ซีอุย จริยธรรมของพิพิธภัณฑ์กับการจัดแสดงศพมนุษย์
พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้แขนงต่าง ๆ ทั้งประวัติศาสตร์ การเมือง ศิลปะ วัฒนธรรม หรือวิทยาศาสตร์ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้แก่ประชาชนทั่วไป พร้อม ๆ กับเป็นการให้ "ความบันเทิง" แก่ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ (ซึ่งในข้อหลังน่าจะเป็นจุดประสงค์หลักของประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีความสนใจในเชิงวิชาการในการเข้าชม)
และหนึ่งในความบันเทิงของมนุษย์ก็คือการได้เห็นสิ่งแปลก ๆ พิพิธภัณฑ์ที่รุ่งเรืองขึ้นมาในยุคล่าอาณานิคมจึงเต็มไปด้วยสิ่งของจัดแสดงจากดินแดนอาณานิคมห่างไกล ทั้งศิลปะวัตถุ สัตว์ และพืชชนิดต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งชนพื้นเมืองที่ถูกจับมาจัดแสดงในรูปแบบของสวนสัตว์มนุษย์ หรือซากศพที่ถูกขุดค้นขึ้นมาโดยมิได้เคารพถึงจารีตประเพณี และความเชื่อของชนกลุ่มนั้น ๆ
สำหรับการจัดแสดงศพของมนุษย์โบราณในพิพิธภัณฑ์ โดยทั่วไปถือเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่รับได้ นักโบราณคดีเชื่อว่ามันคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เพื่อแสดงถึงความแตกต่าง และพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ ที่สำคัญคนเหล่านี้ตายมานานจนตัดขาดจากมนุษย์ยุคปัจจุบัน จึงไม่มีใครคิดจะมาเรียกร้องสิทธิ หรืออ้างกรรมสิทธิ์เพื่อเรียกคืนศพเหล่านี้
แต่หากศพของบุคคลนั้นร่วมสมัยกับคนยุคปัจจุบัน หรือมีความเชื่อมโยงทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม หรือคุณค่าในอุดมคติบางอย่าง การจัดแสดงศพของบุคคลนั้น ๆ ก็อาจกลายเป็นประเด็นทางสังคมขึ้นมาได้
สำหรับในประเทศไทยพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงศพมนุษย์ร่วมสมัยที่ใหญ่ที่สุดคงหนีไม่พ้นพิพิธภัณฑ์การแพทย์และนิติเวชศาสตร์ของโรงพยาบาลศิริราชที่มีศพมนุษย์ยุคปัจจุบันจัดแสดงอยู่จำนวนมาก ทั้งศพที่ตายผิดธรรมชาติ หรือเกิดมาผิดธรรมชาติ รวมถึงศพนักโทษประหารชื่อดังอย่าง "ซีอุย แซ่อึ้ง"
ซีอุย แซ่อึ้ง เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสังคมไทยในฐานะฆาตกรต่อเนื่องที่ชอบกินตับเด็ก เขาคือชาวจีนจากซัวเถาที่อพยพเข้ามาเมืองไทยเมื่อปี 2489 ทำมาหากินด้วยการใช้แรงงานรับจ้างไม่เป็นหลักแหล่ง หลังอยู่มาได้ราวสิบปีก็ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฆ่าชำแหละศพที่ระยองในปี 2501 เขาให้การรับสารภาพ ก่อนถูกเพิ่มข้อกล่าวหาเข้ามาอีก 6 คดี ซึ่งเบื้องต้นเขาให้การปฏิเสธ แต่หลังถูกควบคุมตัวไว้ 96 ชั่วโมงก็ให้การรับสารภาพในทุกข้อกล่าวหา
อย่างไรก็ดี ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้เขามีความผิดจริงเพียงคดีเดียว คือคดีฆาตกรรมเด็กชายสมบุญ บุณยกาญจน์ ที่จังหวัดระยอง ซึ่งเขาถูกจับตัวไว้ได้ขณะอำพรางศพซึ่งถูกควักตับและหัวใจออกมาใส่ไว้ในตู้กับข้าว
แต่จากข้อมูลของ ปรามินทร์ เครือทอง (Silpa-Mag) นักค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์พบว่า คำให้การสารภาพของซีอุยมีความขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในหลายจุด โดยเฉพาะคำให้การที่ว่าเขาควักตับและหัวใจเด็กออกมากินเหมือนกันในหลายคดี แต่ในข้อเท็จจริงกลับพบว่าคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้าคดีของเด็กชายสมบุญนั้น ศพผู้เคราะห์ร้ายมิได้ถูกควักตับและหัวใจแต่อย่างใด มีเหยื่ออยู่เพียงรายหนึ่งเท่านั้นถูกตัดอวัยวะเพศไปแต่ไม่ได้ถูกควักเครื่องในเช่นเดียวกับศพอื่น ๆ ซ้ำยังมีคดีที่เขาให้การว่าทำร้ายเหยื่อจนถึงแก่ความตาย หากแต่ในข้อเท็จจริงนั้น เหยื่อรอดชีวิตมาได้ มิได้เสียชีวิตดังคำสารภาพ
นอกจากนี้ ซีอุยแม้จะอยู่เมืองไทยมาหลายปีแต่เขาก็พูดไทยไม่ได้ เมื่อให้การก็ต้องให้การผ่านล่าม ระหว่างพิจารณาคดีก็ไม่มีการถามค้าน หรืออ้างพยานใด ๆ ทำให้เขาเสียเปรียบในการต่อสู้คดีเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ในคดีฆาตกรรมเด็กชายสมบุญนั้นพยานหลักฐานถือว่ามัดตัวซีอุยได้อย่างหนักแน่นจนทำให้ศาลเชื่อตามว่าเขากระทำผิดจริง แต่ในคดีนี้เขาก็ยังมิได้ "กินตับเด็ก" แต่อย่างใด แค่ควักมาใส่ตู้กับข้าวเท่านั้น (ปรามินทร์ยังตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องในในตู้กับข้าวจะใช่เครื่องในคนจริงหรือไม่ก็ยังน่าสงสัย เพราะพยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความโดยใช้คำว่า "คล้ายกับตับ-หัวใจของมนุษย์" เท่านั้น) ยิ่งคดีอื่นเขาเพียงถูกกล่าวหาศาลมิได้ตัดสินผิด คำให้การของเขาที่ว่าควักหัวใจและตับมาต้มกินก็ขัดกับข้อเท็จจริง การที่สังคมตัดสินว่าเขาเป็น "มนุษย์กินคน" จึงขัดกับความเป็นจริง
สำหรับพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราชนั้น ถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มุ่งให้ความรู้ทางด้านการแพทย์อย่างจริงจัง และ “ให้เกียรติ” กับร่างของผู้ตายเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการห้ามถ่ายภาพภายในห้องจัดแสดง และไม่มีการเผยตัวตนเจ้าของร่างที่ไร้ชีวิตที่ (น่าจะ) ยินดีอุทิศร่างกายของตนเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ (โดยได้แสดงเจตนาให้ยินยอมไว้ก่อน)
แต่นั่นกลับไม่ใช่มาตรฐานที่นำมาใช้กับ “ซีอุย แซ่อึ้ง” ศพที่ถูกรักษาสภาพของเขาถูกนำมาจัดแสดงไว้โดยมีการระบุไว้ด้วยว่าเป็น “มนุษย์กินคน” ซึ่งถือเป็นศพเดียวที่ทางพิพิธภัณฑ์ระบุชื่ออย่างชัดเจน พร้อมลงประวัติและข่าวเก่าที่ยืนยันว่าเขาเป็นมนุษย์กินคน แม้ว่าในทางคดีจะไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ตาม
ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ที่เห็นว่าการกระทำของทางพิพิธภัณฑ์ไม่เป็นธรรมกับนักโทษประหารรายนี้ เพราะไม่มีข้อยืนยันใด ๆ ที่จะชี้ชัดว่าซีอุยคือ “มนุษย์กินคน” จึงมีการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้ยุติการจัดแสดงร่างของซีอุย “และคืนศักดิ์ศรีและความยุติธรรมให้กับชายผู้นี้ ด้วยการนำร่างของเขาไปประกอบพิธีทางศาสนา และลบล้างตราบาป ‘มนุษย์กินคน’ ด้วยการเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้องในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้”
ในสังคมตะวันตกนั้น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องใหญ่ แม้แต่การจัดแสดงศพของนักโทษประหารอายุนับร้อยปีก็ยังถูกประท้วง หากพบว่านักโทษมิได้ให้ “ความยินยอม” ไว้ก่อนตาย แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยยังถือกันว่า นักโทษประหารสมควรแล้วที่จะต้องถูกประณามหยามเหยียดต่อไป แม้ว่าเขาจะต้องรับโทษทัณฑ์สูงสุดตามกระบวนการยุติธรรมแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ดี นั่นไม่ควรเป็นจุดยืนของพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้ต่อสาธารณะ ทางพิพิธภัณฑ์จึงควรให้คำตอบกับสังคมว่า การประจานซีอุยในข้อกล่าวหาที่ไม่ได้มีการพิสูจน์แน่ชัดนั้นให้อะไรกับสังคมไทย? เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านนิติเวชศาสตร์ตรงไหน? (เพราะร่างกายของซีอุยไม่ได้เป็นหลักฐานที่ใช้ปรักปรำการกระทำผิดของเขา หากเป็นคำสารภาพและคำให้การพยานโจทก์เป็นสำคัญ) มีการให้ความยินยอมจากผู้ตายหรือญาติหรือไม่?
หาไม่แล้ว พิพิธภัณฑ์อาจถูกเข้าใจได้ว่า พยายามใช้ชื่อเสียงของซีอุยเรียกหาผู้เข้าชม (ที่หวังมาดูของแปลก) มากกว่าที่จะให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซ้ำยังมีส่วนต่อการตอกย้ำในความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งอาจจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือและเกิดความสงสัยในจริยธรรมของทางพิพิธภัณฑ์ได้เหมือนกัน