"ข้ารักประชาธิปไตย ข้ารักสาธารณรัฐ ข้าจะวางอำนาจที่ท่านมอบให้ข้าทันทีที่วิกฤตร้ายได้หายไปแล้ว และสิ่งแรกที่ข้าจะทำหลังได้รับอำนาจนี้คือการสร้างกองทัพแห่งสาธารณรัฐ เพื่อต่อต้านการรุกรานของพวกผู้ปรารถนาจะแบ่งแยกเราออกจากกัน" : พัลพาทีน
ภายใต้บรรยากาศการเมืองที่กำลังระอุคุกรุ่นภายหลังเปิดประชุมสภา (และ 'แลกเปลี่ยนเชิงหมัดมวย' กันพอหอมปากหอมคอ) แฟน ๆ จักรวาล Star Wars คงอดเทียบเคียงสถานการณ์นี้เข้ากับเรื่องราวของการต่อสู้และการเมืองในจักรวาลอันไกลโพ้นในขอบเขตจินตนาการของ จอร์จ ลูคัส ไม่ได้ เพราะบรรยากาศการถกเถียงกันในสภา, การเลือกผู้แทน, ความสั่นคลอนของระบอบประชาธิปไตยและการรุกล้ำของเผด็จการ ล้วนแล้วแต่ถักร้อยอยู่ในแฟรนไชส์ Star Wars ผ่านตัวละครอย่าง ชีฟว์ พัลพาทีน (รับบทโดย เอียน แม็กเดียร์มิด) อดีตวุฒิสมาชิกที่แฝงเร้นกายเงียบเชียบและผลักดันเปลี่ยนระบบการปกครองของสาธารณรัฐกาแลกติกเป็นระบอบจักรวรรดิ และยึดอำนาจ-สถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิในเวลาต่อมา
หากเราตั้งต้นกันที่ Star Wars: Episode I - The Phantom Menace (1999) ซึ่งกำกับและเขียนบทโดยลูคัส มันพาคนดูย้อนกลับไปยังยุคสมัยที่สาธารณรัฐกาแลกติกยังปกครองแบบรัฐสภา และเช่นเดียวกับอาณาจักรทุกแห่งบนโลก ประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิสอดแทรกไปด้วยความขัดแย้งและการต่อสู้ชิงอำนาจมากมายหลายครั้ง หากก็สามารถจัดการได้ด้วยเหล่าเจไดและระบอบประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนลงความเห็นอย่างเท่าเทียม ฟากเศรษฐกิจ ตัวสาธารณรัฐก็ติดต่อค้าขายและมีขั้วการแลกเปลี่ยนอย่างสมาพันธ์การค้า ซึ่งในหนังนั้นเป็นตัวแทนของกลุ่มนายทุนเงินหน้าที่ร่วมมือกับเหล่าซิธ (หมายถึงกลุ่มลัทธิที่ฝักใฝ่ในด้านมืด เป็นขั้วตรงข้ามของเหล่าเจได) สร้างแรงกระเพื่อมเพื่อให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน และเป็นช่องโหว่สำคัญให้วุฒิสมาชิกพัลพาทีน อ้างว่าเหล่าข้าราชการและวุฒิสภาต่างถูกทุนนิยมดูดกลืน เริ่มโกงกินและเป็นต้นเหตุสำคัญให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนของสาธารณรัฐกาแลกติก
"สาธารณรัฐไม่ได้เป็นอย่างที่มันเคยเป็น วุฒิสภาโกงกิน หนำซ้ำ ผู้แทนฯ ยังทะเลาะกัน" พัลพาทีนกล่าว
และด้วยการอ้างว่าจะปกปักษ์ความเห็นหนึ่งเดียวของสาธารณรัฐไว้ให้ได้ เขาได้รับการโหวตเลื่อนตำแหน่งจากสภาให้เป็นสมุหนายกเพื่อดูแลความเรียบร้อย และแม้ว่าโดยตำแหน่งแล้ว เขาจะมีวาระอยู่เพียง 2-4 ปีเท่านั้น หากแต่พัลพาทีนอยู่ในตำแหน่งนี้นานกว่านั้นมาก อันเนื่องมาจากข้ออ้างเพื่อจะ 'ดูแลความสงบเรียบร้อย' และ 'กำจัดคนเลวออกจากการเมือง' (อะแฮ่ม ๆ) จนในที่สุด จากตำแหน่งวุฒิสภาสู่สมุหนายก -ในนามของความมั่นคง- พัลพาทีนก็ได้เลื่อนขั้นกลายมาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประกาศใช้คำสั่งที่ 66 เพื่อกวาดล้างเหล่าเจไดอันเป็นขั้วตรงข้ามของอำนาจที่เขามีในมือให้เหี้ยน
ลูคัสไม่เคยปิดบังว่าเขาร่างการเมืองของ Star Wars โดยมีฉากหลังเป็นการเมืองและสงครามของอเมริกา ใน Star Wars: Episode III - Revenge of the Sith (2005) ซึ่งว่าด้วยการยึดอำนาจเบ็ดเสร็จของพัลพาทีนที่เผยว่าแท้จริงแล้วเขาคือ ดาร์ธ ซิเดียส แห่งลัทธิซิธ "ผมเขียนบทไว้ก่อนหนังจะฉายสัก 30 ปีได้มั้ง เขียนระหว่างที่เกิดสงครามเวียดนามภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (ปธน.คนที่ 37 และเป็นผู้สั่งให้มีการทิ้งระเบิดโจมตีเวียดนามเหนือที่กรุงฮานอย นับเป็นการโจมตีที่รุนแรงที่สุดในสงครามเวียดนาม)" ลูคัสสาธยาย "ผมอยากสะท้อนว่าประชาธิปไตยจะเป็นอย่างไรหากตกอยู่ในมือเผด็จการ คือถ้าคุณไม่ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะในสภาหรืออะไรก็ตาม มันจะนำไปสู่ความเลวร้ายทั้งสิ้น เพราะหากคุณไม่เคารพในเสียงของประชาชนที่เลือกคุณเข้ามา มันจะเปิดช่องให้เผด็จการเข้ามามีอำนาจและยึดทุกสิ่งทุกอย่างไป
"ช่วงสงครามเวียดนาม ในยุคของนิกสันที่อยู่ระหว่างการดำรงตำแหน่งวาระที่สองของเขา มันทำให้ผมตั้งคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ว่าระบอบประชาธิปไตยมันเปลี่ยนไปสู่ระบอบเผด็จการได้ยังไงกันนะ นั่นเพราะที่สุดแล้ว ประชาธิปไตยมันไม่ทำงานเท่านั้นเอง"
ลูคัสถ่ายทอดความตึงเครียดสุดขีดของสงครามเวียดนามและการใช้อำนาจอย่างล้นเกินของนิกสันผ่านความสั่นคลอนของสภาใน Star Wars และตัวละครอย่างพัลพาทีน ลูคัสยืนยันว่าไม่มีทางที่พัลพาทีนจะเป็นเจไดได้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะช่วงเวลาไหนในชีวิตของเขาก็ตาม "เขาคือนักการเมืองนะ ชื่อเขาคือริชาร์ด เอ็ม นิกสัน แหละ เขายกเลิกระบบวุฒิสภาและครอบครองอำนาจเบ็ดเสร็จ สถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิและอสุรกายในที่สุด แค่เสแสร้งทำเป็นคนดีก็เท่านั้นเอง”
ใช่แล้ว นั่นเพราะการปรากฏตัวของพัลพาทีนใน The Phantom Menace และ Star Wars: Episode II - Attack of the Clones (2002) เขาคือนักการเมืองชราผู้ปฏิญาณตนจะทำทุกสิ่งเพื่อความรุ่งเรืองของสาธารณรัฐ นอกเหนือจากอ้างเรื่องความสงบสุขและความมั่นคงแล้ว ยังยืนยันว่าสาธารณรัฐจำเป็นต้องมีกองทัพเพื่อความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ ก่อนจะค่อย ๆ เผยด้านมืดที่ชักจูง อนาคิน สกายวอล์คเกอร์ เจไดหนุ่มหัวใจหวั่นไหวให้เข้าด้านมืดจนกลายมาเป็น ดาร์ธ เวเดอร์ ในเวลาต่อมา ส่วนพัลพาทีนเองก็เผยโฉมหน้าของการเป็นดาร์ธ ซิเดียสเต็มตัว เปลี่ยนระบอบสาธารณรัฐให้กลายเป็นจักรวรรดิ ขณะที่ประชาชนและเจไดที่เหลือรอดจากสงครามและการกวาดล้างครั้งใหญ่ก็เข้าร่วมฝั่งกบฏ เพื่อปราบอำนาจเผด็จการ คืนประชาธิปไตยให้กาแลกติก
ในหนังสือ Star Wars and History บรรยายไว้ว่า พัลพาทีนนั้นมีลักษณะเหมือนกันกับ ออกุสตุส นักการเมืองที่มีชีวิตอยู่จริงสมัยอาณาจักรโรมัน โดยทั้งพัลพาทีนและออกุสตุสนั้นล้วนเข้ามามีอำนาจด้วยการกล่าวอ้างว่ารัฐสภาเต็มไปด้วยความฉ้อฉล และผลักดันให้ขยายอำนาจของกองทัพในนามของความมั่นคง
ไม่ผิดนักหากเราจะบอกว่า ประชาธิปไตยอันง่อนแง่นได้เปิดทางให้คนอย่างพัลพาทีนขึ้นมามีอำนาจและฉวยประโยชน์ หากแต่ดังที่เราเห็นจากหนัง ไม่ใช่ว่าลูคัสหมดศรัทธากับระบอบประชาธิปไตย ตรงกันข้าม แรงปรารถนาของเขาคือการสะท้อนความเลวร้ายของเผด็จการผ่านตัวละครอย่างพัลพาทีน (หรือก็คือดาร์ธ ซิเดียส) ด้วยการสร้างตัวละครฝั่งตรงข้ามผู้พยายามทำทุกทางให้กาแลกติกกลับไปสู่การปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย ในนามของพันธมิตรกบฏหรือพันธมิตรฟื้นฟูสาธารณรัฐ ที่ตั้งตนเป็นศัตรูกับดาร์ธ ซิเดียส และจักรวรรดิของเขา ซึ่งอยู่ใน A New Hope (1977) ความหวังใหม่ในตัวละครหน้าใหม่ ๆ ของจักรวาลนี้
“และนี่แหละที่เป็นประเด็นของหนังทั้งเรื่อง” ลูคัสกล่าว “ไม่ว่าคุณจะก้าวถอยหลังหรือก้าวไปข้างหน้า หากคุณออกนอกลู่นอกทางของความเป็นประชาธิปไตย สิ่งที่เข้ามาแทนคือเผด็จการ… และจากนั้น การลุกฮือของประชาชนจะนำทุกอย่างกลับมาสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง”
เรื่อง : พิมพ์ชนก พุกสุข