โมฮัมหมัด ซาฮีร์ ชาห์ กษัตริย์อัฟกันองค์สุดท้าย ผู้หมดศรัทธาระบอบกษัตริย์

โมฮัมหมัด ซาฮีร์ ชาห์ กษัตริย์อัฟกันองค์สุดท้าย ผู้หมดศรัทธาระบอบกษัตริย์
อัฟกานิสถานในปัจจุบันเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและเหตุรุนแรงจากการก่อการร้าย ปลายเดือนมกราคม 2019 ก็เพิ่งมีการโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตายบริเวณจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งทางการระบุว่ามีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 36 ราย แต่ทาง "ตาลีบัน" ผู้ก่อเหตุอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 190 ราย ความขัดแย้งนี้ดำเนินมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปีสืบเนื่องมาจากความแตกแยกภายในและการอุดหนุนจากภายนอก ซึ่งมิได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุค "ก่อการร้าย" เท่านั้น ในสมัยที่อัฟกานิสถานยังคงปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ ดินแดนแห่งนี้ก็ไม่เคยว่างเว้นจากความขัดแย้งแต่อย่างใด ในยุคของระบอบกษัตริย์การสู้รบเพื่อแย่งชิงอำนาจเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และด้วยความที่อัฟกานิสถานตั้งอยู่ระหว่างรัสเซียและอินเดียของอังกฤษ มหาอำนาจทั้งสองฝั่งต่างต้องการเข้ามามีอำนาจในอัฟกานิสถาน ประกอบกับในกลุ่มผู้นำของอัฟกานิสถานเองต่างก็มุ่งแสวงอำนาจจึงยอมให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงเพื่อที่ตนจะได้รับประโยชน์ทางการเมือง ทำให้ปัญหาความขัดแย้งภายในซับซ้อนขึ้นไปอีก    ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ข่านฮาบิบุลลาห์ (Habibullah) ผู้นำหัวก้าวหน้าของอัฟกานิสถานถูกลอบสังหารโดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการต่อต้านอังกฤษเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1919 อมานุลลาห์ (Amanullah) บุตรชายคนที่สามของข่านฮาบิบุลลาห์จึงฉวยโอกาสเข้ายึดอำนาจ สานสัมพันธ์กับรัฐบาลโซเวียต (อัฟกานิสถานเป็นประเทศแรก ๆ ที่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลคอมมิวนิสต์รัสเซีย) พร้อมทำสงครามกับอังกฤษเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนที่จะสถาปนาตนเป็นกษัตริย์ (ชาห์) ในปี 1923 กษัตริย์อมานุลลาห์ได้สืบสานการปฏิรูปประเทศต่อจากพระบิดา พระราชทานรัฐธรรมนูญ ปฏิรูประบบราชการ อนุญาตให้ผู้หญิงไม่ต้องสวมผ้าคลุมศีรษะและใบหน้า และก่อตั้งโรงเรียนสมัยใหม่ที่ชายหญิงเรียนร่วมกัน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มอนุรักษนิยมทางศาสนาเป็นอย่างมาก  เพียงห้าปีหลังขึ้นครองราชย์อัฟกานิสถานก็เกิดสงครามกลางเมือง พระองค์ตัดสินใจสละบัลลังก์ให้กับพระเชษฐา แต่ผู้นำกลุ่มกบฏเชื้อสายทาจิก บาเจห์ ซักกอว์ (Bacheh Saqqaw) กลายเป็นผู้กุมอำนาจที่แท้จริง และสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ใช้พระนามว่า ฮิบิบุลลาห์ที่ 2 แต่ครองอำนาจอยู่ได้ไม่กี่เดือน ข่านโมฮัมหมัด นาดีร์ (Mohammad Nadir) ซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ กับกษัตริย์อมานุลลาห์ก็สามารถยึดอำนาจปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ พร้อมประหารอดีตกษัตริย์ฮิบิบุลลาห์ที่ 2 กับคณะข้าราชบริพาร ชาห์โมฮัมหมัด นาดีร์ ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยอาศัยฉบับของชาห์อมานุลลาห์เป็นต้นแบบ แต่แก้ไขให้มีความเป็นอนุรักษนิยมมากขึ้นเพื่อเอาใจผู้นำทางศาสนา อย่างไรก็ดี อัฟกานิสถานก็ยังไม่อาจสงบได้โดยง่าย หลังครองอำนาจได้ราว 4 ปี พระองค์ก็ถูกลอบสังหารด้วยฝีมือชนกลุ่มน้อยรายหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 1933 ระหว่างร่วมพิธีจบการศึกษาของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงคาบูล โมฮัมหมัด ซาฮีร์ (Mohammed Zahir) โอรสวัย 19 ปี ผู้เห็นความตายของพระบิดาต่อหน้าต่อตาจึงได้ขึ้นเป็นชาห์องค์ใหม่ และทำให้การเมืองอัฟกานิสถานที่แสนวุ่นวาย เข้าสู่ภาวะสงบสุขได้ (ระยะหนึ่ง) ชาห์ซาฮีร์ เกิดเมื่อ 30 ตุลาคม 1914 เป็นโอรสองค์เดียวของชาห์นาดีร์ พระองค์ได้รับการศึกษาขั้นต้นในประเทศก่อนย้ายไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยมงเปลีเย ก่อนมาเรียนการทหารในประเทศ เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีรักษาการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลของพระบิดา   เมื่อขึ้นครองราชย์พระองค์ไม่ได้มีอำนาจที่แท้จริงในการบริหาร แต่เป็นผู้อาวุโสในราชสำนักที่กุมอำนาจ บทบาทของพระองค์ส่วนใหญ่อยู่ที่การสานสัมพันธ์กับนานาชาติเป็นสำคัญ ในทางส่วนตัวพระองค์มีความสนใจด้านการขี่ม้า ได้ชื่อว่าเป็นผู้บังคับม้าที่สามารถคนหนึ่ง ชอบสะสมอาวุธ และหนังสือเก่า นอกจากนี้พระองค์ยังชอบการทำสวนทำไร่ เลี้ยงปศุสัตว์ โดยมีแปลงไร่ทดลองขนาดใหญ่อยู่ใกล้ ๆ กับกรุงคาบูล การที่พระองค์ไม่แสวงหาอำนาจทางการเมืองทำให้อัฟกานิสถานที่วุ่นวายกับการแย่งชิงอำนาจมาโดยตลอดได้พบกับความสงบร่มเย็นอย่างที่หาไม่ได้มานาน และเมื่อโลกเข้าสู่สงครามพระองค์ก็เลือกที่จะให้ประเทศวางตัวเป็นกลางกลายเป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย แต่เมื่อสงครามจบลง อังกฤษถอนตัวออกจากอินเดียทำให้สมดุลอำนาจในภูมิภาคเปลี่ยน โซเวียตแสดงอิทธิพลมากขึ้น รัฐบาลอัฟกันจึงหันไปหาสหรัฐฯ มาช่วยถ่วงดุลแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก รัฐบาลอัฟกันภายใต้การนำของ โมฮัมหมัด ดาอุด (Mohammad Daoud) ญาติใกล้ชิดของชาห์จึงเลือกเป็นมิตรใกล้ชิดกับโซเวียต บทบาทของรัฐบาลดาอุดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ให้กับอัฟกานิสถาน เมื่อเขาให้การสนับสนุนการก่อตั้งประเทศของชาวปัชตุน (หรือที่คนไทยเรียกว่าปาทาน) ในปากีสถาน (เพราะราชวงศ์อัฟกันมีเชื้อสายปัชตุน) ทำให้รัฐบาลปากีสถานไม่พอใจเป็นอันมาก ความสัมพันธ์ของสองประเทศเสื่อมทรามลงตามลำดับ ก่อนที่รัฐบาลทหารของปากีสถานจะประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูต ฝ่ายอัฟกานิสถานก็เอาคืนด้วยการสั่งปิดพรมแดน ซึ่งกลายเป็นการทำร้ายตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำบ้านเมืองระส่ำระสาย ชาห์ซาฮีร์ทรงเข้าแทรกแซงกดดันให้ดาอุดลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1963 เปิดทางให้พรมแดนด้านปากีสถานสามารถเข้าออกได้อีกครั้ง และทรงเข้ามามีบทบาทโดยตรงในการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งจัดให้มีรัฐสภา การเลือกตั้ง ให้เสรีภาพสื่อ และห้ามมิให้เชื้อพระวงศ์ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างไรก็ดี การปฏิรูปของพระองค์มีผลงอกเงยเพียงเล็กน้อยนอกกรุงคาบูล ในทศวรรษที่ 70 ประเทศต้องประสบกับภาวะความแห้งแล้ง และอดอยาก ความขัดแย้งทางการเมืองกลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง สังคมอัฟกันแตกแยกด้วยอุดมการณ์ที่ต่างกันอย่างสุดขั้วระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยม กลุ่มเสรีนิยม และคอมมิวนิสต์ และกลุ่มอำนาจเก่านำโดย “ดาอุด” อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสาขาหนึ่งของกลุ่มคอมมิวนิสต์ก็ได้ใช้กำลังยึดอำนาจระหว่างที่ชาห์ซาฮีร์เสด็จไปต่างประเทศในเดือนสิงหาคม ปี 1973 โดยให้ล้มล้างระบอบกษัตริย์ ตั้งตนขึ้นเป็นประธานาธิบดี ฝ่ายชาห์ซาฮีร์หลังสิ้นบัลลังก์ก็ตัดสินใจลี้ภัยอยู่ในต่างแดนไม่คิดชิงอำนาจคืน   เมื่อกลับมามีอำนาจอีกครั้งรัฐบาลใหม่ของดาอุดพยายามลดความพึ่งพิงจากโซเวียต ถอยห่างจากอุดมการณ์สังคมนิยม แล้วหันไปสานสัมพันธ์กับบรรดารัฐอิสลาม และเข้าสู่เวทีเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านปากีสถาน แต่ความพยายามกำราบฝ่ายซ้ายของดาอุดทำให้กลุ่มคอมมิวนิสต์ที่เคยแตกเป็นสองสายกลับมารวมกำลังกันอีกครั้ง และสามารถใช้กำลังโดยอาศัยสมาชิกพรรคในกองทัพโค่นล้มรัฐบาลดาอุดก่อตั้งรัฐคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ ส่วนดาอุดและครอบครัวถูกสำเร็จโทษ นับแต่นั้นมาอัฟกานิสถานที่เคยสงบสุขเป็นเวลาหลายสิบปีภายใต้การปกครองของชาห์ซาฮีร์ ก็กลับเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองอันยาวนาน ระหว่างฝ่ายนักรบมุสลิมมูจาฮีดีนที่ต่อต้านการปฏิรูปแบบสังคมนิยมโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ กับฝ่ายกองทัพรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการหนุนหลังจากโซเวียต หลังการล่มสลายของโซเวียต บ้านเมืองอัฟกันก็แตกแยกเป็นส่วน ๆ กลุ่ม “ตาลีบัน” ภายใต้การนำของโมฮัมหมัด โอมาร์ ค่อย ๆ รวบรวมดินแดนเข้าด้วยกันจนสามารถยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จในปี 1996 รัฐบาลอิสลามสุดโต่งของตาลีบันไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการตั้งตัวเป็นสถานบ่มเพาะความคิดสุดโต่งและแหล่งกบดานของผู้ก่อการร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุซามะฮ์ บิน ลาดิน ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะฮ์ ซึ่งอยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายหลายครั้งต่อทรัพย์สิน ผลประโยชน์ และชีวิตของชาวอเมริกัน เมื่อรัฐบาลตาลีบันปฏิเสธที่จะส่งตัวบิน ลาดิน ให้หลังเหตุวินาศกรรม “9/11” สหรัฐฯ และพันธมิตรจึงตัดสินใจใช้กำลังรุกรานอัฟกานิสถาน หลังความพ่ายแพ้ของกลุ่มตาลีบันในปลายปี 2001 ชาวอัฟกันที่เคยใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในยุครัฐบาลชาห์จึงโหยหาสันติภาพในสมัยนั้น (โดยมิได้ระลึกถึงความล้มเหลวในการปฏิรูปทางการเมือง เนื่องจากความลังเลที่จะปล่อยอำนาจสู่พรรคการเมือง และระบบรัฐสภาอย่างแท้จริง) ชาวอัฟกันบางส่วนได้เรียกร้องให้ชาห์ซาฮีร์กลับมาเป็นกษัตริย์ปกครองประเทศให้ร่มเย็นอีกครั้ง แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ "เราจะรับตำแหน่งประมุขหากเป็นมติร่วมกันของสภาผู้อาวุโส แต่เราไม่ประสงค์ที่จะให้มีการรื้อฟื้นระบบกษัตริย์ เราไม่สนใจตำแหน่งกษัตริย์ ประชาชนเรียกเราว่า 'ปู่' เราชอบคำนี้มากกว่า" ซาฮีร์ในวัยเกือบ 90 ปี กล่าวเป็นนัยว่าพร้อมจะรับตำแหน่งประธานาธิบดีเฉพาะกาล แต่การหวนคืนสู่อำนาจไม่เกิดขึ้น การกลับสู่ตำแหน่งกษัตริย์ไม่ใช่สิ่งที่พระองค์ต้องการ ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญพระองค์ขอให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกอบขึ้นด้วยหลักการประชาธิปไตย และรักษาไว้ซึ่งธรรมเนียมอิสลาม ครั้นรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น อดีตชาห์มิได้ลงเลือกตั้งตามความคาดหวังของคนบางกลุ่ม แต่ก็ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งชาติ” ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงในปี 2007 ด้วยวัย 92 ปี ขณะที่การต่อสู้เพื่อสันติภาพอย่างแท้จริงของอัฟกานิสถานยังมองไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงง่าย ๆ ที่มา: https://www.britannica.com/biography/Mohammad-Zahir-Shah https://www.britannica.com/place/Afghanistan/Dust-Mohammad-1826-39-1843-63 https://www.nytimes.com/2007/07/24/world/asia/24shah.html?searchResultPosition=1 https://www.nytimes.com/1973/07/18/archives/deposed-afghan-king-a-bit-of-democracy-an-able-rider.html?searchResultPosition=2 https://www.theguardian.com/news/2007/jul/23/guardianobituaries.afghanistan https://www.theguardian.com/world/2007/jul/23/afghanistan.afghanistantimeline https://www.theguardian.com/world/2001/sep/23/terrorism.afghanistan1 https://www.theguardian.com/world/2002/jun/11/afghanistan.jonathansteele