ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ขายผ้า ทำโรงสี ก่อนปั้น “เบทาโกร” สู่หมื่นล้าน
เมื่อผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลาย หลายคนจึงนึกถึง เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ไส้กรอก ฯลฯ ของ เบทาโกร ที่เป็นหนึ่งในผู้เล่นเบอร์ต้น ๆ ในอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารครบวงจร
กว่าเบทาโกรจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าย้อนไปเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ที่ปัจจุบันคือประธานกรรมการเครือเบทาโกร ต้องเจอปัญหาไม่เว้นแต่ละวัน แถมยังขาดทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เขาก็ไม่ถอดใจยอมแพ้ แก้ปัญหาไปทีละเปลาะจนเบทาโกรโตวันโตคืนมาจนถึงปัจจุบัน แถมปีนี้ ชัยวัฒน์ยังติดอันดับที่ 23 ใน 50 อันดับมหาเศรษฐีไทย จัดโดยนิตยสาร Forbes ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 56,000 ล้านบาท อีกด้วย
ช่วยพ่อขายผ้า
พ่อของชัยวัฒน์คือ กิมฮง แซ่แต้ เป็นชาวจีนที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากซัวเถามาเมืองไทยตอนอายุ 15 ปี ช่วงแรกกิมฮงอาศัยอยู่กับญาติในกรุงเทพฯ ก่อนจะย้ายมาอยู่สระบุรี ทำงานเป็นลูกจ้างร้านขายของ ด้วยความขยันขันแข็งและหนักเอาเบาสู้ของกิมฮง ทำให้เถ้าแก่ในตลาดสระบุรีเมตตาและขายห้องแถวให้กิมฮงทำการค้าในราคาที่ไม่แพงนัก
ชัยวัฒน์ เกิดที่อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี เมื่อปี 2478 เป็นลูกคนโตในจำนวนลูก ๆ 8 คน ของกิมฮงและงิ่งอี่ (แซ่โง้ว) เขาเกิดในยุคที่กิมฮงพอจะมีฐานะดีขึ้นจากการค้าขายผ้าที่รับมาจากกรุงเทพฯ และการค้าขายข้าวเปลือก ช่วงไหนที่ชัยวัฒน์พอจะช่วยพ่อได้เขาก็ช่วย อย่างการหิ้วตะเกียงเจ้าพายุฝ่าความมืดออกไปรับผ้าที่สถานีรถไฟ แล้วคัดแยกให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย
เมื่อถึงวัยต้องเข้าโรงเรียน กิมฮงส่งลูกชายคนโตไปเรียนที่โรงเรียนเผยอิงในกรุงเทพฯ ก่อนชัยวัฒน์จะกลับมาเรียนต่อที่โรงเรียนพิฉายรวมมิตรศึกษา (เผยไฉ) ในสระบุรี แล้วเข้ากรุงเทพฯ อีกรอบ คราวนี้เรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลชั้นเตรียมมัธยม แต่เรียนไปได้ปีกว่า ๆ ชัยวัฒน์คิดว่าตัวเองไม่ได้มีความรู้อะไรมากขึ้นกว่าเดิม เพราะติดเพื่อน ชอบเที่ยว ทางออกจึงไปอยู่ที่การเรียนต่อเมืองนอกในช่วงปลายทศวรรษ 2490
"ถ้าไปเรียนอังกฤษก็ต้องเตรียมเรื่องภาษาซึ่งเราไม่ค่อยจะเก่ง เลยคิดว่าไปเรียนฮ่องกงดีกว่า อย่างน้อยเป็นเมืองคนจีนก็น่าจะอยู่ได้ เลยไปเรียนที่ St. Stephen’s College ต้องดูแลตัวเอง ทำทุกอย่างเอง อยู่ที่นั่นก็มีชื่อเรียกว่า ‘โรเบิร์ต แต้’ เนื่องจากเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นได้ง่าย ทำให้อยู่ที่นั่นก็มีเพื่อนมากกว่าอยู่ที่ไทยเสียอีก"
อย่างไรก็ตาม ชัยวัฒน์เรียนไม่จบและกลับไทย ขณะนั้นกิมฮงเปลี่ยนจากการขายผ้ามาทำธุรกิจโรงสีไฟปากเพรียวที่ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำป่าสัก ชัยวัฒน์จึงต้องเข้ามาช่วยกิจการผู้เป็นพ่อไปโดยปริยาย
ลุยงานโรงสี
หนุ่มนักเรียนนอกสุดเฟี้ยวในวัยราว 20 ปี เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโรงสี เงินเดือน 800 บาท ซึ่งนับว่าไม่ใช่เงินน้อย ๆ เพราะยุคนั้นทองบาทละ 400 บาท หน้าที่ของเขาคือดูแลเรื่องเงินทอง ซื้อขายข้าวของต่าง ๆ แม้จะมีคนสบประมาทว่าเป็นลูกเถ้าแก่ คงเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ไม่สู้งาน ไม่อดทน แต่ชัยวัฒน์ก็ไม่สน เขาพิสูจน์ความสามารถให้ทุกคนเห็นทั้งในแง่การบริหารงานและบริหารคน จนสุดท้ายลูกน้องก็ให้การยอมรับ
ชัยวัฒน์ค่อย ๆ สั่งสมประสบการณ์มากขึ้น วันหนึ่งเขาเห็นว่าโรงสีที่มีอยู่เดิมซื้อข้าวมาสีเต็มที่ได้แค่วันละ 40 เกวียน ซึ่งธุรกิจโรงสีจะโตได้ต้องสีข้าวให้ได้มากกว่านี้ เขาจึงสร้างโรงสีใหม่ขึ้นริมถนนพหลโยธิน บริเวณแยกมิตรภาพ ห่างจากโรงสีเดิมที่อยู่ริมแม่น้ำป่าสักราว 2 กิโลเมตร
แต่ได้อย่างก็เสียอย่าง โรงสีใหม่ใหญ่ขึ้นและช่วยให้การขนส่งง่ายขึ้นก็จริง แต่ปัญหาคือไม่ติดแม่น้ำ ที่น้ำสำคัญก็เพราะว่าช่วยในการตากข้าวหรือนึ่งข้าวสำหรับส่งไปต่างประเทศ ชัยวัฒน์จึงแก้ปัญหาด้วยการดูดน้ำจากโรงสีเก่ามาโรงสีใหม่ แต่ก็เจออุปสรรค เพราะชาวบ้านไม่ให้วางท่อผ่านที่ดิน เขาจึงต้องติดต่อหน่วยงานราชการเพื่อทำเรื่องขอวางท่อ ท้ายสุดก็แก้ปัญหาได้สำเร็จ โรงสีสามารถสีข้าวเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 100 กว่าเกวียน ลูกค้าก็แวะเวียนมามากขึ้น
ช่วงที่กิจการโรงสีไปได้ดี ชัยวัฒน์นำเข้าปุ๋ยเคมีมาจำหน่ายเป็นรายแรกของประเทศ ใช้ชื่อว่า “ปุ๋ยพระธรรมมิกราช” แต่ธุรกิจใหม่นี้ล้มไม่เป็นท่า เพราะเกษตรกรยุคนั้นยังมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม
“การลองผิดลองถูกไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าพยายามทำแล้วไม่สำเร็จผมก็ไม่เสียใจ ผมมองว่าอนาคตของปุ๋ยเคมีเป็นสิ่งที่เกษตรกรส่วนใหญ่จะต้องใช้ และมีความจำเป็นต่อการเกษตรกรรมในบ้านเรา เพียงแต่ตอนนั้นคนเขาไม่รู้จัก ก็เลยไม่กล้าใช้”
ชัยวัฒน์คลุกคลีกับธุรกิจโรงสีที่สระบุรีอยู่นับสิบปี ระหว่างนั้น เขาแต่งงานกับ บังอร ศิริรังคมานนท์ ซึ่งรู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก เพราะเตี่ยของบังอรเปิดร้านขายของในตลาด ชัยวัฒน์และบังอรจึงรู้จักกัน จุดหนึ่งเมื่อได้พูดคุยสนิทสนมกันมากขึ้นหลังชัยวัฒน์กลับจากฮ่องกง ทั้งสองจึงตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกัน
ปั้นเบทาโกร
ชีวิตคนเรามักมีจุดเปลี่ยนบางอย่างในชีวิต สำหรับชัยวัฒน์แล้ว จุดเปลี่ยนของเขาอยู่ที่การเข้าไปทำงานที่ บริษัท เบทาโกร จำกัด ในปี 2516
เบทาโกร ก่อตั้งเมื่อปี 2510 ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ และยังนำเทคโนโลยีผลิตอาหารสัตว์ที่ทันสมัยเข้ามาใช้เป็นรายแรก ๆ ในไทย มีสำนักงานตั้งอยู่บ่านสวนมะลิในกรุงเทพฯ มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์แห่งแรกที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาทำฟาร์มไก่พ่อแม่พันธุ์ และขยายธุรกิจเข้าไปในภาคเหนือ
ผ่านไปราว 5-6 ปี ธุรกิจเบทาโกรเริ่มไม่ราบรื่นเพราะหุ้นส่วนมีปัญหากัน กิมฮงซึ่งเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของเบทาโกรจึงให้ชัยวัฒน์เข้ามาช่วยแก้ปัญหา แม้จะมีประสบการณ์เชิงธุรกิจมาก่อนหน้า แต่ชัยวัฒน์ก็ยังหวั่นใจเพราะไม่มีความรู้เรื่องอาหารสัตว์เลย และไม่คิดมาก่อนด้วยว่า “แจ๊กพ็อต” นี้จะมาตกที่เขา
“ผมเข้ามาตอนที่บริษัทกำลังมีปัญหา ทั้งเรื่องบุคลากร ลูกค้า เรื่องค่าใช้จ่าย ต้องค่อย ๆ แก้ทีละเปลาะ” ชัยวัฒน์บอก
สิ่งแรก ๆ ที่ชัยวัฒน์ทำคือปรับปรุงระบบขนส่ง จากที่ขนส่งลูกไก่ด้วยรถไฟก็เปลี่ยนเป็นรถติดพัดลม แล้วเปลี่ยนเป็นรถติดแอร์ เพื่อให้ลูกไก่กระทบกระเทือนน้อยที่สุด เมื่ออยู่ตัวแล้วก็ขยายสู่ธุรกิจ โรงเชือดไก่ ตั้งอยู่ที่อ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาคร แต่ด้วยยุคนั้นราคาไก่สดยังต้องอิงกับแผงไก่ซอยอารีย์ โรงเชือดยังกำหนดราคาเองไม่ได้ ทั้งลูกค้ายังมีพฤติกรรมชอบซื้อไก่สดที่จับแล้วตัวยังอุ่น ๆ ไม่ชอบซื้อไก่สดแช่เย็น ท้ายสุดชัยวัฒน์ต้องเผชิญกับสภาวะขาดทุนเดือนละเป็นล้านบาท จนบริษัทญี่ปุ่นที่ร่วมทุนด้วยเห็นท่าไม่ไหวต้องขอถอนตัว
ชัยวัฒน์ไม่ปล่อยให้ตัวเองล้มนาน เขาศึกษาบทเรียนแสนแพงครั้งนี้อย่างละเอียด วิเคราะห์จุดอ่อนเพื่อพลิกให้เป็นจุดแข็ง และนำสิ่งที่ได้มาปรับใช้กับโรงเชือดไก่อีกครั้ง คราวนี้ธุรกิจโรงเชือดไก่เริ่มมีผลประกอบการดีขึ้น มียอดส่งออกไก่แช่แข็งไปต่างประเทศเยอะขึ้น ส่วนลูกค้าในไทยก็เริ่มคุ้นกับไก่สดแช่เย็น
ต่อมา เขาขยับสู่ธุรกิจ ฟาร์มหมู นำเข้าสายพันธุ์หมูจากอังกฤษ ทุ่มทุนหนักขนาดเช่าเหมาเครื่องบินทั้งลำบรรทุกหมูจากลอนดอนมากรุงเทพฯ ครั้งนี้เขาเก็งไม่ผิด ธุรกิจฟาร์มพ่อแม่พันธุ์หมูเติบโตรวดเร็วจนสามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาไม่นาน
จากวันแรกที่ชัยวัฒน์เจอแต่ปัญหา เขาใช้สติปัญญาค่อย ๆ แก้ไข พร้อมกับเดินหน้าธุรกิจใหม่ ๆ จนเครือเบทาโกรปักหลักได้อย่างมั่นคง ก่อนส่งไม้ต่อให้ลูกชายสองคนคือ วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ และ วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ เป็นรุ่นที่ 3 มีบทบาทในการบริหาร ต่อยอดธุรกิจให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และขยายตัวในต่างประเทศ ส่วนชัยวัฒน์ขยับไปดูภาพรวมในตำแหน่งประธานกรรมการเครือเบทาโกร เฝ้ามอง “รุ่น 3” สร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
“เตี่ยบอกเสมอว่าเราเป็นคนที่ยกป้ายขึ้นต้องไม่เป็นคนที่ยกป้ายลงเอง ถ้ายกป้ายลงมาก็หมายความว่าบริษัทล้มแล้ว คนแต่ละรุ่นมีหน้าที่ที่จะต้องแบกรับเอาไว้ ทำอย่างไรให้การค้าเจริญก้าวหน้า ยิ่งสืบทอดชั่วคนลงไปมากเท่าไหร่ ธุรกิจก็จะยิ่งหยั่งรากแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น”
ที่มา:
หนังสือ "ชีวิตคือบทเรียน: ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์"
http://www.betagro.com/corporate/th/about#history