read
interview
27 พ.ค. 2562 | 13:38 น.
สัมภาษณ์ ปอย PORTRAIT 15 ปี บนเส้นทางสายดนตรีที่มีความเศร้านำทาง
Play
Loading...
ตวัน ชวลิตธำรง
หรือ
ปอย PORTRAIT
เจ้าของฉายา "เจ้าพ่อเพลงเศร้า" คือนักร้องและนักแต่งเพลงที่อยู่คู่วงการเพลงอินดี้ไทยมาร่วม 15 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมา PORTRAIT ได้แต่งเพลงเรียกน้ำตาไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘ขอดาว’ ‘เจ็บจนไม่เข้าใจ’ ‘โลกที่ไม่มีเธอ’ ที่คนอกหักร้องกันทั้งน้ำตา
นอกจากประวัติในวงการอันยาวนานและฝีมืออันเป็นที่ยอมรับแล้ว เรื่องราวหลังม่านที่เต็มไปด้วยความสิ้นหวังและความพ่ายแพ้จากคนรอบตัว ซึ่งกลายมาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาเข้าใจความเศร้าอย่างลึกซึ้ง จนสามารถถ่ายทอดออกมาได้ตรงใจใครหลาย ๆ คน ก็มีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เรียกได้ว่าความหลงใหลในความเศร้าและเสียงเพลงคือสองอย่างที่ทำให้ PORTRAIT เป็น PORTRAIT อย่างที่เราเห็น จนเจ้าตัวถึงกับออกปากว่าชีวิตบนเส้นทางสายดนตรีของเขามีความเศร้าเป็นผู้นำทาง
The People : พูดถึงจุดเริ่มต้น ชีวิตในวัยเด็กชอบฟังเพลงแบบไหน เริ่มเล่นดนตรี เริ่มแต่งเพลงตั้งแต่เมื่อไหร่
ปอย :
ตอนเด็ก ๆ เป็นคนทั่วไปที่ฟังเพลง ฟังแล้วก็ร้องไปด้วย แต่ร้องให้ตัวเองฟังอย่างเดียว จะไม่ร้องให้คนอื่นฟัง เรารู้สึกว่าเรามีความสุขกับโลกของเรา เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่จำความได้ เพราะฉะนั้นผมถึงไม่เคยไปประกวด ไม่เคยไปส่งเดโมที่ค่าย ไม่เคยคิดอยากเป็นศิลปินออกอัลบั้ม แค่รู้สึกว่าเราร้องเพลงแล้วมีความสุข ชีวิตในวัยเด็กจะเป็นอย่างนี้เลย แล้วก็มีจุดสังเกตที่ไม่ค่อยเหมือนคนอื่น คือเราฟังแต่เพลงเศร้ามาตั้งแต่เด็ก
The People : ตอนนั้นชอบอะไรในเพลงเศร้า เด็กบางคนอาจจะชอบเพลงที่ได้เต้น ได้สนุกกับดนตรีเร็ว ๆ มากกว่า
ปอย :
มันเป็นยุคครับ ช่วงตอนที่ผมเด็ก ๆ ประมาณ ป.5 - ป.6 เริ่มฟังเพลง จะเป็นยุคที่เขาเรียกว่า ‘จิ๊กโก๋อกหัก’ เพลงอกหักครองเมือง ใครที่ออกเทป ช่วงนั้นใช้คำว่าออกเทปนะ ทุกคนต้องมีเพลงอกหัก ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ยกตัวอย่างวัยรุ่นอย่าง แรปเตอร์ เปิดมาเพลงแรกต้องสนุกก่อน แต่เพลงที่สองต้องอกหัก ช่วงนั้นก็เลยชอบฟังเพลงเศร้า รู้สึกว่าฟังแล้วเราได้ปลดปล่อยอะไรบางอย่าง มันก็คงเหมือนเป็นทาง บางคนก็ชอบทางที่ฟังเพลงสนุก ๆ ไม่ฟังเพลงเศร้าเลย แต่ผมจะเป็นอีกทางคือไม่ฟังเพลงสนุกเลย ฟังเพลงเร็ว ๆ แล้วเฉย ๆ แต่ฟังเพลงเศร้าแล้วจะจมดิ่งไปกับมัน
The People : แล้วจุดเปลี่ยนที่ทำให้จากที่เราร้องเพลงแต่กับตัวเอง ได้เข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีคืออะไร
ปอย :
ผมไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองร้องเพลงได้ดีหรือเปล่า เพราะฉะนั้นก็เลยไม่เคยคิดที่จะร้องให้คนอื่นฟัง จนเราได้ไปร้องคาราโอเกะห้องรวมกับเพื่อน เป็นห้องรวมที่มีโต๊ะประมาณแปดโต๊ะ เรากับเพื่อนเป็นโต๊ะหนึ่ง แล้วก็เวียนไมค์โต๊ะละสองเพลง จำได้ว่าผมร้องเพลง ‘คืนจันทร์’ ของ LOSO แล้วอีกเจ็ดโต๊ะที่เหลือที่ไม่รู้จักกัน เขายืนขึ้นปรบมือให้หลังจากเราร้องจบ
ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกในชีวิตเลยที่รู้สึกว่า เราร้องเพลงแล้วมีคนชอบด้วยว่ะ เป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่บอกว่า เออ เราร้องให้คนอื่นฟังได้นะ เลยเริ่มหาเหตุที่จะไปร้อง อย่างไปนั่งร้านต่าง ๆ ก็จะขอขึ้นไปร้องได้ไหม เริ่มสนุกกับการร้องเพลงให้คนอื่นฟัง จนได้ไปเป็นนักร้องเพลงกลางคืนอยู่พักหนึ่ง แล้วเพื่อนก็ชวนไปร้องเพลงในซิงเกิลของเขา ชื่อเพลง ‘ฟัง’ ของ sleeper 1 ซิงเกิลนั้นดันไปขึ้นอันดับหนึ่งของ Fat Radio เหมือนทุกอย่างมันค่อย ๆ ขยับ เข้ามาเรื่อย ๆ ทุกอย่างค่อย ๆ บอกเราว่าเราอยู่ในวงการนี้ได้
The People : ตอนแรกไม่ได้คิดว่าตัวเองจะมาเป็นนักร้อง หรือจะทำอาชีพเป็นนักแต่งเพลง
ปอย :
ใช่ ผมว่าความสุขในการร้องเพลงมันพาผมไป ผมไม่ได้ไขว่คว้าชื่อเสียง ไม่ได้ปักเข็มไว้ตั้งแต่แรก ไม่ได้ต้องการมีอัลบั้มเป็นของตัวเอง ผมแค่ร้องเพลงแล้วผมมีความสุข แล้วความสุขนั้นมันพาผมไปเรื่อย ๆ พาผมไปห้องคาราโอเกะห้องนั้น พาผมไปร้านที่ผมขึ้นไปร้องสดอยู่ตรงนั้น จนเจ้าของร้านบอกว่ามาร้องด้วยกันไหม มาร้องประจำเลยไหม ทุกอย่างคือความรักในการร้องเพลงพาไป รักจนเพื่อนต้องไปชวนว่า เฮ้ย ! มาร้องให้หน่อย พอเพลงขึ้นอันดับหนึ่งเพื่อนก็มาชวนอีก ว่าเปิดค่ายเพลงกันไหม ก็เลยทำค่ายเพลงอินดี้ชื่อค่ายว่า no more belts มีศิลปินอยู่ค่อนข้างมากเหมือนกัน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เพลงอินดี้รุ่งเรือง เราทำค่ายอย่างสนุกสนานแล้วผมก็ได้ทำอัลบั้มที่นั่นเป็นครั้งแรก
The People : อยู่ในวงการอินดี้ ยังจำความหอมหวาน เสน่ห์ และความเป็นเอกลักษณ์ของมันได้ไหม
ปอย :
ถ้าจะพูดถึงวงการอินดี้ให้ทุกคนเข้าใจ คือมันเป็นยุคที่ Scrubb ออกชุดแรก อัลบั้ม Ssssss….! เพลง ‘ทุกอย่าง’ เป็นเพลงในช่วงแรก ๆ ของวงการอินดี้เลย ตอนนั้นยังเป็นช่วงที่ยังขายซีดีกันได้อยู่ mp3 นี่อยู่ในวงแคบมาก ๆ เทปผีซีดีเถื่อนยังไม่เกิด ยูทูบยังไม่มี เพราะฉะนั้นทุกคนฟังเพลงผ่านวิทยุและซีดี ทำซีดีออกมาขายกันได้เป็นพัน ๆ แผ่นต่อวัน เป็นยุคสมัยที่ทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่ต้องอยู่ค่ายใหญ่ ๆ ก็ได้
ก่อนหน้านั้นทุกคนจะต้องวิ่งเข้าหาค่ายใหญ่ ทุกคนจะต้องเข้าไปออดิชัน ทุกคนจะต้องส่งเดโมเพื่อให้เขาคัดเลือก แต่ยุคของผมมันเป็นยุคที่ทุกคนเริ่มรู้แล้วว่าค่ายอินดี้มันเกิดขึ้นได้ เราทำเพลงกันเองก็ได้ เราทำด้วยงบประมาณที่ต่ำลงกว่าปกติก็ได้ แต่ก่อนถ้าอยู่ค่ายใหญ่ ๆ ค่าเช่าห้องอัดทำอัลบั้มหนึ่งอัลบั้ม สิบเพลง เป็นล้านบาท ตกเพลงละแสน ยังไม่รวมค่านักดนตรี ค่ามิกซ์ ค่าแต่งเพลง แค่ไปเช่าห้องอัดเขา หนึ่งศิลปิน หนึ่งอัลบั้ม หนึ่งล้านบาท มันเป็นเงินมหาศาล ในขณะเดียวกัน พวกผมอัดในห้องนอน เพลง ‘ฟัง’ ของ sleeper 1 อัดในห้องพระ เอาผ้านวม ผ้าห่มมาบุกำแพงแล้วก็ตั้งไมค์ มันถึงได้เกิดช่วง bedroom studio ของ Cat Radio เพราะว่าตอนนั้นเราทำกันในห้องนอนจริง ๆ
The People : ถ้าพูดถึงภาพรวมตอนนี้ จากวันนั้นสิบกว่าปีผ่านมา คิดว่าวงการอินดี้เติบโตขึ้นไหม อย่างไร
ปอย :
มันเติบโตไปมาก ด้วยเทคโนโลยีที่เอื้อให้เรายืนได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ทุกคน stand alone ได้แค่มียูทูปแชแนลของตัวเอง มีเฟซบุคเพจของตัวเอง ถ้าของคุณดีจริง ทุกคนก็หันไปดู เพียงแต่ว่ามันก็มีข้อเสียที่ตามมา คือมันจะกลายเป็นทะเล หันไปแล้วปริมาณมันมาก เพราะทุกคนสามารถทำได้ เพราะฉะนั้นการเลือกว่าเราจะฟังอะไรเลยกลายเป็นความยาก จนบางทีก็กลายเป็นการฟังตาม ๆ กันไป จะหาเพลงที่รู้สึกว่าเราชอบจริง ๆ ได้น้อยกว่ายุคก่อน แต่ถ้าเราเท่าทันในฐานะของคนฟัง เสพข้อมูลอย่างซื่อสัตย์ต่อความต้องการของตัวเอง เราก็จะสนุกไปกับมันได้
The People : เพลงใหม่ ‘ต้องทำอย่างไร’ มีที่มาจากอะไร
ปอย :
เพลง ‘ต้องทำอย่างไร’ เป็นเพลงของคนที่สิ้นหวัง ผมมีการทำเพลงอยู่สองยุค ยุคประมาณสิบปีแรกจะเป็นเพลงที่ค่อนข้างแคบแต่ว่าลึก พูดถึงประเด็นที่ค่อนข้างจะจมดิ่ง ระดับความเศร้าเทียบได้กับก้นเหวที่มืดมาก จนผ่านไปยุคหนึ่ง เป็นยุคหลัง ๆ ผมจะเริ่มทำเพลงที่ตื้น แต่ว่ากว้างขึ้น เพลงพวก เจ็บจนไม่เข้าใจ โลกที่ไม่มีเธอ ซึ่งอารมณ์ของเพลงค่อนข้างที่จะต่างจากยุคแรก จนเริ่มมีคนถามว่า เมื่อไหร่จะกลับไปทำเพลงแบบเก่าบ้าง เมื่อไหร่จะกลับไปทำเพลงลึก ๆ บ้าง จริง ๆ ผมชอบทั้งสองแบบ เพลงนี้ก็เลยรู้สึกว่ากลับมาทำเพลงลึก ๆ ดีไหม
เปรียบเทียบกับเวลาเราดูบอลแมทช์ใหญ่ ๆ แล้วถ้าทีมที่เราเชียร์โดนยิงในนาทีสุดท้าย เคยเห็นนักบอลที่เขาล้มลงไปไหม นั่นแหละคืออารมณ์ของเพลงนี้ คือทำทุกอย่าง สู้จนสุดชีวิต ทำจนเต็มที่แล้วสุดท้ายก็ยังแพ้อยู่ดี เป็นเพลงของคนที่ทำทุกอย่างสุดความสามารถเพื่อจะเหนี่ยวรั้งใครบางคนเอาไว้ แต่สุดท้ายเขาก็ไป ประโยคแรกที่มันผุดขึ้นมาในหัวของเราคือ แล้วมันต้องทำยังไงต่อ ในเมื่อมันทำทุกอย่างไปหมดแล้ว
The People : มีเคล็ดลับไหม ทำอย่างไรให้เพลงไปถึงจุดที่ลึกสุดของความเศร้า
ปอย :
ไม่มีเคล็ดลับครับ และคิดว่าไม่สามารถถ่ายทอดหรือสอนให้คนมาทำอย่างนี้ได้ อาจจะเป็นเพราะว่าผมจับจ้องความเศร้ามาตั้งแต่เด็ก ฟังเพลงเศร้ามาตั้งแต่เด็ก ตั้งคำถามกับความรักมาตั้งแต่เด็ก ผมเคยตั้งคำถามมาตั้งแต่ตอนอยู่ ม.1 - ม.2 เลยว่าเราจะเอาชนะความรักได้ไหม เราจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องอกหักได้หรือเปล่า ผมเริ่มหาวิธีเอาชนะความรักตั้งแต่ตอนนั้น เริ่มตั้งสมการ ค้นหาสูตร วันหนึ่งเราก็ค้นพบว่า ไม่มีใครเอาชนะความรักได้ ความรักนี่มันเป็นปริศนาที่ธรรมชาติสร้างเอาไว้ จงใจให้มันอยู่คู่โลกไปแบบนี้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผมก็เลิกคิดที่จะเอาชนะมัน แล้วหันไปหาวิธีที่จะอยู่กับความพ่ายแพ้ยังไงให้โอเคที่สุดมากกว่า
ช่วงเวลาทั้งหมดที่ผ่านมาผมใช้เวลาไปกับความเศร้า ค้นคว้า หมกมุ่น จับจ้อง พูดคุยกับคนที่อกหัก เวลาไปร้านเหล้าถ้าใครนั่งร้องไห้อยู่ผมจะเดินไปคุย ถ้าเขาให้คุยผมจะคุยยาว ๆ ทั้งคืนเลย เพราะผมรู้สึกว่าคนมีปฏิกิริยากับความเศร้าไม่เท่ากัน เจอเรื่องเดียวกัน แต่คนหนึ่งโวยวาย คนหนึ่งนิ่ง คนหนึ่งร้องไห้ ทุกคนมีปฏิกิริยาไม่เท่ากันหมด เราหลงใหลกับความแตกต่างตรงนั้น ผมอยากรู้ว่าความเศร้ามีกี่รูปแบบกันแน่ การตั้งคำถามของเราพัฒนามาเป็นทักษะการเล่าเรื่อง กลับไปที่คำถามเดิมคือเคล็ดลับคืออะไร ผมบอกไม่ได้ ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง
The People : เสน่ห์ของความเศร้า ทำไมสำหรับเราเรื่องเศร้าของคนแพ้จึงน่าสนใจกว่าเรื่องของผู้ชนะที่ถือถ้วยรางวัล
ปอย :
พอถึงเวลาประกาศผลแพ้ชนะ ที่เขาขึ้นแท่นรับรางวัลแล้วชูถ้วย ผมจะมองคนที่ได้ที่สามก่อนที่หนึ่งเสมอ ผมจะสังเกตสีหน้าเขาเวลาคนที่ได้ที่หนึ่งเขย่าแชมเปญ แล้วคนที่ได้ที่สามล่ะ ทำอย่างไร ผมจะมองคนที่แพ้ก่อนคนที่ชนะเพราะรู้สึกว่าเรื่องราวมันน่าสนใจไม่แพ้กัน เพียงแต่มันเป็นคนละมุม ในชีวิตนี้ผมเจอคนแพ้มากกว่าคนชนะ และรู้สึกว่าความเศร้ามันอยู่กับเรานานกว่าความสุข ถ้าให้นึกย้อนกลับไปในประสบการณ์ของเรา ที่เราฝังใจ ส่วนใหญ่จะจำได้แต่เรื่องเศร้า เรื่องที่มีความสุขมันผ่านมาแล้วก็หาย แต่เรื่องเศร้ามันไม่ไปไหน มันอยู่กับเรานานและลึกกว่า
The People : เพลงที่แต่ง กำลังพูดอะไรกับคนฟังอยู่ไหม และถ้าใช่ เราอยากจะบอกอะไรเขา
ปอย :
แรก ๆ ผมไม่เคยสนใจ message ในเพลงเลย แค่อยากจะถ่ายทอดอารมณ์ประมาณนี้ มีอยู่ช่วงหนึ่งด้วยซ้ำที่ทำทุกอย่างเพื่อให้คนฟังเศร้าที่สุด ทำดนตรีให้มันเศร้าที่สุด ทำเนื้อเพลงให้มันเศร้าให้มากเท่าที่มันจะเป็นไปได้ แต่พอผ่านไปถึงช่วงเวลาหนึ่ง ตอนที่ชีวิตผ่านอะไรมามากขึ้น เราไม่อยากจะทำให้เขาเศร้าไปมากกว่านี้อีกแล้ว เพราะว่าบางครั้งการที่เศร้ามาก ๆ มันก็มีข้อเสีย กลายเป็นเราไปทำร้ายเขาแทนที่เราจะทำให้เขาดีขึ้น
ผมเลยเปลี่ยนมุมมองใหม่ ใช้เพลงเศร้าเป็นเพื่อนคนที่กำลังเศร้าอยู่ เวลาคนเราล้ม นอนร้องไห้อยู่ มันจะมีเพื่อนที่บอกเราว่า ‘เฮ้ย ! ลุกขึ้นดิ ไม่เศร้าดิ พรุ่งนี้ยังมีนะ ไปสนุกกันดีกว่า’ ซึ่งมันไม่เคยสำเร็จ เพราะเราไม่เคยต้องการให้เพื่อนฉุดเราขึ้นไป เรายังลุกขึ้นไม่ได้ ‘ยิ้มดิ สู้ดิ ชีวิตมีความหวังนะเว่ย’ มันไม่เคยได้ผลกับคนที่ตกอยู่ในช่วงเวลาที่สิ้นหวัง เขาไม่ได้ต้องการคนไปฉุดเขาขึ้นมา เขาต้องการคนรับฟัง คนที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขายังมีเพื่อน ยังมีคนที่เข้าใจสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่ ผมต้องการให้เพลงเศร้าของผมเป็นแบบนั้น เป็นเพลงที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้เผชิญอยู่กับเรื่องราวเหล่านั้นเพียงลำพัง นั่นคือจุดมุ่งหมายของทุกเพลงในยุคหลัง ๆ
The People : เป็นเพราะเราเติบโตขึ้นเลยเข้าใจความเศร้ามากขึ้นหรือเปล่า
ปอย :
ครับ เป็นเรื่องของวัยด้วย ตอนเป็นวัยรุ่นอารมณ์มันจะพลุ่งพล่าน มันจะมีความโจนทะยาน ความสุขุมจะยังไม่ค่อยมี ความเศร้าช่วงนั้นเลยจะฟูมฟาย ซึ่งมันก็น่าจะถูกโฉลกกับคนวัยนั้น แต่พอเราโตขึ้น ความฟูมฟายเราจะน้อยลง แต่ว่ามีกระบวนท่าในการเล่ามากขึ้น เราจะบังคับตัวเองให้ฟูมฟายก็ได้ ไม่ฟูมฟายก็ได้
The People : ยกตัวอย่างเพลงที่เราอยากให้อยู่เป็นเพื่อนคนที่กำลังเศร้า
ปอย :
เพลง ‘โลกที่ไม่มีเธอ’ เป็นเรื่องที่น่าจะเรียกได้ว่าเศร้าที่สุดในชีวิตของมนุษย์แล้วล่ะ มันคือการที่คนรักได้ตายจากไปโดยที่เรายังไม่ได้เตรียมใจ เราคิดว่าในจำนวนความเศร้าในโลกนี้ ความเศร้าชนิดนี้มันไม่มีความหวังที่สุด และจะไม่มีเพลงไหนบนโลกนี้ที่จะทำให้คนที่เจอเรื่องราวแบบนี้ฟังแล้วเขาจะดีขึ้นได้เลย ไม่มีทาง ผมเลยทำสิ่งที่ดีรองลงมา คือทำให้เขารู้สึกว่ามีคนเข้าใจ ถ่ายทอดในสิ่งที่เขากำลังเผชิญ ถ่ายทอดความสิ่งที่เขากำลังรู้สึก เล่ามันออกมา ทำให้เขารู้สึกว่านี่คือเพลงของเขา
The People : แต่งเพลงเศร้า แล้วเราเป็นคนเศร้าไหม มีครั้งไหนที่เราจมดิ่งลงไปในเพลงแล้วหาทางออกไม่ได้บ้างหรือเปล่า
ปอย :
ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้มีชีวิตที่มีปัญหา แต่ผมชอบที่จะทำความรู้จักกับความเศร้า ผมไม่ได้เผชิญเองกับทุก ๆ เพลง 70 – 80 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องของคนอื่น แต่ว่ามันก็มีบ้างบางครั้ง ที่เราอินไปกับเรื่องจนออกมาไม่ได้ เพราะตอนแต่งเพลง เราจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจตัวละครไม่ต่างจากนักแสดง เราต้องเข้าใจในทุก ๆ แง่มุมของเขาให้ชัดที่สุด ยิ่งชัดเท่าไหร่เพลงมันจะยิ่งจริงมากขึ้น อย่างเพลง ‘โลกที่ไม่มีเธอ’ ผมต้องค้นเข้าไปในจิตใจของตัวเองค่อนข้างลึก เป็นโซนที่ปกติไม่เข้าไป แล้วต้องพาตัวเองกลับมาให้ได้
The People : คิดว่าเพลงเศร้า กับโรคซึมเศร้า มีความเชื่อมโยงกันไหม
ปอย :
มันมีความเชื่อมโยงกัน แต่ผมไม่สามารถวิเคราะห์ได้ ผมเองก็เคยเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ต้องกินยาอยู่นานเหมือนกัน ผมถึงเข้าใจว่าคนเป็นโรคซึมเศร้าเขารู้สึกแบบไหน โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เคมีในสมองทำงานผิดพลาด ทำให้ตรรกะเราเปลี่ยนไปอีกชุดหนึ่ง คนปกติมองไปข้างหน้าเห็นถนน คนเป็นโรคซึมเศร้ามองไปข้างหน้ามันไม่เห็นอะไร มันเลย make sense มากที่จะไม่อยู่
คนเป็นโรคซึมเศร้าตรรกะเขาจะเปลี่ยน และเป็นตรรกะที่อันตราย เพราะเขาไม่มีความมุ่งหมายในการดำรงอยู่ ตอนที่ผมเป็น ผมไม่ออกจากห้องตัวเองสองอาทิตย์ ไม่ทำอะไรเลย จะกินก็ต่อเมื่อหิวจนทนไม่ไหว นอน 15-16 ชั่วโมงต่อวัน เพราะไม่รู้จะตื่นไปทำอะไร มันไม่ได้ตั้งใจเป็นนะ มันเป็นเอง แล้วก็รู้สึกว่าเราไม่ได้ป่วยด้วย เราแค่รู้สึกว่าชีวิตเราเป็นแบบนี้ จนหมอเขามาบอกว่า นี่ ลองกินยาดู พอหลุดออกจากตรงนั้นแล้วมองกลับไป ทำให้ผมรู้สึกว่า คนเป็นโรคนี้ค่อนข้างจะต้องต่อสู้คนเดียวพอสมควร โดยเฉพาะการต่อสู้ให้คนรอบข้างเข้าใจ อันนี้ยากที่สุด
ทีนี้พูดถึงเพลง อย่างที่บอกคือเรายังอธิบายโรคซึมเศร้าได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมเลยรู้สึกว่า มันเกี่ยว แต่ไม่น่าจะเกี่ยวร้อยเปอร์เซ็นต์ มีบางครั้งที่ผมรู้สึกว่าเพลงเศร้าทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าดีขึ้นได้ แต่ผมก็ไม่รับประกันว่ามันจะดีขึ้นเสมอไป หรือเพลงของผมจะไปทำร้ายคนที่เป็นโรคนี้บ้างหรือเปล่า ดังนั้นผมเลยระมัดระวังอยู่ตลอดว่าเราจะต้องไม่ทำเพลงที่สุดท้ายไปทำร้ายใคร เราต้องไม่ทำเพลงที่ผลักดันให้คนฆ่าตัวตาย เราบอกตัวเองว่าจะไม่ก้าวข้ามเส้นนี้ไป
The People : บทเรียนที่เราผ่านช่วงเวลายาก ๆ เหล่านั้น มันให้เกราะป้องกันหรือภูมิคุ้มกันอะไรกับเรา เราขอบคุณไหมที่เราเคยผ่านเรื่องเลวร้ายมา
ปอย :
แน่นอน อย่างคำพูดที่ว่า อะไรที่มันฆ่าเราไม่ได้ มันจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น มันเป็นเรื่องจริง นักรบต้องมีบาดแผล เพื่อที่เราจะได้เติบโต ถ้าเราผิดพลาดแล้วมองว่าสิ่งนั้นเป็นบทเรียน เป็นแบบฝึกหัดที่ทำให้เราเก่งขึ้น เราก็จะเจอเรื่องแบบนั้นน้อยลง เพราะเราเรียนรู้ที่จะไม่ทำผิดเหมือนเดิมแล้ว เพราะฉะนั้นใครที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือใครที่กำลังตกอยู่ในภาวะที่สิ้นหวัง ผมไม่สามารถบอกคุณได้หรอกว่ามันจะกลายเป็นความโชคดี หรือคุณต้องได้เรียนรู้จากมันนะ แต่ถ้าคุณผ่านมันไปได้ แล้วมองกลับไป คุณจะรู้ว่า เออ เราผ่านมันไปได้แล้วนะ
The People : ทำไมถึงตั้งชื่อแฮชแท็กคอนเสิร์ตว่า #เรื่องเศร้าไม่รู้จบ มีที่มาไหม
ปอย :
คอนเสิร์ตผมเป็นคอนเสิร์ต 15 ปี ก็พยายามจะเล่าเส้นทางที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งผมตีความว่าตลอดเส้นทางที่ผ่านมา ชีวิตของผมถูกขับเคลื่อนด้วยความเศร้า ความเศร้ามันจูงมือเดินมาโดยตลอด และมันก็จะยังจูงมือผมต่อไป มันก็เหมือนการมองไปยังจุดที่เดินผ่าน จุดที่ยืนอยู่ และจุดที่กำลังจะเดินต่อไป มันเป็นเส้นทางสายความเศร้าทั้งหมด ก็เลยตั้งชื่อมันว่าเป็นเรื่องเศร้าที่ไม่รู้จบ
The People : จากเพลงที่แต่งมาทั้งหมด เพลงไหนเข้ากับแฮชแท็ก #เรื่องเศร้าไม่รู้จบ ที่สุด
ปอย :
น่าจะเป็นเพลงที่ชื่อว่า ลวงตา ในอัลบั้มที่ 2 แล้วก็เป็นเพลงที่ใช้เป็นชื่ออัลบั้มด้วย เป็นในช่วงที่ผมบอกกับตัวเองแล้วว่าผมจะไม่เอาชนะความเศร้า หลังจากที่พยายามเอาชนะมันมาตลอด ผมสรุปความคิดรวบยอดในตอนนั้นลงไปในเพลง ว่าสุดท้ายแล้ว ความรักมันก็จะลวงตาเราอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะพยายามเอาชนะสักแค่ไหน เราก็จะแพ้อยู่ดี แต่คำถามคือเราจะต้องทำยังไงกับความพ่ายแพ้ กับสนามที่เราไม่มีทางชนะ ผมบอกตัวเองว่า ก็มีความรักต่อไปเถอะ ปล่อยให้ความรักมันลวงตาเราต่อไป ภาวนาว่าสักวันเราจะโชคดี เพลงนี้น่าจะเป็นเพลงที่ใกล้เคียงกับคอนเส็ปต์ของคอนเสิร์ตมากที่สุด
The People : เราเห็นความเศร้ากับความรักเป็นเหรียญสองด้านที่ต้องมาคู่กันไหม
ปอย :
มองให้เป็นเหรียญสองด้านก็ได้ เพราะเหรียญสองด้านก็คือเรื่องที่มาคู่กันอยู่แล้ว พลิกด้านหนึ่งก็เจอเรื่องหนึ่ง พลิกอีกด้านก็เจอเรื่องหนึ่ง มันมาเป็นคอมโบกัน การที่จะคาดหวังให้ชีวิตมีความรักที่มีความสุขอย่างเดียวเป็นเรื่องที่ผิดมาก หรือการมองว่าชีวิตมีแต่ความเศร้าโศกอย่างเดียว มันก็ไม่ใช่ เราต้องทำใจให้รับได้ทั้งสองเรื่อง
The People : ก้าวต่อไปหลังจากคอนเสิร์ตครั้งนี้ PORTRAIT จะเป็นอย่างไร
ปอย :
ผมยืนอยู่ในจุดที่ยังไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร ตอนนี้เป็นศิลปินเบื้องหน้า ทำเพลงของตัวเองด้วย แล้วก็เป็นโปรดิวเซอร์ทำเพลงให้คนอื่นด้วย มีค่าย Boxx music ซึ่งเป็นค่ายที่อยู่แล้วมีความสุขมาก ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ มีเพื่อนร่วมงานที่ดี ยังอยากจะอยู่ในจุดนี้ให้นานที่สุดเท่าที่นานได้ แต่ถ้าวันหนึ่งเราไม่สามารถจะอยู่เบื้องหน้าได้แล้ว จุดมุ่งหมายที่น่าจะเป็นจุดต่อไปก็คือ อยากแต่งเพลงให้คนอื่นร้องไปเรื่อย ๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะมีวันหมดอายุ ตราบใดที่เรายังมีความสามารถพอ
The People : อยากฝากอะไรถึงแฟนเพลงที่ติดตามมาตลอด 15 ปี
ปอย :
คอนเสิร์ตนี้เป็นคอนเสิร์ตครั้งเดียวในรอบ 15 ปีก็ว่าได้ เพราะคอนเสิร์ตเดี่ยวของผมครั้งล่าสุดคือเมื่อ 13 ปีที่แล้ว มันเว้นมานานมาก มีคนถามเข้ามาตลอดว่าเมื่อไหร่จะจัดคอนเสิร์ตอีก ปีนี้เลยตัดสินใจจัด ไม่อยากให้ทุกคนพลาดเพราะว่าไม่รู้ว่าจะมีอีกครั้งเมื่อไหร่ มีแขกรับเชิญที่เป็นเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ มากพอสมควร คนที่ฟังเพลงเศร้าของ PORTRAIT ทุกยุค ทุกสมัย อยากให้ไปงานนี้เพื่อจะได้รู้จัก PORTRAIT ในทุก ๆ แง่มุม ฟังเพลงของผมในทุก ๆ ยุค เชื่อว่าคุณจะไม่ผิดหวังครับ
เรื่อง
:
จิรภิญญา
สมเทพ
(The People Junior)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
Johnnie Walker จับมือ Perfect Moment เปิดตัวแคมเปญเข้าถึงวัฒนธรรม Après Ski ส่งป็อปอัพสโตร์ชูประสบการณ์แบรนด์ลักชัวรีไลฟ์ไตล์ชั้นนำของโลก
09 ม.ค. 2568
แสนสิริ เดินหน้าโครงการ Zero Dropout: เด็กทุกคนต้องได้เรียน
09 ม.ค. 2568
TIJC ครั้งที่ 16 เปิดเวทีดนตรีแห่งการผสมผสาน ชวนผู้ชม ฟังแจ๊สในมุมมองใหม่
08 ม.ค. 2568
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
ตวัน ชวลิตธำรง
เพลงเศร้า
ปอย PORTRAIT