สตีเฟน ฮอว์กิง พิการแต่ไม่สิ้นหวัง ทะยานสู่อัจฉริยะผู้ไขความลับทฤษฎีแห่งจักรวาล
ภาพถ่าย “หลุมดำ” ครั้งประวัติศาสตร์ ที่เปิดเผยสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน ปี 2019 ช่วยไขข้อข้องใจเกี่ยวกับปริศนาจักรวาลไปได้เปลาะหนึ่ง ทำให้คนจำนวนไม่น้อยนึกถึง ศาสตราจารย์สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์ชื่อดังที่จากโลกนี้ไปเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2018 ซึ่งอุทิศตัวให้กับการศึกษาทฤษฎีเกี่ยวกับจักรวาลมาตลอดชีวิต
ฮอว์กิงป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) มาตั้งแต่อายุ 20 ต้น ๆ เฉียดตายจากอาการของโรคก็หลายครั้ง แต่ฮอว์กิงก็ไม่ยอมให้โรค ALS มาเป็นข้อจำกัดหรือบั่นทอนกำลังใจ ตรงกันข้าม เขากลับทำความเข้าใจโรคและหาทางอยู่ร่วมกับมันให้ได้ ขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นคิดค้นทฤษฎีต่าง ๆ มาไขความลับจักรวาล สร้างประโยชน์ให้มวลมนุษยชาติ
หากฮอว์กิงยกธงขาวยอมแพ้ในวันนั้น โลกก็คงไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับจักรวาลเพิ่มขึ้นอย่างทุกวันนี้
ฮอว์กิงเกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม ปี 1942 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 300 ปีที่ กาลิเลโอ กาลิเลอี นักดาราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ชื่อก้องโลกเสียชีวิต เขาเป็นบุตรชายของ แฟรงค์ นักวิจัยด้านเวชศาสตร์เขตร้อน กับ ไอโซเบล ที่ทำงานเป็นเลขานุการ ทั้งคู่จบจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ฮอว์กิงมีน้อง ๆ อีก 2 คน คือ แมรี และ ฟิลิปปา ทั้งหมดอาศัยที่ไฮเกต ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนที่ปี 1950 แฟรงค์จะโยกย้ายครอบครัวไปอาศัยที่มิลล์ฮิลล์ ทางเหนือสุดของกรุงลอนดอน
ฮอว์กิงออกตัวว่าเขาไม่เก่งเรื่องงานประดิษฐ์ แต่เขากับเพื่อนก็ร่วมกันสร้างเครื่องบินและเรือจำลอง เพราะอยากรู้ว่าระบบต่าง ๆ ทำงานอย่างไร และมีวิธีการควบคุมอย่างไร ซึ่งจุดนี้คือพื้นฐานในการศึกษาค้นคว้าทางจักรวาลวิทยาของเขาในเวลาต่อมา เพราะหากเข้าใจว่าเอกภพทำงานอย่างไร ก็จะควบคุมมันได้ อย่างน้อยก็ในทางใดทางหนึ่ง
ฮอว์กิงเรียนไฮสกูลที่โรงเรียนเซนต์อัลบานส์ มีผลการเรียนระดับปานกลาง แต่เพื่อนร่วมชั้นตั้งฉายาให้เขาว่า “ไอน์สไตน์” ซึ่งในหนังสือ “ประวัติย่อของตัวผม” (My Brief History) ที่ฮอว์กิงเป็นผู้เขียน ได้บอกเล่าเรื่องนี้ไว้ว่า “น่าจะแปลว่าพวกเขาเห็นแววอะไรบางอย่างในตัวผมที่ครูมองไม่เห็น”
ในวัย 17 ปี ฮอว์กิงสอบชิงทุนเข้ามหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และจบการศึกษาด้วยผลการเรียนปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้านฟิสิกส์ จากนั้นปี 1962 เขาก็เข้าเรียนระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยทำงานวิจัยด้านจักรวาลวิทยา
เค้าลางของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเริ่มปรากฏ เมื่อเขาเรียนปีสุดท้ายที่อ็อกซ์ฟอร์ด ฮอว์กิงรู้สึกว่าตัวเองซุ่มซ่ามมากขึ้น และยิ่งเป็นหนักเมื่ออยู่เคมบริดจ์ มีครั้งหนึ่งที่เขาหกล้มแล้วลุกขึ้นเองไม่ได้ ไอโซเบลสังเกตเห็นอาการลูกชายไม่สู้ดี เลยพาไปหาหมอเพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด
ชายหนุ่มในวัย 21 ปี รับทราบข่าวร้ายว่าตัวเองเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เขาช็อกและคิดว่าจะมีชีวิตอยู่นานพอที่จะเรียนจนจบปริญญาเอกหรือเปล่า ความเศร้าเข้าเกาะกุมจิตใจ แต่ท้ายสุดฮอว์กิงก็ฉุดตัวเองขึ้นจากอาการจ่อมจมนั้น แล้วเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า หากต้องตายแน่ ๆ ก็น่าจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์บ้าง
ในความมืดมนมีแสงสว่างเสมอ ช่วงไล่เลี่ยกันนั้น เขาหมั้นหมายกับ เจน ไวลด์ (Jane Wilde) นักศึกษาสาวผู้จุดประกายความหวังให้ฮอว์กิงอีกครั้ง หลังจากทั้งคู่แต่งงานได้ 2 ปี เจนก็ให้กำเนิด โรเบิร์ต ลูกชายคนแรก ต่อมาอีก 3 ปี ครอบครัวฮอว์กิงก็ต้อนรับ ลูซี ลูกคนที่สองเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ แต่อาการของโรค ALS ที่ปรากฏมากขึ้น ทำให้ฮอว์กิงไม่สามารถช่วยเจนเลี้ยงลูก ๆ ได้อย่างที่อยากทำ
ฮอว์กิงไม่ยอมให้อาการป่วยมาจำกัดความสามารถในเชิงฟิสิกส์ของเขา ช่วงทศวรรษที่ 1960 ฮอว์กิงเขียนความเรียงเกี่ยวกับทฤษฎีโครงสร้างสัมพัทธภาพ และได้รับรางวัลจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี 1966 พอเข้าสู่ทศวรรษ 1970 เขาก็พัฒนาและขบคิดแก้ปัญหาทฤษฎีหลุมดำได้หลายข้อ
ปี 1974 ฮอว์กิงเรียกเสียงฮือฮาจากแวดวงนักวิชาการสายฟิสิกส์ เมื่อได้รับเลือกเป็นภาคีสมาชิกของราชสมาคม ทั้งที่อายุยังน้อย (32 ปี) และมีตำแหน่งเป็นแค่นักวิจัยชั้นผู้ช่วย จากนั้นปี 1979 ฮอว์กิงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ลูคาเซียนด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ เซอร์ไอแซก นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกเคยได้รับ และปีเดียวกันนั้นเจนก็ให้กำเนิด ทิม ลูกคนที่สาม
ชีวิตตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา คือการ “เฉียดตาย” หลายครั้ง
เมื่ออาการแย่ลง ฮอว์กิงเริ่มใช้รถเข็นแบบเข็นด้วยมือ และเริ่มใช้รถเข็นไฟฟ้าครั้งแรกเมื่อครั้งที่เขาและเจนได้รับเชิญให้ไปยังสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (Caltech) ประเทศสหรัฐอเมริกา
ปี 1985 ระหว่างฮอว์กิงไปเยือน เซิร์น (CERN – องค์การเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขาล้มป่วยด้วยโรคปอดบวม และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ หมอประเมินว่าอาการของฮอว์กิงหนักและเสนอจะถอดเครื่องช่วยหายใจให้จากไปอย่างสงบ แต่เจนไม่ยอม และนำตัวฮอว์กิงกลับมารักษาที่โรงพยาบาลในเคมบริดจ์ ครั้งนั้นเขาลงเอยด้วยการผ่าตัดหลอดลม
แม้ต้องเผชิญความเจ็บปวดจากโรคในช่วงก่อนการผ่าตัด แต่ฮอว์กิงยังคงผลิตงานวิชาการต่อไป เขาเขียนงานวิชาการด้วยการบอกให้เลขานุการช่วยพิมพ์ บรรยายโดยให้ล่ามพูดซ้ำสิ่งที่เขาพูดเพื่อให้ชัดเจนขึ้น เมื่อการผ่าตัดหลอดลมทำให้เขาพูดไม่ได้อีก ฮอว์กิงก็สะกดคำทีละตัวด้วยการยักคิ้วเมื่อคนชี้อักษรที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยากและต้องใช้เวลามาก
วันหนึ่ง วอลต์ โวลโทสซ์ (Walt Wolttosz) ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ทราบเรื่อง จึงส่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ชื่อ Equalizer ซึ่งโวลโทสซ์เขียนขึ้นมาให้ฮอว์กิงใช้เลือกคำจากรายการบนหน้าจอโดยกดสวิทช์ในมือ ต่อมาฮอว์กิงใช้อีกโปรแกรมคือ Words Plus ซึ่งควบคุมด้วยเซนเซอร์ขนาดเล็กที่ติดกับแว่นตาด้วยการขยับแก้ม เมื่อสร้างคำที่ต้องการพูดได้แล้วก็ส่งไปที่เครื่องสังเคราะห์คำพูด จากนั้นเขาหันมาใช้ระบบของ Intel ซึ่งสามารถพูดได้ 3 คำต่อนาที และมีเสียงสูงต่ำเหมือนธรรมชาติ ด้วยระบบนี้ ฮอว์กิงเขียนหนังสือออกมา 7 เล่ม รวมทั้งรายงานวิชาการหลายฉบับ และใช้ในการบรรยายต่าง ๆ
ชีวิตคู่ของฮอว์กิงไม่ค่อยราบรื่นนัก ภายหลังเขาหย่ากับเจน และแต่งงานใหม่กับ อีเลน เมสัน (Elaine Mason) นางพยาบาลที่ช่วยดูแลเขา (หลังจากนั้น 9 เดือน เจนก็แต่งงานใหม่)
กราฟอาการเจ็บป่วยของนักฟิสิกส์ชื่อดังนั้นขึ้น ๆ ลง ๆ วันหนึ่งเขาไอหนักมาก กระทั่งหมอแนะนำให้ตัดกล่องเสียงทิ้ง ซึ่งจะแยกหลอดลมออกจากลำคอ ทำให้ไม่ต้องใส่ท่อพลาสติก ต่อมาระดับออกซิเจนของเขาตกลงถึงขีดอันตรายขณะนอนหลับสนิท ฮอว์กิงต้องอยู่โรงพยาบาลนานถึง 4 เดือน และออกจากโรงพยาบาลพร้อมเครื่องช่วยหายใจ ไม่นับอาการหมดสติที่เกิดขึ้นหลายครั้ง สถานการณ์ต่าง ๆ กลายเป็นแรงกดดันที่อีเลนต้องแบกรับ ท้ายสุดทั้งคู่จึงหย่ากันในปี 2007
ในความเจ็บปวดของความเจ็บป่วย ฮอว์กิงยังคงมุ่งหน้าบนเส้นทางการศึกษาค้นคว้าทฤษฎีแห่งจักรวาล และสร้างผลงานชิ้นเยี่ยมไว้มากมาย อาทิ การค้นพบปรากฏการณ์ “รังสีฮอว์กิง” หมายถึงหลุมดำมีการแผ่รังสีสู่อวกาศ และดูดกลืนพลังงานจากแกนความโน้มถ่วงอย่างช้า ๆ ซึ่งทำให้มีเวลาพอที่หลุมดำจะแผ่รังสีได้
“ตอนที่ผมอายุ 21 และเริ่มป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงนั้น ผมรู้สึกว่ามันช่างไม่ยุติธรรมเหลือเกิน ทำไมเรื่องแบบนี้ถึงต้องเกิดกับผม? ตอนนั้นผมคิดว่าชีวิตผมจบสิ้นแล้ว ผมคงไม่ได้ใช้ศักยภาพที่ผมมีให้เกิดประโยชน์ ทว่าขณะนี้ 50 ปีผ่านไป ผมรู้สึกพึงพอใจกับชีวิตของผมอยู่เงียบๆ...
“ผมมีชีวิตที่สมบูรณ์และรู้สึกพึงพอใจกับชีวิตของผม ผมเชื่อว่าคนพิการควรจะมุ่งกับสิ่งที่ความพิการของตนไม่เป็นอุปสรรคและไม่เสียใจกับสิ่งที่ทำไม่ได้” ฮอว์กิงเขียนไว้ตอนหนึ่งในหนังสือ "ประวัติย่อของตัวผม"
ทั้งหมดคือสิ่งที่ สตีเฟน ฮอว์กิง ทิ้งไว้ให้โลกใบนี้ ทั้งผลการศึกษาที่ช่วยไขปริศนาจักรวาล และแรงบันดาลใจให้ทุกคน "ไม่ยอมแพ้" ต่อความเจ็บป่วยหรืออุปสรรคต่าง ๆ นานาที่ต้องเผชิญในชีวิต
ที่มา
สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง. 2558. ประวัติย่อของตัวผม. แปลโดย รศ.ดร.บุรินทร์ กำจัดภัย และ นรา สุภัคโรจน์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
https://spaceth.co/what-is-inside-hawkings-backhole/
https://www.bbc.com/thai/international-43396197
https://www.bbc.com/thai/international-47908991
https://www.bbc.com/thai/features-43396461