อลิเซีย กัสติยา ผู้ทำให้ความลักลั่นของกฎหมาย “กัญชา” ในอุรุกวัยหมดไป
“เราจะเห็นว่าก่อนนั้นกฎหมายมันยังเป็นสีเทา ๆ เมื่อการเสพกัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่การปลูกกัญชากลับผิด ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ผู้ปลูกถูกจับเข้าตาราง มันก็เป็นการตอกย้ำให้คนเห็นว่า วิธีการเดียวที่พวกเขาจะหามันมาเสพได้คือในตลาดมืดเท่านั้น” ฆวน มานูเอล บาเรลา (Juan Manuel Varela) นักกิจกรรมด้านกัญชากล่าวกับ The Guardian ถึงสภาวะที่ลักลั่นทางกฎหมายในอุรุกวัย ก่อนที่จะมีกฎหมายเปิดเสรีด้านกัญชามารองรับ
ในประเทศเสรีนิยมอย่างอุรุกวัย พวกเขาลดการเอาผิดกับการเสพยาเสพติดทุกชนิดมาตั้งแต่ยุค 70s หากผู้ใดครอบครองในปริมาณที่ไม่เกินกว่ากำหนดเพื่อใช้เสพส่วนตัวแล้ว ทางการก็ไม่ได้ถือสา แต่การผลิตและการค้ายาก็ยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่
เข่นเดียวกับในกรณีของ “กัญชา” ยาเสพติดที่ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์มากขึ้นเรื่อย ๆ และผู้ใช้สามารถผลิตเองได้โดยง่าย
ถึงปี 2011 สังคมอุรุกวัยจึงได้เกิดการถกเถียงกันครั้งใหญ่ถึงปัญหาความลักลั่นดังกล่าว หลัง อลิเซีย กัสติยา (Alicia Castilla) นักเขียนและนักจิตวิเคราะห์ชาวอาร์เจนตินา วัย 62 ปี (อายุในขณะนั้น) ที่ย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในอุรุกวัย ถูกจับกุมตัวขณะที่เธอกำลังรดน้ำกัญชา 29 ต้น ซึ่งเธอปลูกเอาไว้เพื่อใช้ผ่อนคลายเป็นการส่วนตัว
“พวกเขาทำกับฉันเหมือนฉันเป็น ปาโบล เอสโคบาร์ ภาคผู้หญิงไม่มีผิด” กัสติยากล่าว อ้างถึงนักค้ายาเสพติดชื่อดังชาวโคลอมเบียซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ดังใน Netflix
การจับกุมตัวกัสติยาเป็นข่าวใหญ่ในอุรุกวัย ทำให้เธอกลายเป็นเซเล็บไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว มารู้เข้าตอนเหยียบรั้วเรือนจำ เมื่อเธอซึ่งเป็นนักโทษที่อายุมากที่สุดในเรือนจำได้รับการปรบมือต้อนรับจากบรรดานักโทษหญิงรุ่นพี่ที่อยู่มาก่อนราวแฟน ๆ มายืนรอรับไอดอล
นอกเรือนจำก็มีกองทัพนักข่าวคอยรายงานข่าวของเธอ และกลุ่มนักกิจกรรมกัญชาที่ออกมาเรียกร้องให้มีการปล่อยเธอจากการคุมขัง แรงกดดันจากสังคมทำให้ผู้แทนอุรุกวัยในรัฐสภาต้องเคลื่อนไหว ซึ่งระหว่างที่เธอถูกจองจำเป็นเวลาสามเดือน กัสติยาได้รับการเยี่ยมเยือนจากบรรดาผู้แทนที่วนเวียนนำร่างกฎหมายที่พวกเขาจะนำเสนอต่อสภามาให้เธอได้อ่านก่อน
เมื่อคดีของเธอไปถึงชั้นศาล ศาลจึงได้มีคำพิพากษายกฟ้อง แต่เมื่อความเคลื่อนไหวเพื่อให้การเสพกัญชา “เสรี” อย่างแท้จริงจุดติดแล้ว คดีของเธอจึงสร้างอานิสงส์ไปถึงผู้เสพรุ่นหลัง เมื่อรัฐสภาอุรุกวัยเห็นชอบผ่านกฎหมายให้การเสพกัญชาเพื่อสันทนาการถูกกฎหมายในปี 2013 และปีต่อมาก็ออกกฎหมายอีกฉบับอนุญาตให้บุคคลทั่วไปสามารถเพาะปลูกกัญชาเพื่อใช้บริโภคเองได้ และยังขยายช่องทางการจำหน่ายกัญชาให้กว้างยิ่งขึ้น
มาตรการของอุรุกวัยถือว่าตรงกันข้ามกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในอเมริกาใต้ที่มุ่ง “ทำสงครามกับยาเสพติด” มากกว่าที่จะลดการเอาผิดกับผู้เสพ
แต่สำหรับผู้ใช้กัญชา กฎหมายใหม่ก็ยังไม่เปิดกว้างพอสำหรับพวกเขา และยังวิจารณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้ทำให้พวกเขาตกเป็นพลเมืองชั้นสอง และสร้างตราบาปให้กับการเสพกัญชา เพราะมีการกำหนดว่าผู้ซื้อและผู้ปลูกจำเป็นต้อง “ขึ้นทะเบียน” เสียก่อน
เงื่อนไขตามกฎหมายสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกกัญชาไว้ใช้เองก็คือ ผู้ปลูกต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลเสียก่อน ขึ้นแล้วก็จะได้รับอนุญาตให้ปลูกได้ไม่เกิน 6 ต้นเท่านั้น ส่วนสถานที่จำหน่ายกัญชาที่ถูกกฎหมายก็คือร้านเภสัชกรรม ซึ่งกฎหมายจูงใจให้คนมาใช้บริการจากร้านขายยาถูกกฎหมาย ด้วยการกำหนดราคาไว้เพียง 1.30 ดอลลาร์ต่อกรัมเท่านั้น ขณะที่ราคาที่ซื้อขายกันตามท้องถนนอยู่ที่ 3 ดอลลาร์ต่อกรัม แต่ผู้ซื้อก็ต้องแสดงตนด้วยการสแกนนิ้วมือและจะสามารถเข้ามาเบิกซื้อได้สัปดาห์ละไม่เกิน 10 กรัม
ทางรัฐบาลบอกว่าพวกเขาให้ความระมัดระวังเป็นอย่างดีที่จะไม่ให้ข้อมูลส่วนนี้หลุดไปสู่มือของผู้ไม่หวังดี และทางเภสัชกรผู้จ่ายยาเองก็ไม่รู้ข้อมูลอื่นใดของผู้ซื้อนอกไปเสียจากจำนวนโควตาที่เหลืออยู่ของผู้ซื้อเพียงเท่านั้น
ดาเนียล วิดาร์ต (Daniel Vidart) นักกิจกรรมกัญชา เพื่อนของอดีตประธานาธิบดี โฆเซ "เปเป" มูฮิกา ซึ่งแต่งงานกับกัสติยาหลังเธอพ้นโทษไม่นาน วิจารณ์กฎหมายของสหายเก่าว่า แทนที่มันจะทำให้กัญชาถูกกฎหมาย มันกลับสร้างตราบาปให้กับกัญชาขึ้นยิ่งกว่าเดิม
"ทำไมจะต้องขึ้นทะเบียนผู้ใช้กัญชา แต่คนดื่มเหล้ากลับไม่ต้อง เหล้าเป็นยาเสพติดที่ร้ายแรงยิ่งกว่า กฎหมายฉบับนี้ยังคงเห็นว่าผู้สูบกัญชามีอันตรายรัฐบาลจึงต้องคอยตรวจนับ ระบบทะเบียนอาจจะปลอดภัยก็ได้ตราบเท่าที่รัฐบาลยังเป็นประชาธิปไตย แต่มันอาจจะกลายมาเป็นอาวุธร้ายแรงที่กลับมาทำลายผู้ใช้ได้เลยหากการมืองเปลี่ยนข้าง" วิดาร์ตกล่าว
เงื่อนไขตามกฎหมายสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกกัญชาไว้ใช้เองก็คือ ผู้ปลูกต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลเสียก่อน ขึ้นแล้วก็จะได้รับอนุญาตให้ปลูกได้ไม่เกิน 6 ต้นเท่านั้น ส่วนสถานที่จำหน่ายกัญชาที่ถูกกฎหมายก็คือร้านเภสัชกรรมซึ่งกฎหมายจูงใจให้คนมาใช้บริการจากร้านขายยาถูกกฎหมายด้วยการกำหนดราคาไว้เพียง 1.30 ดอลลาร์ต่อกรัมเท่านั้น ขณะที่ราคาที่ซื้อขายกันตามท้องถนนอยู่ที่ 3 ดอลลาร์ต่อกรัม แต่ผู้ซื้อก็ต้องแสดงตนด้วยการสแกนนิ้วมือและจะสามารถเข้ามาเบิกซื้อได้สัปดาห์ละไม่เกิน 10 กรัม
ทางรัฐบาลบอกว่าพวกเขาให้ความระมัดระวังเป็นอย่างดีที่จะไม่ให้ข้อมูลส่วนนี้หลุดไปสู่มือของผู้ไม่หวังดี และทางเภสัชกรผู้จ่ายยาเองก็ไม่รู้ข้อมูลอื่นใดของผู้ซื้อนอกไปเสียจากจำนวนโควตาที่เหลืออยู่ของผู้ซื้อเพียงเท่านั้น
ส่วนกัสติยาเองได้ให้ความเห็นถึงกฎหมายฉบับนี้ว่า "ถ้าให้เลือกระหว่างแนวคิดแบบปิตาธิปไตยกับเสรีนิยม ฉันขอเลือกอย่างหลัง รัฐบาลและผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่างรังเกียจกัญชาอย่างรุนแรง พวกเขาทำให้ฉันนึกถึงคำพูดของพวกฝ่ายซ้ายในยุค 70s ซึ่งมองว่ายาเสพติดคือตัณหาของชนชั้นกลาง มูฮิกาไม่เคยเหนื่อยล้ากับการด่าทอกัญชา หน้าที่ของเขาในฐานะรัฐบุรุษก็คือการเป็นนายทะเบียนคอยควบคุมคนติดยาเพื่อไม่ให้เตลิดเปิดเปิง"(Dinafem)
น้ำเสียงของเธอแสดงให้เห็นว่า แม้เธอจะมีส่วนทำให้อุรุกวัยกลายเป็นประเทศที่เปิดเสรีด้านกัญชาก่อนใครและมากกว่าใคร แต่มันก็ยังไม่เพียงพอ เพราะเธอเห็นว่า ประชาชนมีวิจารณญาณมากพอจะเลือกว่าสิ่งใดดีต่อตนเองหรือไม่? เพียงใด? ไม่จำเป็นให้รัฐต้องมาคอยควบคุม
ส่วนความคิดเห็นของเธอและสามีจะถูกหรือไม่? สังคมอุรุกวัยเอง หรือสังคมอื่น ๆ ที่คิดจะเดินตามคงต้องศึกษา อภิปรายและหาฉันทามติร่วมกันเป็นลำดับต่อไป