เวฬุพิลัย ประภาการัน พยัคฆ์ทมิฬผู้ทำให้โลกรู้พิษสงของระเบิดฆ่าตัวตาย
ระเบิดเป็นอาวุธที่มีพลังการทำลายที่รุนแรงยิ่งกว่ากระสุนปืนมากนัก การโจมตีเพียงหนึ่งครั้งสามารถสร้างความเสียหายได้เป็นวงกว้าง แต่การจะเอาระเบิดไปถึงเป้าหมายและจุดระเบิดได้อย่างแม่นยำนั้นเป็นเรื่องยาก ในกรณีที่ไม่มีเทคโนโลยีเข้าช่วย จึงจำเป็นที่คนจะต้องเป็นผู้พาระเบิดไปวางและจุดระเบิดด้วยตัวเอง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของ "ระเบิดฆ่าตัวตาย"
วิธีการโจมตีลักษณะนี้มีมานานตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนกลายมาเป็นหนึ่งในยุทธวิธีหลักของกลุ่มก่อการร้ายในปัจจุบัน โดยกลุ่มก่อการร้ายที่นำมันมาใช้อย่างเป็นระบบ มิได้มีแต่กลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลางอย่างที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันเท่านั้น หากยังมีกลุ่ม "พยัคฆ์ทมิฬ" กลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนของชนกลุ่มน้อยเชื้อสายทมิฬในศรีลังกา ที่ได้รับเครดิตว่าเป็นผู้พัฒนาการโจมตีลักษณะนี้ให้สมบูรณ์แบบ
กลุ่มกบฏกลุ่มนี้ก่อตั้งโดย เวฬุพิลัย ประภาการัน (Velupillai Prabhakaran) ชาวทมิฬที่มีความใฝ่ฝันที่จะสร้างรัฐที่ชาวทมิฬมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง เนื่องจากหลังศรีลังกาได้รับอิสรภาพ ชาวทมิฬที่นับถือฮินดูสัดส่วนราว 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรชาวศรีลังกาทั้งประเทศก็ได้กลายเป็นเพียงพลเมืองชั้นสอง มีโอกาสในทางการศึกษาและอาชีพการงานที่ด้อยกว่าชาวสิงหลที่นับถือศาสนาพุทธซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่
ประภาการัน เกิดเมื่อ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1954 ในคาบสมุทรจาฟนาทางตอนเหนือของศรีลังกา มีพื้นเพเป็นชนชั้นกลางเรียนหนังสือถึงชั้นมัธยมปลาย แต่ออกจากการเรียนกลางคัน ก่อนกลายมาเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาวทมิฬด้วยวิธีการรุนแรง พวกเขาเริ่มใช้การโจมตีแบบกองโจรตั้งแต่ทศวรรษ 70s และประภาการันก็ประกาศตัวเป็นผู้สังหารผู้ว่าเมืองจาฟนาในปี 1975 ด้วยตัวเอง
จากข้อมูลของ Council on Foreign Relations กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam) เคยมีนักรบราว 7,000 ถึง 15,000 คน เป็นกลุ่มที่ขึ้นชื่อในการโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย โดยนับแต่ทศวรรษที่ 80s พวกเขาโจมตีด้วยวิธีการนี้กว่า 200 ครั้งในพื้นที่ชุมชนทั้งสถานีขนส่ง วัดพุทธ และสำนักงานของรัฐบาล และจากข้อมูลของ FBI พวกเขาได้รับเครดิตว่าเป็นผู้ริเริ่มใช้เข็มขัดติดระเบิดรวมถึงการใช้ผู้หญิงเป็นผู้ก่อเหตุ นอกจากนี้ นักรบพยัคฆ์ทมิฬยังเอาแคปซูลบรรจุไซยาไนด์ห้อยคอไว้เสมอเพื่อฆ่าตัวตายหากถูกจับกุมได้
พยัคฆ์ทมิฬสามารถยึดครองพื้นที่บริเวณคาบสมุทรจาฟนาได้ตั้งแต่ปี 1985 และกำจัดกลุ่มแบ่งแยกคู่แข่งอื่น ๆ ได้อย่างราบคาบในปี 1987 พวกเขาหารายได้สนับสนุนจากกิจกรรมนอกกฎหมายต่าง ๆ นานา ทั้งการปล้นธนาคาร ขนของผิดกฎหมาย ค้ายาเสพติด และกรรโชกทรัพย์ชาวทมิฬในศรีลังกา นอกจากนี้พวกเขายังได้เงินสนับสนุนโดยสมัครใจจากชาวทมิฬที่อาศัยอยู่ในต่างแดนด้วย (Britannica)
เหยื่อของการโจมตีของพยัคฆ์ทมิฬนั้น นอกจากจะมีชาวบ้านทั่วไปที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่แล้ว ยังมีผู้นำอย่าง ราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดียที่เสียชีวิตระหว่างหาเสียงในรัฐทมิฬนาฑูเมื่อปี 1991 หลังอินเดียทำตัวเป็นยักษ์ใหญ่ที่พยายามจะนำเสรีภาพมาสู่ภูมิภาค และได้ส่งกองทหารเข้าไปแทรกแซงในศรีลังกาในปี 1987 ซึ่งสุดท้ายอินเดียก็ต้องถอนตัวอย่างบอบช้ำ เสียเจ้าหน้าที่ไปราว 1,200 นาย (The New York Times)
และสองปีต่อมา รณสิงห์ เปรมทาสา (Ranasinghe Premadasa) อดีตประธานาธิบดีของศรีลังกาก็ถูกฆ่าตายกลางกรุงโคลัมโบเมื่อปี 1993 ขณะนำขบวนพาเรดฉลองวันแรงงาน (The New York Times)
มีความพยายามที่จะยุติสงครามกลางเมืองในศรีลังกาด้วยการเจรจาอยู่หลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็จบลงด้วยความล้มเหลว ซึ่งประภาการันผู้กระหายสงครามก็เป็นฝ่ายทำร้ายตัวเอง โดยในปี 2002 ได้มีข้อตกลงหยุดยิงเพื่อเจรจาหาทางออก แต่การเจรจาก็ยืดเยื้อออกไปจนมีการเลือกตั้งในปี 2005 ฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬสั่งให้ชาวทมิฬคว่ำบาตรการเลือกตั้ง หวังให้ผู้นำที่สนับสนุนแผนสันติภาพสอบตก และเป็น มหินทรา ราชปักษา ผู้นำสายเหยี่ยวที่ชนะการเลือกตั้งไป (The Guardian)
หลังการเลือกตั้ง ทั้งสองฝ่ายก็กลับมาห้ำหั่นกันเช่นเดิมโดยไม่สนข้อตกลงหยุดยิง แต่ตอนนี้พยัคฆ์ทมิฬเริ่มอ่อนแอลงเรื่อย ๆ เพราะเกิดความแตกแยกภายใน เนื่องจากจุดยืนที่แข็งกร้าวของประภาการัน แกนนำบางส่วนหันไปร่วมมือกับฝ่ายรัฐบาล การที่รัฐบาลทั่วโลกประกาศทำสงครามกับการก่อการร้ายก็มีส่วนทำให้พวกเขาระดมทุนจากต่างแดนได้ยากยิ่งขึ้น ขณะที่รัฐบาลของราชปักษากลับได้รับการสนับสนุนจากต่างแดนมากขึ้น ทั้งอาวุธที่ทันสมัยและได้รับการถ่ายทอดยุทธวิธีในการรับมือกับการก่อการร้ายจากนานาชาติ ทั้งยังได้แรงขับดันทางการเมืองภายในให้ใช้มาตรการที่แข็งกร้าวโดยไม่ต้องสนใจปัญหาสิทธิมนุษยชน เพื่อยุติความขัดแย้งภายในที่กินเวลามานานกว่า 3 ทศวรรษ
เมื่อต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับ นับจากการสูญเสียพื้นที่ยึดครองแถบภาคตะวันออกในปี 2007 ประภาการันหันมาใช้วิธีการไล่ต้อนประชาชนมาเป็นเกราะกำบังให้กับกองกำลังของเขาในฐานที่มั่นสุดท้าย ด้วยหวังว่ารัฐบาลจะถูกประณามจากการใช้ความรุนแรงปราบปรามจนกระทบต่อชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งจะนำไปสู่การแทรกแซงจากนานาชาติด้วยเหตุด้านมนุษยธรรม แต่เขาคิดผิด
แม้นานาชาติจะประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลศรีลังกา แต่ก็ไม่มีใครคิดจะยื่นมือเข้าแทรกแซง หลังการรุกคืบอย่างหนักของกองทัพรัฐบาลตั้งแต่ต้นปี 2009 ประภาการันก็ถึงจุดจบในวันที่ 18 พฤษภาคม ปีเดียวกัน แม้ทางองค์กรจะพยายามโต้แย้งการประกาศการตายของเขาโดยทางการศรีลังกา แต่ก็ไม่อาจปิดบังความจริงได้นาน
“พยัคฆ์ทมิฬ” องค์กรที่เกิดขึ้นมาโดยประภาการัน และอยู่ได้ด้วยบารมีของเขาเพียงผู้เดียวจึงถึงคราวล่มสลาย สงครามกลางเมืองที่คร่าชีวิตคนเกือบแสนจึงสิ้นสุดลง ความสงบสุขก็กลับคืนมาสู่ศรีลังกาอีกครั้ง
แต่มันก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาในศรีลังกายังคงอยู่ กลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงในชื่อ "พุทธพลเสนา" ได้ก้าวเข้าสู่สังเวียนการเมืองในปี 2012 ด้วยอุดมการแบบพุทธชาตินิยม โดยเลือกเอา "มุสลิม" เป็นคู่ขัดแย้ง อ้างว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวศรีลังกาห่างไกลจากพระธรรมและพระพุทธศาสนา และหวังจะครองอำนาจด้วยการใช้อัตราการเกิดที่สูงกว่าชาวพุทธ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ยั่วยุให้กลุ่มหัวรุนแรงของทั้งสองฝ่ายเกิดการปะทะกันถึงขั้นเสียชีวิต (The Converstion)
เหตุก่อการร้ายครั้งใหญ่ เกิดขึ้นในคืนวันอีสเตอร์ (2019) วันสำคัญของชาวคริสต์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 ราย จากการพิสูจน์หลักฐานพบเป็นการโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย ซึ่งทางการโทษว่าเป็นฝีมือของกลุ่มเตาฮีดญะมาอะฮฺแห่งชาติ (National Thowheeth Jama’ath) กลุ่มหัวรุนแรงท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาเคยก่อเหตุทำลายรูปเคารพของชาวพุทธอยู่หลายครั้ง แต่ไม่ปรากฏว่าเคยก่อเหตุรุนแรงในลักษณะนี้มาก่อน