08 พ.ค. 2562 | 16:49 น.
- พันเอก เคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค (Claus von Stauffenberg) คือนายทหารผู้ต่อต้านฮิตเลอร์ และลงมือในปฏิบัติการลอบสังหารผู้นำนาซีเยอรมัน
- ปฏิบัติการของเขาล้มเหลวเนื่องจากหลายปัจจัย ที่ส่งผลมากข้อหนึ่งกลับเป็นเรื่องความเคราะห์ร้าย
- เรื่องราวของเขาถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ Valkyrie นำแสดงโดย ทอม ครูซ
ชีวิตตอนหนึ่งของ พันเอกเคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค (Claus von Stauffenberg) ได้ถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง ‘Valkyrie’ ว่าด้วยแผนการลับรัฐประหารด้วยการลอบฆ่า ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ ผู้นำสูงสุดของนาซีเยอรมนี
เรื่องเริ่มต้นเมื่อตอนที่เขาอยู่ในสมรภูมิรบทวีปแอฟริกา ที่ที่เขาถูกโจมตีด้วยเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรจนสูญเสียตาข้างซ้าย มือขวา และเหลือนิ้วแค่ 3 นิ้วบนมือซ้าย เมื่อเขาเดินทางกลับเยอรมนีก็เข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้านฮิตเลอร์ด้วยความแน่วแน่
บทเรื่องที่เดินเป็นเส้นตรงเช่นนี้จึงไม่ยากที่คนจะคิดตามว่า ชเตาเฟินแบร์ค คือนายทหารในอุดมคติ ผู้ยอมสละชีวิตเพื่อชาติ มุ่งมั่นกำจัดเผด็จการที่เลวร้ายที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่ความจริงแล้วเบื้องหลังของชเตาเฟินแบร์คมีความซับซ้อนมากกว่านั้น
ชเตาเฟินแบร์ค เกิดในตระกูลชนชั้นสูงของเยอรมัน ตัวเขาเองมีบรรดาศักดิ์เป็น ‘เคาต์’ นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก เชื่อในความสูงส่งของเชื้อชาติเยอรมัน และรังเกียจชาวยิว ทำให้เขามีแนวคิดที่สอดคล้องกับพรรคนาซี ทั้งยังรังเกียจระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของสาธารณรัฐไวมาร์เหมือนกัน
“จริง ๆ แล้วชเตาเฟินแบร์ค เป็นอะไรที่มากกว่าฮีโรหนังแอ็กชันที่มีแรงผลักดันจากศีลธรรมอันเคร่งครัดตามสไตล์หนังฮอลลีวูดที่ต้องการฉายภาพทุกอย่างให้มันดูขัดแย้งอย่างชัดแจ้งระหว่างความดีกับความเลว
เขามีหลักศีลธรรมนำทางที่ผสมผสานกันของคำสอนทางคาทอลิก ประกอบกับเกียรติยศของอภิชนแบบกรีกโบราณ และกวีโรแมนติกของเยอรมัน
เหนืออื่นใดสำนึกทางศีลธรรมของเขาเติบโตขึ้นภายใต้อิทธิพลของสเตฟาน จอร์จ (Stefan George) กวีผู้มีความทะเยอทะยานที่จะปลุก 'สมาคมลับแห่งเยอรมนี' ขึ้นมากวาดล้างลัทธิวัตถุนิยมให้หมดไปจากสาธารณรัฐไวมาร์ และฟื้นฟูวิถีชีวิตของชาวเยอรมันกลับสู่จิตวิญญาณที่แท้จริง
ชเตาเฟินแบร์ค มองหาหนทางที่จะคืนชีพอาณาจักรไรซ์ในยุคกลางตามอุดมคติ ด้วยเชื่อว่ายุโรปจะก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและอารยธรรมขึ้นไปอีกระดับภายใต้การนำของเยอรมนี” ริชาร์ด เจ. อีแวนส์ (Richard J. Evans) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เยอรมนีกล่าว (Sign and Sight)
จากคำบอกเล่าของอีแวนส์ ชเตาเฟินแบร์ค ตอนแรกก็ตื่นเต้นไปกับแนวนโยบายของพรรคนาซี ให้การสนับสนุนฮิตเลอร์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 1932 และยินดีกับการที่ฮิตเลอร์ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในต้นปีถัดมาโดยได้ร่วมเดินขบวนบนท้องถนนกับการแต่งตั้งคราวนั้น
ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคนาซี แต่เขาก็เชื่อว่าพรรคนาซีคือขบวนการที่จะช่วยฟื้นฟูชาติด้วยการรื้อถอนระบอบรัฐสภาที่อ่อนแอ และเชื่อในการสร้างเชื้อชาติเยอรมันที่บริสุทธิ์ รวมทั้งการขจัดอิทธิพลของชาวยิว (แม้ว่าเขาจะไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในการกำราบชาวยิวก็ตาม)
เมื่อสงครามเริ่มต้นขึ้น ด้วยชัยชนะอันรวดเร็วและน่าทึ่งทำให้ความเคลือบแคลงลังเลในการทำสงครามของชเตาเฟินแบร์คจางหายไป และเชื่อว่ามันคือก้าวแรกในการสร้างยุโรปในอุดมคติดังที่กวีคนโปรดของเขาได้วาดฝันไว้ เขาเข้าร่วมรบในสงครามด้วยความกล้าหาญและกระตือรือร้นในช่วงสองปีแรกของสงคราม ก่อนที่จะเริ่มตาสว่างเมื่อกองทัพเยอรมนีรุกรานโซเวียต
เขาที่อยู่ในแนวหน้าระลึกได้แล้วว่าความทะเยอทะยานทางการทหารของฮิตเลอร์ไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ การทำสงครามกับกองทัพแดงทำให้เยอรมนีต้องบอบช้ำอย่างหนัก ชเตาเฟินแบร์คจึงเห็นประจักษ์ด้วยตาว่าสงครามของฮิตเลอร์ได้ผลาญทรัพยากรของเยอรมนีจนเกินกว่าจะรับได้ และความล้มเหลวเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว
ยิ่งกว่านั้นการฆ่าพลเรือนและเชลยศึกโซเวียตหลายล้านราย การปล้นทรัพย์สินทั้งรัฐทั้งประชาชนบนแผ่นดินข้าศึก และการสังหารหมู่ชาวยิว ทำให้เขาเห็นว่ารัฐบาลนาซีได้ทำลายความรู้สึกดี ๆ ในตอนต้นของประชาชนที่ได้รับการปลดปล่อยจากระบอบสตาลิน และยังเป็นการทรยศต่อแนวคิดการสร้างยุโรปใหม่ภายใต้ระบอบไรซ์อันโอบอ้อมอารี ซึ่งสำหรับเขาถือว่านั่นเป็นการทรยศต่ออุดมการณ์ของนาซีเองด้วย
การต่อต้านฮิตเลอร์และนาซีของเขาจึงเริ่มมาจากเรื่องของการทหารที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการรบในด้านตะวันออก ประกอบกับการใช้กองทัพในการก่ออาชญากรรมอันเลวร้าย ทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมแผนการสังหารฮิตเลอร์เพื่อไม่ให้ประเทศถลำลึกสู่ความฉิบหาย
ความพยายามในการลอบสังหารฮิตเลอร์เกิดขึ้นมาหลายครั้ง ก่อนหน้าที่ชเตาเฟินแบร์คจะเป็นผู้ลงมือ แต่แผนการในวันที่ 20 กรกฎาคม 1944 คือครั้งที่ใกล้เคียงที่สุดกับการปลิดชีพผู้นำนาซี
แผนการนี้มีหัวขบวนอยู่หลายคนเช่น นายพลเกษียณอายุ ลุดวิก เบก (Ludwig Beck) พลตรีเฮนนิง ฟ็อน เทรสคอว์ (Henning von Tresckow) และผู้นำกองทัพอีกหลายคน โดยมีชเตาเฟินแบร์ค เป็นผู้ลงมือ เขาคือผู้นำกระเป๋าเอกสารบรรจุระเบิดไปวางทิ้งไว้ในห้องประชุมของฐานทัพลับ (Wolf Lair - รังหมาป่า) ซึ่งฮิตเลอร์เข้าร่วมประชุมกับบรรดาผู้นำกองทัพ ก่อนใช้ข้ออ้างในการออกจากห้องประชุม
เขาได้เห็นการระเบิดด้วยตาตนเอง และเชื่อว่าฮิตเลอร์เสียชีวิตแล้วจึงได้เดินทางไปยังเบอร์ลินเพื่อร่วมกับผู้ร่วมแผนการอื่น ๆ ซึ่งตามแผนต้องทำการยึดกองบัญชาการใหญ่ แต่แผนการของพวกเขาต้องล้มเหลวเนื่องจากความลังเลผสมกับความโชคร้าย เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้าร่วมประชุมกับฮิตเลอร์เลื่อนกระเป๋าบรรจุระเบิดที่ขวางหน้าเขาไปด้านไกลของขาโต๊ะไม้โอ๊คขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยบรรเทาแรงระเบิดทำให้ฮิตเลอร์รอดชีวิตมาได้โดยได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย
ขณะที่ผู้ร่วมแผนการรายอื่น ๆ ก็ไม่กล้าลงมือเพราะไม่แน่ใจว่าฮิตเลอร์ตายจริงหรือไม่? ยิ่งมีข่าวลือ (เพราะตอนนั้นยังยืนยันไม่ได้) ว่าฮิตเลอร์รอดมาจากการโจมตีมาได้ก็ยิ่งทำให้นายทหารหลายคนที่ตอนแรกรับปากจะทำตามแผนละมือไป บ้างก็ฆ่าตัวตาย บ้างก็แปรพักตร์ไปเข้ากับฝ่ายรัฐบาล เช่น นายพลฟรีดริช ฟรอมม์ (Freidrich Fromm) ที่รู้เห็นกับแผนการ แต่พอรู้ว่าล้มเหลวก็สั่งจับกุมผู้ก่อการ (รวมถึงชเตาเฟินแบร์ค) และรีบสั่งประหารเพื่อปิดปากไม่ให้ภัยถึงตัวแต่สุดท้ายก็ไม่รอด เขาและผู้ต้องสงสัยอีกนับร้อยต้องสังเวยชีวิตกับความล้มเหลวในครั้งนี้ (Britannica)
อีแวนส์ (นักประวัติศาสตร์อังกฤษที่ได้อ้างไว้ก่อนหน้านี้) กล่าวว่า ชเตาเฟินแบร์คเองก็คิดอยู่แล้วว่า การสังหารฮิตเลอร์ ณ เวลานั้น ซึ่งเกิดขึ้นหลังการยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตรที่นอร์มังดี ต่อให้สำเร็จจริงก็อาจไม่ได้ช่วยอะไรในการเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้มากนัก แต่ผู้ร่วมก่อการพยายามชักนำให้เขาลงมือให้ได้ โดยชี้ว่าต่อให้มันไม่มีผลในเชิงปฏิบัติ ถึงอย่างนั้นก็ต้องแสดงให้โลกเห็นว่า ฝ่ายต่อต้านในเยอรมนีพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้
ไม่ว่าเขาจะมีอุดมการณ์อย่างไร สำหรับชาวเยอรมันชเตาเฟินแบร์คคือแบบอย่างของผู้รักชาติที่พร้อมสละชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย แต่หากเปรียบเทียบชีวิตจริงกับชีวิตในหนังจะเห็นได้ว่า การเล่าเรื่องโดยละเว้นเบื้องหลังอุดมการณ์ของชเตาเฟินแบร์ค อาจทำให้คนคิดไปได้ว่าเขาลุกขึ้นสู้เผด็จการเพราะเชื่อในสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค (ซึ่งเป็นค่านิยมสากลในปัจจุบัน) หรือไม่?
ขณะที่ในความเป็นจริง เขาและนาซีมีอุดมการณ์ที่ซ้อนทับกัน แต่เห็นต่างในวิธีการ จึงพยายามกำจัดฮิตเลอร์เพื่อยับยั้งหายนะที่จะตามมาในฐานะผู้แพ้สงครามโดยไม่อาจต่อรอง (ซึ่งเขาทำไม่สำเร็จ)
เรื่อง: อดิเทพ พันธ์ทอง
ภาพประกอบ: (ขวา) ภาพของ เคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค จัดแสดงในอนุสรณ์สถานขบวนการต่อต้านรัฐบาลนาซีในกรุงเบอร์ลิน (ซ้าย) ทอม ครูซ นักแสดงในภาพยนตร์ Valkyrie