จักรพรรดิไทโช จักรพรรดิยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า

จักรพรรดิไทโช จักรพรรดิยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า
ยุคเมจิ เป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นปฏิรูปประเทศสู่ความทันสมัยจนล้ำหน้าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการทหาร ความสำเร็จหนึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมคือการเอาชนะสงครามกับรัสเซียอย่างเหนือความคาดหมายของผู้ติดตามสถานการณ์ในยุคนั้น และก้าวขึ้นมาเป็นอำนาจใหม่ทัดเทียมกับชาติยุโรปที่มาแสวงหาประโยชน์ในภาคพื้นทวีปอยู่ก่อน หลังครองราชย์มานาน 45 ปี จักรพรรดิเมจิก็ถึงคราวสวรรคตในปี 1912 มกุฎราชกุมารโยชิฮิโตะ จึงได้ขึ้นครองราชย์ โดยได้รับการขนานพระนามต่อมาว่า "จักรพรรดิไทโช" หลังการปฏิวัติเมจิ (ซึ่งเป็นการฟื้นฟูสถานะของจักรพรรดิให้กลับมาเป็นผู้ทรงอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง) ความสำเร็จในการปฏิรูป และการครองราชย์เป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้จักรพรรดิเมจิเป็นที่รักและผูกพันกับประชากรส่วนใหญ่ทุกช่วงอายุของประเทศ พระองค์ผู้สืบทอดเชื้อสายจักรพรรดินับพันปีโดยไม่ขาดสายซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งจารีตเดิม ก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของ "ยุคสมัยใหม่" แต่ความสำเร็จ และความเปลี่ยนแปลง ก็มาพร้อมกับปัญหาใหม่ ๆ สงครามที่ทำให้ญี่ปุ่นโดดเด่นในเวทีโลกนำมาซึ่งหนี้สินมหาศาล แรงงานทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเริ่มทนไม่ไหวกับภาวะขูดรีด แนวคิดสังคมนิยมเริ่มแทรกซึม การแย่งชิงอำนาจระหว่างคณะรัฐบุรุษอาวุโส (genro) ที่นั่งเก้าอี้สืบมาแต่ยุคเมจิ กับกลุ่มข้าราชการ ทหารและนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ต้องการให้รัฐบาลมาจากการรับรองของผู้แทนราษฎรตามระบบรัฐสภาจึงมาปะทุขึ้นในยุคจักรพรรดิไทโช เจ้าชายโยชิฮิโตะประสูติในปี 1879 จากแม่ผู้เป็นเพียงนางสนม ซึ่งเคยเสียลูกแต่แรกเกิดมาแล้วก่อนหน้าสองครั้ง เจ้าชายโยชิฮิโตะเองก็เกือบไม่รอดเช่นกัน เมื่อพระองค์ประชวรด้วยอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบตั้งแต่แรกเกิด พระบิดาของพระองค์ (จักรพรรดิเมจิ) ทรงเลือกให้หมอหลวงที่ใช้ตำรายาสมุนไพรแบบเก่าเป็นผู้รักษา เจ้าชายน้อยตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างช้า หลายอาทิตย์ผ่านไปไม่มีใครคิดว่าพระองค์จะเอาชีวิตรอดจากโรคร้ายนี้มาได้ แต่พระองค์ก็ทำได้สำเร็จ ถึงอย่างนั้นเจ้าชายโยชิฮิโตะก็มีปัญหาสุขภาพเรื้อรังเรื่อยมา และยังมีปัญหากับการเรียนในระบบเนื่องจากอาการสมาธิสั้นจึงต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเมื่อครั้งยังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมต้น และรับการศึกษาจากพระอาจารย์ส่วนพระองค์ในพระราชวังแทน เมื่อจักรพรรดิเมจิสวรรคตในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 1912 เจ้าชายโยชิฮิโตะได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อเมื่ออายุได้ 33 ปี รัชกาลของพระองค์เริ่มต้นด้วยความวุ่นวายทางการเมืองที่รู้จักกันในชื่อ “วิกฤตการเมืองแห่งยุคไทโช” เมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลติด ๆ กัน 3 คนในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี จักรพรรดิไทโชขึ้นครองราชย์โดยไม่อาจรักษาสถานะทางอำนาจของสถาบันจักรพรรดิเหมือนเช่นพระบิดา ข้าราชบริพารพากันแสดงความกระด้างกระเดื่อง อ้างว่าพระองค์มือไม่ถึงเมื่อเทียบกับพระบิดา โดยในเดือนธันวาคม 1912 นายพล ยามาโมโตะ กอนเบอิ (Yamamoto Gonbei) กล่าวกับ มัตซึคาตะ มาซาโยชิ (Matsukata Masayoshi) หนึ่งในคณะรัฐบุรุษอาวุโสว่า ในเรื่องการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนั้น จักรพรรดิโยชิฮิโตะไม่ได้มีพระปรีชาสามารถเช่นจักรพรรดิองค์ก่อน "ในความเห็นของข้าพเจ้า  พระราโชวาทของพระองค์หากมันทำให้ประเทศชาติเสียหาย การไม่นำมาปฏิบัติน่าจะเป็นการแสดงความจงรักภักดีที่แท้จริง" (Bix, Herbert. Hirohito and the Making of Modern Japan. New York: HarperCollins, 2001. 40) เมื่อ ไซอนจิ คิมโมจิ (Saionji Kinmochi) ซึ่งครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปลายรัชสมัยเมจิถึงปลายปีแรกของยุคไทโช ต้องพ้นจากตำแหน่งไปเพราะนโยบายปรับลดรายจ่ายของกองทัพ จนกองทัพกดดันให้ต้องลาออก คัตซึระ ทาโร ( Katsura Taro) นายกฯ คนใหม่หน้าเก่าเข้ามารับตำแหน่งเป็นสมัยที่สาม แต่ด้วยระยะเวลาเพียง 7 สัปดาห์ ก็ต้องลาออก เมื่อเขาถูกมองว่าเป็นตัวแทนของคณะรัฐบุรุษอาวุโสที่เข้ามารักษาอำนาจคณาธิปไตย และใช้จ่ายสิ้นเปลืองไปกับงบประมาณทางทหาร ทำให้ถูกต่อต้านอย่างหนักจากประชาชน ด้วยความเหนื่อยหน่ายกับระบอบคณาธิปไตยที่นายกฯ มาจากการแต่งตั้งของจักรพรรดิตามคำปรึกษาของคณะรัฐบุรุษอาวุโส จึงทำให้เกิดกระแสเรียกร้องจากสังคมให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกสรรของพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ยามาโมโตะ กอนเบอิ คนกลางที่สองฝ่ายพอจะยอมรับได้จึงได้ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งเป็นลำดับต่อมา จักรพรรดิไทโชแทบไม่มีบทบาทใด ๆ ในทางการเมือง และยิ่งพระองค์ขึ้นมารับตำแหน่งจักรพรรดิ สุขภาพจิตของพระองค์ก็ค่อย ๆ เสื่อมโทรมลง โดยนับแต่ปี 1916 พระองค์เริ่มแสดงอาการซึมเศร้า จนไม่ยอมพบเจอผู้คน และมีพฤติกรรมที่คาดเดาไม่ได้ สเตอร์ลิง และ เพกกี ซีเกรฟ (Sterling Seagrave, Peggy Seagrave) เจ้าของผลงาน The Yamato dynasty: the secret history of Japan's imperial family อ้างว่ามีแหล่งข่าวชั้นในเล่าให้ทั้งคู่ฟังว่า ระหว่างการสวนสนามและตรวจกองทหาร จักรพรรดิซึ่งว่ากันว่ามีความสามารถเป็นเลิศในการบังคับม้า บางทีจู่ ๆ ก็ตกจากม้าของพระองค์ หรือบางครั้งก็ไล่หวดทหารด้วยแส้ม้าอย่างรุนแรง บางครั้งก็ลงจากม้าเข้าไปกอดทหารราบ และคราวหนึ่งที่พระองค์จะต้องให้พระราโชวาทต่อหน้าที่ประชุมรัฐสภา พระองค์กลับม้วนร่างพระราโชวาทเอามาทำเป็นกล้องส่องทางไกลจนทำให้ผู้พบเห็นตกตะลึง ตอนนั้นมีการปล่อยข่าวว่า พระองค์มีสัญญาวิปลาสเพราะทรงใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับสุราและนารี แต่สองสามีภรรยาซีเกรฟกล่าวว่า ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการดื่มสุราหนักอยู่แล้ว และก่อนนั้นการที่จักรพรรดิจะมีนางบำเรอจำนวนมากก็ไม่ใช่เรื่องแปลก จักรพรรดิเมจิก็ทรงปฏิบัติคล้ายกัน แต่ไม่มีใครวิจารณ์เพราะข้าราชบริพารใกล้ชิดหวังพึ่งอำนาจจักรพรรดิซึ่งทรงมีสถานภาพที่สำคัญยิ่งหลังการปฏิวัติ จึงเชิดชูพระองค์ในทุกเรื่อง แต่เมื่อคนกลุ่มนี้กุมอำนาจได้มั่นคงหลังการจากไปของจักรพรรดิเมจิ พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาจักรพรรดิองค์ใหม่ จึงวาดภาพให้พระองค์ดูไร้พระปรีชาสามารถ แต่ความจริงแล้วความผิดปกติของพระองค์มิได้มาจากพฤติกรรมดังกล่าว หากน่าจะเกิดจากความเจ็บป่วยแต่วัยเด็กจนทำให้สมองได้รับความเสียหาย อาการเหล่านี้ในบางกรณีอาจไม่สังเกตเห็นได้เลย จนกระทั่งถูกเหตุการณ์บางอย่างกระตุ้น ซึ่งซีเกรฟเชื่อว่าการที่พระองค์ต้องรับตำแหน่งประมุขซึ่งมาความเครียดสูง อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระองค์แสดงอาการออกมา และในปี 1921 พระองค์ล้มป่วยลงด้วยอาการเลือดออกในสมองจนไม่อาจปฏิบัติราชกิจได้ จึงมีการแต่งตั้งให้มกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในภาวะที่จักรพรรดิอยู่ห่างจากการเมือง ทำให้พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในญี่ปุ่นมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น การรวมตัวเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างคึกคัก หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั่วโลกประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในปี 1918 ราคาข้าวตกต่ำอย่างรุนแรง จนทำให้ชาวนาก่อจลาจลขึ้นหลายครั้ง ฮารา ทาคาชิ (Hara Takashi) ผู้แทนจากสภาล่างได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีต่างก็มาจากสมาชิกพรรคการเมืองซึ่งดำรงตำแหน่งผู้แทนราษฎร ทำให้รัฐบาลของเขาได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองเป็นรัฐบาลแรก คณะรัฐบาลของฮาราแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของความเป็นประชาธิปไตยที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นในญี่ปุ่นท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองและเศรษฐกิจ เขาได้ขยายสิทธิเลือกตั้งออกไปตามสัดส่วนทรัพย์สิน ทำให้เจ้าที่ดินรายเล็ก ๆ ได้มีสิทธิมีเสียงบ้าง แต่ยังไม่ยอมให้สิทธิเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม ก่อนที่ฮาราจะถูกลอบสังหารโดยกลุ่มขวาจัดในปี 1921 จากนั้นประชาธิปไตยที่เพิ่งหยั่งรากก็ต้องเผชิญกับความยากลำบาก หลังการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในภูมิภาคคันโตเมื่อปี 1923 ทำให้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในภาวะฉุกเฉิน กองทัพได้โอกาสเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น มีการใช้อำนาจกดขี่ผู้เห็นต่างทางการเมืองกับทางกองทัพอย่างรุนแรง ชนกลุ่มน้อยชาวเกาหลีและชาวจีนได้รับผลกระทบอย่างหนัก และเมื่อรัฐบาลที่มีความอนุรักษนิยมยิ่งกว่าเดิมเข้ามามีอำนาจ จึงมีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมในปี 1925 โดยมีเป้าหมายเป็นผู้เคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย ซึ่งผู้ฝ่าฝืนกระทำการอันกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองในสมเด็จพระจักรพรรดิ (kokutai) อาจต้องรับโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี อีกราวปีต่อมา จักรพรรดิไทโชซึ่งล้มป่วยมานานกว่า 6 ปี เริ่มมีอาการทรุดหนักจากการติดเชื้อในปอด แม้ข้าราชบริพารจะพยายามยื้อชีวิตของพระองค์สุดกำลังแต่ก็ทำไม่สำเร็จ พระองค์สวรรคตเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 1926 ส่วนสุขภาวะของระบอบประชาธิปไตยของญี่ปุ่นยิ่งถดถอยในยุคแห่งจักรพรรดิโชวะ (หรือจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ พระโอรสของจักรพรรดิไทโช) เมื่อกองทัพเริ่มเข้ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ลดบทบาทของรัฐสภา และหันไปอิงแอบอำนาจจากสถาบันจักรพรรดิ เชิดชูพระองค์ในฐานะผู้กุมอำนาจสูงสุด ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทำให้ลัทธิทหารนิยมรุ่งเรืองถึงขีดสุด ประชาธิปไตยในยุคไทโชจึงค่อย ๆ ตายไปในช่วงเวลาใกล้ ๆ กับการสวรรคตของพระองค์นั่นเอง