31 พ.ค. 2562 | 13:51 น.
สำหรับคนทั่วไป ถุงยางอาจมีไว้เพื่อคุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ แต่นั่นไม่ใช่สำหรับวง ไซคีเดลิก (psychedilic) – โปรเกรสสีฟร็อค (progressive rock) แถวหน้าอย่าง Pink Floyd ที่ขึ้นชื่อเรื่องความแปลก ความล้ำ และออกจะคล้าย ๆ นักวิทยาศาสตร์ตรงที่ชอบทดลองสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพราะพวกเขาเชื่อว่า ถุงยางอนามัยบ้าน ๆ ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีนี่แหละ สามารถนำมาใช้เปิดประสบการณ์ในการรับชมดนตรีให้กับนักท่องราตรีที่นิยมการร้องรำทำเพลงในยุคนั้นได้
Pink Floyd คือวงดนตรีที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักศึกษาภาควิชาสถาปัตย์ ที่ว่างจากการตัดโมเมื่อไหร่ ก็เป็นอันต้องสุมหัวกันเคาะหม้อเคาะไห ดีดเบส โซโล่กีตาร์อยู่ร่ำไป สมาชิกดั้งเดิมของวงฟลอยด์ชมพู ได้แก่ โรเจอร์ วอเทอร์ส ( Roger Waters) มือเบส, นิค เมสัน (Nick Mason) มือกลอง, ริค ไรท์ (Rick Wright) มือคีย์บอร์ด และซิด บาร์เร็ต (Syd Barrett) มือกีตาร์ โดยซิด บาร์เร็ตนี่แหละ ที่เป็นคนเปลี่ยนชื่อวงครั้ง (เกือบ) สุดท้าย หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายครั้ง ครั้งนี้ ซิดหยิบบางส่วนจากชื่อของ พิงก์ แอนเดอร์สัน (Pink Anderson) และ ฟลอยด์ เคาน์ซิล (Floyd Council) สองนักดนตรีบลูส์ที่เขาชอบ มารวมกันกลายเป็น The Pink Floyd Sound ซึ่งต่อมาก็ได้มีการตัดคำหัวและคำท้ายทิ้งไปในภายหลัง
ช่วงเริ่มต้นของ Pink Floyd ก็เหมือนกับวงดนตรีอื่น ๆ ในยุค 60s ที่มักจะมีผับบาร์เป็นสถานที่ฝึกฝีมือ โดยสถานบันเทิงประจำที่วงฟลอยด์ชมพูขึ้นเล่นอาทิตย์ละครั้งนั้น คือ The UFO Club คลับไซคีเดลิกชื่อดังในลอนดอน และที่นี่เอง ที่สมาชิกแต่ละคนได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ เปลี่ยนเวทีธรรมดา ๆ ให้น่าตื่นตาตื่นใจราวกับห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ด้วยเทคนิคการจัดแสงไฟ เพื่อดึงผู้ชมให้หลุดลอยไปในโลกที่พวกเขาสร้างขึ้น และ‘ถุงยางอนามัย’ ก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการสร้างโลกใบที่ว่า
ในยุคปัจจุบัน หากใครได้เคยมีโอกาสที่จะเข้าชมคอนเสิร์ตหรือการแสดงสดของวงดนตรีต่าง ๆ มาบ้าง ก็คงจะคุ้นตากับแสงไฟจากเวที ที่มีทั้งกะพริบตามจังหวะดนตรี เปลี่ยนสีตาม mood and tone ของเพลง รวมทั้งคงคุ้นเคยกันดีกับวีทีอาร์จอใหญ่ ที่ฉายภาพเคลื่อนไหวประกอบการแสดงนั้น ๆ เพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงและ ‘อิน’ ไปกับเพลงมากขึ้น แต่เมื่อมองย้อนกลับไป สิ่งต่าง ๆ ในเครือ visualize เหล่านี้ อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ถ้า Pink Floyd ไม่เป็นผู้ริเริ่มวัฒนธรรมนี้ขึ้นในคลับที่พวกเขาเล่น
เสียงดนตรีดังขึ้น ริฟฟ์กีตาร์ที่เกิดจากการสไลด์ไฟแช็กบ้าง ขาไมค์ และสารพัดอุปกรณ์ที่บาร์เร็ต มือกีตาร์ควบตำแหน่งนักแต่งเพลงประจำวงในขณะนั้น ใช้สไลด์ลงไปบนสาย เข้ากันดีกับเสียงกลองและเบสหนึบหู รวมไปถึงคีย์บอร์ดเวิ้ง ๆ ตามแบบฉบับของดนตรีไซคีเดลิก (ดนตรีที่เปรียบเสมือนภาพและความคิดในหัวคนที่กำลังเมายา) บวกกับแสงไฟหลากสีที่เกิดจากการขึงถุงยางอนามัยไว้ตามหลอดไฟต่าง ๆ ก็ช่วยกระตุ้นประสาทการรับรู้ของผู้ชมได้ดีจนสามารถเรียกได้ว่า Pink Floyd ได้พาวงการดนตรีร็อค รวมทั้งวงการนักร้องกลางคืนก้าวไปอีกขั้น และนำมาซึ่งการพัฒนาเป็นระบบแสงสีเสียงอย่างครบครัน จัดเต็ม อย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้
นอกจากถุงยางอนามัยหลากสีที่เป็นเครื่องมือทดลองชั้นดีของวงฟลอยด์ชมพูแล้ว ทางวงก็ยังมีการทดลองในรูปแบบอื่นอีก เช่นการฉายวิดีโอไปพร้อม ๆ กับเล่นดนตรี การใช้แสงเลเซอร์ หรือ laser light show มาล้างสมองผู้ชมให้เหมือนหลุดไปอยู่อีกมิติ จนกลายเป็นข่าวคึกโครม ลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไปหลายฉบับ
ผลงานที่ผ่านมาของวงสามารถการันตีได้ว่า นอกจากภาคดนตรีที่เข้มข้นและแปลกหูอันเป็นสิ่งสำคัญที่พาให้วงประสบความสำเร็จและกลายเป็นต้นแบบของวงรุ่นหลังอีกมากมาย Pink Floyd ยังเป็นวงที่ให้ความสำคัญกับภาพเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการหยิบภาพมาสร้างบรรยากาศร่วมกับเสียงในการแสดงแต่ละครั้ง ไปจนถึงการสร้างสรรค์หน้าปกอัลบั้มของพวกเขาเอง อย่างเช่นผลงานระดับขึ้นหิ้งของวงอย่างอัลบั้ม Dark Side of the Moon ที่ปรากฏรูปปริซึมสามเหลี่ยม สะท้อนแสงเป็นรุ้งเจ็ดสี อันมีความหมายถึงความหลากหลายทางดนตรี และการทดลองอย่างไม่หยุดยั้งของวงนั่นเอง
เรื่อง : จิรภิญญา สมเทพ (The People Junior)
ที่มา : https://www.factinate.com/things/43-little-known-facts-pink-floyd/
https://www.britannica.com/topic/Pink-Floyd
https://www.pinkfloyd-guitar.com/Biographies/pink_floyd_biography.html
https://www.youtube.com/watch?v=sr0hdXPH92M
https://www.rollingstone.com/music/music-news/the-madness-and-majesty-of-pink-floyd-230036/