วิลเลียม เจมิสัน ดื่มชาหลอนจนได้เป็นราชานักสะสมกะโหลกมนุษย์
หากจะบอกว่าการเป็นนักสะสมไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไร คงจะไม่ผิดนักกับคนทั่วไป แต่ไม่ใช่กับ วิลเลียม เจมิสัน ชายที่หลงรักการสะสมหัวมนุษย์เป็นชีวิตจิตใจ!
“ผมคือนักล่าสมบัติ นั่นเป็นคำเดียวที่สามารถอธิบายตัวผม สำหรับผมแล้ว สมบัติมันมาในทุกรูปแบบ”
วิลเลียม เจมิสัน (William Jamieson) หรือที่หลายคนเรียกว่า บิลลี่ เจมิสัน คือนักสะสมชาวแคนาดาที่มีความหลงใหลในศิลปะชนเผ่าที่เกี่ยวข้องกับ ประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นชนวนในการเริ่มสะสมของแปลก นอกจากหัวมนุษย์ที่เขาเก็บไว้นอนด้วยทุกวันแล้ว เจมิสันยังสะสมสิ่งของชวนขนหัวลุกอย่าง เก้าอี้ไฟฟ้าที่ใช้ประหารชีวิตนักโทษ อาวุธ สัตว์สตัฟฟ์ และมัมมี่ เจมิสันยังบอกอีกว่า
“ผมว่าผมมีผีตัวนึงด้วยนะ มันชอบอยู่ตรงตู้ปลา เป็นคนแก่ ๆ ใส่สูทตัวใหญ่ ๆ”
แม้เจมิสันจะไม่เคยมองเห็นอนาคตในฐานะนักสะสมของตัวเองมาก่อน แต่เขาฉายแววทางด้านการทำธุรกิจของสะสมตั้งแต่เด็ก โดยเขามักเป็นหัวโจกซื้อขายการ์ดเบสบอล (การ์ดของสะสมรูปนักเบสบอลและทีมเบสบอล ที่เป็นที่นิยมมากในอเมริกาและแคนาดา) และเมื่อเขาค้นพบว่าตัวเขาเหมาะกับการทำธุรกิจมากกว่าการเรียน เขาจึงตัดสินใจออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 14 และเปิดธุรกิจของตัวเอง
ชีวิตของเจมิสันตั้งแต่นั้นมาวนเวียนอยู่กับธุรกิจ ผู้หญิง เหล้าและยาเสพติด จนวันหนึ่งเจมิสันใช้ยาเฟนไซคลิดีน (PCP) ยาเสพติดที่มีฤทธิ์หลอนประสาทจนเกินขนาดซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาเลือกที่จะทิ้งทุกอย่างที่มี
“ผมนั่งจ้องเพดานแล้วคิดว่า ผมจะใช้ชีวิตอยู่แบบนี้เหรอ”
เจมิสันจึงเลือกที่จะขายธุรกิจของเขาเมื่อเขาอายุ 40 ปี และเดินทางไปที่ทวีปอเมริกาใต้ เขาได้รู้จักกับหมอผีของชนเผ่าในป่าที่อยู่ระหว่างประเทศเอกวาดอร์และเปรูที่แนะนำให้เขาได้ลองดื่มชาจาก Ayahuasca ชาที่ใช้เป็นยาท้องถิ่นของชนเผ่า แต่มีสารเสพติดที่มีฤทธิ์หลอนประสาทร่วมด้วย เจมิสันกล่าวว่าการได้ดื่มชานั้น เป็นการเบิกเนตรเปิดโลกใหม่ ที่ทำให้เขากลายมาสนใจและตื่นเต้นกับทุกอย่างรอบตัว รวมถึงพิธีกรรมของชนเผ่าเกี่ยวกับการเก็บกะโหลกมนุษย์
ชนเผ่าเหล่านี้มักมีความเชื่อมาตั้งแต่สมัยโบราณว่า วิญญาณของศัตรูที่พวกเขาเคยฆ่าระหว่างการรบ อาจกลับมาหลอกหลอนและตามฆ่าพวกเขา พวกเขาจึงนำหัวของคนที่พวกเขาฆ่าไปผ่านความร้อน ทำให้กะโหลกหดเล็กลงเพื่อขังวิญญาณของคนเหล่านั้นไว้ (เรียกว่า Shrunken Head) วิถีชีวิตและพิธีกรรมเหล่านั้นทำให้เขาเริ่มเก็บสะสมหัวกะโหลกมนุษย์ถึง 3 กะโหลกตั้งแต่เดือนแรก และเกิดความสนใจทางด้านมานุษยวิทยา (Anthropology) ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมทางสังคม รวมไปถึงการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ของชนเผ่าต่าง ๆ
“ผมว่าอาจจะเป็นเพราะความแปลกและความน่าฉงนที่ทำให้มันน่าสะสม”
นอกเหนือจากกะโหลกมนุษย์แล้ว ความสนใจในวัตถุอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เจมิสันไปติดต่อขอซื้อของในพิพิธภัณฑ์ Niagara Falls อยู่หลายครั้ง แต่เจ้าของไม่ยอมขาย จนในที่สุด สิ่งเสพติดก็เข้ามามีบทบาทกับการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตเขาอีกครั้ง หลังจากดื่มชาฝิ่นในปี 1999 เขาตัดสินใจซื้อทั้งพิพิธภัณฑ์ Niagara Falls โดยมีอุปสรรคใหญ่ของการซื้อพิพิธภัณฑ์คือเงิน
เจมิสันไม่ได้เป็นเศรษฐีหรือคนที่มีเงินเหลือใช้มาตั้งแต่ต้น เขาจึงต้องไปยืมเงินเพื่อนของเขาเพื่อมาเป็นเงินดาวน์ค่าพิพิธภัณฑ์ และวางแผนที่จะคืนโดยการขายของบางอย่างในนั้น โดยคอลเลกชันของพิพิธภัณฑ์ประกอบไปด้วยปลายุคก่อนประวัติศาสตร์ โครงกระดูกของวาฬยักษ์ที่มีขนาด 40 ฟุต รวมถึงมัมมี่อียิปต์ 9 องค์
หนึ่งในมัมมี่เหล่านั้นคือมัมมี่ฟาโรห์รามเสสที่ 1 (Ramesses I) เป็นฟาโรห์ผู้ก่อตั้งของราชวงศ์ที่ 19 ของอียิปต์โบราณ ที่มีอายุในช่วงประมาณ 1200 ปีก่อนคริสตกาล หรือถ้าให้เข้าใจง่าย ๆ คือ มัมมี่ตัวท็อป ที่หายากและมีราคาสูงมาก เจมิสันไปติดต่อขายมัมมี่กับพิพิธภัณฑ์ Royal Ontario Museum ของอียิปต์ ที่ยินดีซื้อเพื่อนำฟาโรห์กลับไปเป็นสมบัติของชาติด้วยราคา 2 ล้านเหรียญสหรัฐ
“มันก็ตลกดีนะที่การที่ผมขายมัมมี่ฟาโรห์รามเสสที่ 1 เป็นเหมือนการช่วยพาเขากลับบ้าน… ถ้าผมแก่และไปอียิปต์กับหลานของผม ผมจะพูดได้ว่า ‘ปู่ช่วยพาเขากลับมาที่นี่นะ’"
การขายแรกที่ประสบความสำเร็จมากกลายเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจการซื้อขายของสะสมสุดแปลก ที่ทำให้เขากลายมาเป็นที่โด่งดังและมีรายการโทรทัศน์เป็นของตัวเองอย่าง “Treasure Trader” เจมิสันต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วแข่งกับเวลาเพื่อให้ได้เป็นผู้ครอบครองวัตถุหายาก และบางครั้งเขาถึงกับยอมลงทุนซื้อวัตถุบางอย่างที่มีมูลค่าเป็นหลักหมื่นดอลล่าร์สหรัฐ โดยที่ไม่แน่ใจว่าวัตถุนั้นเป็นของจริงหรือไม่
“มันมีความน่าตื่นเต้นที่ทำให้คุณเสพติดการตามล่าหาสมบัติเจ๋ง ๆ ซักชิ้น และต่อรองเพื่อให้ได้มันมา มันเหมือนตอนคุณยังเด็กแล้วสะสมการ์ดเบสบอลนั่นแหละ”
ในตอนปลายของชีวิตของเจมิสัน กะโหลกมนุษย์ที่เขาสะสมมาอย่างต่อเนื่อง รวมกับอาวุธ สัตว์หลายหัวสตัฟฟ์ มัมมี่ และสิ่งอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ทำให้คอนโดมิเนียมของเขากลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทำให้คนรู้สึกตื่นเต้นและสะอิดสะเอียนในเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เจมิสันได้จากไปอย่างสงบด้วยโรคหัวใจในปี 2011 ท่ามกลางของสะสม ณ บ้านของเขาเอง ร่างของชายนักสะสมผู้นี้ถูกนำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามปกติ ไม่ได้ถูกผ่านกรรมวิธีเพื่อนำมาเก็บสะสมเหมือนร่างอื่น ๆ ที่เขาเคยมีในครอบครอง และครอบครัวของเขาถือโอกาสนี้ ประมูลสมบัติบางส่วน ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักสะสมอื่นได้สัมผัสความรู้สึกของการครอบครองวัตถุหายาก ที่อาจกลายเป็นวัตถุล้ำค่าที่เปลี่ยนชีวิตพวกเขา เหมือนกับที่มันเคยเปลี่ยนชีวิตของเจมิสันมาแล้ว
ที่มา:
http://differentiscool.com
https://adf.org.au
https://allthatsinteresting.com
https://www.theglobeandmail.com
https://www.youtube.com
https://thednalab.com
http://www.sac.or.th