ชายกลาง เดอะมิวสิคัล สื่อ “น้ำเน่า” ไร้สาระหรือปลอบโยนจิตใจ
การพบกันระหว่างชายหนุ่มผู้สูงศักดิ์ เจ้าของร่างสูงภูมิฐานและใบหน้าเรียบเฉยที่ซ่อนความหยิ่งทระนงในศักดิ์ศรี กับ หญิงสาวผู้ต่ำต้อย ที่สมบัติเดียวที่มีคือจิตใจที่งดงาม รวมกับมหากาพย์การแย่งชิงพินัยกรรมราวกับเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายของโลก หรือการปลอมตัวที่เพียงปรายตาก็ดูออกได้ไม่ยาก เห็นจะเป็นสูตรอมตะของเรื่องราวความรักแบบ "น้ำเน่า" ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
แม้ผู้ชมบางกลุ่มจะมีความเห็นว่าโครงเรื่องสุด "น้ำเน่า" นี้ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาเสียบ้าง แต่สื่อไทยกลับทำในสิ่งตรงกันข้ามด้วยการนำละครเรื่องเดิมมาสร้างใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก และไม่วายประสบความสำเร็จและเป็นที่ติดตามของคนจำนวนมากอยู่เรื่อยไป โดยเฉพาะเรื่องราวระดับตำนานสุดเพ้อฝันอย่าง "บ้านทรายทอง" ที่กล่าวถึงความรักต่างชนชั้นของชายกลางกับพจมาน และเรื่อง "ปริศนา" เรื่องราวความรักระหว่างนางเอกลูกของผู้ดีตกอับกับท่านชายจากตระกูลใหญ่
การสร้างความสุขจากความเพ้อฝันจึงกลายเป็นแง่มุมที่ “ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม” ยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ และนำเสนอผ่านการรวบรวมความซ้ำซากในนิยายไทยและจับมานำเสนอในรูปแบบใหม่ที่สุดโต่งยิ่งกว่าต้นฉบับ รวมถึงการรวมตัวละครอย่าง ชายกลาง และ ปริศนา มาไว้ในเรื่องเดียวกัน จนเกิดมาเป็น “ชายกลาง โศกนาฏกรรมจังหวะแทงโก้” ในปี 2550 และ“ชายกลาง เดอะมิวสิคัล” นี้ ในปี 2562
ชายกลาง เดอะมิวสิคัล เล่าถึงชีวิตของ “สมชาย” (จ๋าย – อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี) นักเขียนผู้มีอุดมการณ์ในการเขียนหนังสือปรัชญาที่มีใจความลึกซึ้ง หากแต่ไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่เขาอยากจะสื่อสาร หนังสือลึกซึ้งแต่ไม่เข้าถึงผู้คน ทำให้เขากลายเป็นนักเขียนที่แทบไม่มีอันจะกิน ดังนั้นเพื่อปากท้องของตัวเองและคนรัก “พร” (ลูกหว้า – พิจิกา จิตตะปุตตะ) สมชายจึงยอมใช้นามปากกา“ส.ปิยบุตร” เพื่อเขียนนิยายน้ำเน่า ที่ขัดต่ออุดมการณ์ของเขาโดยสิ้นเชิง
ความเกลียดชังที่เขามีต่อนิยายน้ำเน่าทำให้สมชายจงใจแต่งนิยายเรื่องใหม่ที่ตอกย้ำและจิกกัดถึงความซ้ำซาก ทั้งการคลุมถุงชนระหว่างตัวละคร “ชายกลาง” (ชิน – ชินวุฒ อินทรคูสิน) ที่ถึงหล่อและรวย แต่ก็โง่จนเซ่อ ถึงขั้นที่ดูไม่ออกว่าปริศนาตอนใส่แว่นและถอดแว่นคือคนเดียวกัน และตัวละคร “ปริศนา” (ซาร่า – นลิน โฮเลอร์) ที่ครอบครัวเป็นหนี้ แต่ก็ไม่ยอมแต่งงานกับท่านชายเพื่อเงินเพราะรักศักดิ์ศรี และตัวอิจฉาที่คอยกรีดร้องแย่งชิงพยายามทำให้ท่านชายหลงรัก เพื่อตีแผ่ให้เห็นถึงความไร้มิติของตัวละคร และความไม่สมเหตุสมผลอันแสนน่าขัน ที่มองอย่างไรก็หาแก่นสารหรือคุณค่าให้ขบคิดไม่เจอ
ในขณะเดียวกัน พร คนรักของสมชาย ที่ต้องเผชิญกับความยากจน อีกทั้งยังถูกต่อว่าจากคนรัก จึงเลือกที่จะอ่านเรื่องราวเบาสมองจากนิยายน้ำเน่า ที่ชายกลางและปริศนาตกหลุมรักกันได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องคิดมาก เพื่อเป็นเครื่องปลอบประโลมและหลบหนีความโหดร้ายที่ตนต้องเจอ กลับเป็นคำถามว่าในทางตรงกันข้ามว่า ในยามที่เราต้องประสบกับปัญหาชีวิตที่ยากลำบาก มันจำเป็นด้วยหรือที่ต้องหาเรื่องซับซ้อนมาใส่ตัวให้คิดไม่ตกอีก
ชายกลาง เดอะมิวสิคัล นำเสนอ 2 ขั้วความคิดที่แตกต่างกันนี้ผ่านละคร 2 องก์ โดยองก์แรกกล่าวถึงตัวละครสมชายที่มองนิยายน้ำเน่าเพียงด้านไร้สาระด้านเดียว ทำให้เขาต้องใช้นามแฝงในการเขียนนิยาย ด้วยความละอายใจกับการทำสิ่งที่ตรงข้ามกับอุดมการณ์ แต่การเขียนนิยายยังไม่ทำให้เขาเกิดความขัดแย้งในตัวเองรุนแรงนัก เพราะทั้งหมดเป็นเพียงเพราะปัจจัยภายนอกที่เขาต้องการหาเลี้ยงครอบครัว แต่ในองก์ที่ 2 เนื้อเรื่องเริ่มเพิ่มความตึงเครียดมากขึ้น ส.ปิยบุตร เริ่มมีชื่อเสียง แต่สมชายกลับไม่สามารถภาคภูมิใจกับงานของตัวเอง เพราะยังรู้สึกผิดกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่เขียนหนังสือปรัชญา อย่าง “ภักดี” (พีท – ปิติพงศ์ ผาสุขยืด) ทำให้เขาเกิดความสับสน และต้องต่อสู้กับการยอมรับตัวเองและแนวความคิดแบบใหม่
แม้ประเด็นสำคัญจะถูกเล่าผ่านเรื่องราวจริงจังในโลกของสมชายกับพร แต่ ชายกลาง เดอะมิวสิคัล ยังไม่ลืมที่จะตัดมาเล่าเรื่องคอเมดี้ในฝั่งนิยาย ด้วยตัวละครที่มักจะมาพร้อมมุกตลกที่เน้นคาแรกเตอร์ของตนออกมาอย่างชัดเจน สร้างเสน่ห์ให้กับเนื้อเรื่องได้ไม่แพ้กัน การสลับไปมาระหว่างโลกนิยายกับโลกแห่งความเป็นจริงนี้ยังทำออกมาได้อย่างไหลลื่นผ่านแสงสีและฉาก โดยเฉพาะในฉากที่พรกำลังรื่นเริงอยู่กับโลกในจินตนาการ มีการใช้ความมืดเข้ามากระชากอารมณ์เมื่อพรระลึกได้ว่าความสุขที่ตนกำลังได้รับนั้น ไม่ได้มาจากความจริง แต่มาจากความเพ้อฝันของนิยาย
ถึงแม้ว่า ชายกลาง เดอะมิวสิคัล จะดัดแปลงมาจากละครที่อยู่คู่กับคนไทยมาหลายทศวรรษ แต่ก็ผสานความร่วมสมัยเข้าไป โดยมีการใช้มุกตลกที่สอดคล้องเหตุการณ์ปัจจุบันในสังคม และมีการผสมผสานเพลงร่วมสมัยหลากแนวในแบบที่คาดไม่ถึงมาก่อน ในด้านของการร้อง ท่อนโซโล่ของแต่ละคนก็ถือเป็นอีกจุดที่น่าประทับใจจนเรียกเสียงเชียร์กระหึ่มฮอลล์เลยทีเดียว!
กล่าวได้ว่า ชายกลาง เดอะมิวสิคัล เป็นละครเพลงอีกเรื่องหนึ่งที่สามารถถ่ายทอดแง่มุมเกี่ยวกับความน้ำเน่าของละครไทยออกมาได้อย่างน่าสนใจ ผ่านตัวละครที่มีทัศนคติตรงกันข้ามกันอย่างสมบูรณ์ ถึงแม้บางช่วงมุมมองสุดโต่งของตัวละคร จะทำให้ไม่สามารถดึงอารมณ์ร่วมของผู้ชมได้เท่าที่ควร แต่การผสมผสานความตลกขบขันและแง่คิดที่ลึกซึ้ง ทำให้ชายกลาง เดอะมิวสิคัล ก็ยังเป็นละครเพลงที่ผู้ชมสามารถดูแล้วอมยิ้มไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
และที่สำคัญ อาจจะทำให้มุมมองที่ผู้ชมมีต่อความน้ำเน่าเปลี่ยนไปจากเดิม
เรื่อง: พัทธมน สินธุวณิชเศรษฐ์ และ จิดาภา กนกศิริมา