read
sports
25 เม.ย. 2562 | 05:28 น.
ราฮีม สเตอร์ลิ่ง อดีตเด็กล้างห้องน้ำที่กินข้าวจากตู้กดทุกเช้ากับฝันที่เป็นจริงวันนี้
Play
Loading...
ราฮีม สเตอร์ลิ่ง (Raheem Sterling)
กลายเป็นอีกหนึ่งนักเตะที่ถูกพูดถึงมากในฤดูกาล 2018-2019 ด้วยฟอร์มการเล่นในสนามที่เรียกได้ว่า “ดีที่สุด” ของเขาตั้งแต่เริ่มเล่นฟุตบอลมา ไม่แปลกที่เขาจะมีชื่ออยู่ในแคนดิเดตผู้ที่จะได้รางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลดังกล่าว แต่ก่อนที่ สเตอร์ลิ่ง จะก้าวขึ้นมาเป็นยอดแข้งของอังกฤษ จนมีชื่อเสียง เงินทอง เกียรติยศ เหมือนในปัจจุบัน คุณเชื่อหรือไม่ว่าถ้าหากเขาไม่ลุกขึ้นสู้เพื่อฝันของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ก็คงไม่เกิดขึ้น และนี่คือเรื่องราวของชายที่ไม่หยุดสู้เพื่อความฝันของเขา “ราฮีม สเตอร์ลิ่ง”
ระหว่างที่ ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กำลังขับเคี่ยวกันอย่างเมามันเพื่อหวังจะครอบครองแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2018/2019 ถ้าจะบอกว่านี่คือฤดูกาลที่ดีที่สุดของ ราฮีม สเตอร์ลิ่ง ก็คงยากที่จะมีใครมาโต้แย้ง และในขณะที่ สเตอร์ลิ่ง เล่นถวายหัวพลีกายถวายชีพให้กับทีมเรือใบสีฟ้า เขาหารู้ไม่ว่าลูกสาวตัวเล็กของเขากำลังร้องเพลงเชียร์ โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ แบบสุดฤทธิ์สุดเหวี่ยง
“Mo Salah! Mo Salah! Mo Salah! Runnin’ down the wing! Salahhhhh la la la la la la la! Egyptian king!”
ใช่แล้ว เจ้าสเตอร์ลิ่งตัวเล็กเป็นแฟนทีมหงส์แดงตัวยง ท่าทางดีใจเหล่านั้นทำให้ สเตอร์ลิ่ง นึกถึงตัวเขาในวัยเด็ก
“เธอเหมือนผมตอนเด็ก ๆ จริง ๆ ยิ่งถ้าคุณไม่รู้จักเธอ เธอจะไม่มีวันปริปากพูดกับคุณเด็ดขาด คุณต้องทำให้เธอเชื่อใจให้ได้เสียก่อน”
[caption id="attachment_6442" align="aligncenter" width="634"]
สเตอร์ลิ่ง กับลูก ๆ[/caption]
ช่วงชีวิตในวัยเด็กของ สเตอร์ลิ่ง ก็เหมือนกับเด็กอพยพจากแอฟริกาคนอื่น ๆ ก้าวทุกก้าวเต็มไปด้วยความลำบากและไร้ซึ่งอนาคตอย่างสิ้นเชิง สเตอร์ลิ่ง รับรู้การสูญเสียพ่อตั้งแต่อายุได้เพียงสองขวบ มิหนำซ้ำไม่นานหลังจากนั้นแม่ของเขาก็ได้ทิ้งเขากับพี่สาวไว้ที่จาไมก้า ก่อนจะมุ่งตรงไปอังกฤษเพื่อศึกษาต่อโดยหวังว่านี่จะเป็นหนทางที่ทำให้ชีวิตของครอบครัวดีขึ้น แน่นอนเด็กวัยสองขวบไม่มีทางรับรู้เจตนานั้น เขาได้แต่ร้องไห้และตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไม ทำไมแม่ถึงต้องทิ้งเราไป
“ผมอายุได้สองขวบตอนที่พ่อถูกยิงตาย เรื่องนี้มีอิทธิพลต่อชีวิตของผมตลอดมา ไม่นานจากนั้นแม่ก็ตัดสินใจทิ้งเราไว้กับคุณยายที่คิงส์ตัน เธอไปอังกฤษเพื่อเรียนและหวังว่าสิ่งนั้นจะทำให้ชีวิตพวกเราดีขึ้น ผมยังคงจำได้อยู่เลยตอนที่มองไปเห็นเด็กคนอื่น ๆ เดินกับแม่ของตัวเอง ผมอิจฉาและไม่เคยเข้าใจว่าทำไมแม่ถึงทำแบบนี้กับเรา”
แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่โชคดีเหลือเกินที่เขามีเพื่อนสนิทที่คอยค้ำจุนเขาจากความผิดหวังต่าง ๆ ในชีวิต เพื่อนคนนั้นของ สเตอร์ลิ่ง คือฟุตบอล
“ขอบคุณพระเจ้าที่ผมมีฟุตบอลอยู่ข้าง ๆ ผมจำได้ตอนที่ฝนตก เด็กทุกคนจะวิ่งออกมาเพื่อเล่นฟุตบอลท่ามกลางแอ่งน้ำแฉะ ๆ รอบตัว มันเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด มันเป็นภาพที่ผมแว่บขึ้นมาในหัวของผมเวลาที่นึกถึงจาไมก้า ภาพที่ทุกคนออกมาเล่นฟุตบอลท่ามกลางสายฝนและสนุกกับมัน”
แต่แล้วชีวิตของเขาก็ต้องเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ในวัยห้าขวบ สเตอร์ลิ่ง ย้ายมาอยู่ลอนดอนกับแม่และพี่สาว ทันทีที่เท้าของ สเตอร์ลิ่ง แตะแผ่นดินอังกฤษ เขารับรู้ได้ทันทีว่าที่นี่ไม่เหมือนกับบ้านเกิดของเขาเลย แม้ลอนดอนจะฝนตกอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่ใครคิดจะออกมาเตะฟุตบอลกลางสายฝนเหมือนที่จาไมก้า
“มันเป็นช่วงเวลาที่ยากเพราะวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศช่างต่างกันเหลือเกิน”
ลอนดอน เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูง แน่นอนการมาของ สเตอร์ลิ่ง และพี่สาว ยิ่งทำให้แม่ของเขาต้องดิ้นรนมากขึ้นไปอีก ตอนนั้นชีวิตของพวกเขาแสนจะลำบาก ขนาดจะเรียกว่าเป็นพวกหาเช้ากินค่ำก็ยังไม่ได้เลย เพราะบางวันถึงขั้นต้องอดอาหารเพราะไม่มีเงินไปซื้ออาหาร แต่แม้จะลำบากขนาดไหนแม่ของ สเตอร์ลิ่ง ก็ไม่เคยย้อท้อต่อการเรียน เธอยังคงมีปณิธานชัดเจนที่ว่า ปริญญาจะทำให้ชีวิตของครอบครัวดีขึ้น นั่นจึงทำให้เธอต้องหอบลูกทั้งสองติดสอยห้อยตามเธอไปทำงานที่โรงแรมต่าง ๆ เสมอ
“ผมไม่เคยลืมตอนนั้น ทุกวันก่อนไปโรงเรียนผมกับพี่สาวต้องตื่นขึ้นมาตอนตีห้าเพื่อช่วยแม่ทำความสะอาดห้องน้ำในโรงแรมที่สโตนบริดจ์ ผมมักจะเถียงกับพี่เรื่องใครจะล้างห้องน้ำหรือซักผ้าปูที่นอน สิ่งดีที่สุดในตอนนั้นคือแม่จะให้เราเลือกกินอะไรก็ได้ในตู้หยอดเหรียญ ผมมักจะพุ่งตรงไปกดบอนตี้ บาร์ กินเสมอ”
ช่วงสมัยเรียนประถมกลายเป็นช่วงที่สร้างความลำบากใจให้กับ สเตอร์ลิ่ง มากที่สุด เด็กตัวเล็ก ๆ ที่ต้องจากบ้านเกิดและต้องเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่าง แน่นอนปัจจัยเหล่านี้ทำให้ สเตอร์ลิ่ง มีพฤติกรรมที่ต่อต้านกับทุกสิ่งไม่เว้นแม้แต่แม่ของตัวเอง และจากความดื้อรั้นนั้นทำให้ สเตอร์ลิ่ง ถูกบีบให้ออกจากโรงเรียน
“ตอนประถมผมดื้อมาก ๆ ผมไม่อยากฟังใคร ไม่อยากนั่งฟังสิ่งที่ครูกำลังพูด ผมเอาแต่นั่งรอให้เสียงนาฬิกาดัง เพื่อจะได้พักและลงไปกินข้าวนิดหน่อย ทันทีที่กินเสร็จผมจะวิ่งตรงไปที่สนามและจินตนาการว่าตัวเองเป็น โรนัลดินโญ่ ตอนนั้นนี่คือสิ่งที่ผมแคร์ และไม่นานพวกเขาก็บีบผมให้ออกพร้อมบอกเหตุผลว่าผมต้องหาสภาพแวดล้อมใหม่เพื่อสร้างความสนใจให้มากขึ้น แต่สิ่งที่แย่ที่สุดของตอนนั้นคืออะไรรู้ไหม ผมมักจะมองลงมาจากรถบัสเพื่อดูเด็กคนอื่น ๆ ที่เดินไปโรงเรียนเอง พวกเขาหัวเราะพวกเขาดูมีอิสระ ผมได้แต่คิดว่าผมอยากเป็นแบบนั้นบ้าง”
ปีต่อมา สเตอร์ลิ่ง ได้เรียนในโรงเรียนที่ใหญ่ขึ้น และเขาได้พบกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิตหลังได้รู้จักกับชายที่ชื่อว่า ไคฟ์ เอลลิงตัน ชายผู้เป็นคนที่คอยให้คำปรึกษาแก่เด็กที่ไร้พ่อ เอลลิงตัน กลายเป็นคนที่เขาไว้ใจและพร้อมที่จะเปิดอกคุยได้ในทุกเรื่อง มีวันหนึ่ง เอลลิงตัน ตัดสินใจถาม สเตอร์ลิ่งว่า
“สิ่งที่เขารักที่จะทำคืออะไร ?”
ใช่แล้วนี่ดูเหมือนเป็นคำถามง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็คงตอบได้แต่สำหรับ สเตอร์ลิ่ง สิ่งที่เขาตอบกลับไปในวันนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความฝันทั้งหมด
“ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยคิดถึงมันมาก่อนเลย ผมไม่รู้ว่าตัวเองรักที่จะทำอะไร ณ จุดนั้นผมชอบเล่นฟุตบอลข้างถนน ผมเลยตอบกลับเขาไปแบบนั้น”
“ดีเลย ฉันมีทีมเล็ก ๆ ที่จะเล่นทุกวันอาทิตย์ ทำไมนายไม่ลองมาเล่นกับเราดูล่ะ”
ประโยคนี้ของ เอลลิงตัน กลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเด็กคนหนึ่ง ตั้งแต่นั้น สเตอร์ลิ่ง ก็หลงใหลในการเล่นฟุตบอล และตอนที่เขาอายุได้เพียงสิบขวบ แมวมองจากทีมใหญ่ ๆ ในลอนดอน ล้วนต้องมาชมฝีเท้าในการเล่นฟุตบอลของเขา ตอนนั้นทั้งฟูแลม และ อาร์เซนอล ต่างต้องการตัวเขาไปร่วมทีมเยาวชนโดยเฉพาะอาร์เซนอล ที่ถือเป็นทีมอันดับต้น ๆ ของประเทศ แน่นอนถ้าคุณเป็น สเตอร์ลิ่ง คุณคงไม่รอช้าที่จะตอบตกลงกลับไปแน่นอน แต่ สเตอร์ลิ่ง กลับไม่ได้ทำแบบนั้น แม้ใจของเขาจะอยากทำมันมากแค่ไหนก็ตาม
“แม่คือคนที่เอาตัวรอดเก่งที่สุดที่ผมเคยรู้จัก วันหนึ่งแม่เดินมานั่งข้างผมและพูดว่า ‘ฟังนะแม่รักแก แต่แม่มีความรู้สึกว่าแกไม่ควรไปอาร์เซนอล’ ผมกระอักกระอ่วนในทันที แต่แม่ก็มาพร้อมกับเหตุผลที่ผมไม่อาจละเลยได้ ‘’ถ้าแกไปที่นั่น แกจะไปอยู่ในที่ที่มีคนเก่งพอ ๆ กับแกกว่าห้าสิบคน แกต้องไปที่ไหนก็ได้ที่จะทำให้แกสามารถยกระดับตัวเองได้”
สุดท้าย สเตอร์ลิ่ง กลายเป็นนักเตะเยาวชนของทีมควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส ซึ่งเขาเชื่อว่านี่คือการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิต ในช่วงเวลากว่าเจ็ดปีในฐานะนักเตะเยาวชนของทีมควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส เขาได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวอย่างดี โดยเฉพาะพี่สาวของเขาที่เสียสละทุกอย่างเพื่อแค่ไปรับไปส่งเขา
“แม่ต้องทำงานหนักตลอด แต่ท่านก็ไม่เคยทิ้งให้ผมไปซ้อมคนเดียว พี่สาวผมจะไปเฝ้าและรอรับผมที่สนามซ้อมใกล้ ๆ สนามบินฮีทโธรว์เสมอ และในแต่ละวันก็ต้องใช้เวลากว่าแปดชั่วโมงเพื่อที่จะกลับบ้าน คุณลองจินตนาการถึงเด็กผู้หญิงอายุ 17 ที่ทำแบบนี้ทุกวันเพื่อน้องชายของตัวเอง ผมไม่เคยเห็นเธอบ่นทำนองว่า ไม่เอาอะ ฉันไม่อยากไปรับเขา เลยแม้แต่ครั้งเดียว ตอนแรกผมไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเธอถึงเสียสละเพื่อผมมากขนาดนี้ แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าถ้าไม่มีพวกเขา ผมก็คงไม่มีวันนี้”
ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือโชคชะตาที่หลังบ้านของ สเตอร์ลิ่ง สามารถมองออกไปเห็นสนามเวมบลีย์ได้ และยามที่เสาโค้งขึ้นสูงสุดมันแทบไม่ต่างกับภูเขาลูกโตที่ทอดผ่านมายังเขา แน่นอนเขาฝันเหมือนเด็กอังกฤษทุกคนที่วันหนึ่งจะได้ไปเล่นที่นั่น แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจความฝันนี้ สเตอร์ลิ่ง มักจะเหม่อลอยในเวลาเรียนเสมอจนทำให้ครูของเขาต้องคอยเบรกความเพ้อฝันนี้
“ไม่มีใครเชื่อความฝันนี้ของผมเท่าไหร่ มีครูคนหนึ่งตอนผมอายุสิบสี่ ผมไม่ฟังเขาสอนเลย จนครูตะโกนมาถามผมว่า ‘ราฮีม เกิดอะไรขึ้นกับเธอ เธอคิดว่าฟุตบอลจะเป็นเป้าหมายสุดท้ายของเธอเหรอ? เธอรู้รึเปล่าว่ามีเด็กอีกเป็นล้าน ๆ ที่อยากเป็นนักฟุตบอล แล้วอะไรที่ทำให้เธอคิดว่าตัวเองพิเศษกว่าคนอื่น’ ตอนนั้นผมไม่โอเคเท่าไหร่ แต่ก็คิดในใจว่า โอเคเดี๋ยวมาคอยดูกัน”
สองเดือนต่อมา สเตอร์ลิ่ง ตอกหน้าครูคนดังกล่าวแหกชนิดหมอไม่รับเย็บ ยันฮีไม่รับเคสเลยทีเดียว เขาถูกเรียกตัวติดทีมชาติอังกฤษชุด U-16s ก่อนจะเป็นฮีโร่ซัดสองประตูใส่ทีมชาติไอร์แลนด์เหนือ สร้างชื่อให้ตัวเองเป็นครั้งแรกได้สำเร็จ
“ตอนนั้นผมได้ออกทีวีทุกช่อง ทุกคนเห็นความฝันที่เป็นจริงของผม และวันรุ่งขึ้นที่ผมไปโรงเรียนครูคนนั้น
(ที่เคยสบประมาทเขา)
กลายเป็นคนสนิทอีกคนหนึ่งของผมไปเลย”
สเตอร์ลิ่ง ยกระดับการเล่นของตัวเองชนิดก้าวกระโดด และในวันที่เขามีอายุได้สิบห้าปี ลิเวอร์พูล ทีมยักษ์ใหญ่แห่งศึกพรีเมียร์ลีกก็ได้เซ็นสัญญากับเขา ก่อนสุดท้ายดาวเตะรายนี้จะสามารถแจ้งเกิดได้สำเร็จในยุคของกุนซือ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส
“ช่วงสองปีแรกผมหายหน้าหายตาเหมือนเป็นผีเลย ผมต้องซ้อมเยอะมาก ตอนไหนที่หยุดผมจะกลับลอนดอน ผมมีครอบครัวและเพื่อนที่ดีที่สุดรออยู่ที่นั่น ตอนไหนที่ผมท้อผมจะนึกเสมอว่า แม่และพี่สาวของผมเสียสละเพื่อผมมากเท่าไหร่จนทำให้ผมได้รับโอกาสเหล่านี้”
ที่ลิเวอร์พูล สโมสรจับ สเตอร์ลิ่ง ไปอยู่กับคุณลุงแก่ ๆ ที่อยู่กับทีมมาตั้งแต่ยุค 70s สเตอร์ลิ่ง ได้รับการดูแลไม่ต่างกับเป็นหลานชายแท้ ๆ ในทุก ๆ เช้าบนโต๊ะอาหารในห้องครัวจะมีเบค่อน บัตตี้ วางรอ สเตอร์ลิ่ง อยู่เสมอ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นดูเอื้อต่อพัฒนาการของเขา ที่นี่ทำให้เขาสงบและได้โฟกัสกับฟุตบอลจริง ๆ
สเตอร์ลิ่ง อยู่กับยอดทีมจากเมอร์ซีไซด์นาน 5 ปีเต็ม ก่อนจะปฏิเสธสัญญาฉบับใหม่ที่ทางลิเวอร์พูลยื่นให้ สุดท้ายเขาตัดสินใจย้ายออกจากถิ่นแอนฟิลด์ และมุ่งตรงไปยังเมืองแมนเชสเตอร์ เพื่อร่วมงานกับ เป๊ป กวาดิโอล่า ที่ ซิตี้ ตอนนั้นเขาถูกตราหน้าว่าเป็นพวกหน้าเงิน อกตัญญูกับสโมสรที่ปลุกปั้นเขามา แม้สื่อจะจ้องเล่นงานเขาอยู่เสมอก็ตาม แต่สุดท้าย สเตอร์ลิ่ง ทำได้เพียงแค่ก้มหน้าทำหน้าที่ของเขาต่อไปให้ดีที่สุด
“สื่อชอบบอกว่าผมเนี่ย ชอบแสงสี ชอบเพชร เป็นคนชอบโชว์โน่นนี่ ผมไม่เคยเข้าใจเลยว่าสิ่งเหล่านี้มาจากไหน มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อจริง ๆ ที่จะมีบางคนเกลียดในสิ่งที่เขาไม่รู้จริง ๆ ด้วยซ้ำ”
ณ ตอนนี้ สเตอร์ลิ่งอยู่ในจุดที่เขามีความสุขที่สุด นอกจากฟอร์มการเล่นในสนามจะเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของเขาแล้ว แน่นอนสิ่งสำคัญกว่าสำหรับเขาคือการทำให้แม่และพี่สาวมีชีวิตที่ดี เรื่องราวของ สเตอร์ลิ่ง สะท้อนให้เราเห็นว่าจากเด็กที่ไม่มีอะไรเลย เขาสามารถมีทุกอย่างในวันนี้ได้ จากการลงมือทำความฝันของตัวเอง
“วันที่ผมซื้อบ้านให้กับแม่ นั่นคือวันที่ผมมีความสุขที่สุดในชีวิต ก่อนหน้านี้ในชีวิตครอบครัวเราต้องย้ายบ้านบ่อยครั้ง เพราะเราไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า ตอนนั้นผมไม่ค่อยคิดถึงมันมาก คิดแค่ว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วถึงความรู้สึกของเธอ ที่ต้องผ่านความยากลำบาก ถ้าคนอยากจะเขียนถึงห้องน้ำสุดหรูที่บ้านแม่ผม ผมอยากจะบอกเขาว่าเมื่อ 15 ปีที่แล้ว พวกเราเคยล้างห้องน้ำอยู่ที่สโตนบริดจ์และต้องกินอาหารเช้าจากตู้ขนมหยอดเหรียญ ถ้าใครสักคนสมควรจะได้มีความสุข คนคนนั้นก็คงเป็นแม่ผมเนี่ยแหละ เธอมายังประเทศนี้แบบไม่มีอะไรเลย แต่สุดท้ายเธอเรียนจบและส่งลูกเป็นนักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษได้สำเร็จ”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Sports
พรีเมียร์ลีก
แมนเชสเตอร์ ซิตี้
ราฮีม สเตอร์ลิ่ง