โชคชัย บูลกุล คาวบอยเมืองไทย ตำนาน “ฟาร์มโชคชัย” กับชีวิตที่โชคชะตาไม่เคยเข้าข้าง
หนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดฮิตบนถนนมิตรภาพ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะเที่ยวแวะกิน ต้องนับรวม “ฟาร์มโชคชัย” เข้าไปด้วย แต่กว่าจะสร้างฟาร์มให้ใหญ่โตขนาดนี้ได้ โชคชัย บูลกุล ผู้ก่อตั้ง ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมาไม่น้อย เรียกว่าถ้าเป็นหนังก็มีครบรสทั้งดรามา บู๊ แอ็กชัน เลยทีเดียว
ชีวิตลูกเจ้าสัว
โชคชัย เป็นลูกคนที่ 7 ในหมู่พี่น้อง 8 คน เป็นบุตรชายของ มา และ บุญครอง บูลกุล เจ้าของอาณาจักรโรงสีและค้าข้าวระดับเจ้าสัว (และเจ้าของห้างสรรพสินค้ามาบุญครองในเวลาต่อมา ภายหลังมีการเปลี่ยนเจ้าของและห้างมาบุญครองก็เปลี่ยนชื่อเป็น เอ็มบีเค) แต่โชคไม่เข้าข้างเขาตั้งแต่เกิด เพราะโชคชัยเป็นลูกคนเดียวที่เกิดในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ไม่เคยมีพี่เลี้ยงและของเล่นอย่างพี่น้องคนอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของมาและบุญครองดีขึ้นตามลำดับหลังสงครามผ่านพ้น ทำให้โชคชัยได้ไปเรียนหนังสือที่ฮ่องกงตั้งแต่ 9 ขวบ ทว่าเด็กน้อยลูกเจ้าสัวไม่ได้ประทับใจกับธุรกิจของครอบครัวเลย แต่กลับมีความฝันที่จะเป็น “คาวบอย” ขี่ม้าแต่งตัวด้วยกางเกงยีนส์ เข็มขัดหัวโต และหมวกปีกกว้างอย่างในภาพยนตร์
แม้จะเป็นฝันวัยเด็ก แต่โชคชัยมุ่งมั่นกับความฝันกว่าที่ใครจะคาดคิด เมื่ออายุ 15 ปี คุณแม่บุญครองส่งเขาไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา จากนั้นโชคชัยขีดเส้นทางเดินให้ตัวเองด้วยการเลือกเรียนด้านสัตวบาลที่ Cornell University เพื่อกลับมาทำความฝันให้เป็นจริง
“หมอโซค” สุดห้าวเจ้าของฟาร์ม
โชคชัยกลับเมืองไทยในปี 2500 และได้รถสปอร์ตออสตินอีลี่จากแม่เป็นของรับขวัญ แต่แทนที่เขาจะนำรถคันนั้นไปขับอวดสาวในกรุง หนุ่มลูกเศรษฐีรายนี้เลือกขับรถสปอร์ตไปตามถนนมิตรภาพจนสุดทางที่ อ.ปากช่อง
“ตอนนั้นเดือนเมษาแต่ว่าอากาศเย็นจนน้ำค้างลง” คือความประทับใจแรกของโชคชัยต่อที่ดินแถบถิ่นป่าดงพญาไฟ ซึ่งยุคนั้นยังกันดาร มีทั้ง “เสือ” สัตว์สี่ขา และ “เสือ” โจรที่ออกปล้นสะดมชาวบ้าน
โชคชัยเพิ่งกลับจากเมืองนอกและยังไม่มีทุนรอน จึงเลือกขอทุนตั้งตัวจากพ่อแม่มา 1 แสนบาทเพื่อจะซื้อที่ดินทำฟาร์มในฝัน มาและบุญครองสุดจะห้ามความตั้งใจของลูกชายจึงให้ทุนกับโชคชัยไป แต่ให้เพียง 2 หมื่นบาทเท่านั้น
ข้างหนุ่มน้อยผู้ฝันอยากเป็นคาวบอยและเกเรอยู่พอตัว เมื่อทุนไม่เพียงพอจึงเลือกหาทุนเพิ่ม เขาสมอ้างเป็นลูกเจ้าสัวยึดข้าวสารจากโรงสีไฟที่โคราชของครอบครัวมาจำหน่าย เพื่อนำเงินไปซื้อที่ดิน 250 ไร่ แถมยังใจเด็ดขายรถสปอร์ตออสตินอีลี่ เพื่อแปลงเป็นแทร็กเตอร์คันแรกของฟาร์มโชคชัย
โชคชัยได้เป็นคาวบอยสมใจอยาก และเป็น “หมอโซค” ที่ชาวบ้านเรียกขานเพราะฝีมือด้านการปศุสัตว์ เขาเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงโคเนื้อ 8 ตัว และมีคนงาน 7 คน ก่อนขยายกิจการทำแปลงผักกะหล่ำ ปลูกข้าวโพด และเลี้ยงไก่ไข่ พร้อมกับลับฝีมือยิงปืนระบือไกล สามารถยิงปืนผ่าหัวตะปู 30 ตัวในระยะ 30 เมตรแบบไม่มีพลาด
เวลาผ่านไป 7 ปี ความจริงขยับมารุกรานความฝันของโชคชัย เมื่อฟาร์มทำรายได้เพียง 6 หมื่นบาทต่อปี ขณะที่หนี้สินพอกพูนไปถึง 9 แสนบาท เขารู้แน่ว่าฟาร์มกำลังจะไปไม่รอดจึงต้องยอมประกอบอาชีพอื่นเพื่อเลี้ยงฟาร์มให้อยู่ต่อได้
รับเหมาสนามบินทหาร G.I.
คำชักชวนของเพื่อนทำให้โชคชัยมีโอกาสนำรถแทร็กเตอร์ รถตัก และถังผสมปูนจากฟาร์มไปรับเหมาก่อสร้างสนามบินให้กองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่ จ.อุดรธานี เพียงแค่โครงการแรกเขาก็ได้เงินมากว่าแสนบาท และได้ต่อยอดไปสู่การรับเหมาก่อสร้างให้อีกหลายสนามบินของฐานทัพสหรัฐฯ ท่ามกลางไฟแห่งสงครามเวียดนาม
“ตอนอายุ 29 ปี ผมได้เงินจากก่อสร้างมากกว่าทำฟาร์มเป็นร้อย ๆ เท่า มีคนงาน 4,000 คน มีรถเป็นพันกว่าคัน มีเงินสะสมเป็นร้อยล้าน” นักธุรกิจคาวบอยเล่าย้อนถึงชีวิตอาชีพรับเหมา ขณะนั้นเขากำลังก่อสร้างตึกโชคชัย ตึก 25 ชั้นอันโอ่อ่า แต่โชคก็ไม่เข้าข้างเขา (อีกแล้ว) เมื่อสัญญาจ้างก่อสร้างสนามบิน 8 แห่งของสหรัฐฯ ถูกยกเลิก เพราะสหรัฐฯ ถอยทัพจากสงครามเวียดนาม
จากเศรษฐี โชคชัยกลายเป็นหนี้สิน 50 ล้านบาทภายในวันเดียว ทำให้เขาต้องตัดขายตึกโชคชัยแห่งนั้นไปเพื่อปลดหนี้
อย่างไรก็ตาม เส้นทางฝันของคาวบอยยังไม่จางหาย ตลอดระยะเวลาที่โชคชัยทำงานก่อสร้าง เขายังคงนำเงินมาลงทุนกับฟาร์มอย่างต่อเนื่อง ทั้งขยายที่ดินและฝูงโคเนื้อ เมื่อผิดพลาดกับอาชีพรับเหมาเขาก็เพียงแค่บ่ายหน้ากลับสู่ อ.ปากช่อง และมุ่งมั่นต่อไป
จากโคเนื้อสู่โคนม
โชคชัยขยายฝูงโคเนื้อจนมีจำนวนวัวมากที่สุดถึง 12,000 ตัว กิจการเหมือนจะไปได้ดีแต่ก็ต้องสะดุด เมื่อมีปัญหาเรื่องโควตาส่งออกเนื้อวัวในปี 2521 ทำให้ฟาร์มโชคชัยถูกจำกัดโควตาส่งออกเหลือแค่ราว 10% ของจำนวนวัวทั้งหมด
เมื่อเป็นเช่นนี้โชคชัยจึงไม่มีทางเลือกและต้องเปลี่ยนมาทำฟาร์มโคนมควบคู่ไปด้วย เป็นที่มาของการสั่งสมองค์ความรู้ด้านการ breeding สายพันธุ์โคนมให้เหมาะกับสภาพอากาศไทย และผลิตน้ำนมให้ได้คุณภาพของฟาร์ม
ฟาร์มโชคชัยพัฒนาขึ้นจนมีแบรนด์นมของตัวเองในปี 2528 เป็นการก้าวเข้าสู่ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปเป็นครั้งแรก แต่โชคชะตาก็เล่นตลกอีกครั้งจากนโยบายรัฐที่เปิดให้มีการนำเข้านมปลอดภาษีจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 2537 ด้วยเทคโนโลยีและความเก๋าเรื่องการตลาดมากกว่าของนมต่างประเทศ ส่งให้ฟาร์มติดบัญชีตัวแดงอีกครั้งในชีวิตธุรกิจอันล้มลุกคลุกคลานของโชคชัย
คาวบอยแห่งเมืองไทยในวัยใกล้เกษียณจึงเลือกส่งต่องานด้านธุรกิจและบัญชีหนี้ 500 ล้านบาทให้ โชค บูลกุล ลูกชายคนโตที่เรียนจบจาก University of Vermont สหรัฐฯ พอดี โชคผู้ตระหนักดีถึงความยากลำบากของพ่อในการปลุกปั้นฟาร์มแห่งนี้ จึงตั้งใจมั่นว่าจะต้องเก็บรักษาฟาร์มไว้ให้ได้ แม้ต้องตัดขายธุรกิจแบรนด์นมฟาร์มโชคชัยและช่องทางจำหน่ายทั้งหมดไปเพื่อปลดหนี้
มาถึงยุคนี้ โชคชัยยังแข็งแรงและดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย ซึ่ง โชค และ ชัย บูลกุล ลูก ๆ ของเขาช่วยกันขยายธุรกิจจนมีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ร้านอาหาร รวมถึงแบรนด์ผลิตภัณฑ์นมยี่ห้อ “อืมม...มิลค์” ทำรายได้ปี 2560 ไปไม่ต่ำกว่า 750 ล้านบาท
แม้จะเป็นรุ่น 2 ที่สร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หากไม่มี โชคชัย บูลกุล ตำนานคาวบอยผู้ท้าทายโชคชะตาเข้าไปบุกเบิก เราอาจไม่ได้เที่ยวเล่นในฟาร์มโชคชัยอย่างทุกวันนี้
ที่มา
รายการเจาะใจ สัมภาษณ์ โชคชัย บูลกุล ออกอากาศเมื่อปี 2553
หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 8 เมษายน 2560
http://longtunman.com/8162
https://www.brandbuffet.in.th/2018/07/choak-bulakul-farm-chokchai-success-story/
เรื่อง: Synthia Wong