มาห์มุดแห่งกาซนา อดีตลูกทาสผู้เป็นกลายมาเป็นจักรพรรดิ
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 9 ราชวงศ์ซามานิด เป็นราชวงศ์มุสลิมเชื้อสายอิหร่านกลุ่มแรก ๆ ที่สามารถก้าวขึ้นมามีอำนาจปกครองบริเวณด้านตะวันออกของอิหร่านและอุซเบกิสถาน (อ้างอิงจากที่ตั้งในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นพื้นที่บางส่วนที่เคยเป็นของจักรวรรดิเปอร์เซียเดิมได้สำเร็จ หลังจักรวรรดิเปอร์เซียถูกปราบปรามโดยกองทัพมุสลิมอาหรับ
แต่อำนาจปกครองของซามานิดก็ถดถอยลงอย่างรวดเร็ว กลางศตวรรษที่ 10 พวกเขาต้องเจอกับปัญหาการแย่งชิงอำนาจระหว่างเจ้าครองแคว้นที่ประกอบขึ้นเป็นจักรวรรดิ และยังถูกกดดันจากการแผ่อิทธิพลของกลุ่มอำนาจชาวเติร์กจากเอเชียกลางและอัฟกานิสถาน
โดยหนึ่งในผู้นำชาวเติร์กที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจของราชวงศ์ซามานิดก็คือ เซบุกตีกิน (Sebüktigin) อดีตทาสที่ได้เป็นเขยเจ้าเมืองกาซนา (Ghazna ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ กาซนี - Ghazni)
เซบุกตีกินเกิดในดินแดนที่ปัจจุบันนี้คือคีร์กิซสถาน เขาถูกจับเป็นทาสตั้งแต่อายุได้เพียง 12 ปี และได้เข้าไปเป็นทหารในกองทัพทาสภายใต้การบังคับบัญชาของอัล์พเตกิน (Alp-Tegin) ผู้นำทหารทาสชาวเติร์กที่ใช้กำลังยึดเมืองกาซนาและขึ้นปกครองเมืองโดยยังสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์ซามานิด (ทหารทาสหรือมัมลุกเป็นกองกำลังที่ได้รับความนิยมมากในอาณาจักรแถบตะวันออกกลางยุคนั้นและส่วนใหญ่ก็มีเชื้อสายเติร์ก)
ภายหลังเซบุกตีกินก็ได้แต่งงานกับลูกสาวเจ้านาย ครั้นอัล์พเตกินเสียชีวิตเขาก็ขึ้นครองเมืองกาซนาสืบมา แต่ประกาศไม่ยอมรับอำนาจราชวงศ์ซามานิดอีกต่อไป และตั้งราชวงศ์ใหม่ในชื่อกาซนาวิด ปกครองพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน
เมื่อเซบุกตีกินเสียชีวิตลง (997) เขาก็ส่งมอบบัลลังก์ต่อให้กับ อิสมาอิล (Isamil) ลูกชายคนรองที่เกิดจากภรรยาหลวงที่มีฐานะทางสังคมสูง ทำให้มาห์มุด (Mahmud) ลูกชายคนโตที่เกิดจากภรรยารองไม่พอใจใช้กำลังเข้ายึดอำนาจแล้วจับน้องชายของตนขังคุกตลอดชีวิต
มาห์มุดอายุได้ราว 27 ปี เมื่อครั้งใช้กำลังยึดอำนาจโดยได้รับการสนับสนุนจากบรรดาขุนนางที่เชื่อในความสามารถทางการปกครองมากกว่าตัวน้องชาย ตอนนั้นกาซนาเป็นเพียงอาณาจักรเล็ก ๆ เบื้องต้นพระองค์จึงยังแสดงความภักดีต่อกาหลิบแห่งราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ที่แบกแดด ส่วนกาหลิบก็ให้การยอมรับมาห์มุดว่าเป็นเจ้าผู้ครอบครองดินแดนโดยชอบธรรมเป็นการตอบแทน
และในกาลต่อมา มาห์มุดยังนับเป็นผู้นำมุสลิมคนแรกเรียกตัวเองว่า "สุลต่าน" สื่อถึงการเป็นผู้นำสูงสุดในทางทหารและการเมือง ในขณะที่ยังยอมรับกาหลิบแห่งอับบาสิยะฮ์ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณ
พระองค์มีความปรารถนาที่จะขยายอาณาจักรให้กว้างไกล และว่ากันว่าพระองค์ได้ให้คำปฏิญาณว่าจะรุกรานอินเดียทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 1001 และได้เคลื่อนทัพจริง 17 ครั้ง นับถึงครั้งสุดท้ายในปี 1026 ทำให้ดินแดนของพระองค์ครอบคลุมถึงดินแดนในอนุทวีปทั้งแคชเมียร์ ปัญจาบ ไปจนถึงคุชราตทางออกสู่มหาสมุทรอินเดีย
สุลต่านมาห์มุดยังเป็นผู้นำมุสลิมคนแรกที่รุกรานอินเดีย โดยมีแรงผลักดันสำคัญคือการแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินอันมั่งคั่งของเหล่าราชาแห่งอนุทวีป และแม้พระองค์จะเป็นผู้ให้การอุปถัมภ์อิสลาม พระองค์ก็ไม่มีนโยบายที่จะบังคับให้คนที่อยู่ในอำนาจเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม กองทัพของพระองค์ก็มีกองทหารฮินดูประกอบอยู่ด้วย
พระองค์ปกครองดินแดนห่างไกลโดยให้เจ้าประเทศราชเชื้อชาติศาสนาเดียวกับประชาชนเป็นผู้ปกครองต่อไป ตลอดการครองราชย์กว่าสามทศวรรษพระองค์รุกรานอาณาจักรทั้งฮินดูและอิสลามรวมกันกว่า 30 ครั้ง และด้วยความที่การทำสงครามต้องอาศัยทรัพยากรจำนวนมาก โบสถ์ฮินดูซึ่งเป็นแหล่งรวมทรัพย์สินของผู้ศรัทธาจึงต้องเป็นเหยื่อความรุนแรงของกองทัพพระองค์
นอกจากการสงครามแล้ว สุลต่านมาห์มุดยังให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าทางความรู้และศิลปะ ทำให้กาซนีกลายเป็นแหล่งรวมศิลปวิทยาการที่รุ่งเรือง พระองค์ยังทรงสนับสนุนให้มีการก่อสร้างสถาบันการศึกษา ห้องสมุด และศาสนสถานขนาดใหญ่ ทำให้เมืองหลวงของพระองค์ถูกยกไปเทียบเคียงกับมหานครแบกแดด
ในช่วงปลายรัชกาล พระองค์ยังส่งกองทัพไปรุกรานอินเดียอีกโดยยกไปไกลถึงเมืองโสมนาถปล้นวิหารพระศิวะอันลือชื่อได้สำเร็จ ก่อนเคลื่อนทัพกลับกรุงในปี 1026 ซึ่งคราวนี้พระองค์ต้องเป็นฝ่ายตั้งรับการรุกรานเสียเอง หลังกำลังของชนเผ่าเติร์กรุกคืบเข้ามาถึงพรมแดนของราชอาณาจักร ซึ่งหลังพระองค์สวรรคต (1030) ดินแดนอันไพศาลของพระองค์ก็ค่อย ๆ หดเล็กลงเมื่อต้องสูญเสียดินแดนส่วนใหญ่ในอิหร่านและเอเชียกลางให้กับกลุ่มเซลจุกเติร์ก
ที่มา:
https://www.britannica.com/biography/Sebuktigin
https://www.britannica.com/topic/Ghaznavid-dynasty
https://www.britannica.com/topic/Samanid-dynasty
https://www.britannica.com/biography/Mahmud-king-of-Ghazna
https://www.thoughtco.com/mahmud-of-ghazni-195105