เฮียง ธ.เชียงทอง นวัตกรยุครัชกาลที่ 6 ผู้สร้างตำนาน “น้ำอบนางลอย”

เฮียง ธ.เชียงทอง นวัตกรยุครัชกาลที่ 6 ผู้สร้างตำนาน “น้ำอบนางลอย”
เราอาจคุ้นกลิ่นน้ำอบหอม ๆ กันมากเป็นพิเศษในเทศกาลสงกรานต์ แต่เชื่อไหมว่า น้ำอบในขวดที่ดูโบร่ำโบราณนั้น ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมความงามของสาว ๆ ในยุคร้อยกว่าปีก่อน จากฝีมือและไอเดียของ เฮียง ธ.เชียงทอง หรือที่คุ้นกันในชื่อเรียกขานว่า “คุณย่าเฮียง” ที่ทำให้บังเกิดเป็น  "น้ำอบนางลอย" น้ำอบยี่ห้อแรกของไทย ย้อนไปช่วงต้นยุครัชกาลที่ 6 พ.ศ.2458 เฮียง ธ.เชียงทอง สาวชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีพื้นเพในแถบสัมพันธวงศ์ มีเพื่อนรักเป็นชาววังผู้นำเคล็ดลับการทำน้ำอบแบบในวังมาสอนให้ ในสมัยนั้น น้ำอบไทยเป็นน้ำหอมที่สาวชาวสยามใช้กันทั่วไป ทำกันแบบ “โฮมเมด” ไม่ได้วางจำหน่าย เพราะน้ำอบไทยไม่ได้ติดทนนาน กลิ่นจะจางหายไปในวันเดียว ดังนั้น สูตรการทำน้ำอบก็จะเป็นของแต่ละบ้านที่จะเลือกใช้ดอกไม้หรือเครื่องหอมใดมาผสมกลิ่นเพื่ออบร่ำน้ำให้หอมถูกใจ อย่างไรก็ตาม สมัยนั้นคุณย่าเฮียงสังเกตเห็นสินค้าจากต่างประเทศที่มีเข้ามาจำหน่าย คือ "น้ำหอมฝรั่ง" ซึ่งวิธีผลิตเป็นคนละแบบกับของไทยเพราะใช้หัวน้ำหอม ทำให้กลิ่นติดทนนาน คุณย่าเฮียงจึงกลับมาคิดว่า ทำอย่างไรถึงจะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีทั้งอัตลักษณ์ความหอมแบบไทยและกลิ่นติดนานเหมือนกับน้ำหอมฝรั่ง คุณย่าเฮียงใช้สูตรน้ำอบที่ได้จากเพื่อนชาววังมาปรับปรุงใหม่ ถ้าเรียกศัพท์สมัยนี้ คุณย่าเฮียงก็คงเป็น "นวัตกร" ที่ชอบคิดค้นสร้างสรรค์พัฒนาสูตรต่าง ๆ ให้สินค้านั้นใช้งานได้ดีขึ้น โดยสูตรที่คุณย่าเฮียงคิดค้นยังคงตกทอดมาถึงรุ่นเหลนในปัจจุบัน เริ่มจากการทำน้ำอบโดยต้มน้ำกับเปลือกชะลูดเพื่อให้น้ำเป็นสีเหลืองอำพันอันเป็นเอกลักษณ์ แล้วจึงอบน้ำกับน้ำตาลทรายแดง ขี้ผึ้ง กำยาน ผงจันทน์เทศ และผิวมะกรูด อบน้ำ 9 รอบก่อนจะพักไว้ 3 วันให้ตกตะกอน น้ำที่ต้องอบร่ำถึง 9 รอบนั้นยังไม่พอที่จะเป็นสินค้าใหม่ เพราะยังไม่ได้กลิ่นติดทนอย่างที่ต้องการ สูตรลับที่คุณย่าเฮียงได้ต่อเติมเข้าไปคือการผลิตหัวน้ำหอมขึ้นเอง โดยใช้วัตถุดิบที่ให้กลิ่นแบบไทย (สูตรนี้เป็นความลับทางธุรกิจ) แต่เพราะหัวน้ำหอมมีลักษณะเป็นน้ำมัน หากใส่ลงไปในน้ำอบทันทีจะเกิดการแยกชั้น คุณย่าเฮียงจึงคิดวิธีแก้ปัญหาโดยนำหัวน้ำหอมผสมกับแป้งร่ำและพิมเสนเพื่อให้เป็นตัวนำในการผสมกับน้ำ เป็นที่มาที่ทำให้น้ำอบมีตะกอนสีขาวขุ่นข้างใต้ และต้องเขย่าขวดก่อนใช้งาน แถมยังเย็นชื่นใจจากพิมเสนอีกด้วย เมื่อคุณย่าเฮียงได้น้ำอบไทยแบบใหม่มาแล้วก็นำใส่โอ่งไปขายที่ "ตลาดนางลอย" ตั้งอยู่ข้างวัดบพิตรพิมุข เขตจักรวรรดิ กรุงเทพฯ สมัยนั้นยังไม่มีการตั้งชื่อยี่ห้อหรือภาชนะบรรจุ ลูกค้าจะนำผอบหรือภาชนะของตัวเองมาใส่น้ำอบที่ตวงขายกลับบ้าน ส่วนชื่อร้านนั้นก็เรียกขานกันปากต่อปากว่า “น้ำอบไทย ของแม่เฮียง ที่ตลาดนางลอย” ถือเป็นที่โจษจันกันในหมู่สาว ๆ เพราะไม่เคยมีใครผลิตสินค้าลักษณะนี้มาก่อน สินค้าจึงขายดี และเมื่อเรียกกันมากเข้า ชื่อจึงหดสั้นลงเหลือเพียง “น้ำอบนางลอย” เมื่อสินค้าขายดีขึ้นเรื่อย ๆ คุณย่าเฮียงจึงเริ่มพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากตวงขายมาเป็นใส่ขวดติดฉลาก โดยได้คัดเลือกรูปนางรำที่จะใช้เป็นโลโก้ สุดท้ายตัดสินใจใช้รูปนางฟ้าลอยอยู่เหนือก้อนเมฆ เพื่อให้พ้องกับคำว่า “นางลอย” พร้อมมีกรอบสีขาว น้ำเงิน แดง อยู่ล้อมรอบ เพื่อสื่อถึงธงชาติไทย ซึ่งโลโก้ทั้งหมดยังคงปรากฏอยู่บนขวดน้ำอบนางลอยที่เราคุ้นเคยกันดี เพราะตลอด 104 ปีที่ผ่านมา ลูกหลานผู้สืบทอดไม่เคยปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ตรงนี้ไปเลย หลังจากนั้น คุณย่าเฮียงก็เริ่มเพิ่มสินค้าอื่น ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็น แป้งหินร่ำ ดินสอพอง และเทียนอบ พร้อมกับขยับขยายธุรกิจไปเปิดร้านถาวรขึ้นที่ถนนมหาไชย เขตสำราญราษฎร์ ตรงข้ามวัดเทพธิดาราม การผลิตทั้งหมดนั้นเป็นธุรกิจในครัวเรือน เพราะคุณย่าเฮียงมีลูก ๆ ทั้งหมด 7 คนที่เข้ามาช่วยกันดูแลกิจการ ซึ่ง อาคม ธ.เชียงทอง ลูกชายคนโต ได้รับการวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดน้ำอบนางลอยต่อไป เมื่อทายาทพร้อมกับลูกสะใภ้คือ ฟองจันทร์ ธ.เชียงทอง เข้ามารับดูแลกิจการได้เรียบร้อยดี คุณย่าเฮียงจึงเลือกถือเพศสมณะ บวชชีพราหมณ์ นุ่งขาวห่มขาวจนวาระสุดท้ายของชีวิต ตำนานน้ำอบนางลอยยังคงมีชีวิตสืบมาในครอบครัว รุ่นที่ 3 ที่รับดูแลกิจการคือ อุดม ธ.เชียงทอง และปัจจุบันอยู่ในมือผู้บริหารรุ่น 4 ดิษฐพงษ์ ธ.เชียงทอง หาได้ยากที่จะมีธุรกิจครอบครัวไหนสามารถส่งไม้ต่อมาได้ถึงรุ่นที่ 4 และยังมีกระบวนการผลิตเหมือนในอดีต ไม่ว่าจะเป็นโถเซรามิก เตาฟืน กระด้ง ยังคงใช้แรงงานคนทุกขั้นตอน แม้แต่การกรอกน้ำอบลงขวดและแป้งเปียกติดฉลากด้วยมือ จะมีการปรับบ้างก็เพียงเล็กน้อย เช่น การใช้คอมพิวเตอร์คำนวณและวางแผนสต๊อกสินค้า ส่วนจุดประสงค์การใช้ของลูกค้าก็เปลี่ยนไป จากน้ำหอมสำหรับสาว ๆ ก็กลายเป็นสิ่งที่ใช้ "สรงน้ำพระ" โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ จนช่วงนี้กลายเป็นหน้าขายของน้ำอบนางลอย ถึงขั้นว่ายอดขาย 80% ของทั้งปีจะขายได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน แม้ว่าการใช้งานน้ำอบไทยจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือความหอมเย็นแบบฉบับ คุณย่าเฮียง ธ.เชียงทอง ที่ใครก็ลอกเลียนไม่ได้มากว่าร้อยปี   ที่มา https://nangloy.com/our-story.html https://mgronline.com/smes/detail/9480000047871 รายการพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพโลก สัมภาษณ์ ดิษฐพงศ์ ธ.เชียงทอง ทายาทรุ่น 4 ออกอากาศปี 2559 https://www.youtube.com/watch?v=nV3sqvTNGmY&t=988s https://readthecloud.co/nangloy/ https://marketeeronline.co/archives/16508   ภาพประกอบ:  https://nangloy.com/our-story.html   เรื่อง: Synthia Wong