"กูลิโกะแมน" คือใคร ทำไมวิ่งแค่ 300 เมตร ถึงเข้าเส้นชัย
อย่าบอกว่า คุณไม่เคยกางมือชูแขนเลียนแบบป้ายไฟโฆษณากูลิโกะ ยามมาเยือนย่านโดทงโบริ (Dotonbori) ย่านช้อปปิ้ง กินดื่มยอดฮิตของโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
ชายชุดขาวในป้ายที่กำลังชูมือขณะกำลังเข้าเส้นชัยนี้มีชื่อว่า "กูลิโกะแมน" (The Glico Running Man) ที่ตอนนี้มีอายุกว่า 80 ปีแล้ว
ที่มาของคุณกูลิโกะแมน เริ่มต้นในปี 1935 จุดกำเนิดของกูลิโกะแมนรุ่นที่ 1 กางแขนโดดเด่นอยู่บนปลายแท่งสูง 33 เมตร รูปทรงเหมือนขนม บริเวณสะพานอิบิซึบาชิ ริมแม่น้ำโดทงโบริ กูลิโกะแมนรุ่นแรกถูกปลดประจำการลงในปี 1943 ซึ่งความเด่นนี้ไม่ได้ไปทำให้ใครหมั่นไส้ นอกจากอาจล่อเป้าทิ้งระเบิดได้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ต่อมาในปี 1955 หลังไฟสงครามมอดลง ป้ายกูลิโกะแมน รุ่นที่ 2 ได้ถูกติดตั้ง โดยมีขนาดเล็กลงมากตามภาวะเศรษฐกิจ จนในปี 1963 กูลิโกะแมนถูกอัพเกรดร่างที่สาม เป็นไฟนีออนสว่างสวยงามทันสมัย แล้วเปลี่ยนเป็นป้ายไฟขนาดใหญ่ในปี 1972 ที่ทำให้กูลิโกะแมนเป็นที่รู้จักมากที่สุด โดยนอกจากกูลิโกะแมนที่ชูมือวิ่งเข้าเส้นชัย มีพระอาทิตย์สีแดงเป็นฉากหลังแล้ว โอซาก้ายังมีสถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อเสียงอีก 4 แห่งได้แก่ ปราสาทโอซาก้า, พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำไคยูคัง, โอซาก้าโดม และหอคอยซึเทนคาคุ
ปัจจุบันป้ายไฟกูลิโกะเป็นรุ่นที่ 6 เปิดตัวไปเมื่อ 23 ตุลาคม 2014 มีขนาด 10.4 เมตร สูง 20 เมตร ทั้งป้ายเป็นหลอดแอลอีดี กว่า 140,000 ดวง เพื่อประหยัดพลังงาน และสดุดีให้นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นผู้คิดค้นไฟแอลอีดีสีน้ำเงิน จนได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์
ป้ายกูลิโกะแมนในตอนกลางวันจะปิดไฟ เพื่อลดการใช้ไฟ และมาสว่างไสวสุด ๆ ในช่วงกลางคืน ใครที่อยากไปชมแนะนำให้ไปหลังพระอาทิตย์ตกดินจะเห็นแสงสีสวยงามอลังการน่าอัศจรรย์ใจ
แต่รู้หรือไม่ว่า ระยะทางที่กูลิโกะแมนวิ่งเข้าเส้นชัยนั้นสั้นเพียงแค่ 300 เมตรเท่านั้น !!
ที่เป็นเช่นนั้นมาจากผลิตภัณฑ์แรกที่ “ริอิจิ เอซากิ” ผู้ก่อตั้งบริษัทกูลิโกะคิดค้นคือ ขนมเสริมสุขภาพ “Glico Caramel” สารสกัดไกลโคเจนในน้ำต้มหอยนางรม ที่เขาคิดค้นเพื่อช่วยให้ลูกชายที่ป่วยเป็นไข้รากสาดใหญ่หายป่วย ซึ่งในขนมหนึ่งเม็ดช่วยให้คนสูง 1.65 เมตร หนัก 55 กิโลกรัม วิ่งได้ไกล 300 เมตรพอดี
ส่วนทำไมต้องเป็น ชายชุดขาววิ่งเข้าเส้นชัยนั้น เพราะหลังจากลูกชายของเอซากิหายป่วยจากการได้กินผลิตภัณฑ์อาหารเสริมไกลโคเจน เขาเกิดความคิดอย่างแน่วแน่ที่จะเผยแพร่เรื่องนี้ไปให้ผู้คนในโลกได้รู้ จึงได้ก่อตั้งบริษัท เอซากิ กูลิโกะ (Ezaki Glico) ที่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะพัฒนาสมรรถภาพร่างกายผู้คนด้วยผลิตภัณฑ์อาหาร
ใช่แล้ว ที่มาของชื่อ กูลิโกะ (Glico) หลายคนอาจจะพอเดาได้ว่ามาจาก "ไกลโคเจน" สารให้พลังงานหลักในผลิตภัณฑ์แรกของกูลิโกะนั่นเอง
แถมอีกนิด...ลองทายกันว่าวันไหนที่กูลิโกะขายดีที่สุด
ขออนุญาตเฉลยแล้วกัน วันที่ขนมกูลิโกะขายดีที่สุดนั้นไม่ใช่วันก่อตั้งบริษัท แต่เป็นวันที่ 11 พฤศจิกายน ของทุกปี โดยมีขึ้นครั้งแรกในปี 1999 หรือ ปีเฮเซที่ 11 วันนี้เขียนเป็น 11/11/11 คล้ายขนมป๊อกกี้ ขนมขายดีที่สุดอย่างหนึ่งของกูลิโกะเรียงกัน จนเรียกวันนี้ว่าวันป๊อกกี้ (Pocky Day) วันนี้แม้จะเป็นวันทางการตลาด แต่ก็เป็นวันที่เปิดโอกาสให้แลกของขวัญระหว่างกัน หรือสารภาพรักกันไม่ต่างจากวันวาเลนไทน์เลยทีเดียว
จากจุดเริ่มที่ความรักของพ่อกับลูกชาย แล้วแบ่งปันความรัก ความหวังดีด้านสุขภาพผ่านผลิตภัณฑ์อาหารให้กับคนทั่วไป กลายเป็นการส่งความรัก ความสุขให้แก่กัน ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ชายนักวิ่งชุดขาวที่ชื่อว่า “กูลิโกะแมน”
ที่มา
https://www.glico.com/th/about/history/
http://jpninfo.com/82208