“เราจะร่วมกันสร้างมหาวิหารนี้ขึ้นมาใหม่ และไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันจะเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตร่วมของชาวฝรั่งเศส” คือคำประกาศก้องของ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ภายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้มหาวิหารโนเตรอดาม ซึ่งยืนหยัดผ่านกาลเวลามากว่า 850 ปี ทว่าต้องพ่ายให้เปลวเพลิงที่ลามเลียหลังคาบางส่วนและยอดแหลมของมหาวิหารจนหักโค่นลง ท่ามกลางสายตาของผู้คนทั่วโลกที่เฝ้ามองเหตุดังกล่าวด้วยความสะเทือนใจ
มหาวิหารโนเตรอดาม คือแรงบันดาลใจให้ศิลปินจำนวนมากสร้างสรรค์ผลงานระดับ “ขึ้นหิ้ง” ไม่เว้นแม้แต่ วิคตอร์ อูโก (Victor Hugo) นักเขียนชาวฝรั่งเศสนามอุโฆษแห่งศตวรรษที่ 19 ที่นำมหาวิหารโนเตรอดามมาเป็นประเด็นการดำเนินเรื่องในนวนิยาย “The Hunchback of Notre-Dame” หรือชื่อเรื่องในภาษาฝรั่งเศสว่า “Notre-Dame de Paris”
ชื่อเรื่อง “Notre-Dame de Paris” เป็นคำทวินัย (double entendre) กล่าวคือนอกจากจะหมายถึงชื่อมหาวิหารแล้ว ยังหมายถึง เอสเมรัลดา หรือ notre dame (แปลว่า our lady) ตัวละครเอกในเรื่องอีกด้วย
การเรียกเอสเมรัลดาว่าเป็น our lady (คำที่ใช้เรียกแม่พระ หรือพระแม่มารีอา) เป็นการตอกย้ำความคิดแบบฆราวาส/มนุษยนิยม (secularism/humanism) ของอูโกที่ชัดเจน มหาวิหารโนเตรอดามซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา กลับกลายเป็นฉากหลังที่ปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์ของตัวเองได้อย่างย้อนแย้ง
กาซิโมโด คนค่อมแห่งโนเตรอดาม เป็นตัวละครที่ภายนอกดูน่าสมเพชขั้นสุด ทั้งอัปลักษณ์ หลังค่อม หูหนวก แต่จริง ๆ เป็นคนจิตใจดี การทำหน้าที่อย่างตีระฆังซึ่งเป็นหน้าที่ทางศาสนา กลับทำให้เขาพิการเพิ่ม ภาระทางศาสนาไม่ได้ฉุดให้ชีวิตดีขึ้น มีแต่จะทำให้แย่ลง
เอสเมรัลดา ที่ถูกมองว่าเป็นหญิงชั้นต่ำยั่วยวนผู้ชาย และถูกมองอย่างมีอคติเพราะเป็นยิปซี แต่อันที่จริงเอสเมรัลดาเป็นคนฝรั่งเศส (ตอนเกิดมาชื่ออักเนส) แม่ของนางเป็นโสเภณีฝรั่งเศส พอคลอดนางได้ไม่นานพวกยิปซีก็ลักพาตัวไป แล้วทิ้งกาซิโมโดที่รูปร่างพิการไว้แทน กาซิโมโดถูกนำไปทิ้งที่โนเตรอดามและถูกเลี้ยงมาให้เป็นคนตีระฆังของโบสถ์จนกลายเป็นคนหูหนวก ถึงเอสเมรัลดาจะกลัวรูปร่างอัปลักษณ์ของกาซิโมโด แต่ก็เป็นคนเดียวที่แสดงความเมตตาต่อกาซิโมโดโดยนำน้ำมาให้ดื่ม ขณะกาซิโมโดโดนลงทัณฑ์จับล่ามไว้
ตัวร้ายอย่าง ฟรอลโล ผู้ไร้ซึ่งความละอายต่อบาปกลับเป็นนักบวชระดับสูง เป็นคนดูแลโนเตรอดาม ส่วน เอสเมรัลดา สาวยิปซีซึ่งเป็นคนชายขอบของสังคม เป็นกลุ่มคนที่ถูกมองว่าสร้างแต่ความวุ่นวาย กลับเป็นคนที่มีจิตใจเมตตามากกว่าผู้ดีจอมปลอมทั้งหลาย
ความผิดฝาผิดตัวแบบนี้ นับว่าเป็นกลวิธีอย่างหนึ่งที่อูโกพยายามจะบอกเราว่า เราไม่ควรตัดสินใครจากแค่ภายนอกหรือเชื้อชาติศาสนาที่เป็นแค่เปลือก รูปร่างหน้าตาอันงดงามของเอสเมรัลดาก็ไม่ได้สำคัญเท่าความดีในจิตใจของเธอ ที่โบสถ์ไหน ๆ ก็มารับรองไม่ได้ ตราบใดที่ในทางสังคมเธอยังคงถูกมองในฐานะยิปซีอยู่
ดังนั้นโนเตรอดามในฐานะ “โบสถ์” (สถาบันทางศาสนา) อาจจะไม่สำคัญเท่ากับ notre dame/our lady ที่ปรากฏในตัวเอสเมรัลดา ที่เป็นคนมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์อย่างไม่แบ่งแยก
อูโกพยายามรื้อสถาบันทางสังคมที่ซ้อนทับความดีงามในหลายเรื่อง อย่าง Les Misérables ผลงานชิ้นเอกของเขาก็ใช่ คนที่ถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นคนเลวอาจเป็นผลผลิตของระบบที่ไม่เป็นธรรม สุดท้ายแล้วสังคมจะดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับศาลหรือศาสนาเสมอไป แต่อยู่ที่ความรักเพื่อนมนุษย์โดยที่ไม่ต้องคำนึงว่าคนนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร เชื้อชาติอะไร
อูโกเคยกล่าวไว้ว่าเขาเชื่อในพระเจ้า แต่พระเจ้าในความหมายของอูโกไม่ใช่พระเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ห่างไกลมนุษย์ แต่เป็นพระเจ้าแห่งเสรีภาพ และรักทุกคนเท่าเทียมกัน
เหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นภาพความเป็นไปในสังคมอย่างหนึ่งได้ว่า คนส่วนใหญ่เป็นห่วงโนเตรอดามในฐานะโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ เป็นความผูกพันระหว่างโบสถ์กับชุมชน โบสถ์กับประสบการณ์ส่วนตัว มากกว่าจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีบทบาทในศาสนาเพียงเท่านั้น
วันที่โลกสูญเสียมหาวิหารโนเตรอดามไป (บางส่วน) เราจึงได้เห็น “พลัง” ของมนุษย์ที่พร้อมจะสร้างโบราณสถานแห่งนี้ให้กลับมายิ่งใหญ่ดังเดิมอีกครั้ง
ที่มา: เรียบเรียงจากโพสต์เฟซบุกของ ผศ.ดร.แพร จิตติพลังศรี อาจารย์ประจำศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับอนุญาตเรียบร้อยแล้ว