อุเทน เตชะไพบูลย์ เจ้าสัวเมืองไทย บิดา “ป่อเต็กตึ๊ง”
“ได้ยินเสียงหวอ รถเฮียปอมาแล้ว” ใครสักคนพูดขึ้นทันที เมื่อแว่วเสียงร้องเปิดทางที่ดังลั่นถนน
ถึงจะไม่ชอบที่จะได้ยินก็ตาม แต่ระหว่างที่เรากำลังสนุกสนานกับเทศกาล เดินทางกลับบ้านไปพบหน้าครอบครัว เวลาเดียวกันนี้ตามท้องถนนคือพื้นที่ของการเกิดอุบัติเหตุ บางกรณีจบที่แค่บาดเจ็บ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่ผลลัพธ์คือการสูญเสีย และทุก ๆ ครั้งที่เรื่องไม่ดีเกิดขึ้น เสียงรถของพวกเขาก็ดังขึ้นมา
ใช่! เสียงหวอแบบนี้ มันคือเสียงรถกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ไม่ได้ถูกก่อตั้งจากเฮียที่ชื่อปอ แต่ถูกขับเคลื่อนหลักโดยบุคคลที่ชื่อ อุเทน เตชะไพบูลย์ ซึ่งถือว่าเป็นบิดาของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และจะว่าไปเขาก็เป็นบิดาของรถกู้ภัยเก็บศพทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย
อุเทน คือลูกหลานคนจีน เกิดในตระกูลแต้ ถือกำเนิดในอำเภอเตี้ยเอี้ย มณฑลกวางเจา มีบิดาชื่อนายแต้จือปิง มารดาชื่อนางไอ๋เหีย และก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น "อุเทน" เขาใช้ชื่อเดิมว่า "แต้โหง่วเล้า"
วัยเด็กอุเทนได้รับการศึกษาอย่างดี ทั้งภาษาไทย จีน และอังกฤษ เขาเป็นคนฉลาด ปราดเปรื่อง ขยันหมั่นเพียร ตามฉบับลูกหลานคนจีนที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาอย่างดี
อุเทน เป็นผู้เชี่ยวชาญการเขียนอักษรวิจิตรศิลป์ภาษาจีน ทักษะลายมืออ่อนช้อยแต่ทรงพลัง มีชีวิตชีวา ป้ายชื่อสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย, โรงพยาบาลหัวเฉียว และสมาคมเตชะสัมพันธ์ ล้วนเป็นลายมือของเขาทั้งสิ้น
สมัยหนึ่งอุเทนได้ชื่อว่าเป็นมหาเศรษฐีระดับต้น ๆ ของเมืองไทย เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สุรามหาคุณ ซึ่งได้สัมปทานในการผลิตและจำหน่ายสุราของโรงงานสุราบางยี่ขัน ในชื่อ “แม่โขง” และ “กวางทอง” เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารศรีนคร เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท วังเพชรบูรณ์ ซึ่งก่อสร้างโครงการเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (ปัจจุบัน คือ เซ็นทรัลเวิลด์) เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมธนาคารไทยติดต่อกัน 4 สมัย ได้รับการยกย่องจากวงการเงินการธนาคารทั้งในและต่างประเทศ ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญการเงินการธนาคารในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และนั่นก็เพียงพอที่จะบอกว่า เจ้าสัวคนนี้ช่างประสบความสำเร็จในฐานะนักธุรกิจ
ด้านงานสาธารณกุศล อุเทน เป็นที่จดจำไม่แพ้เรื่องไหน ๆ เขาเป็นหนึ่งในผู้ปฏิรูปคณะเก็บศพไต้ฮงกงขึ้นใหม่ โดยจดทะเบียน (ทุน 2,000 บาท) จัดตั้งเป็นมูลนิธิในนาม "ฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง" ซึ่งเป็นมูลนิธิลำดับที่ 11 ของประเทศไทย
อุเทน ทำให้มูลนิธิซึ่งมีเงินบริจาคแทบไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย กลายมาเป็นองค์กรมูลนิธิที่มีกิจการใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ดำเนินงานสาธารณะสงเคราะห์ทั้งกิจกรรมหลักแรกเริ่มคือ การเก็บศพไร้ญาติ ไปจนถึงบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอัคคีภัย ภัยแล้ง ภัยหนาว หรืออุทกภัย
ผลงานโดดเด่นคือเปลี่ยนสถานภาพจากสถานผดุงครรภ์มาเป็น “โรงพยาบาลหัวเฉียว” ซึ่งเป็นโรงพยาบาลให้การรักษาผู้ป่วยที่ทันสมัย คอยให้การรักษาพยาบาล ช่วยชีวิตคนยากไร้ และผู้ประสบภัยต่าง ๆ โดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ
นอกเหนือจากบริการหลักที่โรงพยาบาลหัวเฉียวแล้ว ยังมีบริการหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชนภายใต้มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ออกตรวจรักษาโรคทั่วไปตามจังหวัดต่าง ๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่นเดียวกับการขยายงานให้ครอบคลุมถึงด้านการศึกษาและพัฒนาคน จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งกลายมาเป็นมหาวิทยาหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติในปัจจุบัน
อุเทน ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 สิริรวมอายุ 94 ปี (3 มกราคม พ.ศ. 2456 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550) ซึ่งสิ่งที่เขาทำมาในอดีตก็ยังได้รับการยกย่องพูดถึงมาจนทุกวันนี้
“รถเก็บศพ = รถป่อเต็กตึ๊ง” ใครต่อใครเข้าใจแบบนั้น แต่ถ้าดูในปัจจุบัน รถมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมิได้ทำเพียงการเก็บศพอย่างเดียว แต่ดูแลเรื่องศพจนจบสิ้นกระบวนการ ทั้งการพิมพ์นิ้วมือ ทำประวัติและถ่ายรูปผู้ตาย ส่งศพไปเก็บที่นิติเวชหรือโรงพยาบาลศูนย์เพื่อให้ญาติมารับ และหากไม่มีผู้มารับศพ มูลนิธิจะรับศพไปฝังชั่วคราวที่สุสานของป่อเต็กตึ๊ง หากฝังครบ 3 ปี ไม่มีผู้มาขอรับศพ มูลนิธิจะทำพิธีฌาปนกิจให้เสร็จสรรพ
ฟังเหมือนกิจการของมูลนิธิจะราบเรียบไร้ขวากหนาม แต่ความเป็นจริง ยังมีอีกหลายมูลนิธิที่ปฏิบัติภารกิจเช่นเดียวกัน ไม่ใช่มีแต่เฉพาะรถของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเพียงเท่านั้นที่พร้อมจะไปถึงที่หมาย หากยังมีรถกู้ภัยหลายสังกัดที่พร้อมจะเหยียบคันเร่ง เพิ่มความเร็วให้ได้เป็นคันแรก จนหลายครั้งกลายเป็นข่าวว่าเจ้าหน้าที่มูลนิธินั้นนี้ขัดแย้งกันหน้างานเพราะทับพื้นที่กันก็มี
ยิ่งเรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร มีการตั้งข้อสังเกตว่า รถกู้ภัยอาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์กำลังกลายร่างเป็นธุรกิจขนาดย่อม ๆ แบบที่เราเคยได้ยินคำบอกเล่าว่า โรงพยาบาลบางแห่งใช้วิธีสร้างแรงจูงใจด้วยการให้ซองเงินสด เพื่อให้รถกู้ภัยเข้ามาส่งผู้บาดเจ็บเข้ามาที่โรงพยาบาลของตน
เหรียญมีสองด้านเช่นใด กรณีรถกู้ภัยก็เช่นนั้น เพราะไม่ใช่แค่ได้รับการยกย่องชื่นชมจากสังคมในความเสียสละทุ่มเทเพียงอย่างเดียว แต่การขับขี่ของบรรดารถกู้ภัยน้อยใหญ่ ถูกตั้งคำถามมากขึ้นจากผู้ใช้รถ บ้างก็ว่าพวกเขารีบไปให้ถึงที่หมายให้เร็วที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง จงใจฝ่าฝืนกฎจราจรโดยไม่จำเป็น
คำวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว เป็นเสมือนการกระตุกเตือนให้แต่ละฝ่ายได้กลับมาตระหนักถึงแก่นแท้ของ “การกู้ภัย” ว่าเกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์ใด และจะทำงานอย่างไรเพื่อยังคงยึดแก่นนั้นไว้ให้ได้
“ได้ยินเสียงหวอ รถเฮียปอมาแล้ว” ใครสักคนพูดขึ้น เมื่อแว่วเสียงร้องเปิดทางที่ดังลั่นถนน
ถ้า อุเทน เตชะไพบูลย์ ยังอยู่ เขาจะมองเหตุการณ์ที่ว่าด้วยความรู้สึกอย่างไร ?
ข้อมูลอ้างอิง
เว็ปไซต์โพสต์ทูเดย์. (2557). "เดี๋ยวนี้คนเราฆ่ากันง่าย"..."อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ"นักกู้ชีพรุ่นเก๋ามูลนิธิร่วมกตัญญู.สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2562 จาก https://www.posttoday.com/politic/report/334485
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2562). ค้นเมื่อ 12 เมษายน 2564, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2562). ค้นเมื่อ 13 เมษายน 2564, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/อุเทน เตชะไพบูลย์
สมาคมเตชะสัมพันธ์. (2562) . ชีวประวัติย่อ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ประธานถาวรสมาคมฯ. สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2562, จาก https://www.techa.or.th/the-history-of-dr-ute-techapaiboon
เรื่อง: อรรถภูมิ