เปโดร กุซมัน ถูกรัฐบาลตัวเองเนรเทศ จนป่วยทางประสาท
การ “เนรเทศ” มักเป็นมาตรการที่ถูกนำมาใช้กับกรณีคนต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศมาโดยผิดกฎหมาย ซึ่งแต่ละประเทศก็อาจจะมีกระบวนการตรวจสอบการเดินทางเข้าประเทศ การอ้างสิทธิและการพิสูจน์สัญชาติต่างกันไป ก่อนที่จะมีคำสั่งสุดท้ายอันมีผลให้บุคคลนั้นต้องพ้นจากประเทศดังกล่าว
และบางกรณีความหละหลวมในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็อาจก่อให้เกิดความผิดพลาด และนำไปสู่การเนรเทศพลเมืองของประเทศตัวเอง
เช่นกรณีตัวอย่างที่สหรัฐอเมริกา พลเมืองอเมริกันผู้เคราะห์ร้ายผู้นี้มีชื่อว่า “เปโดร กุซมัน” (Pedro Guzman) ในต้นปี 2007 เขาถูกจับกุมในข้อหาบุกรุกและสร้างความเสียหายจากการพ่นสีสเปรย์ในสุสานเครื่องบินแห่งหนึ่งในแลงคาสเตอร์ แคลิฟอร์เนีย
ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน เขาถูกศาลสั่งลงโทษจำคุกเป็นเวลา 120 วัน ก่อนศาลลดโทษให้เหลือ 40 วัน
แต่เมื่อเขาพ้นโทษในเดือนพฤษภาคม เขาพยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากครอบครัวเมื่อเขากำลังจะถูกเจ้าหน้าที่ “เนรเทศ” ไปยังเม็กซิโก เนื่องจากเขาแจ้งว่า เขาเกิดในเม็กซิโก แม้ว่านั่นจะไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีสัญชาติ “อเมริกัน” เลยก็ตาม
ก่อนที่ครอบครัวจะสามารถทำอะไรได้ กุซมันต้องระเหเร่ร่อนอย่างเดียวดายในประเทศที่เขาไม่คุ้นเคย ทางครอบครัวในฝั่งสหรัฐฯ พยายามใช้มาตรการทางกฎหมายด้วยการฟ้องร้องสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่สร้างความผิดพลาดอย่างร้ายแรงเนรเทศพลเมืองของตนเองโดยไม่มีอำนาจ ทางครอบครัวจึงเรียกร้องให้สำนักงานฯ รีบติดตามกุซมันกลับบ้านโดยด่วน
แต่เบื้องต้นทางสำนักงานฯ ยืนยันว่า พวกเขามีกระบวนการตรวจสอบที่รัดกุม และต้องมีการพิสูจน์จนแน่ใจในหลักฐานแล้วว่า บุคคลนั้น ๆ เป็นบุคคลต่างด้าวจริง ๆ พวกเขาจึงจะเนรเทศบุคคลนั้น ๆ และในกรณีของกุซมันพวกเขาก็ได้ทำตามขั้นตอนโดยมิได้ขาดตกบกพร่องแต่ประการใด
เมื่อทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองปฏิเสธที่จะแสดงความรับผิดชอบใด ๆ ครอบครัวของกุซมันจึงต้องดั้นด้นเดินทางไปยังติฮัวนา (Tijuana) ในเม็กซิโกเพื่อตามหากุซมันเอง มาเรีย คาร์บาฮาล (Maria Carbahal) แม่ของกุซมันต้องออกจากงานใช้เงินเก็บที่มีเกือบหมดในช่วงระยะเวลาเกือบสามเดือนที่ออกตามหาลูกชาย
ฝ่ายกุซมันที่ถูกเนรเทศก็พยายามหาทางเดินเท้ากลับบ้าน เขาใช้ชีวิตด้วยตัวคนเดียว หากินอาหารจากกองขยะ หลีกเลี่ยงการพบเจอผู้คน ก่อนถูกจับที่ชายแดนสหรัฐฯ เมื่อเวลาผ่านไป 89 วัน เดินเท้ามาเป็นระยะทางเกือบ 100 ไมล์จากติฮัวนามาถึงพรมแดนฝั่งคาเล็กซิโกของสหรัฐฯ และถูกส่งตัวมายังศาลในลอสแอนเจลิส
ศาลเมื่อพิจารณาความแล้วจึงสั่งให้ปล่อยตัวกุซมัน ที่ตอนนั้นนอกจากจะมีอาการขาดสารอาหารแล้วยังมีพฤติกรรมส่อให้เห็นว่าเขาเริ่มแสดงอาการทางจิตประสาท หลังต้องเผชิญกับชะตากรรมอันโหดร้ายอันเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ
“เขาไม่ได้คืนลูกของฉันกลับมาโดยสมบูรณ์” มาเรีย คาร์บาฮาล ผู้เป็นแม่กล่าว (The LA Times) “ฉันได้ลูกกลับมาแต่ไม่สมบูรณ์ เขาไม่เป็นปกติแล้ว”
ทางครอบครัววิจารณ์ว่าความผิดพลาดครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในการตรวจสอบหลักฐานของเจ้าที่ โดยทางครอบครัวยืนยันว่ากุซมันเกิดและเติบโตในสหรัฐฯ ขัดกับคำให้การที่กุซมันแจ้งกับทางเจ้าหน้าที่เรือนจำ ซึ่งทำให้เขาถูกส่งตัวไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตั้งแต่ต้น
ขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองรายหนึ่งให้ความเห็นว่า ปกติถ้ามีบุคคลอ้างว่าตนเป็นบุคคลต่างด้าว เจ้าหน้าที่ก็จะไม่ตรวจสอบแล้วว่าบุคคลนั้นเป็นชาวอเมริกันหรือไม่ (The New York Times)
ครอบครัวกุซมันจึงฟ้องร้องดำเนินคดีกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งหลังการต่อสู้สืบความกันมาเป็นเวลาสามปี ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก็ขอยอมความ จ่ายเงินชดเชยให้กับครอบครัวของกุซมันเป็นจำนวน 350,000 ดอลลาร์ แลกกับความทุกข์ทรมานของกุซมัน และความเดือดร้อนของครอบครัวอันเป็นผลมาจากความหละหลวมดังกล่าว (Court Listener)