ควีนแอนน์ ประมุขอังกฤษคนสุดท้ายที่ใช้อำนาจแทรกแซงรัฐสภา
"The king can do no wrong" หรือแปลเป็นไทยว่า "กษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้" เป็นหลักคุ้มกันของผู้นำรัฐที่พัฒนาเรื่อยมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่กษัตริย์มีอำนาจเต็มในราชอาณาจักร จนถึงยุคประชาธิปไตยหลักการนี้ก็ยังคงอยู่แต่ได้ถูกปรับเปลี่ยนจนสาระสำคัญต่างไป เมื่อกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเหลือเพียงอำนาจในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น
ตัวอย่างของประเทศที่แสดงถึงพัฒนาการดังกล่าวก็คืออังกฤษ ที่อำนาจในการบริหารประเทศของกษัตริย์ค่อย ๆ ถูกถ่ายโอนจากกษัตริย์ผู้ถืออำนาจอธิปัตย์มาสู่รัฐสภาและคณะรัฐมนตรี โดยครั้งสุดท้ายที่ประมุขของอังกฤษใช้อำนาจในการยับยั้งกฎหมายก็ต้องย้อนไปไกลกว่า 300 ปี ในรัชสมัยของควีนแอนน์ ประมุขคนสุดท้ายจากราชวงศ์สจวต
ทั้งนี้ ในอดีตแม้โดยหลักการกษัตริย์จะเป็นองค์อธิปัตย์ที่มีอำนาจสูงสุดในรัฐ แต่ก็ใช่ว่าในทางปฏิบัติจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป ในยุคศักดินามีหลายครั้งที่ขุนนางไม่ยอมปฏิบัติตามนโยบายของกษัตริย์ และการต่อต้านครั้งสำคัญของเหล่าขุนนางในปี 1215 ก็ทำให้คิงจอห์นต้องยอมรับ "มหากฎบัตร" (Magna Carta) ซึ่งเป็นต้นแบบของหลักประกันเสรีภาพของเสรีชนผ่านกระบวนการพิจารณาของศาล รวมถึงการเก็บภาษีที่จะต้องขอความเห็นชอบจากผู้จ่าย (หรือรัฐสภา) เสียก่อน
รัฐสภาอังกฤษค่อย ๆ มีอิทธิพลมากขึ้น แม้กษัตริย์จะยังสามารถหาทางผ่านนโยบายของตนได้แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทุกครั้ง ในขณะเดียวกันกฎหมายที่ถูกเสนอร่างจนผ่านทั้งสองสภามาได้ ก็ยังคงต้องได้รับการลงนามจากกษัตริย์ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในราชอาณาจักร ซึ่งในยุคของ "วิลเลียมออฟออเรนจ์" หรือคิงวิลเลียมที่ 3 ซึ่งครองราชย์ร่วมกับควีนแมรีที่ 2 พี่สาวของควีนแอนน์ การปฏิเสธร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามาแล้วยังปรากฏอยู่หลายครั้งด้วยกัน
แต่เมื่อถึงรัชสมัยของควีนแอนน์ พระองค์ทรงใช้อำนาจ "วีโต" ร่างกฎหมาย เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น และนับแต่นั้นมาก็ไม่เคยมีประมุขของอังกฤษพระองค์ใดที่ใช้อำนาจในลักษณะนี้อีกเลย
ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกพระองค์ปฏิเสธเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 1708 เป็นร่างว่าด้วยการจัดตั้งกองทัพสก็อตหลังมีการผ่านกฎหมายรวมราชอาณาจักรอังกฤษและสก็อตแลนด์เข้าด้วยกัน (Acts of Union 1707) แต่เมื่อมีข่าวว่ากองทัพฝรั่งเศสส่งกองเรือไปยังสก็อตแลนด์เพื่อสนับสนุนขบวนการต่อต้านการรวมชาติ คณะรัฐมนตรีจึงเกิดความกังวลว่ากองทัพที่ตั้งขึ้นใหม่จะภักดีต่อรัฐบาลอังกฤษหรือไม่จึงถวายคำแนะนำให้ควีนแอนน์ปฏิเสธร่างกฎหมายดังกล่าวเสีย (The History of Parliament)
การปฏิเสธร่างดังกล่าวจึงเป็นการปฏิเสธตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีผู้เสนอร่างเองอันเป็นผลจากเหตุที่ไม่คาดการณ์ล่วงหน้า ทำให้ในสมัยนั้นไม่มีใครตั้งข้อสังเกตการใช้อำนาจของพระองค์เป็นพิเศษเพราะเป็นแนวทางที่คนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนอยู่แล้ว
แต่มันกลายเป็นที่สนใจขึ้นมาเมื่อมีการสืบค้นประวัติศาสตร์และพบว่านั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ประมุขของรัฐใช้อำนาจในการยับยั้งกฎหมายที่ผ่านการพิจารณามาแล้วทั้งสองสภา
คำถามที่อดสงสัยไม่ได้ก็คือ แล้วอำนาจของกษัตริย์อังกฤษในการที่จะยับยั้งกฎหมายยังมีอยู่หรือไม่? เพราะที่ผ่านมากว่าสามร้อยปีกษัตริย์อังกฤษเลือกที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีเสมอ กษัตริย์จึง "ทรงกระทำผิดมิได้" เนื่องจากคณะรัฐมนตรีในฐานะผู้ถวายคำปรึกษาเป็นผู้ "รับผิดชอบ" ต่อประชาชนเอง (แม้กระทั่งควีนแอนน์ผู้ใช้อำนาจวีโตเป็นพระองค์สุดท้ายก็อยู่ในข่ายนี้)
อย่างไรก็ดี ถ้าหากวันดีคืนดีองค์อธิปัตย์โดยจารีตกลับเลือกที่จะฝ่าฝืนประเพณี ใช้อำนาจของพระองค์เองโดยมิได้มาจากการถวายคำปรึกษาของคณะรัฐมนตรี ก็น่าสงสัยว่าในประเทศที่มีระบบรัฐสภาที่เข้มแข็งอย่างอังกฤษจะจัดการต่อปัญหาที่เข้าลักษณะเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญนี้อย่างไร? แล้วอย่างนี้ The king ที่ยัง can do no wrong หรือเปล่า?
(ทั้งนี้ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ย้อนไปก่อนหน้ารัชสมัยของควีนแอนน์ไม่นาน กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 ก็เป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งที่อ้างหลักการ "The king can do no wrong" เมื่อพระองค์ต้องเผชิญหน้ากับการพิจารณาคดีในหากบฏ หลังพระองค์ทรงมีปัญหากับทางรัฐสภาบ่อยครั้ง ถึงขั้นสั่งยุบรัฐสภาและปกครองโดยไม่ใช้รัฐสภา [ทำให้พระองค์ถูกเรียกว่า “ทรราช”] การแย่งชิงอำนาจนำระหว่างพระองค์กับรัฐสภาได้นำไปสู่สงครามกลางเมือง และความพ่ายแพ้ในสงครามก็ทำให้พระองค์ถูกบังคับให้ขึ้นศาลที่ถูกควบคุมโดยขั้วอำนาจตรงข้ามที่ไม่ยอมรับฟังข้ออ้างของพระองค์ พระองค์จึงถูกสำเร็จโทษ และระบอบกษัตริย์ของอังกฤษก็ขาดตอนไปชั่วระยะหนึ่ง )