ลองหลับตา แล้วจินตนาการว่าคุณกำลังใช้ชีวิตอยู่ในปี 1954 ท่ามกลางหนังสงครามและหนังดรามา จู่ ๆ วันหนึ่ง คุณก็ได้ดูหนังสัตว์ประหลาดยักษ์รูปร่างคล้ายไดโนเสาร์บุกถล่มโตเกียวจนพังพินาศระดับเดียวกับฮิโรชิม่าโดนทิ้งบอมบ์ โดยที่สตูดิโอผู้สร้างไม่ยอมเผยว่าพวกเขาสร้างตัวประหลาดตัวนั้นขึ้นมาได้อย่างไร ?
นั่นคือความรู้สึกของคนญี่ปุ่นกว่า 9 ล้านคนที่ตีตั๋วเข้าไปดู Gojira (1954) ผลงานการผลิตของสตูดิโอโตโฮ (Toho) กำกับภาพยนตร์โดย อิชิโระ ฮอนดะ ซึ่งใช้สัตว์ประหลาดนาม โกจิระ หรือ ก็อดซิลล่า เป็นนัยยะการต่อต้านนิวเคลียร์
ระหว่างการสร้าง Gojira ทีมงานจงใจประหยัดต้นทุนและร่นระยะเวลาทำงาน ด้วยการให้คนสวมชุดยางสัตว์ประหลาด แล้วเดินย่ำบนเวทีที่เต็มไปด้วยฉากจำลองย่อส่วน ภายใต้การดูแลของ เอจิ ซึบุรายะ ผู้กำกับฉากเทคนิคพิเศษ เพียงแต่ว่าเทคนิคชุดยางที่ว่านี้ โตโฮได้เก็บงำเป็นความลับระดับสุดยอดต่อสาธารณชน ราวกับนักมายากลที่ไม่ยอมเปิดเผยวิธีการเล่น
“เขาบอกผมว่าทำให้มันเหมือนมีกลไกบังคับอยู่ข้างในละกัน ความหมายก็คือ พวกเขาไม่อยากให้มันดูเหมือนมีคนอยู่ภายในชุด” ฮารุโอะ นากาจิม่า นักแสดงผู้สวมชุดยางก็อดซิลล่า เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเขาถามซึบุรายะว่าต้องเล่นเป็นสัตว์ประหลาดนี้ด้วยท่าทางอย่างไร?
[caption id="attachment_7961" align="aligncenter" width="710"]
ฮารุโอะ นากาจิม่า[/caption]
แม้ว่านากาจิม่าจะต้องเผชิญกับความหนักอึ้งของชุด และสภาพอากาศภายในที่ไม่ถ่ายเท จนต้องใช้ความอดทนมากกว่าคนปกติทั่วไปหลายเท่าตัว แต่ผลลัพธ์ของเวทมนตร์แห่งชุดยางก็ทำให้ผู้คนในสมัยนั้น โดยเฉพาะเด็ก ๆ สัมผัสได้ว่า ก็อดซิลล่ามีชีวิตอยู่บนหน้าจอจริง ๆ
“ทันทีที่มีเสียงดังกังวาน ซึ่งแสดงว่าก็อดซิลล่าได้มาถึงแล้ว ผมก็ได้เห็นดวงตาของเด็ก ๆ สว่างขึ้นมาทุกคนเลย มันวิเศษมากที่ผมได้เห็นปฏิกิริยาเหล่านั้น มันทำให้ผมร้องไห้ออกมา” นากาจิม่าทวนความทรงจำ เมื่อครั้งแอบนั่งมองคนดูในโรงหนัง
หลังจากนั้น ก็อดซิลล่า ผู้มีฉายา“ราชันแห่งสัตว์ประหลาด” พร้อมเหล่าสัตว์ยักษ์ ก็สร้างความบันเทิงแก่คนญี่ปุ่นและคนทั่วโลกเรื่อยมา ท่ามกลางการรับรู้ของคนดูว่าตัวละครเหล่านี้มีชีวิตขึ้นมาได้เพราะมีคนซ่อนอยู่ข้างใน ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลัง หนึ่งในนั้นคือ ชินจิ ฮิงุจิ เด็กหนุ่มวัย 18 ที่เดินเข้าสตูดิโอโตโฮ แล้วขอช่วยทำงานสเปเชียล เอฟเฟกต์ ในกองถ่ายทำหนัง The Return of Godzilla (1984)
“งานแรกของผมคือแค่ช่วยนักแสดงสวมและถอดชุดก็อดซิลล่า” ฮิงุจิเล่า จากนั้นเขาก็ได้รับหน้าที่ต่าง ๆ ด้วยแรงผลักดัน ฝันอยากเป็นนักทำหนังเทคนิคพิเศษมือฉกาจ
[caption id="attachment_7959" align="aligncenter" width="1024"]
ชินจิ ฮิงุจิ[/caption]
แต่แล้วในช่วงเวลานั้น หนังสเปเชียล เอฟเฟกต์ จากฮอลลีวูดก็เริ่มพัฒนาออกไปไกล โดยมีไตรภาค Star Wars ดั้งเดิม (1977–1983) เป็นหัวหอก เมื่อนั้นเวทมนตร์แห่งชุดยางก็เริ่มเสื่อมลง
“พอคนดูพบว่ามันยังคงเป็นคนในชุดยาง ไล่เตะตึกจำลอง คุณก็ได้ยินเสียงคนอุทานออกมาว่า ‘โอ้’” ผู้กำกับ อาร์.เจ. ไคเซอร์ พูดถึงความรู้สึกของคนดูที่ตีตั๋ว Godzilla 1985 (1984) ของเขา ซึ่งก็คือหนัง The Return of Godzilla ที่ถูกตัดต่อพร้อมแทรกฟุตเทจใหม่ เพื่อออกฉายในอเมริกา
ต่อมา โตโฮก็พยายามสำแดงพลังแห่งชุดยางใน Godzilla 2000: Millennium (1999) เพื่อตอบโต้ Godzilla (1998) ของไทรสตาร์ พิคเจอร์ส ที่สร้างก็อดซิลล่าด้วยเทคนิค CGI ทั้งตัว ทว่าดันอาละวาดได้ไม่สมศักดิ์ศรีราชัน
แม้จะมีการใช้เทคนิคล่าสุดในตอนนั้นมาช่วยเสริมงานด้านภาพ แต่ก็อดซิลล่าในชุดยางก็เต็มไปด้วยความอ่อนล้าเต็มทน เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ตอบสนองต่อหนังเทคนิคแบบนี้อีกแล้ว ผ่านรายได้ที่ย่ำแย่ของ Godzilla: Final Wars (2004)
“เราทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อแสดงก็อดซิลล่าออกมา รวมถึงใช้เทคโนโลยีกราฟิกคอมพิวเตอร์ แต่เราก็ยังไม่สามารถดึงดูดกลุ่มแฟนหน้าใหม่ได้” โชโงะ โทมิยาม่า โปรดิวเซอร์หนังก็อดซิลล่ากล่าวแบบถอดใจ ก่อนจะส่งก็อดซิลล่าให้กลับไปหลับใหลอยู่ใต้ทะเล เพื่อรอให้คนรุ่นใหม่หาวิธีการที่เหมาะสมในการพาตัวละครนี้กลับมา
แล้วก็เป็นสตูดิโอเลเจนดารีจากฮอลลีวูด ที่ช่วยพาก็อดซิลล่ากลับมาใน Godzilla (2014) ภายใต้เทคนิคงานสร้างที่ทันสมัย ทว่านั่นก็ยังดูไม่ตื่นตาเท่าหนัง Shin Godzilla (2016) เมื่อโตโฮยอมโบกมือลาชุดยาง แล้วสร้างก็อดซิลล่าตัวใหม่ด้วย CGI ตลอดทั้งเรื่องเป็นครั้งแรก ซึ่งหนึ่งในผู้กำกับร่วมของหนัง และคอยดูแลฉากเทคนิคพิเศษก็คือ ชินจิ ฮิงุจิ
[caption id="attachment_7958" align="alignnone" width="1229"]
Shin Godzilla (2016)[/caption]
"หนึ่งในประสบการณ์การทำงานกับก็อดซิลล่าครั้งแรกของผมคือ การใช้สายบังคับหางให้เคลื่อนไหว นี่คือการปฏิบัติตามมาตรฐานสำหรับก็อดซิลล่า และนั่นก็หมายความว่าหางของมันมีขนาดที่เกือบจะเท่ากันอยู่เสมอ แต่ตอนนี้ด้วย CGI ผมมีอิสระในการให้หางอันยาวเฟื้อยแก่มัน” ฮิงุจิกล่าวยอมรับว่าเทคนิคจากคอมพิวเตอร์ ช่วยให้ก็อดซิลล่ามีความไร้ขีดจำกัดมากขึ้น
Shin Godzilla เก็บรายได้ในญี่ปุ่นสูงถึง 8.25 หมื่นล้านเยน จากยอดคนดู 5.6 ล้านคน สะท้อนว่าคนรุ่นใหม่พร้อมจะกลับมาให้ความสนใจก็อดซิลล่า ถ้ามันมีความร่วมสมัย และถ่ายทอดจิตวิญญาณของตัวละครได้อย่างทรงพลัง
“ทุกคนถามผมว่าอันไหนดีกว่ากัน ระหว่าง CGI กับไลฟ์แอ็กชัน (เช่น ชุดยาง, โมเดลจำลอง) แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่คุณสามารถตอบได้ง่าย ๆ เพราะทั้งคู่ต่างก็มีข้อดีและข้อเสีย” ฮิงุจิแสดงความเห็น โดยในหนัง Shin Godzilla ฮิงุจิก็ใช้ฉากย่อส่วนร่วมกับงาน CGI ด้วย
ไม่มีใครรู้ว่าในอนาคต โตโฮจะกลับมาใช้เทคนิคชุดยางอีกครั้งหรือไม่? แต่หากย้อนกลับไปในปี 1954 ในบรรดาทีมสร้าง Gojira ก็คงไม่มีใครคาดคิดว่าตัวละครสัตว์ประหลาดของพวกเขาจะถูกเปลี่ยนผ่านจากชุดยางสู่เทคนิคอื่นที่แตกต่าง โดยเฉพาะนากาจิม่า
“มันเป็นความรู้สึกที่โดดเดี่ยวเมื่ออยู่ในชุดนั้น” ฮารุโอะเผยความรู้สึกในขณะทำหน้าที่ “ความคิดของผมมุ่งไปที่การเคลื่อนไหวครั้งต่อไป มันไม่มีประโยชน์ที่จะคิดเรื่องอื่น เพราะงานทั้งหมดคือด้วยน้ำหนักขนาดนั้น ต้องแสดงแบบไม่ให้ล้มคว่ำ”
นั่นคืออุปสรรคใหญ่สำหรับก็อดซิลล่าในขวบปีแรก ซึ่งคนรุ่นต่อไปในอนาคตก็อาจคาดไม่ถึงเช่นกันว่า ก็อดซิลล่า CGI ที่ไม่สามารถจับต้องได้จะมีจุดกำเนิดมาจากชุดยางอันหนาเตอะ
และนี่อาจเป็นผลจากเวทมนตร์แห่งชุดยางที่นากาจิม่าและทีมสร้าง Gojira ร่ายไว้เมื่อ 66 ปีก่อน
ที่มา
- nippon
- terrordaves
- vantagepointinterviews
- หนังสือ Ishiro Honda: A Life in Film, from Godzilla to Kurosawa โดย Steve Ryfle , Ed Godziszewski
- หนังสือ A Critical History and Filmography of Toho's Godzilla Series, 2d ed. โดย David Kalat
เรื่องโดย: เอกราช มอญวัฒ