King Princess นักร้องสาวที่สร้างสรรค์เพลงจากความหลงใหลใน “จิ๊มิ”

King Princess นักร้องสาวที่สร้างสรรค์เพลงจากความหลงใหลใน “จิ๊มิ”
“Your pussy is God and I love it.”
ถ้าคุณคิดว่า P word ที่เราใช้เปิดเรื่อง เป็นน้ำเสียงของผู้ชายมาดทะเล้นสักคนหนึ่งละก็ คุณคิดผิดแล้ว เพราะนี่คือหนึ่งในประโยคจากเนื้อเพลงของ King Princess เด็กสาววัย 19 ย่าง 20 ที่เปิดเผยตัวเป็น LGBTQ+ และเป็นศิลปินที่มีวิธีการแต่งเนื้อร้องที่ใช้ความหลงใหลทางเพศมาเป็นแนวทางในการนำเสนอ ประโยคในลักษณะนี้เราอาจจะเคยเห็นกันบ่อยครั้งในเพลงฮิปฮอป หรือเพลงที่มีความดิบ ๆ สักหน่อย ส่วนมากศิลปินที่สร้างสรรค์เพลงเหล่านี้ มักจะมาจากเพศชาย หรือถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้หญิงเป็นคนร้อง ดนตรีเหล่านั้นก็มักจะยังอยู่ในโทนดาร์ก ๆ หรือประกอบด้วยบีทที่ดึงอารมณ์ให้อยู่ในบรรยากาศที่เหมาะกับการร่วมรัก... แต่สำหรับ King Princess เธอมีแนวทางที่ต่างออกไป เมื่อเธอหยิบเอาคำที่ใช้ในการร่วมรัก มาผสมเข้ากับดนตรีน่ารักใส ๆ แถมยังมีกลิ่นอายแบบ 90s หน่อย ๆ “Your pussy is God, and I'm falling” เสียงร้องคำว่า “pussy” ดังก้องไปทั้งฮอลล์แทบจะในทันทีที่ มิเกลา สเตราส์ (Mikaela Straus) หรือ King Princess ที่แฟน ๆ รู้จักยื่นไมค์มาด้านหน้า เรียกรอยยิ้มจากนักร้องสาวได้เป็นอย่างดี ก่อนที่เธอจะรับช่วงต่อ โดยมีแฟนเพลงยืนโบกไม้โบกมืออยู่ด้านล่าง บรรยากาศที่เกิดขึ้นนี้กลายเป็นความประทับใจที่จะหาจากที่ไหนไม่ได้ นอกจาก “Pussy is God Tour” ที่มีไว้สำหรับคนที่รักในสิ่งเดียวกัน ส่วนจะเป็นความรักในอะไรนั้น ชื่อทัวร์ที่เธอเลือกใช้ ก็คงจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนและตรงไปตรงมาที่สุด “ฉันเป็นเกย์ ถ้าคุณมองมาที่ฉัน คุณก็จะรู้เอง” สเตราส์พูดแบบนั้น และมันเป็นเรื่องจริง สำหรับสเตราส์ ความหลงใหลในเสียงดนตรีและหลงใหลในความน่ารักของสาว ๆ นั้นเข้ามาในชีวิตเธอแทบจะพร้อม ๆ กัน สเตราส์เติบโตมากับพ่อที่เป็นเจ้าของสตูดิโอแห่งหนึ่งในบรูคลิน เธอได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Rolling Stone ไว้ว่า “ฉันชอบร้องเพลงตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ ไม่รู้ประสา และพ่อของฉันก็บอกว่า 'พ่อมีเสียงแบ็กกราวนด์อยู่ตั้งห้าร้อยแบบ แต่มันห่วยทั้งหมด มิเกลา หนูจะมาร้องเพลงให้พ่อได้ไหม' และฉันก็ไป ทั้ง ๆ ที่ใส่ชุดนอนอยู่นั่นแหละ สตูดิโอของพ่อก็เหมือนกับสวนสนุกในสายตาฉัน” King Princess นักร้องสาวที่สร้างสรรค์เพลงจากความหลงใหลใน “จิ๊มิ”        ความรักในดนตรีของเธอเติบโตขึ้นพร้อม ๆ กับตัวตนที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ สเตราส์รู้ตัวว่าเป็นเควียร์ตั้งแต่ 6 ขวบ เธอแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาถึงรสนิยมของเธอเสมอ และตอนอายุ 13 ขวบ สเตราส์ก็ได้เป็นตัวเองอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากย้ายจากนิวยอร์กไปลอส แอนเจลิส เพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ที่หอพักนี่เองที่เธอแต่งเพลงแจ้งเกิดชื่อว่า “1950” เรื่องน่าสนใจคือเพลงที่มีท่อนฮุคสุดติดหูอย่าง “I love it when we play 1950” ที่แม้แต่แฮร์รี สไตล์ส ศิลปินและอดีตสมาชิกวง One Direction ก็ยังเคยทวีตประโยคนี้บนทวิตเตอร์ที่มีผู้ติดตามกว่า 30 ล้านคน นั้นถูกแต่งในห้องน้ำ “ฉันอาบน้ำอยู่ใต้ฝักบัว ฮัมเพลง และวิ่งออกมาหยิบกีตาร์ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ใส่เสื้อผ้า ฉันวิ่งไปหารูมเมทเพื่อขอยืมโทรศัพท์ของเธอมาอัดเสียง “เธอโป๊อยู่นะ” รูมเมทของฉันบอก แต่สุดท้ายฉันก็ยืมโทรศัพท์เครื่องนั้นมาจนได้และเริ่มอัดเพลง” นอกจากความน่าสนใจในขั้นตอนการอัดเสียงที่เธอเล่าออกมาอย่างมีอารมณ์ขันแล้ว เนื้อหาและที่มาของเพลงก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน โดยบอกเล่าถึงความรักของคู่รักเควียร์ในยุค 50s ที่ต้องหลบซ่อนจากสายตาจับผิดของสังคม ซึ่งสเตราส์ได้แรงบันดาลใจมาจาก “The Price of Salt” หนังสือเล่มโปรดของเธอ ที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ซึ้งปนเศร้าอย่าง “Carol” จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของสเตราส์คือการที่ มาร์ก รอนสัน โปรดิวเซอร์ชื่อดัง ได้มีโอกาสฟังเพลงนี้ของเธอ “ฉันเจอเขาเพราะเขาเป็นอีกคนที่ฟังเพลงของฉัน และเขาชอบมัน เราก็เลยได้มีโอกาสเจอกัน” ท้ายที่สุดแล้วสเตราส์ก็ได้เข้ามาทำเพลงภายใต้การดูแลของรอนสัน ที่คอยเฝ้ามองเธออยู่ห่าง ๆโดยให้อิสระเธอในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ เมื่อถึงกระบวนการทำงานจริง ทางค่ายหันมาถามเธออีกครั้ง ว่าเธอต้องการจะทำงานในลักษณะเดิมหรือไม่ “แน่นอนทำไมจะไม่ล่ะ!” นี่คือประโยคที่เธอเลือกใช้ตอบในคำถามนั้น “ฉันถูกถามว่า ‘มันมีทางเลือกอยู่สองแบบ เธออยากจะใช้สรรพนามระบุเพศแบบไหน’ สำหรับฉันมันไม่ใช่ทางเลือกด้วยซ้ำ มันก็แค่ ‘ถ้าสเตรท ทำได้ แล้วทำไมฉันจะทำไม่ได้’ ฉันฟังเพลงของสเตรทมาตั้งหลายปี แล้วทำไมพวกเขาจะฟังเพลงของเกย์ไม่ได้ล่ะ มันก็แค่คำสรรพนามที่ต่างกันเท่านั้น” (สเตรท ในที่นี้หมายถึงความรักในเพศตรงข้าม) จุดเด่นที่ดีมาก ๆ อย่างหนึ่งของสเตราส์คงจะเป็นความเปิดเผยที่เธอมี เธอไม่เคยลังเลที่จะพูดถึงความชอบและรสนิยมทางเพศของเธอในเพลง ไม่เคยลังเลที่จะเรียกแทนคนในเพลงด้วยสรรพนามว่า “she” และไม่ลังเลเลยแม้แต่น้อยที่จะใส่คำว่าจิ๊มิลงไป ในเมื่อเธอกำลังพูดถึงจิ๊มิ จะให้ใช้คำอื่นแทนก็คงจะไม่ได้ฟีลน่ารักน่าหลงใหล อย่างที่เธอตั้งใจจะสื่อแน่ ๆ King Princess นักร้องสาวที่สร้างสรรค์เพลงจากความหลงใหลใน “จิ๊มิ”        งานเพลงของสเตราส์คงจะไม่สามารถออกมาสมบูรณ์แบบขนาดนี้ได้ ถ้าหากขาดตัวแปรสำคัญอย่าง อแมนด์ล่า สเตนเบิร์ก (Amandla Stenberg) แฟนสาวของเธอ ที่ช่วยตัดต่อและย้อมสีมิวสิควิดีโอเพลง “Talia” อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้สเตราส์สร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ อยู่เสมอ “ฉันไม่ใช่คนชิลล์ ๆ และนั่นทำให้งานของฉันไม่ชิลล์ตามไปด้วย” สเตราส์บอกแบบนั้น ซึ่งเราก็สามารถสังเกตได้จากเนื้อเพลงของเธอ ที่มักจะพูดถึงความรัก ความหลงใหล และความสูญเสียอย่างเป็นจริงเป็นจัง นอกจากนี้สเตราส์ยังชอบที่จะใส่ความเป็นเควียร์ของตนลงไปในทุก ๆ เพลง รวมไปถึงทุก ๆ การปรากฏตัวของเธอ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงบนเวทีตามรัฐต่าง ๆ หรือการโพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรมและทวิตเตอร์ ที่เราจะได้เห็นความแพรวพราว ขี้เล่นของเธอ ในรูปแบบของการเล่นคำพ้องเสียงความหมายที่อ่านแล้วอดคิดถึงเรื่อง 18+ ไม่ได้ อย่างวลี “Cum to see me” ที่เธอมักจะทวีตเพื่อเชิญชวนให้แฟน ๆ ไปฟังเพลงของเธอในงานต่าง ๆ อยู่เสมอ “การเป็นเกย์ไม่ใช่เทรนด์ แต่เราทุกคนเป็นเกย์อยู่แล้วต่างหาก เราเป็นเกย์กันมาโดยตลอด และท้ายที่สุดแล้วผู้คนก็หันมาสนใจ นั่นมันทำให้ฉันมีความสุขมากที่ผู้คนค้นพบศิลปะในความเป็นเควียร์ เพลงและศิลปะมันควรจะเป็นแบบนั้น ดูอย่างวงควีน หรือทีนา เทอร์เนอร์สิ ตอนนี้คุณพูดได้แล้วนะว่าคุณเป็นเกย์ คุณไม่ได้แค่ดูเหมือนเกย์ พูดออกมาเลยว่าคุณเป็นเกย์ ฉันรักที่มันเป็นแบบนั้น” นี่คือจุดยืนอันชัดเจนของหญิงสาวที่ไม่เคยคิดว่าความหลงใหล หรือความรักที่เธอมีต่อเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิด “วงการเพลงป๊อปจะน่าสนใจขึ้นถ้าคุณมีเกย์ มีเควียร์ มีชาวสีรุ้งและทรานส์เจนเดอร์ โลกนี้พร้อมแล้ว พวกเราก็พร้อมแล้ว นี่ไม่ใช่การแข่งขัน แต่คือการขับเคลื่อนไปด้วยกันต่างหากล่ะ”   เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ (The People Junior) ที่มา:

https://www.rollingstone.com/music/music-features/king-princess-interview-profile-714458/

https://www.them.us/story/king-princess-make-my-bed

https://www.youtube.com/watch?v=HPN-nWA5JOE

https://www.billboard.com/articles/columns/rock/8466335/king-princess-1950-interview-chartbreaker