read
social
21 พ.ค. 2562 | 13:02 น.
คิม ซูกิ นักเขียนสาวผู้แฝงตัวเป็นครูในเกาหลีเหนือ และความจริงกับความลวงของประเทศเผด็จการ
Play
Loading...
อะไรคือความจริง อะไรคือความลวง สำหรับดินแดนลึกลับที่น้อยคนจะได้เข้าไปสัมผัสอย่าง “เกาหลีเหนือ” เส้นแบ่งระหว่างสองสิ่งนี้ยังคงเลือนราง ด้วยกฎหมายอันเข้มข้นที่ปิดไม่ให้ข่าวสารข้างในออกข้างนอก และข้างนอกเข้าข้างใน ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเกาหลีเหนือส่วนมากยังคงเป็นปริศนาสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่นอกปราการคอนกรีต และชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราก็คงเป็นปริศนาสำหรับชาวเกาหลีเหนือเช่นกัน
เมื่อมีการปกปิด ก็ย่อมต้องมีคนที่พยายามท้าทายอำนาจเพื่อสืบหาความจริง นักข่าว นักสารคดี รวมถึงนักท่องเที่ยวหลายคนเคยพยายามหาทางเข้าไปในอาณาเขตคุมเข้ม ที่ทหารสามารถส่งพวกเขาเข้าคุกได้ตลอดเวลา หากถูกมองว่าเป็นภัยต่อประเทศ
หนึ่งในนั้นคือ
คิม ซูกิ (Kim Suki)
นักเขียนชาวเกาหลีใต้ ในปี 2011 เธอได้แฝงตัวเข้าไปเป็นอาจารย์ในเกาหลีเหนือเกือบ 1 ปี พร้อมทั้งถ่ายทอดแง่มุมของประเทศเผด็จการเบ็ดเสร็จ ผ่านประสบการณ์การสอนหนังสือที่นั่น
“ฉันเกิดและเติบโตที่เกาหลีใต้ ศัตรูของชาวเกาหลีเหนือ และอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ศัตรูอีกตัวหนึ่งของพวกเขา”
การใช้ชีวิตในเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา ทำให้ซูกิมองการลิดรอนสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในเกาหลีเหนือเป็นเรื่องแปลกประหลาด ตั้งแต่ปี 2002 ซูกิได้เข้าไปในเกาหลีเหนือถึง 4 ครั้งเพื่อทำข่าวในวันสำคัญต่าง ๆ แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับเธอ
“ฉันได้รู้ว่า ถ้าฉันอยากจะเรียนรู้เบื้องลึกของเกาหลีเหนือ หรือเข้าใจเกาหลีเหนือมากไปกว่าคำชวนเชื่อของรัฐ หนทางเดียวของฉันคือการเข้าไปใช้ชีวิตในนั้น”
จนในปี 2011 ซูกิได้เข้าไปอาศัยในเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ ในฐานะอาจารย์สอนภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชายล้วนเปียงยาง (Pyongyang University of Science and Technology) แต่สำหรับซูกิ การเข้าไปในเกาหลีเหนือครั้งนี้ คือโอกาสที่เธอจะเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเกาหลีเหนือที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ และสิ่งที่เธอค้นพบคือการปกครองในแบบที่เธอไม่เคยเห็นจากที่อื่นมาก่อน
“นักศึกษาไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากมหาวิทยาลัยหรือติดต่อกับผู้ปกครอง ตารางเรียนถูกออกแบบอย่างละเอียด และเวลาว่างของพวกเขา ก็ถูกใช้เพื่อเชิดชูท่านผู้นำ บทเรียนต้องผ่านการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่รัฐ คาบเรียนทุกคาบถูกบันทึกและรายงาน ห้องเรียนทุกห้องถูกสังเกตการณ์ และทุกบทสนทนาถูกดักฟัง”
ไม่ใช่แค่นักศึกษาเท่านั้นที่ถูกตรวจตรา แต่อาจารย์อย่างซูกิเองก็ถูกจับตามองเช่นกัน ถึงอาจารย์ของมหาวิทยาลัยจะสามารถออกไปนอกสถานศึกษาได้ แต่ก็ต้องเดินทางเป็นกลุ่มเท่านั้น และต้องมีทหารติดตามไปด้วยเสมอ เธอต้องอาศัยในห้องพักที่ข้างล่างลงไปคือห้องพักของคนคุ้มกัน นอกจากนี้ เธอยังอ้างว่าห้องพักของเธอถูกสอดแนมอีกด้วย
แต่สิ่งที่สร้างความตกใจให้กับซูกิ คือการที่นักเรียนของเธอไม่ได้รับรู้ถึง
“ความจริง”
ที่คนเกือบทั่วโลกรับรู้ อย่างการมีอยู่ของทัชมาฮาลหรือหอไอเฟล แต่กลับเชื่อใน
“ความลวง”
อย่างการเชื่อว่าภาษาเกาหลีเป็นภาษาที่คนใช้กันทั่วโลก หรือ บะหมี่เย็นเกาหลี
“แนงมยอน”
ถูกยกย่องให้เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก
“นักศึกษาส่วนมากอยู่เอกคอมพิวเตอร์ แต่พวกเขากลับไม่รู้จักอินเทอร์เน็ต พวกเขาไม่เคยได้ยินชื่อของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หรือสตีฟ จอบส์ เฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ สิ่งเหล่านี้ไม่มีความหมายสำหรับพวกเขา และฉันเองก็ไม่สามารถบอกอะไรให้พวกเขาได้เลย”
ซูกิเก็บข้อมูลและประสบการณ์ทั้งหมดของเธอในเกาหลีเหนือลงบนยูเอสบีแฟลชไดรฟ์
และเมมโมรีการ์ดกล้อง ซึ่งเธอพกติดตัวตลอดเวลา พร้อมกับลบข้อมูลออกจากคอมพิวเตอร์ทันทีเมื่อบันทึกเสร็จ การบันทึกข้อมูลของเธอถือเป็นเรื่องอันตรายที่อาจเปลี่ยนสภาพของเธอจากอาจารย์เป็นนักโทษได้หากถูกค้นพบ
จนในเดือนธันวาคมของปี 2011 ซูกิถูกเรียกตัวกลับอย่างกะทันหัน ซึ่งเป็นหนึ่งวันก่อนวันเสียชีวิตของ
คิม จอง-อิล (Kim Jong-il)
ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือในสมัยนั้น ซูกิเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาพร้อมกับข้อมูลที่เธอรวบรวมตลอดหลายเดือนในเกาหลีเหนือ ซึ่งภายหลังได้ถูกนำมาเขียนเป็นหนังสือ “
Without You, There is No Us” (
ถ้าไม่มีคุณ ก็ไม่มีเรา) ส่วนชื่อของหนังสือนั้น มาจากเพลงที่เธอได้ฟังในเกาหลีเหนือ โดย
“คุณ”
หมายถึง ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ และ
“เรา”
หมายถึงประชาชนชาวเกาหลีเหนือ
ถึงผลงาน Without You, There is No Us จะได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ก็มีกระแสที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงหลักฐานที่คลุมเครือในหนังสือ หรือกระแสที่มองว่าเธอนำชีวิตของลูกศิษย์มาเสี่ยงเพื่อเงินและชื่อเสียงเช่นกัน เธอถูกประณามจากสมาคมคริสตจักรซึ่งเป็นสื่อกลางที่ส่งเธอเข้าไปเป็นอาจารย์ในเกาหลีเหนือ ด้วยข้อหาละเมิดสัญญาที่จะไม่นำเรื่องในเกาหลีเหนือมาเผยแพร่ข้างนอก นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จากคริสตจักรยังกล่าวอ้างว่าสิ่งที่เธอเขียนนั้น บิดเบือนความจริงหลายประการเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ
ถ้าลองมาคิดดูแล้ว ซูกิเองก็ไม่ได้มีหลักฐานอะไรมายืนยันเช่นกันว่าสิ่งที่เธอเขียนนั้นเป็นความจริง และแม้ซูกิจะใช้ชื่อปลอมในการปิดบังตัวตนของนักศึกษา ก็ยังรับประกันไม่ได้ 100% ว่านักศึกษาจะปลอดภัยจากการสืบสวนของรัฐ ขณะเดียวกัน การประณามของสมาคมคริสตจักรก็อาจเป็นเพียงมาตรการเพื่อรักษาความสัมพันธ์ของคริสตจักรกับเกาหลีเหนือเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ผลงานของซูกิก็ยังเป็นหนึ่งในงานเขียนเกี่ยวกับเกาหลีเหนือไม่กี่เรื่องที่ไม่ได้ถูกตรวจตราจากทางการของเกาหลีเหนือก่อนตีพิมพ์
สุดท้ายส่วนไหนคือความจริง ส่วนไหนคือความลวง เราคงไม่มีวันได้รู้ ตราบใดที่เกาหลีเหนือยังคงซ่อนตัวจากโลกภายนอก
เรื่อง: พัทธมน สินธุวณิชเศรษฐ์ (The People Junior)
ภาพ :
http://www.sukikim.com
ที่มา
https://www.ted.com
https://theintercept.com
https://www.channelnewsasia.com
https://www.nytimes.com
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3559
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Social
NorthKorea
ThePeopleJunior
KimSuki
Writer