ผู้มีสถานะได้เปรียบทางสังคมในสหรัฐฯ (เคย) ใช้แบบทดสอบความรู้ กีดกันประชาชนจากการเลือกตั้ง
ประเทศประชาธิปไตยโดยกำเนิดอย่างสหรัฐฯ เมื่อแรกประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปี 1787 นั้นยังมิได้มีข้อกำหนดที่จะป้องกันการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางด้านเชื้อชาติ สีผิว เพศ และความเชื่อทางศาสนา คนผิวดำส่วนใหญ่จึงถูกกีดกันจากสิทธิทางการเมือง ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นหลังสงครามกลางเมือง เมื่อทาสผิวดำได้รับการปลดปล่อย และมีการยืนยันสิทธิทางการเมืองของพวกเขาตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญลำดับที่ 15 ที่กล่าวว่า
"สิทธิของพลเมืองสหรัฐฯ ในการลงคะแนนเลือกตั้งจะต้องไม่ถูกปฏิเสธหรือตัดสิทธิโดยสหรัฐฯ หรือรัฐสมาชิกใด ๆ ด้วยเหตุเนื่องจากเชื้อชาติ สีผิว หรือสถานะความเป็นทาสในอดีต"
ช่วงเวลานี้ถือเป็นระยะที่ถูกเรียกว่าเป็นช่วงของการ "ปรับโครงสร้าง" (Reconstruction, ระยะเวลาตั้งแต่ 1865-77) เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอันเป็นผลพวงจากระบอบทาส ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ เมื่อชาวอเมริกันผิวดำเพศชายได้สิทธิในการลงคะแนนมา พวกเขาจึงสามารถส่งผู้แทนจากกลุ่มเชื้อชาติเดียวกันเข้าไปเป็นปากเสียงในสภาคองเกรสได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
เมื่อเชื้อชาติ และสถานะความเป็นทาสไม่อาจเอามาเป็นเครื่องมือใช้ในการลิดรอนสิทธิเลือกตั้งของคนผิวดำได้อีกต่อไป คนผิวขาวที่มีสถานะได้เปรียบทางสังคมและกังวลว่าจะเสียอำนาจให้กับคนผิวดำที่เพิ่งได้รับรองสิทธิทางการเมืองที่ทัดเทียมกันตามรัฐธรรมนูญมาหมาด ๆ จึงมองหา "ช่องว่าง" ตามรัฐธรรมนูญเพื่อกีดกันสิทธิคนผิวดำไว้ดังเดิมแต่ด้วยเหตุผลใหม่หลายประการ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ "การศึกษา"
วิธีการที่รัฐต่าง ๆ (โดยเฉพาะรัฐทางใต้ซึ่งมีคนผิวดำอยู่หนาแน่น แต่มีคนผิวขาวเป็นผู้ถืออำนาจ) นำมาใช้ก็คือบังคับให้ผู้มาขึ้นทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งต้องผ่านการสอบวัดความรู้เสียก่อน ซึ่งหากเป็นการบังคับอย่างทั่วไปไม่แบ่งแยกก็คงไม่เป็นปัญหา แต่เครื่องมือนี้ถูกนำมาใช้โดยมีเป้าหมายเป็นชาวอเมริกันผิวดำโดยเฉพาะ เนื่องจากคนผิวขาวต่างได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดที่ว่า ผู้ที่มีสิทธิในการเลือกตั้งอยู่ก่อนย่อมมีสิทธินั้นต่อไปโดยไม่ต้องเข้าสอบวัดความรู้ และสิทธินั้นก็สืบทอดต่อไปถึงทายาท
กฎหมายเช่นนี้จึงมีผลในเชิงปฏิบัติ เป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำโดยตรง เพราะคนผิวดำที่เพิ่งพ้นจากสถานะที่ถูกกดขี่ย่อมมีโอกาสในทางการศึกษาที่ด้อยกว่าอย่างเทียบไม่ได้ และในขณะนั้นคนผิวขาวที่ยากจนและไม่รู้หนังสือก็มีไม่น้อย แต่พวกเขากลับได้รับการยกเว้น (เพราะเป็นสิทธิที่มีมาแต่เดิม) แสดงให้เห็นว่า จริง ๆ แล้วความรู้หนังสือมิใช่สาระสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายนี้แต่อย่างใด
การปฏิรูปโครงสร้างสังคมของสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 19 ประสบความล้มเหลว (ด้วยปัจจัยหลายประการ) ความพยายามของผู้มีสถานะได้เปรียบทางสังคมในการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญยังคงดำเนินอยู่เรื่อยมา แม้ว่าศาลฎีกาจะตีตกกฎหมายหลายฉบับที่กีดกันสิทธิเลือกตั้งของคนผิวดำ แต่พวกเขาก็ยังสามารถหาช่องว่างของการตีความรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาของศาลฎีกาเพื่อออกกฎหมายหรือมาตรการ (ไปจนถึงการข่มขู่ด้วยกำลัง) เพื่อกีดกันผู้ที่มีสถานะเสียเปรียบทางสังคมเรื่อยมา
โดยเฉพาะแบบทดสอบความรู้ที่นำมาใช้กับบรรดาผู้ที่ต้องการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหน้าใหม่ ที่ไม่ได้รับสืบทอดสิทธิมาจากบรรพบุรุษนั้นถูกออกแบบมาให้ยากเสียจนแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะสอบผ่าน ต่อให้ผู้เข้ารับการทดสอบมีความรู้ระดับปริญญาก็อาจสอบตกได้ง่าย ๆ เหมือนเช่น นักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ได้ทดลองทำแบบทดสอบความรู้ปี 1964 ของรัฐลุยเซียนา ซึ่งมีทั้งหมด 30 ข้อ ต้องทำให้เสร็จภายในเวลา 10 นาที และต้องตอบคำถามให้ถูกทุกข้อจึงจะผ่าน ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาต่างก็สอบตกกันถ้วนหน้า ตามเจตนารมณ์ของผู้ออกแบบข้อสอบที่ไม่ต้องการให้ใครสอบผ่านมาแต่ต้น
ตัวอย่างคำถามมีเช่น
"จงขีดเส้นหนึ่งเส้นรอบตัวเลขหรือตัวอักษรในประโยคนี้"
"จงวาดสี่เหลี่ยมโดยมีสามเหลี่ยมอยู่ข้างใน และในสามเหลี่ยมเดียวกัน จงวาดวงกลมโดยมีจุดสีดำอยู่ข้างใน"
"จงสะกด ย้อนหลัง ไปข้างหน้า"
หรือ "จงพิมพ์คำว่าลงคะแนนกลับหัวลงแต่ด้วยลำดับที่ถูกต้อง"
(สนใจทำแบบทดสอบลองหามาทำเองได้ที่ลิงก์นี้: http://static.oprah.com/images/o2/201412/LA-literacy-test.pdf)
เข้าสู่ทศวรรษ 1960 ขบวนการสิทธิพลเมืองเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้มีการคืนสถานะและความเป็นธรรมให้กับคนผิวดำ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยกฎหมายจากส่วนกลางเพื่อบังคับรัฐสมาชิกทั้งหมดให้ยอมปฏิบัติตามบนหลักการเดียวกัน จึงมีการออกรัฐบัญญัติว่าด้วยสิทธิพลเมือง 1964 ซึ่งห้ามการนำข้อกำหนดคุณสมบัติในการขึ้นทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งมาบังคับใช้อย่างไม่เท่าเทียม ห้ามการแบ่งแยกสีผิวในโรงเรียน การจ้างงาน หรือสถานที่พัก
แต่นั่นก็ไม่อาจหยุดยั้งความพยายามที่จะกีดกันคนผิวดำและชนกลุ่มน้อยไม่ให้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ ผู้มีอำนาจในรัฐทางใต้ ยังคงบังคับใช้แบบทดสอบความรู้ตั้งกำแพงกั้นผู้แสวงหาสิทธิรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะคนผิวดำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้อพยพหน้าใหม่ ไม่ว่าจะมาจากทวีปเอเชีย ยุโรป หรือจากสองทวีปอเมริกาด้วยกันเอง
ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่อีกฉบับคือ รัฐบัญญัติว่าด้วยสิทธิในการลงคะแนนเสียง 1965 ซึ่งมีผลเป็นการห้ามมิให้องค์กรของรัฐออกข้อกำหนดเงื่อนไขอันเป็นการกีดกันการเข้าถึงสิทธิเลือกตั้งของประชาชน รวมถึงการกำหนดให้มีการทดสอบความรู้เพื่อขึ้นทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำให้สัดส่วนการใช้สิทธิเลือกตั้งของคนผิวดำเพิ่มขึ้นหลายเท่า และส่งผลดีไปถึงชนกลุ่มน้อยชาวอเมริกันทุกเชื้อชาติที่อพยพเข้ามาภายหลัง ทำให้สิทธิในการลงคะแนนเสียงของชาวอเมริกันทุกเชื้อชาติมีความเสมอภาคจริง ๆ (อย่างน้อยก็ในทางกฎหมาย)
ตัวอย่างในสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า แบบทดสอบความรู้ที่นำมาใช้นั้น แท้จริงมีวัตถุประสงค์เพื่อกีดกันประชาชนกลุ่มใหม่ไม่ให้เข้ามามีส่วนตัดสินอนาคตทางการเมืองของประเทศเป็นสำคัญ การศึกษาถูกนำมาใช้เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น ซึ่งกว่าที่การเลือกปฏิบัติเช่นนี้จะสามารถขจัดลงได้ต้องใช้เวลานานนับร้อยปี ในประเทศที่มีการกำหนดเรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้อยู่แล้ว จึงไม่น่าจะกล้าขุดเอามาตรการกีดกันแบบโบราณเช่นนั้นมาใช้ได้อีก