‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ มือกฎหมายเบื้องหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับพิสดาร

‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ มือกฎหมายเบื้องหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับพิสดาร

‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ ปรมาจารย์กฎหมายเบื้องหลังรัฐธรรมนูญฉบับพิสดาร เนติบริกรห้วงรัฐประหาร(บางช่วง) ผู้มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยหลายครั้ง

ถ้าจะบอกว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ คือผู้เกิดยุคสงครามโลก เติบโตในกระแสคลั่งชาติ และเขียนรัฐธรรมนูญในยุค Gen Y ก็คงไม่ผิดนัก

สังคมอาจไม่ค่อยรับรู้ในวงกว้างว่า นายมีชัยเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เพราะบทบาทที่เด่นกว่าของเขาคือผู้เขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำลังสร้างปัญหาจากกติกาการเมือง อย่างวิธีเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม สร้างสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ฉบับพิสดาร ให้อำนาจ ส.ว.แต่งตั้งร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลผสม ทำให้ประเทศอยู่บนความสุ่มเสี่ยงเกิดวิกฤตการเมืองซ้ำรอยอดีต แต่อีกด้านก็มีผู้เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่ากติกาดังกล่าวเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ประเทศกลับสู่บรรยากาศแห่งความปรองดองและมีเสถียรภาพอีกครั้ง

นายมีชัย เกิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ที่ อ.วิเศษไชยชาญ จ.อ่างทอง เติบโตมาในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และการหล่อหลอมแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม เจ้าของวาทะเด็ด “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ที่ออกรัฐนิยมมาหลายฉบับ เพื่อสร้างไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ

ในยุคที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปกครองประเทศด้วยอำนาจเผด็จการเมื่อต้นทศวรรษ 2500 เป็นช่วงที่นายมีชัยเข้าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย เขาเข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ชื่อรุ่น 01 มีเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง นายสมัคร สุนทรเวช นายชวน หลีกภัย และนายอุทัย พิมพ์ใจชน

หลังเรียนจบ เขาได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านกฎหมายเปรียบเทียบ ที่ Southern Methodist University สหรัฐอเมริกา และได้รับมอบปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ ด้านกฎหมาย อีก 4 ใบ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ Adamson University ประเทศฟิลิปปินส์

เขาสมรสกับคุณหญิงอัมพร มีบุตรสาว 2 คน คือ นางมธุรส โลจายะ และ นางมยุระ ช่วงโชติ ซึ่งรายหลังเคยตกเป็นข่าวดังเมื่อปลายปี 2560 จากกรณีพ่อแต่งตั้งลูกเป็นเลขาฯ ส่วนตัว เทียบเท่าตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กระทั่งนางมยุระทนแรงกดดันไม่ไหวต้องขอลาออก ส่วนนายสมชัย ฤชุพันธุ์ น้องชายร่วมสายเลือดเพียงคนเดียวของนายมีชัย ก็ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ

ชีวิตการทำงานของนายมีชัยอยู่ในส่วนราชการมาตลอด เส้นทางของเขาก้าวหน้าในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่อยมา ได้รับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายในหลายรัฐบาล ทั้งสมัยนายสัญญา ธรรมศักดิ์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, นายธานินทร์ กรัยวิเชียร และเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เจ้าของตำนาน นายกรัฐมนตรีคนนอกจากเสียงข้างน้อย ที่ชนะโหวตในสภาด้วยเสียง ส.ว. แต่งตั้ง 225 เสียงขณะนั้น ส่วน ส.ส.เสียงข้างมาก 215 คน ที่ได้รับเลือกจากประชาชนต้องกระเด็นไปเป็นฝ่ายค้าน เมื่อปี 2522

เกือบทั้งชีวิตของนายมีชัยโลดแล่นบนเส้นทางนักกฎหมาย บางช่วงก็เป็นเนติบริกรในยุครัฐประหาร

จังหวะการทำงานของเขาครั้งหนึ่งคือเมื่อครั้งเป็นประธานยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 ออกแบบกลไก “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ปูทาง พล.อ.สุจินดา คราประยูร หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งเคยยืนยันว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ แต่แล้วก็ต้อง “เสียสัตย์เพื่อชาติ” รับตำแหน่งเป็นนายกฯ คนที่ 19 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จุดชนวนการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่บนถนนราชดำเนิน ที่สุดกองทัพเข้าปราบปรามการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและสูญหายร่วมร้อยราย บาดเจ็บอีกเกือบ 2,000 คน

อ่านเรื่อง พลเอก สุจินดา คราประยูร ความเป็นมาของ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” สุนทรพจน์เคล้าน้ำตา วาทะจาก ‘พลเอก สุจินดา คราประยูร’

ต่อมา รัฐประหารในปี 2549 โดยการนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นายมีชัยคือผู้อยู่อยู่เบื้องหลังการเขียนแถลงการณ์ ประกาศและคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

ขณะนั้นเขาได้รับมอบหมายให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ร่วมกับ นายวิษณุ เครืองาม และ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และยังได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ประมุขสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม ปี 2549 -21 มกราคม ปี 2551 ออกกฎหมายสำคัญหลายฉบับ จนได้รับฉายาจากสื่อมวลชนให้เป็น สภาฯ “ขัน (ที) สีเขียว” ส่วนนายมีชัยได้ฉายา “ซีอีโอ สนช.” (สนช.-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เพราะไม่ทำให้ผู้แต่งตั้งผิดหวัง

ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายมีชัยนำโมเดลรัฐธรรมนูญปี 2534 มาปัดฝุ่นใช้ โดยออกแบบกลไกพิสดาร ย้อนกลับไปในยุค “พรรคทหาร รัฐบาลผสม และนายกรัฐมนตรีคนนอก” ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ประเทศวนเวียนอยู่ในความขัดแย้ง

อย่างไรก็ดี ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายอย่างหาตัวจับยากคนหนึ่งของเมืองไทย นายมีชัยจึงได้รับการยกย่องในฐานะปรมาจารย์ด้านกฎหมาย เป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มีลูกศิษย์ลูกหาและผู้นับถือจำนวนไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ซึ่งเคยเปรียบนายมีชัยดั่ง “พญาครุฑ” ได้รับความไว้วางใจจากหลายรัฐบาลให้รับตำแหน่งสำคัญในฝ่ายบริหาร เช่น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี หลังวิกฤตพฤษภาทมิฬ  และประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ

หลังจบภารกิจเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นายมีชัยในวัย 80 กว่าปี ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวทางการเมืองมาหลายยุคหลายสมัย กลับไปทำหน้าที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้แก่องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ และให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนทั่วไปผ่านเว็บไซต์ “ถาม-ตอบ กับมีชัย” พร้อมประกาศวางมือ ไม่ร่างรัฐธรรมนูญอีกต่อไป


เรื่อง: วันเพ็ญ มอลเลอร์ 

ภาพ: เว็บไซต์รัฐสภา