัน นี่คือหนึ่งในความคิดที่ค่อนข้างใหม่สำหรับหนังสือ Sapiens
"ความคิดหลักอีกอย่างในหนังสือเล่มนี้ คือการตั้งคำถามในเรื่อง ความสุขและความทุกข์ เพราะโดยทั่วไป เมื่อนักประวัติศาสตร์เขียนประวัติศาสตร์ พวกเขาจะสนใจกับคำถามในเรื่องพลังอำนาจ เลยกลายเป็นประวัติศาสตร์แห่งอำนาจที่พูดถึงว่าจักรพรรดิ หรือนักการเมือง อย่าง จูเลียส ซีซาร์, เจงกิส ข่าน หรือฮิตเลอร์ ว่าพวกเขาขึ้นสู่อำนาจได้อย่างไร? หรือพวกเขาบรรยายว่าองค์กรต่าง ๆ มีพลังอำนาจได้อย่างไร อย่างเช่น คริสตจักร เป็นต้น ในหนังสือของผม มันก็ใช่, ที่ประเด็นพลังอำนาจก็ยังสำคัญ แต่เรื่องของประวัติศาสตร์ มันไม่ได้มีแต่ประวัติศาสตร์ของอำนาจ มันยังเกี่ยวข้องกับคำถามต่อประเด็นความสุขและความทุกข์ ว่าอำนาจเข้าไปมีอิทธิพลกับเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร
“ผมหมายถึง มีผู้คนจำนวนมากมีความคิดง่าย ๆ ว่า ในเชิงปัจเจก ถ้าคุณมีอำนาจ คุณจะมีความสุขมากกว่า แต่มันไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป คนที่มีอำนาจมากที่สุดก็ไม่ใช่ว่าจะมีความสุขมากที่สุด ผมไม่คิดว่า โดนัลด์ ทรัมป์ หรือวลาร์ดีเมียร์ ปูติน คือบุคคลที่มีความสุขมากที่สุดในโลก ถึงแม้จะดูว่าเป็นเช่นนั้น (หัวเราะ) ในระดับภาพรวม มนุษยชาติคือกลุ่มที่มีอำนาจที่มากมายในช่วงเวลามากกว่าสองพันปีที่ผ่านมา พวกเรามีพลังอำนาจมากกว่าในยุคหิน แต่มันไม่ใช่เรื่องดีนักที่จะแปลความหมายเรื่อง อำนาจ ว่าเป็น ความสุข แล้วไม่ใช่จะมองว่าคนยุคนี้จะมีความสุขมากกว่าในอดีต ประเด็นนี้สำคัญสำหรับผมอย่างมากกับการเขียนหนังสือ Sapiens ในการเขียนเรื่องราวที่ซับซ้อน ที่ไม่ได้โฟกัสแต่การเกิดขึ้นของอำนาจในมนุษย์ แต่ต้องพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างอำนาจ (power) และความสุข”
2.พลังแห่งความรู้ที่เกิดจากการวิปัสสนา
ยูวัล ยอมรับว่า การวิปัสสนา สำหรับเขา มีส่วนสำคัญในการสร้างงานที่ทรงพลังเป็นอย่างมาก คำอุทิศในหนังสือ Homo Deus ยูวัลได้เขียนไว้ว่า “แด่อาจารย์ของผม, ท่านสัตยา นารายัน โกเอ็นก้า สำหรับการสอนเรื่องสำคัญให้กับผม”
โกเอ็นก้า คือคุรุด้านการฝึกวิปัสสนา ที่ยูวัลยึดถือแนวทางมาปฏิบัติ และพลังสมาธิที่เกิดจากการวิปัสสนานี้ มีผลต่องานเขียนของเขาเป็นอย่างมาก
“ผมคิดว่ามันมีผลต่อผมอย่างมาก อย่างแรกเลย การทำสมาธิมาก ๆ ทำให้ผมสามารถโฟกัสกับงานได้มากกว่า และหากผมไม่สามารถโฟกัสในงานได้ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเขียนหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของโลกขนาดยาวนี้ได้ เพราะว่าคุณจะมีเรื่องที่ทำให้วอกแวกอยู่ตลอดเวลา มันเป็นเรื่องสำคัญมากในการอ่านและการเขียน การพยายามที่จะโฟกัสการเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ที่มีความยาว 500 หน้า ไม่ใช่งานง่าย ซึ่งการทำสมาธิช่วยทำให้ความคิดของผมแหลมคมและจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำครับ
“และอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมคิดว่าการทำสมาธิมีอิทธิพลต่อผม นั่นคือ การทำสมาธิของผมเรียกว่าการวิปัสสนาในแบบพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท คล้ายกับการทำสมาธิของคนไทย ผมคิดว่าการทำสมาธิแบบนี้มีผลต่อแนวทางในการเขียนของผม ยกตัวอย่างเช่น ส่วนที่ผมชอบ ในงานหนังสือของผม คือการพูดถึงเรื่องความทุกข์ ความสุข ในเล่มนี้พูดถึงความทุกข์และความสุขของสัตว์โลก ที่ไม่ใช่เฉพาะมนุษย์ แต่เป็นความทุกข์ความสุขของสัตว์อื่น ๆ ด้วย เรื่องการวิปัสสนาจึงมีอิทธิพลอย่างมากในการทำความเข้าใจในประเด็นนี้”(จากบทความ สัมภาษณ์ ‘ยูวาล ฮารารี’ ความท้าทายของมนุษย์ ผ่านหนังสือปรากฏการณ์ระดับโลก Sapiens )
3.การมีเพื่อนร่วมทางที่ดี-สามี
แม้ว่าในส่วนนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับวิธีคิดในการเขียนงานของยูวัลโดยตรง แต่คู่ชีวิตหรือสามีของเขา (ยูวัลเป็น LGBT) มีส่วนอย่างมากในเบื้องหลังความสำเร็จในงานเขียนหนังสือ จากการช่วยเหลือและให้คำแนะนำในหลายสิ่งที่สำคัญให้กับยูวัลเอง
สามีของยูวัล มีชื่อว่า อิตซิค ยาฮาฟ (Itzik Yahav) พวกเขาแต่งงานกันที่โตรอนโต แคนาดา เพราะในช่วงเวลานั้น ที่อิสราเอลไม่อนุญาตให้มีการแต่งงานของเพศเดียวกัน ปัจจุบันยาฮาฟ คือผู้จัดการส่วนตัวของยูวัล ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ชีวิตของยูวัลง่ายขึ้น เพราะเขาเป็นคนจัดการตารางงานต่าง ๆ โดยเฉพาะงานบรรยายที่ยูวัลเดินสายไปบรรยายทั่วโลก
ยาฮาฟ มีส่วนร่วมต่อปรากฏการณ์หนังสือของยูวัลอย่างไร? ต้องย้อนกลับไปถึงปี ค.ศ.2011 ในครั้งที่ที่มีการตีพิมพ์หนังสือ Sapiens นั้น เป็นฉบับตีพิมพ์ด้วยภาษาฮิบรู ความตั้งใจแรกของยูวัลคือการเขียนหนังสือในเชิงประวัติศาสตร์สักเล่ม และเขาไม่คิดว่าหนังสือเชิงวิชาการหนา ๆ เล่มหนึ่ง จะกลายเป็นหนังสือขายดี คงจะพอขายได้ในมหาวิทยาลัยกับกลุ่มนักศึกษามากกว่า
แต่ยาฮาฟเชื่อว่า หนังสือเล่มนี้ไปได้ไกลกว่านั้น เขาเชื่อว่า Sapiens จะสร้างปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ในอนาคตได้ เขาจึงแนะนำในแปลหนังสือเล่มนี้เป็นฉบับภาษาอังกฤษ
ช่วงเริ่มต้นของการหาสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยาฮาฟตามหาสำนักพิมพ์ที่จะตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้หลายสำนักพิมพ์ แต่ถูกปฏิเสธมาหลายปี มีสำนักพิมพ์หนึ่งบอกกับพวกเขาว่า “ถ้าจะขายคงขายได้เพียงสองพันเล่มเท่านั้น”
แต่ในที่สุด ในปี 2014 พวกเขาก็หาสำนักพิมพ์ตีพิมพ์ Sapiens ฉบับภาษาอังกฤษได้สำเร็จ และหนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือระดับขายดีโลกตามความคาดหวัง (หรืออาจจะเกินความคาดหวังไปไกล) ของยาฮาฟในที่สุด
จึงไม่น่าแปลกใจเลย ถ้าคำอุทิศในหนังสือ 21 Lessons for the 21 st Century จะมีส่วนหนึ่งที่เขียนไว้ว่า
“แด่สามีของผม อิตซิค...และความช่วยเหลือของพวกเขาตลอดหลายปี”