read
interview
28 พ.ค. 2562 | 13:08 น.
ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า จากคนไร้ศาสนา สู่ กวีร็อกแอนด์โรลล์ กับชีวิตที่ “ไม่มีกำแพงขวางกั้น”
Play
Loading...
ตุล ไวฑูรเกียรติ
เป็นชื่อที่หลายคนรู้จักดีในฐานะฟรอนแมนต์ของวงร็อกแอนด์โรลล์ชื่อดัง “อพาร์ตเมนต์คุณป้า” เจ้าของเพลงฮิตอย่าง "ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ", "ลิปสติกบนลิปสติก" หรือ “กำแพง" นอกจากบทบาทในฐานะนักร้อง นักแต่งเพลงแล้วนั้น ชีวิตหลังไมค์ของชายคนนี้ก็เต็มไปด้วยงานอดิเรกที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
เริ่มตั้งแต่การเป็นดีเจเปิดแผ่นที่มาจากคอลเลคชั่นส่วนตัวของเขา หรือการเป็นนักลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นภาพลักษณ์ติดตัวเขาไม่ต่างกับการเป็นนักร้องเลยก็คือ การเป็นนักกวี จนหลายคนมีฉายาให้เขาว่า “กวีร็อกแอนด์โรลล์” โดย ตุล มีผลงานที่ถูกตีพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊คออกมาแล้วเช่น “สิ่งที่อยู่นอกใจ” และ "19052553"
ตุล เป็นคนที่มักจะใช้ภาษาสะท้อนแง่คิดมุมมองส่วนตัวผ่านปลายปากกาเสมอ จะเห็นได้ว่าผลงานของเขาทั้งงานเพลงหรือบทกวี ก็ล้วนแต่มีการเปรียบเปรยเรื่องของความรัก การใช้ชีวิต รวมถึงเนื้อหาเสียดสีการเมืองที่มาจากประสบการณ์ตรงของเขา
ถ้ามองจากจุดนี้ในสายตาทุกคนเขาคงเป็นเพียงชายติสต์ ๆ ที่มีผลงานเพลง มีชื่อเสียง รักสนุก แต่เรื่องราวหลังม่านของชายคนนี้ก็มีเรื่องราวที่น่าติดตามไม่น้อยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น อดีตที่เขาเลือกจะไม่มีศาสนา หรือมุมทางการเมืองที่เขาคิดต่าง และแน่นอนในเรื่องภาษาที่เขาหลงใหลมันอย่างยิ่งยวด
ก่อนหน้านี้ ตุล กับ อพาร์ตเมนต์คุณป้า เพิ่งจะปล่อยสตูดิโออัลบั้มใหม่ชุดล่าสุดชุดที่ห้าออกมาเมื่อช่วงกลางปี 2018 และล่าสุดกับโปรเจกต์ใหม่ที่ชื่อว่า FUSE ซึ่งเป็นการทำเพลงภายใต้แนวคิดที่นำดนตรีแรปเข้ามาผสมผสานกับดนตรีในหลากหลายชนิด วันนี้เราจึงต้องขออนุญาตมานั่งคุยกับชายคนนี้ซะหน่อย
The People : เล่าที่มาของโปรเจกต์ FUSE ให้ฟังหน่อย
ตุล :
โปรเจกต์ FUSE ผมได้รับโจทย์มาจาก GMM’D ว่าจะทำงาน Collaboration EP มีจำนวน 5 เพลง โดยที่เราจะนำฮิปฮอปเป็นตัวเล่าเรื่องหลัก แล้วเราจะนำดนตรีฮิปฮอปมาผสมกับดนตรีที่มีความหลากหลาย ซึ่งก็ได้ทีมงานจาก RAP IS NOW มาช่วยกันทำให้โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นด้วย
The People : พูดถึงเพลง "โรงเรียนเก่า" หน่อย
ตุล :
"โรงเรียนเก่า" เป็นเพลงที่ผมได้มีโอกาสร่วมงานกับคุณกอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ ซึ่งก็เป็นสุดยอดของ MC ในบ้านเราคนหนึ่ง เพลงโรงเรียนเก่ามีเนื้อหาที่อยากจะสดุดีถึงวีรบุรุษของถนนสายฮิปฮอปที่กว่ามันจะมีถนนที่กว้างขนาดนี้ มันมีคนที่กรุยทางมาก่อน แล้วถ้าไม่มีพวกเขาเหล่านั้นอาจจะไม่มีคนรุ่นหลังในวันนี้ก็ได้
The People : หาแรงบันดาลใจมาใช้ในโปรเจกต์นี้อย่างไร
ตุล :
ผมมีความชอบฟังเพลงฮิปฮอปมาตั้งแต่ประมาณยุค 90s ช่วงนั้นนอกจากร็อก เราก็เก็บแผ่นฮิปฮอปมากมาย แล้วก็เริ่มหัดเป็นดีเจด้วย ดังนั้นความชอบในดนตรีแนวนี้มันก็ฝังอยู่คู่ขนานกับดนตรีร็อกที่ทำก็จะเห็นจากผลงานของอพาร์ตเมนต์คุณป้าตลอดเวลามา ที่มีการนำดนตรีหลาย ๆ แบบมาผสมผสานกัน ไม่ว่าจะเป็นฟังก์ เป็นโซล เป็นบลูส์ แม้แต่การแรปก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่เรานำมาเล่าเรื่องราวผ่านบทเพลงได้ตลอดเวลา
The People : เส้นทางชีวิตก่อนมาเป็น ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า
ตุล :
ตั้งแต่เด็กผมก็โตมาในบ้านที่ให้โอกาสได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่าง ก็เป็นเด็กเรียน ชอบเรียนหนังสือแล้วก็เป็นหนอนหนังสือ โตมากับการอ่านหนังสือและก็อยากรู้อยากเห็นทุกอย่าง สนใจกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียน แล้วก็เป็นคนที่มีเพื่อนเยอะ แล้วเพื่อนฝูงนี่แหละเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้รู้จักกับดนตรี พอมีโอกาสได้เล่นดนตรีบ้างกับเพื่อน ๆ สมัยมัธยม ก็เริ่มรู้สึกว่าการเล่นดนตรีอยู่บนเวทีมันสนุกสนานดีนะ แต่ก็ไม่เคยคิดหรอกครับว่าเราจะได้มาประกอบอาชีพเป็นศิลปินแบบนี้ คือตอนผมอายุ 16 ผมไม่เห็นตัวเองนะ ผมมองไม่เห็นภาพตัวเองว่าผมจะมาเป็นศิลปินอาชีพแบบนี้
จนกระทั่งผมอายุประมาณ 17 ปี ผมได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ AFS แล้วไปอยู่ที่อเมริกา จนได้ฟังเพลงจากอัลบั้มคู่อัลบั้มหนึ่งของคุณปฐมพร ปฐมพร มีชื่อว่า ‘เจ้าหญิงแห่งดอกไม้ กับ เจ้าชายแห่งทะเล’ หลังจากที่ผมฟังอัลบั้มนี้จบแล้ว อยู่ดี ๆ มันก็มีแรงผลักดันอะไรบางอย่างที่ทำให้ผมลุกขึ้นมาแต่งเพลง ผมวิ่งเข้าห้องน้ำไปเลยแล้วก็เอาซาวด์อะเบาต์ที่กดบันทึกเสียงได้มาร้องเพลงนั้นออกมาเลย ชื่อเพลงแรกชื่อ ‘ชีวิตคือการเดินทาง’ แล้วเมื่อผมแต่งเพลงแรกได้ เพลงที่สองที่สามก็ตามมา แล้วหลังจากนั้น เมื่อเรามาฟังเพลงที่เราแต่งเอง ผมก็กลายเป็นแฟนเพลงของตัวเอง แล้วผมก็เลยตัดสินใจว่าชีวิตนี้ยังไง เราจะต้องเอาเพลงที่เราเขียนเองออกไปสู่สาธารณชนให้ได้
The People : เริ่มต้นการแต่งบทกวีและโคลงกลอนได้อย่างไร
ตุล :
ตั้งแต่โรงเรียนประถม ผมจะใช้เวลาอ่านหนังสือเยอะ เด็กคนอื่นเขาอาจจะเล่นซุกซนอย่างอื่น แต่เราก็ไม่ได้ซุกซนเท่าเขา เราจะใช้เวลาอ่านหนังสือและศึกษาอะไรเยอะ พื้นฐานของการแต่งเพลงต่าง ๆ อาจจะต้องขอบคุณครูภาษาไทยวัยเด็กก็ได้ ที่บังคับขู่เข็ญให้เราแต่งกลอนเพื่อประกวดนู่นนี่นั่น ซึ่งตอนเด็ก ๆ ก็ถือว่าทำได้ดีนะครับ ตรงนั้นก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เรารักในภาษา และผมก็มองว่าภาษาเป็นของสนุก สนุกมาก ไม่เคยเบื่อเลยที่จะอ่านหนังสือ หรือว่าค้นพบกับคำศัพท์ใหม่ ๆ หรือว่าจินตนาการผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
The People : ภาษาที่สวยงามในอดีต ปัจจุบันถูกมองเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยาก
ตุล :
คือภาษามันต้องเป็นภาษาที่ดิ้นได้นะ คือการที่เราจะต้องไปบังคับให้คนรุ่นหลังมัวแต่ไปศึกษาภาษารุ่นเก่ามันก็ไม่แฟร์นะ ภาษามันควรจะเป็นเรื่องสนุกที่ว่าใครอยากจะรู้ภาษาอะไรก็ให้ศึกษาไปตามจริตของตัวเอง คือเด็กวัยรุ่นอาจจะชอบภาษาแบบอินเทอร์เน็ต ภาษาที่ผู้ใหญ่เขาชอบเรียกว่าภาษาวิบัติ แต่ตราบใดที่มันสื่อสาร ผมว่านั่นคือภาษา ภาษาต้องดิ้นได้ ต้องเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา แล้วมันไม่ได้เป็นสิ่งที่พิสูจน์หรอกว่าบทกวีหรือบทประพันธ์สมัยเก่าจะต้องดีกว่าสมัยนี้ แค่เราศึกษาของเก่าเพื่อให้เรารู้ถึงรากเหง้า แต่ถ้าไม่ชอบไม่เป็นไรนะ ไม่มีใครบังคับให้เราชอบภาษาใดภาษาหนึ่ง ภาษาที่เราขุดคุ้ย ใฝ่หาหรือว่าศึกษา อันนี้มันควรจะมาจากความชอบของเราเอง
The People : คิดอย่างไรกับการเมืองช่วงนี้
ตุล :
สนุกมากเลยครับ การเมืองเนี่ยผมคุยด้วยทั้งวันเลย (หัวเราะ) บางคนเขามองว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องเครียดนะ หรือว่าเรื่องที่เราไม่ควรจะหยิบมาคุยกันเพราะจะเกิดความขัดแย้งอะไร ส่วนตัวผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่ผมสนใจมาก แล้วผมสนุกกับมันมาก แล้วก็ชอบพูดถึงมัน หนึ่งอย่างถ้ามันไม่สนุกแล้วก็คงไม่หยิบมาพูดถึง
The People : คิดว่ามันใกล้ตัวเรามากขนาดไหน
ตุล :
มันอยู่ใกล้ตัวเรามาก ๆ มันอยู่ในชีวิตประจำวัน แค่การที่เขาอยากจะลุกขึ้นมาสูบกัญชาเพื่อสันทนาการได้ อันนี้ก็มีการเมืองมาเกี่ยวข้อง นักศึกษาชายแปลงเพศแล้วอยากจะใส่ชุดนิสิตหญิงไปเข้าเรียน อันนี้ก็มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เราอยากจะเที่ยวกลางคืน แล้วให้ผับให้บาร์เปิดถึงเช้าตี 5 นี่ก็มีการเมืองมาเกี่ยวข้อง ดังนั้นทุก ๆ การเคลื่อนไหวของชีวิต เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีการเมืองมาเกี่ยวข้องอยู่ แล้วคนรุ่นใหม่เริ่มตระหนักแล้ว จากเหตุการณ์ที่เราผ่านมา 10 กว่าปี มันเป็นเหมือนเซรุ่ม เป็นเหมือนภูมิคุ้มกัน ทำให้คนรุ่นใหม่มีภูมิคุ้มกันทางการเมืองมากขึ้น เขากล้าที่จะออกมาพูดในสิ่งที่เขาคิด ในสิ่งที่เขาอยากจะเป็น
The People : ประชาธิปไตยในแบบคุณเป็นอย่างไร
ตุล :
คือประชาธิปไตย ผมมองว่าหนึ่งอย่างเราต้องยอมรับเรื่องความแตกต่างให้ได้นะครับ ว่าคนเรามีความคิดที่ไม่เหมือนกัน และก็ความคิดในโลกนี้มันมีเป็นล้าน ๆ แบบ ประชาธิปไตยมันก็เป็นระบบที่เอื้ออำนวยให้คนเล็ก ๆ มีสิทธิ์มีเสียง มีสิทธิ์ที่จะพูดบ้าง
The People : ในฐานะนักแต่งเพลงช่วยคอมเมนต์ผลงานของลุงคนที่มีซิงเกิลออกมาแล้ว 9 เพลงหน่อย
ตุล :
ก็ต้องยอมรับว่าเพลงแรกฮิตที่สุดแล้ว เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน ก็คนเรามันมีเพลงฮิต ๆ ต่อกัน มันก็เป็นเรื่องยากนะ เราก็คงคาดเดากันยากว่าเพลงไหนจะฮิตหรือไม่ฮิต ผมเองผมก็ทำงานมานานนะ ผมก็ยังเดาไม่ออกเลยว่าเพลงที่ผมแต่งเพลงไหนจะฮิตหรือไม่ฮิต
The People : ด.ช. ตุล กับชีวิตที่ไม่มีศาสนาอดีต
ตุล :
ในวัยเด็กตอนที่เขาให้ไปทำบัตรประชาชน เขาจะมีช่องให้เติมศาสนาใช่ไหม ผมก็มักจะตั้งคำถามเสมอว่าทำไมเราไม่มีศาสนามั่งได้ไหม อำเภอบอกไม่ได้นะหนู คนเราต้องมีศาสนา กรอกไปเถอะ กรอกอะไรก็ได้
ตอนจะทำบัตรประชาชนใบแรก เขาบอกหนูคนเราต้องมีศาสนานะ กรอกไปเถอะศาสนาอะไรก็ได้ มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมตั้งคำถามขึ้นมาตอนนั้นว่า ตอนนั้นที่เราโตขึ้นมาแล้วเราจะต้องมีศาสนาพุทธ มันเป็นเพราะว่าเราโตมาในสังคมแบบนี้ มันเป็นศาสนาที่เราเลือกจริง ๆ หรือเป็นเพราะว่าถูกบอก ๆ ต่อกันมา ก็ใช้ชีวิตเหมือนคนไม่มีศาสนาอยู่พักหนึ่ง แต่ไม่ใช่แปลว่าไม่สนใจศาสนานะ การเป็นคนไม่มีศาสนาแปลว่าเราไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาแทบจะทุกศาสนา ณ ตอนนั้น ศาสนาและปรัชญาเป็นสิ่งที่ผมสนใจ แต่ตอนนั้นผมจะไม่เลือกว่าผมจะ label ตัวเองว่าเป็นศาสนาไหน จนตอนผมอายุเท่านี้ ณ บัดนี้ผมกล้าบอกแล้วว่าจริง ๆ ผมชอบพุทธศาสนาจริง ๆ
The People : ทำไมถึงเป็นพุทธศาสนา
ตุล :
ผมชอบที่พุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวที่ทำให้คนมาคุยกันเรื่องทุกข์ ความทุกข์นี่มีเสน่ห์นะ ความทุกข์ทำให้เกิดงานศิลปะ ความทุกข์ทำให้เกิดปัญญา ความทุกข์ทำให้เรารู้จักทุกอย่าง
The People : แล้วส่วนตัวมองความทุกข์เป็นอย่างไร
ตุล :
ผมเป็นศิลปินที่ชอบความทุกข์นะ ผมสร้างงานได้เมื่อผมมีทุกข์นะ ทุกข์เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องเจอ มันผ่านมาแล้วมันก็ผ่านไป แล้วมันสวยงาม มันเท่มากที่จะพูดเรื่องความทุกข์มากกว่าพูดเรื่องความสุขในศิลปะนะ
The People : บนความสุขมีความทุกข์ซ่อนอยู่หรือเปล่า
ตุล :
ในความทุกข์มันมีสุข เราอาจจะเป็นมาโซคิสม์ก็ได้ เพลงที่ผมชอบฟังก็จะเป็นเพลงที่พูดในเรื่องของทุกข์ มันไม่มีใครหรอกอยากจะมาฟังศิลปินมาป่าวประกาศฉันมีความสุขจังเลย ฉันอยากจะให้โลกทั้งโลกรู้ แต่ถ้าฉันอยากจะฆ่าตัวตายในวันนี้ ผมอาจจะอยากฟังเรื่องนี้ก็ได้
The People : งานของ ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า ตอนนี้กับเมื่อก่อนต่างกันไหม
ตุล :
มันจะคนละแบบครับ ผมว่าผลงานสมัยวัยรุ่นจะมีความจี๊ดจ๊าด พราะว่าเด็กวัยรุ่นต้องยอมรับ เวลาเรามีอะไร เราจะแบบฉันอยากจะให้โลกรับรู้ชีวิตของฉัน ฉันอยากจะให้โลกรับรู้ความคิดของฉันเดี๋ยวนี้ แต่เมื่อเราอายุมากขึ้น เราก็เล่าไปหลายเรื่องแล้ว เพลงเราก็แต่งไปเป็นร้อยเพลง บทกวีเราก็เขียนไป 500-600 บท ความที่อยากจะเล่าทุกเรื่อง มันไม่มีเท่าตอนเป็นวัยรุ่น ตอนนี้เราอยากจะเล่าบางมุมในเรื่องนี้ มันจะมีกระบวนการกลั่นกรองเรื่องที่เราจะเล่ามากกว่าตอนเราเป็นวัยรุ่น ผมไม่รู้จะเรียกสุขุมขึ้นหรือเปล่า ความฉับไวน้อยลงแน่นอน ความจี๊ดจ๊าดน้อยลงแน่นอน ทักษะเรามากขึ้น คลังคำเราเยอะขึ้น แล้วเรารู้จังหวะจะโคน แล้วก็ tactic ในการทำให้มันสำเร็จผลง่ายขึ้น แต่ความจี๊ดจ๊าดน้อยลงกว่าสมัยวัยรุ่นแน่นอนครับ
The People : เป้าหมายต่อไปในชีวิต
ตุล :
ถึงตอนนี้ก็ยังอยากทำงานไปเรื่อยๆ นะ คนทำงานศิลปะ ทำเพลง ก็อยากจะเล่าเรื่อง เป็นนักเล่าเรื่อง ใช่ อยากจะเล่นดนตรีไปเรื่อย ๆ กับเพื่อนฝูงที่เป็นคนกลุ่มนี้ (อพาร์ตเมนต์คุณป้า) ไปจนเราแก่เราเฒ่า โดยที่เราตอนนี้เราไม่ตั้งความหวังอะไรกับดนตรีแล้ว เราทำไปเพราะความสุขอย่างเดียว ไม่ได้ต้องการจะเป็นที่ยอมรับมากกว่านี้แล้ว คิดว่าที่ผ่านมามันมาได้ไกลมาก มันมาได้ไกลเกินกว่าที่เราคาดฝันไว้มาก แต่อยากจะทำต่อเนื่อง คือดนตรีมันเป็นเรื่องของความสุข ผมมองเป็นเรื่อง relax และทุกครั้งที่ผมเจอเพื่อนในวง ได้ซ้อมดนตรี ได้เล่นคอนเสิร์ตกัน มันเป็นเหมือนวันหยุดสุดสัปดาห์เลย ผมมีความสุขมากเวลาได้เล่นดนตรี
The People : เพลงที่ดีเป็นอย่างไร
ตุล :
เพลงที่ดีคือ เพลงที่คนแต่งอยากแต่งครับ ง่าย ๆ เลย เพลงไหนก็ตามที่คนแต่ง แต่งด้วยความเสี้ยนจากใจตัวเอง มันคือเพลงที่ดี แต่ถ้าเพลงที่แต่งมาเพื่อจะต้องอยากให้ตอบสนองความชอบของคนอื่น หรือว่าถูกสั่งมาให้แต่ง ความดีของมัน มันอาจจะโดนก็ได้นะ อาจจะดังก็ได้นะ แต่ความดีของมันในสายตาผมจะลดลง เพลงที่ดีมันคือเพลงที่เกิดจากความเสี้ยนของผู้แต่ง
The People : อยากฝากอะไรถึงเด็กรุ่นใหม่ที่ฝันจะเป็นศิลปิน
ตุล :
อย่างตัวผมเอง บอกตรง ๆ ว่าถ้าทำดนตรีอย่างเดียวก็เลี้ยงชีพตัวเองไม่ได้ถึงทุกวันนี้นะ ดังนั้นการจะเริ่มต้นอาชีพนักดนตรี มันต้องประเมินหลาย ๆ อย่างชีวิตเรามันก็ไม่ได้มั่นคง มันมีความเสี่ยงและมีโอกาส ดังนั้นมันก็อยู่ที่เทคนิคของแต่ละคนแล้วว่าจะทำยังไงให้มันบาลานซ์ได้ การเลี้ยงชีพก็ต้องสำคัญ เราทุกคนก็ต้องทำมาหากิน แล้วก็มีภาระหน้าที่กันไป ดังนั้นดนตรีมันสามารถจะเป็นงานประจำก็ได้ ดนตรีมันสามารถจะเป็นงานอดิเรกก็ได้ เราอาจจะมีอาชีพเสริมมากมายทำควบคู่กับดนตรีก็ได้ เพื่อรักษาบาลานซ์ระหว่างความฝันแล้วก็ความจริงในชีวิต
The People : เรียกได้ว่าดนตรีเปลี่ยนชีวิต
ตุล :
ดนตรีเปลี่ยนชีวิตนะครับ ดนตรีทำให้เราได้เพื่อนด้วย ดนตรีทำให้เราได้พบกับอะไรดี ๆ มากมาย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3559
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
ตุล ไวฑูรเกียรติ
อพาร์ตเมนต์คุณป้า
ร็อกแอนด์โรลล์