read
interview
24 เม.ย. 2562 | 16:42 น.
สัมภาษณ์ ERTH ประภัสสร บุตรพรหม ศิลปินสาวผู้สาดความเกรี้ยวกราดด้วยความหวาน
Play
Loading...
คนใบหน้าเละเทะ เลือดสาด ตาถลน สมองไหล ดูเผิน ๆ แล้วภาพนั้นเต็มไปด้วยความรุนแรง แต่มันกลับดูอ่อนลงด้วยสีพาสเทลสดใส นี่คือเอกลักษณ์ภาพวาดของ
ERTH
นามปากกาของ
เอิร์ธ – ประภัสสร บุตรพรหม
ศิลปินสาวน่ารักผู้มีนิสัยขี้อาย สวนทางกับผลงานของเธอเป็นอย่างยิ่ง
เพื่อทำความรู้จักเธอมากขึ้น The People จึงชวนเอิร์ธมานั่งคุยถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความเกรี้ยวกราดเคลือบน้ำตาลในผลงานของเธอ
The People:
นิยามความหมายศิลปะของคุณคืออะไร
ERTH
: เราไม่ค่อยนิยามคำว่า “ศิลปะ” ขนาดนั้น อะไรก็ตามที่เราทำมันคือศิลปะหมดเลย สมมติวันนี้ไม่อยากวาดรูป เราอยากหาหนังดู เราจะเลือกอะไรดูก็คือศิลปะ มันคืออะไรหลาย ๆ อย่างมารวมกัน เป็นภาพรวมทั้งหมดของอารมณ์เรา พูดง่าย ๆ ว่า ศิลปะสำหรับเราคือการแสดงออกในสิ่งที่ต้องการ แสดงออกของตัวตน สิ่งที่เราอยากจะพูด อยากจะบอก
The People:
คุณรู้จักกับศิลปะครั้งแรกเมื่อไหร่
ERTH
: เราเรียนพิเศษตั้งแต่เด็กประมาณ ป.1 แม่อยากให้เรียนพิเศษอะไรก็ได้ เราก็เลือกรำ ดนตรี แต่ไปไม่รอด (หัวเราะ) เรารู้สึกชอบเรียนศิลปะมากกว่าและอยู่กับมันได้นาน กระทั่งช่วง ป.5-6 เราเตรียมตัวเข้า ม.1 ก็ไม่ได้เรียนศิลปะแล้ว แต่เรียนวิชาการไปเลย ทำให้เราอยากเป็นหมอ (หัวเราะ)
ตอนนั้นเราอยากเป็นสองทางคือ ไม่อยากเป็นหมอก็เรียนมัณฑนศิลป์หรือนิเทศฯ แต่ใจเราอยากเป็นหมอมากกว่า พอ ม.3 สอบไม่ติดอะไรเลยที่เกี่ยวกับวิชาการ ก็เลยไม่เอาทางนี้แล้ว เราจึงไปสอบช่างศิลป์แล้วเรียนศิลปะมาตลอด พอจบช่างศิลป์มาต่อจิตรกรรม พอเรียนจบออกมา หางานทำก็ยากอีก (หัวเราะ)
The People:
ทำไมช่วงนั้นถึงอยากเป็นหมอ
ERTH
: เราชอบเรียนชีวะฯ และก็ชอบร่างกายคน เราว่าร่างกายคนมีเสน่ห์ ร่างกายคนเหมือนระบบ เป็นเหมือนเมืองเมืองหนึ่ง ไล่ตั้งแต่เซลล์ที่เป็นประชากร มีระบบเป็นห้องต่าง ๆ ในร่างกาย เรารู้สึกว่าน่าอัศจรรย์และมหัศจรรย์ดี มันเป็นความคิดตอนเด็กที่ทำให้เราชอบอะไรแหยะ ๆ แหยง ๆ เช่น เครื่องใน
The People:
ความชอบร่างกายเละ ๆ ขยะแขยงนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน
ERTH
: การชอบดูหนังสยองขวัญเก่า ๆ ค่ะ จำพวก Dead Alive (1992), Saw (2004), House of Wax (2005) หรือ Slither (2006) หนังเหล่านี้จะใช้พร็อพประกอบที่ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น เราดูก็รู้ว่าเป็นพร็อพ เราเห็นแล้วสนใจทั้งรูปทรง สี มันมีเสน่ห์สำหรับเรา สิ่งเหล่านั้นมันอยู่ในร่างกายเราทั้งหมด แต่เราเห็นแค่เปลือกนอก
เราดูหนังเหล่านี้แล้วรู้สึกว่ามันสวย อาจเป็นรสนิยมของเรา บางคนชอบหนังภาพสวย บรรยากาศ บทพูดดี ๆ แต่เราชอบความเละแบบนี้ มันมีเสน่ห์
The People:
การดูหนังสยองขวัญเลือดสาดให้อะไรแก่คุณ
ERTH
: ดูแล้วไม่เครียดค่ะ
The People:
จริงเหรอ บางคนดูแล้วเครียดกว่าเดิมนะ
ERTH
: สำหรับเราเหมือนได้ปลดปล่อย เป็นหนังที่ไม่ต้องใช้สมาธิในการดูขนาดนั้น แต่ทำให้เราเหมือนหลุดไปอีกโลก หลุดออกจากโลกแห่งความจริง
The People:
คุณเริ่มต้นวาดรูปแนวทางนี้ตั้งแต่ตอนไหน
ERTH
: น่าจะประมาณปี 3-4 ที่เริ่มหาสไตล์ตัวเอง แต่ก่อนเราก็วาดสวย ๆ งาม ๆ เช่น ตุ๊กตาหรือผู้หญิง แต่เราไม่มีความสุขในการวาดขนาดนั้น ซึ่งอาจารย์บอกว่าภาพของเราน่ากลัว น่ากลัวจากน้ำหนัก การลงเส้น ทำให้ลายเส้นเหมือนการ์ตูนผีเล่มละ 3 บาทของไทย เรารู้สึกว่าเรามาทางนี้ได้ ก็วาดน่ากลัวไปเลยละกัน ไม่แคร์แล้ว (หัวเราะ) สวยไม่ได้ก็ไม่ต้องสวย เราเลยหันมาวาดภาพแบบที่เราชอบดีกว่า
The People:
หลายคนมักบอกว่าศิลปะจะสะท้อนตัวตนศิลปิน แล้วผลงานของคุณสะท้อนตัวตนอะไรออกมา
ERTH
: น่าจะด้านอารมณ์นะ เราเป็นคนที่โมโหแต่ไม่แสดงออก คนอื่นจะเห็นเราในด้านอารมณ์ดีหรือว่ายิ้ม แต่ถ้าโมโห งานศิลปะจะเป็นเหมือนที่ระบายเวลาเราโมโหหรือว่าเครียด มันช่วยบำบัดตัวเองไปด้วย ถ้าเราหงุดหงิดเราจะมาลงกับงานศิลปะได้
ผลงานน่าจะเป็นอีกมุมหนึ่งของเรา ซึ่งเราโอเคกับมุมนั้นมาก ยอมรับได้ และรู้สึกดีด้วยซ้ำที่เรามีมุมนี้ ทำให้เรามีอีกหนึ่งตัวตนในการระบายออกมา
The People:
แต่ถ้าดูจากภายนอกหรือการพูดคุย คุณไม่ได้ดูเป็นคนอารมณ์ร้ายขนาดนั้น
ERTH
: ใช่ แต่ว่า (หัวเราะ) ก็ร้ายอยู่ การคุยมันอาจตัดสินไม่ได้ทุกอย่างไง
The People:
คิดว่าอนาคตตัวเองจะเปลี่ยนแนวการวาดของตัวเองไหม
ERTH
: ไม่ค่ะ คิดว่าจะทำแนวนี้ต่อไป แต่จะใช้สื่ออื่นมาช่วย เช่น ทำภาพเคลื่อนไหว หรือทำภาพ 3 มิติ
The People:
สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ชัดคือความขัดแย้งกันหลาย ๆ อย่างในตัวคุณและผลงาน เช่น ตัวคุณที่เรียบร้อยแต่งานรุนแรง หรืองานมีความรุนแรงแต่ใช้สีพาสเทลสดใส ความแตกต่างนี้ต้องการจะบอกหรือสื่อสารอะไรไหม
ERTH
: ต้องการให้คนรู้ว่าเราเป็นผู้หญิง (หัวเราะ) เหมือนเป็นสีหวาน ๆ ที่เคลือบลายเส้นโหด ๆ อยากให้งานมีความเป็นผู้หญิงในนั้น ที่อยากให้มีความเป็นผู้หญิงเพราะอยากพูดว่าผู้หญิงก็ทำได้ ไม่จำเป็นว่าผู้ชายจะต้องวาดรูปโหด ๆ หรือผู้หญิงวาดรูปสวย ๆ อย่างเดียวเสมอไป
The People:
บางคนใช้ศิลปะในการสะท้อนแนวคิดทางสังคมบางอย่าง แล้วคุณต้องการนำเสนอแนวคิดอะไร
ERTH
: ส่วนใหญ่เราพูดถึงเรื่องดาร์กของสังคมมากกว่าเรื่องบวก เราเห็นในมุมไม่ค่อยดี แต่ก็พยายายามเคลือบมันด้วยสิ่งที่สวยงามขึ้น เป็นสังคมไม่ดีแต่ถูกทำให้ดีเหมือนเคลือบน้ำตาล
ยกตัวอย่างงานที่เป็นรูปวินมอเตอร์ไซค์ เรารู้สึกว่าแค่เหตุการณ์เดียวมันบ่งบอกได้ว่า สังคมต้องรีบ ต้องแข่งขันกันตลอดเวลา ซึ่งไม่มีใครห่วงความปลอดภัยของคนอื่น หรือแม้กระทั่งตัวเองก็ไม่ได้ห่วง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดนี้ เราก็ทำให้ดูง่ายขึ้นด้วยสีพาสเทล แต่รูปทรงกับน้ำหนักมันโหดแล้ว
อยากให้คนดูงานเรามองรายละเอียดงาน ภายนอกอาจจะสีสันสวยงาม น่ารัก แต่รายละเอียดข้างในมันโหดนะ มันจึงมองได้หลายมุม ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ มองสวยงามก็ได้ มองโหดร้ายก็ได้ ทุกอย่างแม่งก็แค่หนังกับเปลือก
The People:
ในฐานะศิลปินวัยรุ่นคนหนึ่ง คุณอยากเห็นสังคมเราเป็นสังคมแบบไหน
ERTH
: แค่อยากให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้นก็พอแล้ว เพราะตอนนี้แค่การใช้ชีวิตก็ยากแล้ว โดยเฉพาะพื้นฐานการใช้ชีวิต มันมีเรื่องรายได้ คมนาคม ที่อยู่อาศัย ถ้าสังคมมีตรงนี้ดี ทุกอย่างมันก็จะดีขึ้นตามไปเอง เราอยากเห็นการพัฒนาตรงนี้
The People:
แล้ววงการศิลปะละ?
ERTH
: อยากให้พัฒนานะ แต่ศิลปะจะพัฒนาได้ต้องเปลี่ยนที่คนทั่วไปและคนที่มีอำนาจก่อน คนต้องเจริญก่อน ศิลปะถึงจะเจริญด้วย ถ้าเราเปิดกว้างเรื่องศิลปะ แต่คนยังใช้ชีวิตไม่สุขสบาย มันก็กลายเป็นของฟุ่มเฟือยสำหรับเขาอยู่ดี ฉะนั้นต้องเริ่มที่พื้นฐานก่อนค่ะ
The People:
สมมติวันใดวันหนึ่งสังคมโลกมีความสุข ทุกอย่าง
happy
คุณ
จะหาวัตถุดิบความเครียด ความโหดร้ายจากไหน
ERTH
: คิดว่าเราคงตายก่อนแน่นอน ไม่มีทางที่ทุกอย่างจะ happy เพราะทุกอย่างมีสองด้านเสมอ
The People:
การเป็นศิลปิน
เต็มตัวในประเทศไทยมัน
ยากลำบากแค่ไหน
ERTH
: ยาก เพราะคนไทยไม่ได้เปิดรับงานศิลปะหลากหลายสไตล์ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถซัพพอร์ตงานศิลปะได้ เขาจะซัพพอร์ตแนวทางหนึ่งไปเลย แต่คนที่มีกำลังซัพพอร์ตเราจะเป็นวัยรุ่น เด็กกว่า หรือคนเพิ่งเริ่มทำงาน กำลังซัพพอร์ตเขายังไม่เยอะพอทำให้เราอยู่ได้
การเป็นศิลปิน ณ เวลานี้จึงยากและต้องทำงานหนักมาก ๆ อยู่ที่ว่าเราจะอดทนได้ไหม ต้องอดทนมาก ๆ เลย เพราะการทำงานหนักมันไม่ง่ายแน่นอน
The People:
การเป็นศิลปินให้อยู่รอด ต้องต่อสู้กับอะไร
ERTH
: เงิน ยังไงก็หนีไม่พ้น เงินเป็นสื่อกลาง ตัวแทนของมูลค่าค่ะ
The People:
โซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยศิลปินอย่างไรบ้าง
ERTH
: ช่วยให้คนรู้จักศิลปิน โซเชียลฯ เป็นสิ่งที่ดีมาก ดีที่เกิดขึ้นมาในยุคเรา (หัวเราะ) เพราะถ้าไม่มีโซเชียล เราต้องใช้เวลาไม่รู้กี่ปีกว่าคนอื่นจะเห็นงานเรา แต่ถ้าเรามีโซเชียลฯ 10 วัน เราก็รู้จักคนหลายคนแล้ว
แต่มันก็ต้องแลกด้วยความเร็ว ทุกอย่างก็ต้องเร็ว เราต้องผลิตออกมาเยอะ ๆ และสม่ำเสมอ คนถึงจะจำเราได้ ถ้าปราณีตต้องปราณีตจริง ๆ งานชิ้นนั้นต้องปังจริงๆ ถึงจะเข้าไปอยู่ในความทรงจำของคน เพราะคนแค่เลื่อนไทม์ไลน์ผ่านไปเรื่อย ๆ
The People:
ทำไมศิลปินวัยรุ่นมักนำผลงานไปทำเป็นโปสการ์ด สติกเกอร์ หรือของเล่นจุกจิกมากกว่างานภาพอย่างเดียว
ERTH
: เราทำสติกเกอร์ขายมันซื้อง่าย-ขายง่าย ใคร ๆ ก็ซื้อได้ แต่พอเริ่มเป็นเฟรม แคนวาส หรือภาพใส่กรอบ เราจะขายได้เฉพาะคนที่มีพื้นที่ติด มันเริ่มเป็นกลุ่มคนอีกกลุ่ม ฐานคนเสพงานศิลปะของเราเปลี่ยนไปแล้ว
The People:
หากมีคนมาขอแนะนำคุณระหว่างการทำงานตามความฝัน กับทำงานตามที่สังคมบอก คุณจะแนะนำว่าอย่างไร
ERTH
: ต้องเลือกทำในสิ่งที่รักไหม ไม่งั้นเราจะมีความสุขเหรอ? เลือกทำสิ่งที่รัก ทำไปเรื่อย ๆ พอเจออุปสรรคก็แก้ไขตอนนั้น ไม่ต้องวางแผนอะไรเยอะแยะขนาดนั้น เราเกิดมามีชีวิตเดียวนะเว้ย!
ภาพโดย: ชญานิศ มาทอง
ติดตามผลงานของ
ERTH
เอิร์ธ – ประภัสสร บุตรพรหม
ได้ที่ Instagram
@eartherth
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
แอมเนสตี้-ภาคประชาชนร่วมฉลองวันเกิด 69 ปีอัญชัญที่ถูกขังยาว 43 ปี
22 พ.ย. 2567
เจาะเบื้องหลังความสำเร็จ: ยูนิลีเวอร์กับความเป็นเลิศด้านการผสานข้อมูลและ AI ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล
22 พ.ย. 2567
A5 เติบโตครบ 11 ปี พัฒนาโครงการต่อเนื่องรวมมูลค่ากว่า 16,800 ล้านบาท ภายในปี 2569
22 พ.ย. 2567
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
The People
Art
Praphassorn Butphrom
Eartherth
ERTH