“แพทริก ดาวน์ส, เจสสิกา เคนสกี้” คู่รักบอสตันสตรองที่เยียวยาตัวเองด้วยการวิ่งหลังเสียขาสามข้างจากระเบิดบอสตันมาราธอน

“แพทริก ดาวน์ส, เจสสิกา เคนสกี้” คู่รักบอสตันสตรองที่เยียวยาตัวเองด้วยการวิ่งหลังเสียขาสามข้างจากระเบิดบอสตันมาราธอน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเวลาบ่ายสองสี่สิบเก้า ของวันที่ 15 เมษายน 2013 บริเวณถนนบอยล์สตัน จุดเข้าเส้นชัยของ "บอสตัน มาราธอน" รายการวิ่งที่จัดต่อเนื่องยาวนานกว่าศตวรรษ ได้เปลี่ยนชีวิตใครหลายคน ซึ่ง แพทริก ดาวน์ส และ เจสสิกา เคนสกี้ คู่รักนักวิ่งก็เป็นสองคนที่เสี้ยววินาทีนั้นได้พรากขาของพวกเขาไปตลอดกาล “แพทริก ดาวน์ส” (Patrick Downes) และ “เจสสิกา เคนสกี้” (Jessica Kensky) คือผู้รอดชีวิตจากเหตุระเบิดในบอสตัน มาราธอน ที่มีผู้บาดเจ็บกว่า 260 ราย มี 16 คนที่ร่างกายไม่เหมือนเดิมจากการสูญเสียอวัยวะบางส่วน และ 3 ชีวิตที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ดาวน์สและเคนสกี้เป็นคู่สามีภรรยาใหม่แกะกล่องที่เพิ่งแต่งงานกันประมาณ 7 เดือนก่อนเหตุการณ์นี้ โดยแพทริก ดาวน์ส เป็นนักเรียนแพทย์ปีสุดท้าย ส่วน เจสสิกา เคนสกี้ เป็นพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งคู่รักการวิ่งเป็นชีวิตจิตใจและเป็นนักวิ่งมาราธอนตัวยง แต่วันนั้นพวกเขาเลือกที่จะมาให้กำลังใจนักวิ่งปอดเหล็กรายอื่น บริเวณใกล้จุดเข้าเส้นชัย ท่ามกลางความชุลมุนหลังเกิดเหตุร้ายแรง ทั้งสองคนถูกส่งตัวไปรักษาแยกจากกันคนละที่ ซึ่งเป็นเวลาเกือบสองอาทิตย์กว่าที่พวกเขาจะได้กลับมาเจอหน้ากันอีกครั้ง ในตอนแรกแพทย์ตัดสินใจตัดขาซ้ายของทั้งคู่ ต่อมาโชคร้ายที่แผลขาขวาของเคนสกี้ติดเชื้ออย่างรุนแรงเลยจำเป็นต้องตัดขาข้างนี้ไปด้วย ทำให้ทั้งสองสูญเสียขารวมกันถึง 3 ข้าง “มันเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายและตกต่ำที่สุดในชีวิตของเรา แต่ก็ดีที่สุดด้วย ถึงจะพูดแล้วฟังดูแปลก ใช่ว่าฉันจะไม่คิดถึงขาของฉัน ฉันคิดถึงมันทุกวัน และหลังจากเป็นผู้ได้รับความใส่ใจและน้ำใจล้นหลามมา อย่างน้อยที่ฉันทำได้คือลุกจากเตียงและพยายามใหม่ และพยายามทำให้โลกนี้เป็นสถานที่ที่สวยงามขึ้น” เจสสิกา เคนสกี้ ได้ให้สัมภาษณ์ท้ายภาพยนตร์เรื่อง Patriot day วินาศกรรมปิดเมือง หนังที่สร้างจากเหตุการณ์จริงในวันนั้นที่กำกับโดย ปีเตอร์ เบิร์ก ทั้งคู่ได้รับการรักษาบาดแผลของร่างกายเป็นพิเศษที่ศูนย์แพทย์ทหารแห่งชาติวอลเตอร์รีดนานหลายปี กว่าที่ทั้งคู่จะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบปกติเหมือนคนทั่วไป แต่รอยแผลที่เกิดขึ้นภายในจิตใจนั้นอาจต้องใช้เวลาเยียวยานานกว่านั้นมาก ซึ่งสามสิ่งที่ทั้งสองคนใช้รักษาคือ การวิ่ง เขียนหนังสือ และ สุนัข แพทริก ดาวน์ส ใช้เวลาสามปีในการกลับมาวิ่งมาราธอนอีกครั้งพร้อมขาซ้ายข้างใหม่ เขาเป็นเหยื่อผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์นี้รายแรกที่เข้าเส้นชัยในบอสตัน มาราธอน ด้วยการวิ่งด้วยขาเทียมหนึ่งข้าง เขาพาตัวเองเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 5 ชั่วโมง 56 นาที 46 วินาที ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาบ่ายสองสี่สิบเก้า เวลาเดียวกับที่ระเบิดได้ปะทุเมื่อสามปีที่แล้ว ปีนี้ต่างกันตรงที่เส้นชัยแห่งเดียวกันนี้ สิ่งที่รอคอยเขาอยู่ไม่ใช่ระเบิด แต่เป็น เจสสิกา เคนสกี้ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ใจที่นั่งรถเข็นรอการเข้าถึงจุดหมายของเขา “ราวสองปีหลังจากระเบิด ผมได้รับขาสำหรับวิ่งและเริ่มใช้มันฝึกซ้อม แต่ผมยังไม่รู้ว่าผมจะเข้าเส้นชัยได้มั้ย จนกระทั่งเราเลี้ยวขวาถนนบอยล์สตัน มันเป็นช่วงการแข่งขันที่ยากที่สุดเพราะมันผ่านจุดที่ระเบิดปะทุและเปลี่ยนชีวิตเรา คร่าชีวิตคนอีกสามคน” สำหรับ แพทริก ดาวน์ส ปีศาจอาจไม่ได้อยู่ที่กิโลเมตรที่ 37 เหมือนอย่างที่นักวิ่งมาราธอนหลายคนได้สัมผัสกัน แต่จุดที่ยากลำบากที่สุดสำหรับพิสูจน์จิตใจของเขาคือกิโลเมตรที่ 42 บนถนนบอยล์สตัน ที่ครั้งหนึ่งเกือบพาเขาจากโลกนี้ไปในชั่วเสี้ยววินาทีเดียว ขณะที่ดาวน์สใช้การวิ่งรักษาบาดแผลในจิตใจ เคนสกี้ได้ใช้เวลาในการเขียนหนังสือนิทานเด็กเรื่อง “Rescue & Jessica: A Life-Changing Friendship” เรียงร้อยเรื่องราวของเจสสิกา สาวขาพิการ กับสุนัขนำทาง ที่ต่างช่วยกันเยียวยาและพัฒนามิตรภาพระหว่างกัน โดยกลุ่มเป้าหมายในการบอกเล่าของหนังสือเล่มนี้คือเด็กอายุ 5-9 ขวบ ซึ่งในหนังสือไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้หญิงสาวในเรื่องสูญเสียขา รวมถึงไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นจริงในครั้งนั้นเมื่อปี 2013  เจสสิกาในวัย 34 ได้ให้สัมภาษณ์ว่าการถ่ายทอดเหตุการณ์นั้นผ่านตัวหนังสือ เป็นวิธีการรักษาความรู้สึกที่คั่งค้างอยู่ในจิตใจของเธอตลอดหลายปีนี้ได้อย่างดีที่สุด นอกจากการเขียนแล้ว เคนสกี้ยังได้เจ้า เรสคิว (Rescue) ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์สีดำอายุหกปี ที่เป็นทั้งสุนัขช่วยเหลือ และเพื่อนข้างกายคอยปลอบจิตใจ ไม่ต่างจากในนิทานเด็กที่เธอเขียนขึ้น “มันช่วยพาฉันผ่านทั้งช่วงย่ำแย่ และแจกความสดใจให้กับชีวิต ฉันถือว่ามันเป็นยารักษาที่ดีที่สุดเลย” เรื่องราวการเยียวยาบาดแผลจากเหตุการณ์ที่อาจเรียกได้ว่าเลวร้ายที่สุดในชีวิตของทั้งคู่นี้ นอกจากช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนมีกำลังใจในการต่อสู้กับเรื่องยากลำบากที่ได้พบเจอแล้ว ยังทำให้เราได้เห็นด้านดีของระเบิด นั่นคือทำให้เราได้สัมผัสกับสิ่งที่เล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ความรัก” ที่ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากเหตุการณ์นี้ชาวเมืองบอสตัน รวมไปถึงคนจากทั่วโลก ได้มาร่วมแสดงพลังกันในชื่อ "Boston Strong" เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเมืองนี้เข้มแข็งแค่ไหนในการกลับขึ้นมายืนหยัดอีกครั้ง และพร้อมเผชิญหน้าประกาศว่าความดีชนะความชั่วร้ายเสมอ ชาวบอสตันหลายคนได้กล่าวว่าแม้ว่าเสียงระเบิดในวันนั้น ได้คร่าชีวิต อวัยวะ และ ความรู้สึกปลอดภัยของพวกเขาไป แต่มือระเบิดได้มอบสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ตั้งใจ คือเขามอบสำนึกแห่งชุมชนการเป็นส่วนรวมที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเราได้เห็นสิ่งนั้นจากตัวอย่างรอบโลก ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีที่บรัสเซลส์ อิสลามาบัด นีซ ออร์แลนโด แซนเบอร์นาร์ดิโน ปารีส สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแต่ด้านความรุนแรงและเกลียดชังเท่านั้น แต่ยังมีแสงสว่างของสันติภาพซ่อนอยู่ อย่างที่แพทริก ดาวน์ส ได้เล่าถึงความทรงจำในวันนั้น “คนสองคนใช้เวลาเป็นวันเป็นอาทิตย์เพื่อเตรียมการก่อเหตุเกลียดชัง แต่ความรักตอบสนองในชั่ววินาที ระเบิดดังขึ้นแล้วก่อความเสียหาย ความตายและความวินาศรุนแรง แต่ชั่วพริบตาหลังจากนั้น ผู้คนต่างวิ่งตรงมาที่เราเพื่อช่วยเหลือ”   ที่มา : https://www.boston.com https://www.washingtonpost.com http://scottmagoon.com/rescue-jessica https://heavy.com https://www.huffpost.com https://www.insideedition.com