ดักลาส แมกอาเธอร์ ผู้เปลี่ยนฐานะเทพเจ้าของจักรพรรดิให้เป็น "คนธรรมดา"
27 กันยายน 1945 เป็นเวลาราวสามสัปดาห์หลังจากญี่ปุ่นลงนามยอมแพ้สงครามโดยไม่มีเงื่อนไขอย่างเป็นทางการ ญี่ปุ่นในขณะนี้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรที่มี จอมพลดักลาส แมกอาเธอร์ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด
ตลอดระยะเวลาดังกล่าวแมกอาเธอร์เลือกที่จะเก็บตัวไม่ยอมไปพบจักรพรรดิฮิโรฮิโตะประมุขของญี่ปุ่นที่มีสถานะเป็นดั่ง "เทพเจ้าเดินดิน" ตามจารีตประเพณีท้องถิ่น ด้วยเชื่อว่า สุดท้ายแล้วองค์จักรพรรดิที่เคยชินกับการรอให้คนอื่นมาเข้าเฝ้าคารวะจะสมัครใจเดินทางมาพบเข้าเอง ซึ่งก็เป็นไปตามที่นายพลจอมวางแผนคาดหมายไว้
จักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงเดินทางไปพร้อมคณะติดตามโดยไม่มีรถนำขบวน ต้องปฏิบัติตามกฎจราจร หยุดรถทุกแยกที่ติดไฟแดงเยี่ยงสามัญชนโดยไม่มีข้อยกเว้น ก่อนจะมาถึงที่หมายคือสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงโตเกียว เมื่อเวลาราว 10 นาฬิกา
และในขณะที่จักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงแต่งกายสุภาพตามแบบตะวันตกด้วยเสื้อเชิ้ตคอปีกผูกเนคไทสวมสูททับ แต่ ดักลาส แมกอาเธอร์ เจ้าบ้านเดินทางออกมาต้อนรับเทพเจ้าของชาวญี่ปุ่นด้วยชุดกากียับ ๆ ไม่ผูกเนคไท ไม่ประดับเครื่องแบบด้วยเหรียญตราใด ๆ อันเป็นที่มาของภาพถ่ายประวัติศาสตร์ของทั้งคู่ ที่แมกอาเธอร์ยืนเท้าเอวอย่างผ่อนคลาย ส่วนจักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงยืนตัวตรงเชิดหน้าแต่ก็ดูไม่สมสง่าผ่าเผยเหมือนดังภาพที่ถูกคัดกรองมาเผยแพร่โดยทางการ เหมือนเมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นยังดำรงอำนาจอธิปไตยเอาไว้ได้
ภาพดังกล่าวถูกถ่ายโดยช่างภาพของกองทัพสหรัฐฯ แต่ทางการญี่ปุ่นเก็บงำการพบปะของสองผู้นำไว้สองวันก่อนที่จะออกรายงานสั้น ๆ โดยห้ามไม่ให้เผยแพร่ภาพถ่ายดังกล่าว ด้วยเห็นว่าการกระทำของผู้ยึดครองนั้นเป็นการหยามเกียรติขององค์จักรพรรดิ
อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้มีอำนาจเต็มเหมือนเช่นแต่ก่อน นักข่าวเมื่อทราบเรื่องก็เดินทางไปร้องเรียนกับฝ่ายสื่อของกองทัพสหรัฐฯ ทางกองทัพทราบเรื่องแล้วก็สั่งให้กระทรวงมหาดไทยของญี่ปุ่นที่คุมการเซ็นเซอร์สื่อยกเลิกคำสั่งการห้ามเผยแพร่ภาพดังกล่าว ก่อนสั่งยุบกระทรวงมหาดไทยในวันต่อมา
ภาพนี้จึงปรากฏต่อสาธารณะเป็นเวลาสามวันหลังเกิดเหตุซึ่งสร้างความตกตะลึงให้กับชาวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ที่เห็นฝรั่งผิวขาวแสดงท่าที่ไม่ให้เกียรติพระองค์ และบ้างก็ไม่คิดว่านี่คือภาพจริง
เจตนาในการเผยแพร่ภาพดังกล่าวของกองทัพสหรัฐฯ โดยการนำของแมกอาเธอร์ชัดเจนว่าเขาต้องการลบล้างธรรมเนียมเก่าจารีตเดิมของญี่ปุ่นที่เคารพนับถือจักรพรรดิเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แหล่งข่าวญี่ปุ่นยังกล่าวว่า ในการเจรจาคราวนั้นแมกอาเธอร์ไม่ยอมใช้คำยอพระเกียรติตามธรรมเนียมด้วยการกล่าวถึงพระองค์ด้วยคำว่า "Your Majesty" เลย (คำนี้อาจเทียบได้กับคำว่า "ฝ่าบาท" ตามธรรมเนียมไทย) แต่กลับสื่อสารผ่านล่ามว่า "บอกจักรพรรดิไปว่า..." (Daily News)
แต่ถึงแม้เขาจะต้องการทำลายจารีตประเพณีสืบเนื่องกับสถาบันจักรพรรดิ ในขณะเดียวกันเขาก็ยังต้องการรักษาสถาบันเอาไว้ท่ามกลางเสียงคัดค้านของทั้งจากชาติพันธมิตร และทั้งในสหรัฐฯ เองที่ต้องการนำผู้นำสูงสุดของญี่ปุ่นมาขึ้นศาลในฐานะจำเลยในคดีอาชญากรรมสงคราม
เช่น วิลเลียม แลงเกอร์ (William Langer) วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันจากนอร์ทดาโคตาที่บอกว่า จักรพรรดิฮิโรฮิโตะสมควรได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งเยอรมนี หรือ ทอม สจวร์ต (Tom Stewart) วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตจากเทนเนสซีที่บอกว่า จักรพรรดิฮิโรฮิโตะคืออาชญากรสงครามและเขาอยากเห็นพระองค์ถูกจับห้อยหัวผูกด้วยหัวแม่เท้า (AP)
อย่างไรก็ดี แมกอาเธอร์และคณะ "เชื่อ" ว่าจักรพรรดิเป็นเพียงหุ่นเชิดในระบอบทหารของญี่ปุ่น เป็นตรายางให้ผู้นำเผด็จการทหารอ้างความชอบธรรมในการก่อสงคราม (แต่ในข้อเท็จจริงรัฐธรรมนูญเมจิกำหนดให้จักรพรรดิเป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตย และแม้ในทางปฏิบัติพระองค์จะใช้อำนาจตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี แต่พระองค์ก็เคยใช้อำนาจโดยตรงเช่นการสั่งให้กำราบกลุ่มกบฎเมื่อปี 1936 - Britannica)
การพบปะกับจักรพรรดิในคราวนั้นยังสร้างความประทับใจให้กับแมกอาเธอร์เป็นอย่างมาก ในบันทึกส่วนตัวเขาเล่าว่า ในการเจรจาคราวนั้นองค์จักรพรรดิทรงเดินทางมาพบเขาเพื่อขอรับโทษทัณฑ์อันเกี่ยวเนื่องกับการตัดสินใจทั้งในทางการเมืองและการทหารที่กระทำโดยพสกนิกรของพระองค์ในช่วงสงครามแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเมื่อเขาได้ฟังแล้วก็ถึงกับ "สั่นไปถึงไขกระดูก"
"พระองค์คือจักรพรรดิโดยกำเนิด แต่ ณ ชั่วขณะนั้นผมรู้เลยว่า ผมได้พบกับสุภาพบุรุษตัวจริงคนแรกของญี่ปุ่นเข้าแล้ว"
นอกจากนี้ แมกอาเธอร์ยังเห็นว่าสถาบันจักรพรรดิมีความจำเป็นต่อการปกครองญี่ปุ่นโดยสันติ เนื่องจากพระองค์ยังคงเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนจำนวนมาก แม้ว่าพระองค์ในฐานะประมุขจะพาประเทศเข้าสู่หายนะก็ตาม (สถานการณ์ต่างจากในเยอรมนีที่สัมพันธมิตรเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องถอนรากถอนโคนนาซี) จึงให้คงสถาบันจักรพรรดิเอาไว้ แต่จำเป็นต้องปรับบทบาทให้จักรพรรดิเป็นผู้ค้ำจุนรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและต้องไม่อยู่ในฐานะของ "เทพเจ้า" เช่นที่เคยถือมา
แมกอาเธอร์จึงเรียกร้องให้จักรพรรดิฮิโรฮิโตะออกประกาศต่อสาธารณชนถึงสถานะความเป็นคนเหมือนกันของจักรพรรดิและประชาชน ซึ่งจักรพรรดิฮิโรฮิโตะก็ทรงจัดให้ในวันปีใหม่ของปี 1946 โดยออกเป็นหนังสือที่รู้จักกันในชื่อ “ประกาศความเป็นมนุษย์” (Humanity Declaration) อันเป็นการปฏิเสธสถานะเทพเจ้าในร่างมนุษย์ของจักรพรรดิตามจารีตเดิมของญี่ปุ่นโดยใจความสำคัญของประกาศดังกล่าวคือ
"สายสัมพันธ์ระหว่างเรากับประชาชนอยู่บนฐานของความรักและความเชื่อใจ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ตำนานนิทานปรัมปรา มิได้ตั้งบนฐานคิดผิดเพี้ยนว่าจักรพรรดิคือเทพเจ้าและชาวญี่ปุ่นเหนือกว่าชนชาติอื่นและมีชะตากรรมกำหนดให้เป็นผู้ปกครองโลก"
(นักวิจารณ์บางส่วนบางส่วนมองว่า ประกาศนี้มิได้ปฏิเสธฐานะความเป็นเทพเจ้าของจักรพรรดิแต่อย่างใด แค่บอกว่า สายสัมพันธ์ของจักรพรรดิกับประชาชนมิได้ขึ้นอยู่กับสถานะเทพเจ้าเท่านั้น)
ด้านแมกอาเธอร์ตอบรับประกาศของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะกลับไปว่า "ประกาศรับปีใหม่ของจักรพรรดิทำให้ผมปลื้มปีติเป็นอย่างมาก ด้วยประกาศนี้พระองค์ทรงนำทางประชาชนสู่หนทางประชาธิปไตย พระองค์ทรงยืนอยู่เคียงข้างหลักเสรีนิยมสู่อนาคต การกระทำของพระองค์สะท้อนถึงอิทธิพลของหลักการที่สมเหตุผล หลักการที่สมเหตุผลเป็นสิ่งที่ไม่อาจหยุดยั้งได้" (National Diet Library)
ด้วยเหตุนี้แมกอาเธอร์จึงถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนสถาบันจักรพรรดิจากที่ได้รับการนับถือเยี่ยงเทพเจ้าให้มีฐานะเป็น “คน” เยี่ยงประชาชนทั่วไป แต่มีบทบาทพิเศษ อยู่เหนือการเมือง และเป็นประมุขในเชิงสัญลักษณ์ แต่ในขณะเดียวหากไม่มี ดักลาส แมกอาเธอร์ สักคน จักรพรรดิฮิโรฮิโตะก็อาจถูกดำเนินคดีอาชญากรรมสงคราม อีกทั้งสถาบันจักรพรรดิของญี่ปุ่นที่มีอายุยาวนานนับพันปีก็อาจจะถึงคราวล่มสลายลงก็เป็นได้