รูพอล "ขุ่นแม่" แห่งแดรกควีน ผู้ยกวงการแดรกจากใต้ดินสู่บนดิน
หากพูดถึงคำว่า “แดรกควีน” ในเมืองไทยเมื่อสักสิบปีก่อน หลายคนอาจจะทำหน้างงใส่พร้อมกับถามว่า “แดรกควีนคืออะไร” แต่ปัจจุบันหลายคนน่าจะพอเข้าใจคำนี้มากขึ้น หรืออย่างน้อยก็อาจจะพอนึกภาพของกลุ่มชายผู้มีใจรักสวยรักงามในชุดเดรสวิบวับอลังการ ที่กำลังโยกย้ายบนเวทีไปพร้อมกับเสียงเพลงและแสงไฟ หรือบางคนก็อาจจะนึกถึงรายการหนึ่งบน LINE TV อย่าง Drag Race Thailand
แม้ว่าแดรกควีนจะเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อไม่นานมานี้ แต่ประวัติศาสตร์ของแดรกนั้นลากยาวมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เมื่อบทประพันธ์ของเชคสเปียร์มีนักแสดงชายล้วนเป็นผู้เล่น เพราะโรงละครโกลบ เธียเตอร์ ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าแสดงด้วยเหตุผลทางศาสนา บรรดานักแสดงชายที่แต่งสาวเพื่อมารับบทตัวละครหญิงถูกเรียกว่า Drag ต่อมามีการผนวกคำว่า Drag เข้ากับ Queen กลายเป็นคำว่า Drag Queen ซึ่งเป็นคำนิยามของผู้ชายที่แต่งตัวเป็นหญิงเพื่อการแสดง
แดรกควีนในรูปแบบที่หลายคนคุ้นเคยนั้นเกิดขึ้นราว ๆ ค.ศ. 1960 เมื่อสิทธิชาว LGBT ถูกกดขี่อย่างรุนแรง แดรกควีนและชาวสีรุ้งจึงรวมตัวกันเป็นชุมชนใต้ดิน ที่ทุกคนสามารถแต่งตัวในแบบที่ตนต้องการ ร้องเล่นเต้นรำ และเผยความเป็นตัวตนได้อย่างอิสระ จนพ้นช่วงปี 1970 ชาว LGBT เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น ส่งผลให้วัฒนธรรมแดรกเริ่มปรากฏสู่สื่อบนดิน
“แดรก” ได้กลายมาเป็นรูปแบบการแสดงที่ “แดรกควีน” จะแปลงกายเป็นหญิงสาวในยามค่ำคืนเพื่อทำการแสดงหลากหลายรูปแบบให้กับผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นการร้อง การเต้น การลิปซิงค์ หรือเดี่ยวไมโครโฟน
แต่ถึงอย่างนั้น แดรกในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ก็ยังเป็นเพียงการแสดงที่นิยมกันในกลุ่มเล็ก ๆ จนถึงช่วงประมาณปี 2010 เป็นต้นมา แดรกเริ่มกลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และได้ปรากฏบนสื่อกระแสหลักอย่างภาพยนตร์หรือเพลง ซึ่งบุคคลที่เรียกได้ว่ามีคุณูปการในการผลักดันแดรกเข้าสู่สปอตไลท์คือ อองเดร ชาร์ลส (Andre Charles) หรือ รูพอล (RuPaul) เจ้าของรายการ Rupaul’s Drag Race รายการต้นลิขสิทธิ์ของ Drag Race Thailand
รูพอลเกิดที่เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในปี 1960 และได้ย้ายไปอาศัยกับพี่สาวที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ขณะอายุ 15 ปี เขาเข้าเรียนที่ Northside School of Performing Arts โรงเรียนสำหรับศิลปะและการแสดงโดยเฉพาะ แม้ว่าสุดท้ายเขาจะเรียนไม่จบก็ตาม แต่ความรักในการแสดงของรูพอลทำให้เขาเลือกที่จะเดินหน้าในฐานะแดรกควีน และเริ่มต้นการแสดงของตนเองในผับท้องถิ่น
ความทะเยอทะยานของรูพอลไม่ได้สิ้นสุดที่ผับเล็ก ๆ ในแอตแลนต้า เพราะในปี 1987 รูพอลได้ย้ายเข้าสู่เมืองแห่งแสงสีอย่างนิวยอร์กและทำการแสดงตามผับ ที่นั่นรูพอลเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นและได้ปรากฏตัวตามรายการโทรทัศน์ เช่น The Gong Show และ MTV อีกทั้งยังมีเพลงเป็นของตัวเองเป็นครั้งแรก คือเพลง Supermodel (You Better Work)
แต่สิ่งที่เปลี่ยนชีวิตของรูพอลและวงการแดรกอย่างสิ้นเชิง คือการตัดสินใจทำรายการ Rupaul’s Drag Race ในปี 2009 รายการที่เปิดให้แดรกควีนเข้ามาแข่งขันในโจทย์ต่าง ๆ ซึ่งทดสอบความสามารถของแดรกควีนอย่างรอบด้าน ทั้งการเต้น การลิปซิงค์ เซนส์ทางแฟชั่น หรือแม้แต่การเล่นตลก โดยมีรูพอลเป็นผู้ตัดสินด้วยตัวเอง
แม้รายการ Rupaul’s Drag Race จะไม่ได้รับความสนใจมากนักในช่วงแรก แต่ความนิยมของรายการกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและล้นหลาม ภายใน 10 ปี Rupaul’s Drag Race ได้ทำต่อเนื่องมาถึง 11 ซีซันหลัก และอีก 4 ซีซันพิเศษ (Rupaul’s Drage Race: All Star) อีกทั้งยังมีซูเปอร์สตาร์จำนวนมากมาเป็นแขกรับเชิญในรายการ ไม่ว่าจะเป็น เลดี กาก้า, คริสตินา อากีเลรา, เดมี โลวาโต และ คารา เดอเลวีญ จนในปี 2018 รายการ Rupaul’s Drag Race ก็ได้รับรางวัล Outstanding Reality Show Program จากเวที Emmys Award ซึ่งถือเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จของรายการ และความภาคภูมิใจของวงการแดรก
ส่วนตัวรูพอลเองก็ไม่น้อยหน้า เขาได้รับรางวัล Outstanding Host for a Reality or Reality-Competition Program จาก Emmy Award ทั้งในปี 2016 และ 2018 นอกจากนี้ รูพอลยังเป็นแดรกควีนคนแรกที่ได้รับการสลักชื่อบนถนน Hollywood Walk of Fame ถนนที่สลักชื่อของผู้มีชื่อเสียงซึ่งมีอิทธิพลในสื่ออเมริกา รูพอลถูกยกให้เป็นตัวแม่ของวงการแดรก ที่แดรกควีนน้อยใหญ่ต่างพากันเรียกเธอว่า “คุณแม่รู” (Mama Ru)
“รายการนี้จะฆ่าผู้เข้าแข่งขัน และทำให้พวกเธอเกิดใหม่เป็นแดรกควีนที่ดียิ่งกว่าเดิม” รูพอลกล่าวในรายการวิทยุ On Point ซึ่งนั่นก็ไม่ได้หลุดไปจากความเป็นจริงสักเท่าไหร่นัก เพราะไม่ว่าผู้เข้าแข่งขันจะต้องเจอเรื่องท้าทายในรายการที่บีบบังคับให้พวกเธอต้องฝ่าฟันถึงขนาดไหน เมื่อจบรายการ ทุกคนล้วนแต่มีชื่อเสียงเพิ่มขึ้น และได้รับโอกาสในวงการมากกว่าเดิม จนทำให้ Rupaul’s Drag Race กลายเป็นเวทีแจ้งเกิดของแดรกควีนจำนวนมาก
“รายการของเรามีแดรกควีนทั้งหมด 100 คน (ปัจจุบันเป็น 140 คน) ที่มีงานทั้งในและนอกประเทศจากรายการ” รูพอลกล่าวกับ VICE “สิ่งที่ฉันภูมิใจที่สุดคือการที่รายการสามารถเป็นตัวผลักดันให้พวกเขา (ผู้เข้าแข่งขัน) ได้เติบโตในหน้าที่การงาน”
ถึงรูพอลในปัจจุบันจะกลายเป็นไอคอนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่ต่างจาก LGBT คนอื่นในสังคม รูพอลยังต้องเจอกับการเหยียดหยามและการไม่ยอมรับ แม้แต่ในวันที่เขาได้แต่งงานกับสามี รูพอลก็ยังต้องเจอกับกลุ่มนักเลงคีย์บอร์ดที่เรียกงานแต่งของเขาว่าเป็นสิ่ง “น่ารังเกียจ” และบอกให้รูพอล “ฆ่าตัวตายไปซะ” ซึ่งรูพอลก็คงความเป็นตัวแม่พร้อมกับตอกกลับไปอย่างสวย ๆ ด้วยการยกเนื้อร้องจากเพลง “I Hear the Symphony” ของ The Supreme ไปว่า
“ฉันไม่ได้ร้องไห้ให้ตัวเอง แต่ฉันร้องไห้ให้พวกคุณที่ไม่เคยรับความสุขแบบที่เราได้รับ”
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดนอกเหนือไปจากการเคารพตัวเอง คือการที่รูพอลกลายเป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ชาว LGBT ได้มีพื้นที่ให้การแสดงความเป็นตัวเองสู่สายตาสังคม รูพอลกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หนุ่มสาวหลายคน ไม่ว่าจะเป็น LGBT หรือไม่ก็ตาม ให้พวกเขามีความกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง แต่สิ่งเหล่านี้คงจะไม่เกิดขึ้นหากรูพอลเลือกที่จะปกปิดตัวตนที่แท้จริงตั้งแต่ต้น
“คนอื่นจะคิดยังไงกับฉัน มันก็ไม่ใช่ปัญหาของฉัน ฉันทำในสิ่งที่ฉันอยากทำ สิ่งที่คนอื่นคิดเกี่ยวกับฉันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวฉันได้ ฉันไม่ได้ทำในสิ่งที่จะทำให้คนยอมรับฉัน ฉันทำในสิ่งที่ทำให้ฉันตื่นเต้น”
ท้ายที่สุดแล้วกุญแจสำคัญที่ทำให้รูพอลประสบความสำเร็จในวันนี้ คือการเลือกที่จะรักตัวเอง และเผื่อแผ่ความรักนั้นสู่คนอื่น ๆ เหมือนกับคำกล่าวที่เธอพูดทุกครั้งก่อนปิดรายการ
“ถ้าคุณยังรักตัวเองไม่ได้ แล้วคุณจะรักคนอื่นได้อย่างไร!”
ข้อมูลจาก
https://allthatsinteresting.com/history-of-drag-queens
https://www.britannica.com/biography/RuPaul
https://www.biography.com/personality/rupaul
https://www.wbur.org/onpoint/2018/10/22/rupaul-drag-race-guru
https://www.imdb.com/title/tt1353056/awards
https://www.vice.com/sv/article/yvjbww/the-vice-interview-rupaul
https://www.gaystarnews.com/article/rupaul-targeted-homophobia-revealing-marriage-partner-23-years/#gs.aa7lff
เรื่อง: พัทธมน สินธุวณิชเศรษฐ์ (The People Junior)