แครี่ โจจิ ฟุคุนางะ ผู้กำกับ Bond 25 นักบันทึกชะตากรรมคนชายขอบผ่านโลกภาพยนตร์

แครี่ โจจิ ฟุคุนางะ ผู้กำกับ Bond 25 นักบันทึกชะตากรรมคนชายขอบผ่านโลกภาพยนตร์

แครี่ โจจิ ฟุคุนางะ ผู้กำกับ Bond 25 นักบันทึกชะตากรรมคนชายขอบผ่านโลกภาพยนตร์

“เราดีใจที่จะได้ร่วมงานกับแครี ด้วยความฉลาดและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ทำให้เขาเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับการผจญภัยในหนังเจมส์ บอนด์ เรื่องใหม่ของเรา” ไมเคิล จี. วิลสัน และ บาร์บารา บรอคโคลี สองโปรดิวเซอร์คู่บุญแฟรนไชส์ 007 ทวีตข้อความประกาศชื่อผู้กำกับคนใหม่ที่จะเข้ามาคุมบังเหียนภาพยนตร์สายลับ Bond 25 คือ แครี โจจิ ฟุคุนางะ แทน แดนนี่ บอยล์ ซึ่งถอนตัวออกไปจากปัญหาความคิดเห็นไม่ลงรอยกัน ก่อนหน้านี้มีรายชื่อผู้กำกับเบอร์ใหญ่ที่ ‘อาจ’ เข้ามาแทนบอยด์หลายคน อาทิ คริสโตเฟอร์ แมคควอร์รี จาก Mission: Impossible – Fallout (2018), เดนิส วิลล์เนิฟ จาก Arrival (2016), ยานน์ เดอมานจ์ จาก White Boy Rick (2018), เดวิด แม็คเคนซี จาก Hell or High Water (2016) หรือแม้กระทั่ง คริสโตเฟอร์ โนแลน จาก Dunkirk (2017) ทว่าผู้ที่ได้รับเลือกกลับเป็นชื่อที่เราไม่ค่อยคุ้นหูสักเท่าไหร่ ว่าแต่... แครี โจจิ ฟุคุนางะ เป็นใคร? ถึงได้มากำกับแฟรนไชส์สายลับที่คนทั่วโลกรู้จักเรื่องนี้   แครี่ โจจิ ฟุคุนางะ เป็นชายผิวเหลือง หน้าตายุโรป แต่มีนามสกุลเป็นเอเชีย เพียงเท่านี้ก็บ่งบอกได้ว่าเขามีส่วนผสมอันหลากหลายทางเชื้อชาติ คุณพ่อลูกครึ่งญี่ปุ่น – อเมริกันที่เกิดในค่ายกักกันช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กับคุณแม่ลูกครึ่งสวีเดน – อเมริกัน ในวัย 4 ขวบพ่อแม่ของพวกเขาหย่าร้างกัน ต่อมาคุณพ่อแต่งงานใหม่กับสาวอาร์เจนติน่า ขณะที่คุณแม่แต่งงานใหม่กับหนุ่มเม็กซิกัน – อเมริกัน ด้วยเหตุนี้ทำให้เขาต้องย้ายถิ่นฐานอยู่บ่อยๆ ช่วงหนึ่งฟุคุนางะเคยอาศัยในประเทศเม็กซิโก ก่อนจะกลับมาเติบโตในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เปลี่ยนเมืองไปทั้งซานฟรานซิสโก, เบิร์กลีย์, ออลบานี, วัลเลโฮ, เบซิเนีย, เซบาสโตโพล และโอ๊กแลนด์ การเติบโตในครอบครัวหลากเชื้อชาติทำให้เขาได้สัมผัสวัฒนธรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม นั่นทำให้เขารู้สึกแปลกแยกกับสังคมโดยรวม จนเกิดคำถามกับตัวเองว่าตัวเอง “เป็น” ใคร โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นที่เขาอยากเป็นคนผิวสีมากกว่าเป็นเด็กลูกครึ่งเอเชียตัวประหลาดคนนี้ “ผมเหมือนเป็นลูกครึ่งเอเชียตัวประหลาดที่ไม่มีหลักแหล่งอะไร แต่ช่วงนั้นผมได้รู้จัก Roots กับ Malcolm X ซึ่งเป็นยุคทองของวงการฮิปฮอปพอดิบพอดี” ฟุคุนางะให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับตัวเองใน The Guardian ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเติบโตมาด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลาย ช่วยให้คุณเข้าถึงและเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างจากความเป็นจริงได้ง่ายขึ้น” ตัวตนและวัฒนธรรมจึงเป็นประเด็นที่เขาให้ความสนใจมาโดยตลอด ก่อนจะสำรวจลึกมากขึ้นเมื่อก้าวสู่วงการภาพยนตร์   เดิมทีฟุคุนางะปรารถนาเป็นโปรสโนว์บอร์ด ก่อนความฝันจะผันเปลี่ยนเมื่อเขาตัดสินใจสมัครเรียนภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก หลังจบการศึกษาเขาเป็นหนี้กว่าหนึ่งแสนเหรียญสหรัฐฯ (ราว 3,270,000 บาท) และนั่นก็เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มสร้างภาพยนตร์ ฟุคุนางะฉายแววเด่นมาตั้งแต่สมัยกำกับภาพยนตร์สั้น Victoria para Chino (2004) ว่าด้วยเรื่องกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวเม็กซิกันที่พยายามหลบหนีข้ามประเทศผ่านรถบรรทุก เขาได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงในปี 2003 ที่ตำรวจทางหลวงเท็กซัสตรวจพบรถบรรทุกลักลอบขนมนุษย์ ความแออัดภายในทำให้มีผู้เสียชีวิต 19 ศพ หนึ่งในนั้นคือเด็กวัย 5 ขวบที่นอนแน่นิ่งในอ้อมกอดของคุณพ่อ “ผมหาข้อมูลโดยการเดินทางกับผู้อพยพจากประเทศกัวเตมาลา ข้ามเขตแดนมายังเมืองโออาซากา เม็กซิโก ประสบการณ์ครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตผมมาก ผมได้เห็นคนเสียชีวิตหรือแม้กระทั่งถูกฆาตกรรม ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องจริง จนกระทั่งได้เห็นด้วยตาตัวเอง เห็นว่าพวกเขาต้องเผชิญกับชะตากรรมอะไรบ้าง” ฟุคุนางะต่อยอดประเด็นนี้ในภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Sin Nombre (2009) กับเรื่องราวผู้อพยพที่พยายามหลบหนีข้ามประเทศอย่างผิดกฎหมาย และนั่นก็เป็นหมุดหมายสำคัญให้ภาพยนตร์เรื่องต่อๆ มามักมีเรื่องราวเกี่ยวกับคนชายขอบ การสูญเสียตัวตน ความรุนแรง และการแสวงหาอะไรบางอย่างอยู่เสมอ “ปี 2015 เราเห็นข้อมูลวิกฤตผู้ลี้ภัยที่มีจำนวนมหาศาล มากกว่าทุกสถิติที่เคยมีการบันทึก” ฟุคุนางะกล่าวถึงปัญหาผู้ลี้ภัยที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นชะตากรรมของโรฮิงญา หรือผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่ข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมายังยุโรป “นั่นเป็นสิ่งเราทุกคนควรตระหนักรู้ ซึ่งภาพยนตร์ของผมพยายามนำเสนอสิ่งนั้น ประเด็นผู้ลี้ภัยสร้างความสะเทือนใจในหลายรูปแบบ การสร้างภาพยนตร์ช่วยให้เห็นว่าพวกเขาเหมือนกับเราแค่ไหน มากกว่ากีดกันพวกเขาว่าแตกต่างกับเรา” สำหรับฟุคุนางะแล้ว เขาไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นผู้จุดประเด็นเรื่องนี้ แต่ในเมื่อปัญหาผู้ลี้ภัยมีอยู่จริงบนโลก ภาพยนตร์จะต้องทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์นี้เอาไว้ “ในฐานะคนที่เรียนประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์การเมืองก่อนสร้างหนัง ผมนิยามตัวเองว่าเป็นประชากรโลก และผมมีความสนใจอย่างยิ่งว่าเผ่าพันธุ์กำลังเดินหน้าไปทิศทางไหน เราต้องหาคำตอบมันให้ได้ นอกจากนี้เรายังจมอยู่กับปัญหาบางอย่าง” หลังเป็นที่รู้จักและเติบโตผ่านงานภาพยนตร์สักระยะ ฟุคุนางะกลับมาเล่นประเด็นคนชายขอบและความรุนแรงอีกครั้งใน Beasts of No Nation (2015) ภาพยนตร์ดราม่าเกี่ยวกับเด็กน้อยในค่ายผู้ลี้ภัยที่ได้รับการช่วยเหลือจากกองโจรกบฎ หลังรัฐบาลรัฐประหารบุกเข้ามาสังหารหมู่ในสงครามกลางเมืองแอฟริกา “ผมเห็นข่าวเด็กสาวที่เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในลอนดอน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับความรุนแรงที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญ มันได้สร้างคำถามว่า เราจะให้ความสนใจต่อการกระทำอันโหดร้ายก็ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นในสหรัฐฯ หรือสหราชอาณาจักรเท่านั้นหรือเปล่า? บางทีคำตอบอาจเป็นความจริง” ไม่เพียงเฉพาะวงการภาพยนตร์ ฟุคุนางะยังมีส่วนร่วมในการกำกับซีรีส์โทรทัศน์ True Detective ทางช่อง HBO และได้ยกระดับคุณภาพซีรีส์ด้วยฉากลองเทกความยาว 6 นาทีในซีซันแรก จนได้รับยกย่องจากสื่อต่างๆ ว่าเป็นซีนน่าจดจำที่สุดในประวัติศาสตร์โทรทัศน์ และล่าสุดซีรีส์ Maniac ว่าด้วยเรื่องการทดสอบยาชนิดพิเศษรูปแบบใหม่ของหญิงสาวมีปมและชายหนุ่มผู้มีปัญหาทางจิต นำแสดงโดย เอ็มมา สโตน และ โจนาห์ ฮิลล์ “มันเป็นเรื่องคนอีกคนที่อาศัยอยู่ในตัวเรา เหมือนที่ผมคิดว่าอาจมีคนดำอยู่ในตัวก็ได้นะ” เขาหัวเราะ “ผมพยายามนิยามตัวตนมากกว่าสิ่งอื่นใด พยายามหาคำตอบให้ได้ว่าผมเป็นใคร” ความรู้สึกแปลกแยกในข้างต้น นำมาซึ่งการแสวงหาตัวตนที่เขาเลือกนำเสนอผ่านผลงาน การทำงานจึงค่อยๆ ขัดเกลาและทำให้เขาสำรวจตัวตนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น สำรวจว่าเขา เรา หรือคุณ “เป็น” ใครในโลกใบนี้   มีหลายเหตุผลที่ฟุคุนางะกลายจุดสนใจเมื่อได้รับตำแหน่งผู้กำกับภาพยนตร์ Bond 25 หนึ่งในนั้นคือเขาเป็นผู้กำกับสัญชาติอเมริกันคนที่สองที่ได้กำกับแฟรนไชส์หนังสายลับอังกฤษต่อจาก ไอร์วิน เคอร์ชเนอร์ จาก Never Say Never Again (1983) และเป็นผู้กำกับคนที่สองที่ไม่ใช่คนผิวขาวต่อจาก ลี ทามะโฮะริ จาก Die Another Day (2002) แต่ที่เหนือไปกว่าประเด็นสัญชาติ อย่าลืมว่าฟุคุนางะเป็นผู้กำกับที่สร้างชื่อจากการนำเสนอมุมมองคนชายชอบในสภาวะไร้ตัวตน จิตใจแตกสลาย และความล่มสลายของประเทศชาติ ถึงแม้ Bond 25 ยังไม่ได้กำหนดประเภทภาพยนตร์ แต่ ริชาร์ด นิวบี้ นักวิจารณ์จาก The Hollywood Reporter วิเคราะห์ไว้ว่า ฟุคุนางะอาจพา เจมส์ บอนด์ ไปสัมผัสเรื่องราวสยองขวัญมากขึ้น “มันไม่ใช่ว่าเราจะได้เห็นเจมส์ บอนด์เผชิญหน้ากับแดร๊กคูล่าในปราสาททรานซิลวาเนีย หรือบรรจุกระสุนเงินในปืนพกคู่กาย Walther PPK หรอก แต่เป็นความสยดสยองทางจิตวิทยาตามแนวทางของฟุคุนางะ ที่มักใส่ความน่ากลัวแบบโกธิค ความเหนือจริง หรือแม้กระทั่งความสั่นประสาทในผลงานอยู่เสมอ Bond 25 จึงมีแนวโน้มสำรวจลึกถึงจิตวิญญาณชายที่วนเวียนอยู่กับการฆ่าและความสูญเสียอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งมันอาจมีประสิทธิภาพเมื่ออยู่ในมือของฟุคุนางะ” เกือบ 60 ปีแล้วที่เราได้เห็น เจมส์ บอนด์ ในสภาวะชายที่มีจิตใจแข็งแกร่ง ไร้ซึ่งอารมณ์อ่อนไหว และไม่หวาดกลัวต่อสิ่งใด (ลองนึกถึงฉากทรมานบนเก้าอี้ใน Casino Royale (2006) ดูสิ) บางทีนี่อาจเป็นเวลาที่เราจะได้เห็น เจมส์ บอนด์ ในภาพลักษณ์ที่แตกต่างออกไป ณ ตอนนี้ Bond 25 ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ และจะเริ่มถ่ายทำเร็วๆ นี้ อีกไม่นานเราจะได้รู้ว่าฟุคุนางะจะพาสายลับ เจมส์ บอนด์ ไปเผชิญหน้ากับชะตากรรมอะไรบ้าง   ที่มา