ฮารัลด์ อีเดลส์แตม ทูต "นักแทรกแซง" ช่วยประชาชนจากรัฐเผด็จการ

ฮารัลด์ อีเดลส์แตม ทูต "นักแทรกแซง" ช่วยประชาชนจากรัฐเผด็จการ
สมมติว่า คุณมีบ้านอยู่ในชุมชนใหญ่ที่ประกอบด้วยผู้คนหลากหลาย วันหนึ่งคุณเกิดไปเห็นความ "อยุติธรรม" เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา แต่เหตุเกิดอยู่นอกรั้วบ้าน คุณจะยืนมองเฉย ๆ คิดว่า "ธุระไม่ใช่" ไม่ยอมยื่นมือช่วยเหลือให้เปลืองตัวรึเปล่า? หลายคนอาจทำเช่นนั้น แต่สำหรับคนที่เติบโตมาในสังคมที่ปกครองด้วยหลักนิติธรรม "ความยุติธรรม" ย่อมได้รับการเชิดชูว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ ไม่ว่าบุคคลคนนั้นจะอาศัยอยู่บนพื้นแผ่นดินใด สิทธิที่จะได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมจึงได้ชื่อว่าเป็น "สิทธิมนุษยชน" ประการหนึ่ง ไม่ใช่สิทธิพิเศษสำหรับชนชั้น หรือเชื้อชาติใด ต่อหน้ากฎหมายทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน บุคคลผู้นั้นก็คงยากจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ยอมให้เพื่อนมนุษย์ถูกกดขี่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ เหมือนเช่น ฮารัลด์ อีเดลส์แตม (Harald Edelstam) นักการทูตชาวสวีเดนที่พร้อมจะยื่นมือ "แทรกแซง" ช่วยเหลือประชาชนที่ถูกกดขี่ในรัฐเผด็จการ โดยให้เหตุผลว่า "พูดง่าย ๆ ผมแค่ทนไม่ได้กับความอยุติธรรม" (Edelstam Institute) อีเดลส์แตม เกิดที่สต็อกโฮล์ม เมื่อ 17 มีนาคม 1913 เรียนจบด้านกฎหมายเมื่อปี 1939 แล้วก็เริ่มทำงานกับกระทรวงการต่างประเทศของสวีเดนทันที โดยรับภารกิจแรกเป็นนายเวรในกรุงโรม ก่อนย้ายไปยังเบอร์ลิน และออสโลตามลำดับ ขณะประจำการอยู่ในออสโลระหว่างปี 1942 ถึง 1944 นอร์เวย์ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของนาซี เขาจึงให้ความช่วยเหลือบรรดาผู้ต่อต้านนาซีและชาวยิวให้หลบหนีไปยังสวีเดน ขณะเดียวกันเขายังช่วยจัดหาโรงพิมพ์ใต้ดินเพื่อช่วยพิมพ์ข่าวสารตอบโต้โฆษณาชวนเชื่อของนาซีในนอร์เวย์ ผลของการกระทำของเขา คือการถูกส่งตัวกลับมานั่งตรวจแก้เอกสารค่าใช้จ่ายของกระทรวงการต่างประเทศแทนการทำหน้าที่ทูต จนกระทั่งกระทรวงการต่างประเทศได้รัฐมนตรีคนใหม่ เขาจึงถูกเรียกกลับไปใช้งานอีกครั้ง ได้ย้ายไปทำงานในหลายที่ เจริญก้าวหน้าในวิชาชีพตามลำดับ ก่อนได้แสดงบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนที่โดดเด่นอีกครั้งที่ชิลี ในปี 1972 อีเดลส์แตม ได้มาประจำการที่ซานเตียโกในฐานะอัครราชทูตประจำชิลีท่ามกลางความตึงเครียดของภาวะสงครามเย็น ขณะที่สวีเดนยังคงวางตัวเป็นกลางเรื่อยมา ชิลีก่อนหน้านั้นถือเป็นรัฐต้นแบบประชาธิปไตยประจำภูมิภาค จนกระทั่ง ซัลวาดอร์ อาเยนเด (Salvador Allende) คุณหมอมาร์กซิสต์ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสังคมนิยมได้ขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดีตามครรลองประชาธิปไตย ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นกังวลอย่างมากที่ผู้นิยมลัทธิมาร์กซ์สามารถ “เจาะไข่แดง” ก้าวขึ้นมาครองอำนาจในภาคพื้นทวีปอเมริกาใต้ได้สำเร็จเป็นแห่งแรก สหรัฐฯ จึงจัดการคว่ำบาตรชิลี ก่อนสนับสนุน ออกุสโต ปิโนเชต์ ผู้นำกองทัพชิลีให้ใช้กำลังยึดอำนาจจากประธานาธิบดีอาเยนเดซึ่งเสียชีวิตคาทำเนียบระหว่างการรัฐประหารคราวนั้น (ตอนแรกเชื่อว่าเขาน่าจะถูกลอบสังหาร ก่อนมีการสรุปในภายหลังว่าเป็นการฆ่าตัวตาย) เมื่อรัฐบาลทหารก้าวขึ้นมามีอำนาจ พวกเขาก็จัดการตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับคิวบารัฐคอมมิวนิสต์ พร้อมกับกวาดล้างบรรดาผู้สนับสนุนรัฐบาลเก่า ลามไปจนถึงผู้ลี้ภัยฝ่ายซ้ายชาวต่างชาติที่หนีภัยเผด็จการในประเทศมา โดยอ้างว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้เป็นพวกที่คอยให้การสนับสนุนฝ่ายซ้ายในประเทศสร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง ฝ่ายทูตอีเดลส์แตม เมื่อเห็นเผด็จการทหารปิโนเชต์จัดการกับศัตรูทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรมเช่นนี้ก็ทนอยู่เฉยไม่ได้ ขณะที่กองทัพชิลีบุกล้อมสถานทูตคิวบา เขาจึงรีบรุดไปยังสถานทูตคิวบาหวังใช้สถานะทางการทูตยับยั้งมิให้กองทัพชิลีใช้ความรุนแรง กองทัพชิลียอมหยุดยิงเมื่ออีเดลส์แตมเดินทางมาถึงสถานทูตคิวบา ทูตสวีเดนยังจัดการ “ชักธงสวีเดน” ขึ้นเหนือสถานทูตคิวบาหลังได้รับการร้องขอจากคิวบาให้ช่วยดูแลและคุ้มครองคณะทูต อีเดลส์แตมจึงได้เจรจาต่อรองกับรัฐบาลทหารชิลีเพื่ออพยพเจ้าหน้าที่ทูตคิวบา 147 คนออกจากประเทศได้สำเร็จ “บทบาทของเรา หน้าที่ของสถานทูตสวีเดนคือหน้าที่ด้านมนุษยธรรม เราพยายามช่วยชีวิตของผู้คนที่ตกอยู่ในอันตราย” อีเดลส์แตมกล่าว (The New York Times - Sept. 29, 1973) “เรารู้ว่ามีการขึ้นบัญชีประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลเก่า ซึ่งรัฐบาลทหารเห็นว่าเป็นอาชญากร และอาจถูกประหารชีวิตได้” นอกจากบรรดาเจ้าหน้าที่สถานทูตคิวบาแล้ว อีเดลส์แตมยังให้ความคุ้มครองกับบรรดาฝ่ายซ้ายทั้งชาวชิลีและชาวต่างชาติที่ติดค้างในสถานทูตคิวบาอีกหลายสิบราย ซึ่งรัฐบาลทหารของชิลีต่างเห็นเป็นศัตรูเหมือนกันหมด การกระทำของเขาจึงกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ของชิลีบางส่วนคุ้มคลั่ง เมื่อคราวที่เขาเจรจาส่งตัวหญิงชาวอุรุกวัยที่ป่วยเป็นมะเร็งในความคุ้มครอง (เธอได้มาขอลี้ภัยกับคิวบาไว้ก่อนหน้าชิลีจะตัดสัมพันธ์) ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชิลีจู่ ๆ ก็บุกจะมาจับตัวผู้ลี้ภัยรายนี้ถึงโรงพยาบาล อีเดลส์แตมและคณะจึงเข้าขัดขวางไม่ให้เธอถูกอุ้ม เขาและคณะจึงถูกเจ้าหน้าที่ชิลีทำร้ายร่างกาย ทางสวีเดนทราบเรื่องจึงทำหนังสือประท้วงรัฐบาลทหารของชิลีว่าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้แทนทางการทูต ฝ่ายชิลีได้ยินแล้วก็หาได้สนใจไม่ อ้างว่าการกระทำของอีเดลส์แตมถือว่าเกิดขอบเขตหน้าที่ของนักการทูตไปมาก ว่าแล้วก็สั่งตะเพิดอีเดลส์แตมในวันที่ 4 ธันวาคมปีเดียวกัน หรือราวสามเดือนหลังการรัฐประหาร พร้อมประกาศให้อีเดลส์แตมเป็น “บุคคลไม่พึงปรารถนา” (persona non grata) แต่สำหรับชาวอเมริกาใต้จำนวนมาก อีเดลส์แตมคือวีรบุรุษที่ยอมเสี่ยงชีวิตช่วยเหลือผู้ตกอยู่ในอันตรายอย่างแน่วแน่ ด้วยถือว่า “มนุษยธรรม” สำคัญยิ่งกว่า “มารยาท” (ข้ออ้างประจำของผู้ดีจอมปลอม?)