อัลคอวาริซมีย์ นักคณิตมุสลิม ผู้เป็นที่มาของ "อัลกอริทึม"

อัลคอวาริซมีย์ นักคณิตมุสลิม ผู้เป็นที่มาของ "อัลกอริทึม"
หากย้อนไปสักยี่สิบปีก่อน “อัลกอริทึม” คงเป็นคำที่คนทั่วไปไม่ใช่นักเรียนสายวิทย์ หรือนักคณิตศาสตร์จะคุ้นเคยเท่าใดนัก แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นคำที่คุ้นหูคนมากเพราะมันเป็นองค์ประกอบสำคัญของ “ปัญญาประดิษฐ์” ที่ทำให้คอมพิวเตอร์รู้จักคิดและคาดเดาได้เอง ไม่ต้องพึ่งแต่คำสั่งจากมนุษย์เท่านั้น และด้วยความที่ปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีที่มักมีข่าวผูกอยู่กับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากฟากตะวันตกอย่างเช่นเฟซบุ๊ก หรือกูเกิ้ล ทำให้หลายคนอาจไม่ได้คิดเลยว่า ต้นกำเนิดของ “อัลกอริทึม” อยู่ในฝั่งตะวันออกและมีการพัฒนามานานนับพันปีแล้ว บุคคลสำคัญในการพัฒนาหลักการทางคณิตศาสตร์ข้อนี้มีชื่อว่า มูฮัมหมัด อิบน์ มูซา อัลคอวาริซมีย์ (Muhammad ibn Musa al-Khwarizmi) ชาวมุสลิมเปอร์เซียผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ มีชีวิตอยู่ในระหว่างปลายทศวรรษที่ 8 ถึงกลางศตวรรษที่ 9 ในทางภูมิศาสตร์รัฐอิสลาม (ที่สมัยนั้นมีแบกแดดเป็นศูนย์กลาง) ตั้งอยู่ตรงใจกลางของสองอารยธรรมที่มีความก้าวหน้าในด้านวิทยาการมาแต่โบราณ นั่นคืออารยธรรมกรีกและอินเดีย ประกอบกับองค์กาหลิบ (ผู้ปกครอง) ในยุคนั้นก็ใส่ใจกับความก้าวหน้าทางวิทยาการเป็นอย่างมาก (ไม่เหมือนรัฐอิสลามที่กลุ่มก่อการร้ายพยายามผลักดัน โดยอ้างว่ามาจากการตีความจาก “รากฐาน” ที่แท้จริง) ที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะวิทยาการที่งอกงาม และอัลคอวาริซมีย์ก็เป็นหนึ่งในปัญญาชนที่ได้รับการอุดหนุนผ่าน “สภาแห่งปัญญา” (House of Wisdom) แห่งราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ สภาแห่งปัญญาเป็นองค์กรที่ทำการค้นคว้าและแปลตำราทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาจากภาษากรีก และภาษาสันสกฤต นอกจากนี้แล้วยังเผยแพร่งานวิจัยที่ปัญญาชนของสำนักร่วมคิดและพัฒนาขึ้นมาเอง อัลคอวาริซมีย์มีผลงานกับสภาอยู่หลายชิ้น เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งพีชคณิตเพราะงานที่ชื่อว่า Al-Kitab al-mukhtasar fi hisab al-jabr wa’l-muqabala หรือ หลักพื้นฐานว่าด้วยการคืนค่าและการทดแทน (สมการ) โดยคำว่า “al-jabr” ได้แผลงมาเป็นคำว่า “algebra” หรือพีชคณิตในภาษาอังกฤษ งานอีกชิ้นที่สำคัญก็คือ ตำราอธิบายวิธีการเขียนตัวเลขและคิดคำนวณด้วยเลขฐานสิบ ซึ่งเป็นวิธีการที่พัฒนามาก่อนหน้านั้นเป็นร้อยปีในอินเดีย หนังสือเล่มนี้ถูกเอาไปแปลเป็นละตินในอีกสามร้อยปีต่อมา อันเป็นที่มาของระบบตัวเลขและการคำนวณแบบ “ฮินดู-อารบิก” ที่ใช้กันทั่วโลกในทุกวันนี้ ชื่อหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นภาษาละตินก็คือ “Algoritmi de numero Indorum” ซึ่งคำว่า Algoritmi ก็คือชื่อของอัลคอวาริซมีย์ที่ทับศัพท์เป็นละติน และเป็นที่มาของคำว่า “อัลกอริทึม” (algorithm) หรือกระบวนการหาคำตอบอย่างเป็นขั้นตอนที่ใช้ในระบบคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ด้วยความที่อัลคอวาริซมีย์คือผู้วางรากฐานวิธีการคำนวณและการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ในยุคหลังจึงให้เกียรติใช้ชื่อเขาเรียกกระบวนการดังกล่าว ขณะที่ในสมัยของเขากระบวนการคำนวณหาค่าตัวแปรที่เขาคิดค้นขึ้นนั้น มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาในครอบครัวว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินมรดกตามกฎหมายอิสลาม อัลคอวาริซมีย์จึงเป็นตัวอย่างของมุสลิมหัวก้าวหน้าในยุคที่รัฐอิสลามรุ่งเรือง การศึกษาศาสตร์ของทั้งกรีกและอินเดียทำให้เขาแตกฉาน กลายเป็นผู้วางรากฐานด้านคณิตศาสตร์สมัยใหม่ การแปลหนังสือของเขาไปเผยแพร่ในยุโรปถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดยุคทองแห่งปัญญา ชื่อของเขาจึงสมที่จะได้รับการยกย่องทั้งในตะวันออกและตะวันตก   ที่มา: https://www.britannica.com/biography/al-Khwarizmi https://www.theguardian.com/science/2002/sep/05/research.science2 https://www.theguardian.com/books/2018/sep/20/from-arabic-to-algae-like-ai-the-alarming-rise-of-the-algorithm- https://www.nytimes.com/2000/05/21/books/software-etc.html?searchResultPosition=5