read
interview
09 มิ.ย. 2562 | 13:38 น.
สัมภาษณ์ “โอม ค็อกเทล” การบวชครั้งที่สอง กับพุทธศาสนาในสายตาของร็อคสตาร์
Play
Loading...
"ตอนอายุ 24 ตัวตนเรามันบาง เราเพิ่งเรียนจบงานการยังไม่ชัดเจนครอบครัวยังไม่มี เป็นที่รู้จักในวงสังคมอะไรก็ยัง เพราะฉะนั้นตัวตนมันน้อย มันจึงเป็นการบวชที่มีลักษณะของการค้นหาตัวเองแต่พอ 30 ตัวตนเราเยอะ เราเริ่มมีพื้นที่ของตัวเราเอง มันไม่เกี่ยวกับดังไม่ดังนะครับ มันเกี่ยวกับว่าเรามีพื้นที่ว่าเรามีอุปาทานที่สร้างว่าเราเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการบวชครั้งนี้มันเหมือนกับการบวชเพื่อทำลายตัวเอง"
เรารู้จักกับ
โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ
ในฐานะนักร้องนำวงร็อคที่มีชื่อว่า
“ค็อกเทล”
แต่ในมุมหนึ่ง เขาเป็นคนที่สนใจฝึกธรรมะ และเพิ่งบวชครั้งที่สองในชีวิตเมื่อต้นปี 2562 เพื่อกลับมาศึกษาหลักธรรมเพิ่มเติม
การบวชในครั้งนี้ เขาค้นพบอะไร? ศาสนาพุทธกับความเป็นร็อคสตาร์ไปด้วยกันได้ไหม? หลักธรรมช่วยในการแต่งเพลงและจัดการชีวิตกันอย่างไร? บวชเพื่อทำลายตัวเองคืออะไร?
นี่คือบทสัมภาษณ์เชิงสนทนาธรรมกับเขา โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ
The People: ทำไมถึงตัดสินใจบวชครั้งที่สอง
ปัณฑพล:
จริง ๆ บวชครั้งแรกกับบวชครั้งนี้มันก็ห่างกันนานแล้วครับ มัน 9 ปีเศษเกือบ 10 ปี เราผ่านประสบการณ์ชีวิตมาค่อนข้างเยอะ บอกยากเหมือนกันว่าอะไรที่เป็นจุดที่ตัดสินใจว่าจะไปบวช แต่ว่าเรารู้สึกว่าตอนที่เราบวชครั้งแรกเนี่ย เราเรียนรู้อะไรเยอะและเมื่อเวลามันผ่านไปถึงจุดหนึ่งที่เราเริ่มรู้สึกว่ามีประสบการณ์มากขึ้น ถ้าเราไปฝึกฝนตัวเองแบบเดิม ๆ เราอาจจะได้ความรู้อะไรที่มันมากขึ้นไปกว่านั้นก็ได้ เรายังเชื่อมั่นในการฝึกตนแบบนั้นอยู่อะไรอย่างนี้ครับ คิดว่าน่าจะได้ผลในการที่ทำให้เรายกระดับความคิดตัวเองได้อีก
The People: บวชครั้งแรกปีไหน
ปัณฑพล:
ถอยไปอีก 9 ปีครับ ปี 52-53 อะไรประมาณนี้ครับ
The People: ถ้าเปรียบการบวชเหมือนอ่านหนังสือ คือคนเราเวลาอ่านหนังสือครั้งแรกกับอ่านหนังสือครั้งที่ 2 จะตีความหรือมองโลกไม่เหมือนกัน บวชครั้งแรกกับบวชครั้งที่ 2 เหมือนกันไหม
ปัณฑพล:
จริง ๆ ตอนที่ตัดสินใจไปบวชไม่ได้คิดว่ามันจะเหมือนกันยังไง รู้แต่ว่าคนเราเมื่อสังเคราะห์ความรู้ได้จากประสบการณ์ที่มีอยู่ ตอนเราอายุ 20 มันเป็นแบบหนึ่ง ตอนเรา 30 มันเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่พอบวชเสร็จมาจริง ๆ สิ่งที่ได้ข้อสรุปมาก็คือว่าตอนอายุ 24 ตัวตนเรามันบาง เราเพิ่งเรียนจบงานการยังไม่ชัดเจนครอบครัวยังไม่มี เป็นที่รู้จักในวงสังคมอะไรก็ยัง เพราะฉะนั้นตัวตนมันน้อย มันจึงเป็นการบวชที่มีลักษณะของการค้นหาตัวเองแต่พอ 30 เนี่ยตัวตนเราเยอะ เราเริ่มมีพื้นที่ของตัวเราเอง มันไม่เกี่ยวกับดังไม่ดังนะครับ มันเกี่ยวกับว่าเรามีพื้นที่ว่าเรามีอุปาทานที่สร้างว่าเราเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการบวชครั้งนี้มันเหมือนกับการบวชเพื่อทำลายตัวเอง
The People: ขยายความคำว่า "ทำลายตัวเอง" หน่อยได้ไหม
ปัณฑพล:
ทำลายคือจริง ๆ มันเป็นความเข้าใจใหม่ของผมเองครับ อันนี้ต้องกล่าวว่ามันไม่ได้มีใครอธิบายแบบนั้นมา แต่ว่ามันเป็นความเข้าใจที่เกิดกับตัวเราเองว่า สมมติว่าเราสร้าง เรามีคำถามว่าเราสร้างตัวตนขึ้นมาจากสิ่งใด การที่เรามีความรับรู้ต่อโลกภายนอก คือพวกประสาทสัมผัสของเราต่อโลกภายนอก เราสร้างตัวตนจากอะไรบ้าง แต่ก่อนผมเคยคิดว่านี่คือกระดาษขาวครับ กระดาษแผ่นหนึ่งแล้วเราวาดรูปคนไว้อย่างนี้มีแขนมีขาและวิธีที่เราสร้างความเป็นตัวตนของมันคือเราถมสีลงไป ระบายสีลงไปในตัวเรา ระบายไปจนเต็ม เหมือนเรารู้อะไรเราก็เติมเข้าไป
แต่ตอนนี้ผมเข้าใจว่ามันไม่ใช่แบบนั้น การที่เรารู้ว่าอะไรเป็นสิ่งใดมันคือการระบายสีข้างนอกจนเต็ม แล้วทิ้งรูปคนไว้ ทำไมถึงอธิบายอย่างนั้น ผมรู้สึกว่าอย่างทุกคนเกิดมาก็ว่างเปล่า ไม่ได้มีความรู้ ไม่ได้มีความคิด แต่วันหนึ่งรู้ว่าตัวเองชอบรสเค็มเพราะเคยกินเค็มจิตจึงกำหนดว่าชอบ วันหนึ่งไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งจิตกำหนดว่าชอบ วันหนึ่งโดนเอาเปรียบจิตกำหนดว่าไม่ชอบ คือการเกิดขึ้นของตัวตนเราเกิดจากการปะทะกับสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก แล้วค่อยกำหนดว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร สิ่งนี้เป็นอย่างไรแล้วถามว่า เรานั้นมีตัวตนจริงหรือไม่ คือมีคนที่กินเค็มแล้วบอกว่าเนี่ยจืด แล้วก็มีคนที่กินเค็ม เค็มหมายถึงว่าเค็มในระดับเดียวกัน แล้วบอกว่านี่เค็มเกินไปนะ บางคนบอกนี่จืดเกินไปนะทั้งที่ปริมาณโซเดียมที่ให้คือ 20 กรัมเท่ากัน เพราะฉะนั้นทุกอย่างจึงเป็นอุปทานของจิตว่าเราเลือกที่จะกำหนดว่าสิ่งใดเป็นอย่างไรสำหรับเรา ตัวเราจึงกำเนิดขึ้นจากการกำหนดสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นการทำลายตัวเราคือการไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของเรา แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดจากการที่เราไปยึดโยงมันเองเป็นของเราทั้งที่จริง ๆ มันไม่เป็น
The People: ที่วัดมีการปฏิบัติธรรมอย่างไรบ้าง
ปัณฑพล:
ผมบวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร เราจะต้องเรียน มีตารางเรียนของเขาแน่นอนอยู่แล้ว ผมเองมีคนทักท้วงเยอะเหมือนกันว่า เราไปบวชรอบ 2 ทำไมไม่ไปบวชวัดป่าอะไรอย่างนี้ เราได้ลองสร้างทฤษฎีขึ้นมาใหม่นะครับว่า เอ๊ะ! หรือจะลองไปบวชในพื้นที่ที่เหมือนจริงคือมันวุ่นวายเหมือนชีวิตจริง คือมันอยู่ในเมืองไม่ใช่ว่าวัดไม่สงบนะครับ แต่มันก็วุ่นกว่าไปอยู่ป่าถูกไหม ชีวิตจริงเราก็เป็นแบบนี้ไม่ใช่เหรอ เราจะมีทางหาความสงบในใจได้ไหมแม้ว่าสภาพแวดล้อมมันอาจจะวุ่นวายอยู่บ้าง เพราะว่าถ้าผมต้องไปหาพื้นที่ที่มันสงบที่มันเป็นตัวช่วยเราผมอาจจะไม่แบบไม่ได้ความรู้ที่จะมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ที่มันวุ่นวาย เหมือนตอนที่ยสกุลบุตร (บุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี) พูดบ่นกับตัวเองครับว่าที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ แล้วพุทธองค์ก็กล่าวว่าที่นี่ไม่วุ่นวาย แต่ที่นี่วุ่นวายกับไม่วุ่นวายนั้นมันที่เดียวกัน เพราะฉะนั้นความวุ่นวายไม่วุ่นวายก็แบบเดียวกับที่พูดไปตอนต้นว่ามันเป็นอุปาทานของจิต ถ้าจิตเลือกกำหนดว่าสิ่งนี้วุ่นวายย่อมวุ่นวาย เราจึงคิดว่า บวชที่นี่แหละไม่ไปไหนแล้ว ใครจะมาหาจะมีคนมาเยี่ยมก็ช่าง แต่เราจะหาทางอยู่เงียบ ๆ ของเรา
The People: ในตารางเรียน เรียนอะไร
ปัณฑพล:
เรียนธรรมะพื้นฐานทั่วไป ไตรสิกขาบ้าง วันสำคัญพระพุทธศาสนาบ้าง พื้นฐานพุทธศาสนา การกรรมฐานพื้นฐานอะไรอย่างนี้ครับ ผมก็ทำอย่างนั้นทุกวัน ตื่นเช้าบิณฑบาต ทำวัตรเช้า ไปเรียน กลับมาทำความสะอาด ดูงานในวัด ไปนั่งกรรมฐานตอนเย็น ผมมีตารางกรรมฐานของตัวเองไปนั่งฝึกกรรมฐานเดินจงกรมของตัวเอง ทำวัตรเย็นกลับมานั่งกรรมฐานต่อ สนทนากับเพื่อนแลกเปลี่ยนความคิด นอน ก็อยู่อย่างนี้ครับ
The People: ประสบการณ์ประทับใจระหว่างที่ปฏิบัติธรรม
ปัณฑพล:
รอบนี้ที่รู้สึกว่าประทับใจจริงคือการที่มีครูท่านหนึ่งเตือน ผมเคร่งค่อนข้างมากในช่วง 7-8 วันแรก ผมเคร่ง คือจริง ๆ พระใหม่เราจะอ่านนวโกวาท (คำสั่งสอนพระบวชใหม่) อยู่แล้ว แต่ผมคิดว่าการปฏิบัติให้มันถึงพร้อมจะต้องทำความเข้าใจกับวินัยของพระให้มากที่สุด วินัยที่ถูกบัญญัติโดยพระพุทธองค์ไว้มีที่มามีความหมายยังไง ผมก็เลยเริ่มอ่านวินัยมุข คือเป็นหนังสือของนักธรรมชั้นตรีนักธรรมชั้นโทอะไรอย่างนี้ครับ อ่านวินัยมุกอ่านไปได้เรื่อย ๆ ปุ๊บ ไปอ่านพระวินัยปิฎกต่อดูที่มาดูพุทธวินิจฉัยดูอะไร อ่าน ๆ แล้วเราก็เริ่มถูกใจรู้สึกว่าแต่ละวันผ่านไปเราทำได้สมบูรณ์บ้างไม่สมบูรณ์บ้างเห็นคนอื่นไม่ทำเรารู้สึกขัดใจบ้าง รู้สึกเป็นทุกข์ครับ
ผมก็นั่งคุยกับอาจารย์ ท่านก็บอกว่า ผมบอกให้คุณทิ้งตัวตนของความเป็นโอมไว้หน้าโบสถ์ วันที่คุณบวชผมบอกให้คุณทิ้งตัวตนไว้จะมาสู่ร่มกาสาวพัสตร์ มาสู่การฝึกตนมาสู่การฝึกจิต ให้ทิ้งอัตตาที่ว่าโอมคือสิ่งใด โอมคือโอม ค็อกเทล โอมคือ โอมที่ทำงานที่นั่นที่นี่ เป็นพ่อของครอบครัวทิ้งไว้หมดเข้าสู่สภาวะใหม่ ผมบอกให้คุณทิ้งไม่ใช่ให้คุณทิ้งตัวตนสิ่งหนึ่งมาสวมตัวตนอีกสิ่งหนึ่งของความเป็นพระมันก็เป็นตัวตนเหมือนกันอะครับ นึกออกไหมฮะ เราถอดตัวตนจากความเป็นโยมมาสวมตัวตนของความเป็นพระ แล้วท่านก็ถามผมว่าแล้วเมื่อไหร่จะเป็นอิสระสักที เราแบบ อ้อ! เออเริ่มเข้าใจแล้วว่า คือเราไม่รู้เราเข้าใจถูกไหมแต่สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันสว่างขึ้นมาในใจ คือการข้ามคร่ำเคร่งใด ๆ นั้นไม่ดี แม้กระทั่งการเป็นพระมันก็เป็นโดยสภาวะของความเป็นพระ ไม่ใช่บอกว่าไม่เคร่งจนทำผิดวินัย แต่ไม่ใช่ยึดถือว่ามันเป็นสรณะของเราแล้วกลายเป็นว่าเรายกตนว่าเราสูง ด้วยสถานะนั้นแล้วก็ไปมองคนอื่นผิดถูกผิดถูก มันเป็นเรื่องของเราคนเดียวเป็นไปตามธรรมชาติที่เราเป็น พยายามจะเป็นให้ดีที่สุด
พูดให้ง่ายขึ้นมันเหมือนคุณไปทำงาน ไม่ควรไปเพราะอยากทำ ทำไมไม่ควรไปเพราะอยากทำ เพราะว่าการที่คุณอยากไปทำงานมันมีองค์ประกอบเยอะใช่ไหม ที่ทำงานดี เพื่อนร่วมงานดี เงินเดือนดี เจ้านายดี บรรยากาศดี สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ วันหนึ่งเจ้านายก็เปลี่ยนคน วันหนึ่งเพื่อนร่วมงานก็อาจจะทะเลาะกัน วันหนึ่งเงินเดือนก็อาจจะเปลี่ยนเพราะเศรษฐกิจไม่ดี แต่ถ้าคุณไปทำเพราะคุณต้องทำ คุณรู้ว่ามันเป็นความรับผิดชอบของคุณที่คุณต้องทำ คุณจะไม่รู้สึกอิดหนาระอาใจกับมัน เหมือนกับว่าบางคนบอกว่าฉันกินข้าวเย็นมาทุกวันเลยไปบวชทำยังไงดีกลัวจะทนหิวไม่ไหว แต่มันก็มีหลายคนนะครับที่บอกว่า เมื่อใจมันยอมรับไปแล้ว ไม่มีสิทธิ์กินมันกลับไม่หิว เพราะว่าสมองเรามันสั่งเราได้ว่าแบบมึงไม่มีสิทธิ์ไง เมื่อเรายอมรับสภาพเราไม่โหยหาว่าจริง ๆ เราแอบคิดเล็กคิดน้อยได้ เหมือนเราไปวิ่ง ที่เคยวิ่งรู้สึกไหมฮะ มันมีข้ออ้างเต็มหัวเลย ถ้าวันนี้วิ่งเยอะไปพรุ่งนี้ทำงานไหวเปล่า เราควรหยุดวิ่งตอนนี้เปล่าวะ แม่งไม่ถึง 10 กิโลไม่เป็นไรมั้งพรุ่งนี้ค่อยวิ่งก็ได้ ถ้าเราไม่เอาจิตไปผูกกับข้ออ้างเหล่านั้น แล้วเรายอมรับว่าเราทำเพราะมันต้องทำอะมันไม่ต้องคิดอะไรอะ
เหมือนเราเป็นพระ วินัยไม่ได้มีไว้แหกแต่วินัยมีขึ้นเพื่อความเหมาะสม ดังนั้นแล้วเราปฏิบัติตามวินัยเพราะมันเหมาะสมไม่ใช่ปฏิบัติเพราะเราอยากจะต้องตึงกับวินัยไปซะทุกเรื่อง ไม่ใช่ แต่ต้องฟังให้เข้าใจครับมันไม่ใช่ว่าผมบอกให้ทำผิดวินัยก็ได้ ไม่ควร แต่ทำด้วยความเป็นธรรมชาติ คืออยู่กับมันน่ะเพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกควรไม่ใช่อยู่กับมันเพื่อที่จะรู้สึกว่าฉันต้องการจะมีตัวเป็นตนเพราะวินัย ไม่ใช่แบบนั้น
The People: ตอนบวชคิดถึงลูกเมียไหม
ปัณฑพล:
ก็คิดถึงครับผมยังละสิ่งเหล่านี้ไม่ได้หรอก แต่ว่าเราก็ต้องรู้ว่าในภาวะนี้เรากำลังศึกษาสิ่งเหล่านี้อยู่ เมื่อคิดจะต้องรู้ว่าคิดยอมรับว่าคิด แล้วก็ปล่อยมันไปกับมันเหมือนกัน
The People: มีพ่อแม่หรือว่าแฟนมาใส่บาตรไหมครับ
ปัณฑพล:
เขามาหาน้อยเหมือนกันนะครับ มาแต่มาน้อยเพราะว่าผมบวชในระยะนี้เขาลูกเล็กเขาก็ต้องดูแล แล้วช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่กรุงเทพฯ ฝุ่นรุนแรงมาก ผมก็ไม่ค่อยอยากให้มาก็บอกว่าไม่ต้องมาเยี่ยมหรอก คุณพ่อคุณแม่ก็มาแต่เช้าเขาก็มีงงมีงานกัน ไม่ซีเรียส ผมบวชรอบ 2 แล้วด้วย ก็ไม่ได้รู้สึกซีเรียสอะไรมาก
The People: มีแฟนคลับมารอใส่บาตรไหม
ปัณฑพล:
เข้ามาทุกวัน แฟนคลับ ก็มีคนที่มาประจำมาทุกวัน ตอนหลังก็เลยรู้สึกบอกเขาว่า ไม่อยากให้เขามาทำอามิสทาน อามิสทานมันง่าย เราอยากให้เขา...ถ้าเขาอยากมาเจออยากเห็นหน้า เราจะดีใจถ้าเขามากรรมฐาน มาทำวัตร แล้วเราก็ดีใจว่ามีหลายคนก็มามาทำวัตรเช้าเย็น มานั่งกรรมฐานทุกวันพระที่วัดด้วย มาหัดสวดมนต์
The People: มีสนทนาธรรมกับแฟนคลับบ้าง
ปัณฑพล:
มีครับ เขาจะถามปัญหาเขาเรื่องความทุกข์ของเขาอะไรอย่างนี้ ว่าจะจัดการกับมันได้ยังไง สิ่งที่ผมได้มาก ๆ อีกอย่างหนึ่งจากการบวชก็คือเรื่องเกี่ยวกับความเข้าใจเกี่ยวกับการหาความสุข หลาย ๆ คนมีความทุกข์ เรามีความทุกข์ไปดูหนัง ไปกินข้าว ไปท่องเที่ยว ไปผ่อนคลาย เราจะพยายามตามหาความสุขเพื่อคลายความทุกข์ แต่ว่าเปล่า ทุกข์มันไม่เคยโดนดัก ปัญหามันอยู่ที่เดิม แต่เราแค่หาเหตุบรรเทาทุกข์ให้ตัวเองเท่านั้นเอง คำนี้เป็นคำที่ผมชอบมากจากการบวชคราวนี้ก็คือว่า “หลายครั้งที่เราคิดว่าสิ่งที่เราตามหาคือความสุขที่จริงมันเป็นแค่เหตุบรรเทาทุกข์” มันไม่ใช่ความสุขเพราะว่าถ้าเราหาความสุขคำว่าความสุข มันควรจะถูกนิยามให้ชัดเจนว่าสุขนั้น ความสุขควรจะถาวร ควรจะคงสภาพอยู่ได้และสุขนั้นจะต้องเป็นสุขจากความสิ้นซึ่งความต้องการมากกว่าการที่เรายังมีความต้องการอยู่ มันจะช่วยให้เราบรรเทาความทุกข์ดำรงอยู่ในโลกนี้ได้อยู่บนโลกนี้โดยไม่ต้องบาดเจ็บ แต่มันไม่ใช่การดับที่เหตุอย่างแท้จริง
The People: การบวชครั้งนี้มันเปลี่ยนเราเป็นคนใหม่
ปัณฑพล:
ผมไม่กล้าตัดสินตัวเองหรอกครับ ผมคิดว่าให้คนในสังคม คนรอบ ๆ ตัวเป็นคนตัดสินดีกว่า สำหรับผม ผมจะเปลี่ยนเป็นอะไรคงไม่สำคัญเท่าไหร่หรอก
The People: แต่ในใจเรา เรารู้สึกว่าเปลี่ยนตัวเองถูกไหม
ปัณฑพล:
ก็รู้สึกนะครับรู้สึกว่าแบบ เออ! เราโง่อยู่นาน เราเข้าใจว่าเรารู้มากแล้วเรายังรู้ได้อีก อีกไม่นาน ถ้าเราเรียนรู้ต่อไปเราคงจะรู้ได้มากขึ้นอีก นั่นแหละครับ
The People: คิดอย่างไร เวลาเราพูดถึง ศาสนาพุทธ จะมีทั้ง พระแนวใบ้หวย มีคาถาอาคมอะไรอย่างนี้ กับพระเชิงปรัชญาแนวหาทางพ้นทุกข์ สังคมไทยวิธีคิดแนวนี้ปนเปกัน
ปัณฑพล:
ผมไม่อยากวิพากษ์ ใครเขาจะเป็นยังไงก็เป็นแหละในวิถีของเขา ในสิ่งที่เขาเลือก ในสิ่งที่เขาเป็น แต่ว่าศาสนานี้ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดเราตั้งมาเพื่อให้หลุดไปจากทุกข์ ถ้าสิ่งที่เราแสวงหาหรืออะไรก็ตามจากสิ่งที่ครูบาอาจารย์ให้มา ไม่ใช่ทางที่ไปพ้นทุกข์ ท่านอาจจะแค่มองเห็นว่าเราคงไปไม่พ้นหรอกก็ช่วยเราเท่าที่ช่วยได้ แต่สุดท้ายอย่างที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โต (พรหมรังสี) ท่านพูด “บุญเราไม่เคยสร้าง ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า” เราก็ต้องทำของเราเอง ผมยังคิดว่าที่จะพูดอย่างนี้คืออยากจะบอกว่าอย่าไปสนใจเลยมันจะเป็นยังไง หันหน้าให้ถูกเถอะ จะรู้ว่ามันถูกหรือไม่ถูกก็ต้องถามตัวเองให้แน่นอนว่าไอ้สิ่งที่ทำอยู่มันนำไปสู่การพ้นทุกข์จริง ๆ หรือมันเป็นแค่เหตุบรรเทาทุกข์แค่นั้นเอง
The People: หนังสือธรรมะในดวงใจ
ปัณฑพล:
ผมไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือธรรมะเท่าไหร่ แต่ผมชอบสนทนากับครูบาอาจารย์หลาย ๆ ท่านครับ เลยบอกไม่ได้ว่าจะพูดว่ามีหนังสือธรรมะในใจไหม ไม่เชิง แต่ว่าพระไตรปิฎกฉบับประชาชนดีนะครับ อ่านง่ายดี แล้วก็รูปเล่มสวยงามในราคาที่ต่ำมาก ทำเหมือนทำมาขาดทุนเลย หนังสือดีขนาดนี้ในราคานี้หาซื้อเก็บไว้ก็ดีครับ
The People: คิดว่าหลักธรรมข้อไหนที่สำคัญกับเราที่สุด
ปัณฑพล:
ไตรสิกขา ครับ ศีล สมาธิ และปัญญา เมื่อเรามีศีลเราย่อมขัดเกลาการกระทำของเรา เมื่อเราฝึกฝนสมาธิทำให้เราเกิดความนิ่ง ความนิ่งนั้นจะทำให้เกิดการไตร่ตรองได้ลึกซึ้ง ทำให้ปัญญานั้นลึกซึ้งตามไปด้วย ผมว่าจริง ๆ แล้วทั้งหมดที่พระพุทธองค์สอนก็อยู่อย่างนี้แหละ ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งหมดนี้เพื่อให้เรามีสติ แต่ทั้งนี้ ที่ผมถูกสอนมาอีกที ผมคิดว่าสิ่งดีก็คือ “เราจงเป็นคนที่เป็นผู้ถูกสอนได้ คืออย่าเป็นคนที่เป็นน้ำเต็มแก้ว แล้วก็จงเป็นคนที่สั่งสอนตัวเองได้เช่นเดียวกัน” นั่นสำคัญ
The People: ความเป็นร็อคสตาร์ไปกันได้กับหลักพระพุทธศาสนาไหม
ปัณฑพล:
ผมว่าทุกอย่างมันน่าจะอยู่ในวิถีพุทธได้หมดไม่ว่าอะไรก็ตาม เพราะว่าสุดท้ายแล้วศีลแปลว่าปกติ ผมมีพระอาจารย์ พระอาจารย์ผมพูดกับผม เขาก็บอกว่าหลายคนไม่เห็นด้วย แต่ผมว่าผมฟังพระอาจารย์ท่านพูด พระเดชพระคุณสมเด็จพระวันรัต (เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร) พูดไว้ว่า ศีลนั้นย่อมเป็นปกติ การเป็นปกติของแต่ละคนนั้นก็ย่อมต่างกันไป การที่เราจะหัดว่ายน้ำทุกคน ทุกคนย่อมหัดว่ายน้ำจากฝั่ง ถ้าเราจะว่ายน้ำไม่มีทางที่เราจะไปกระโดดที่กลางมหาสมุทรแล้วเริ่มหัดจากกลางมหาสมุทรถูกไหมครับ แล้วน้ำอย่างไหนมันสกปรกกว่ากัน น้ำที่สกปรกกว่าย่อมเป็นน้ำริมฝั่งอยู่แล้ว
การเริ่มต้นที่จะทำตนให้เป็นปกตินั้นจึงต้องเริ่มต้นจากขอบไปสู่ท่ามกลาง ธรรมะโดนสอนใน 3 ระดับอยู่แล้ว คือในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และก็อุกฤษฏ์ อุกฤษฏ์คืออย่างขั้นที่สุดอ่ะครับ เพราะงั้นการที่เราเป็นชาวนาแล้วเราต้องฉีดยาฆ่าแมลงก็เป็นเรื่องปกติ ถามว่าฆ่าสัตว์บาปไหมมันบาปแหละแต่มันปกตินี่แหละจงเป็นปกติในหน้าที่ของตน แล้วเมื่อไหร่ที่คุณอยากขัดเกลาตัวเองให้สูงขึ้นวันนั้นคุณก็จะเริ่มว่ายน้ำไกลออกไป ไกลออกไป แล้วคุณก็จะเริ่มเลิกไปด้วยตัวคุณเอง เพราะฉะนั้นเป็นธรรมชาติอย่าไปตำหนิติเตียนว่าคนนั้นมันบาปคนนี้มันบาป คนนี้อย่างนั้น คือใช่ มันบาป แต่เขาอย่างน้อยที่สุดจงเป็นปกติในหน้าที่ของตัวเองให้ได้เสียก่อน
The People: ธรรมะมีผลต่อการทำเพลงของเราไหม
ปัณฑพล:
ก็มีนะครับ มันก็มีเรื่องที่เราอยากเล่าเรื่องที่เรารู้สึก อะไรที่เรารู้สึกใหม่ ๆ เราก็อยากเล่าไปในเพลงอยู่เสมอ
อย่างเพลง “ปรารถนาสิ่งใดฤา” จริง ๆ มันก็คือ สิ่งที่เราอยากได้มันว่างเปล่าหรือเปล่า สิ่งที่เราอยากได้ สิ่งที่เราไขว่คว้าเพื่อตนนั้น สิ่งที่เราคิดว่าทำเพื่อใครจริง ๆ เราทำเพื่อใครกันแน่ ทำเพื่อตนหรือทำเพื่อคนอื่นอย่างนี้ เพลง “ช่างมัน” เราพูดถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพียงแต่เอาความรักมาเป็นตัวเทียบเท่านั้นเอง จริง ๆ ผมคิดว่าอาชีพผมมันก็ปนไปด้วยกิเลสอยู่แล้วล่ะ ปนไปด้วยความบาปอยู่ในตัว ผมเองก็ยอมรับว่าเป็นปกติผมไม่รู้ว่าสักวันผมจะร้องเพลงได้ไกลแค่ไหน ในทุกการกระทำของเราอาจจะปนทั้งกรรมดีและกรรมชั่วอยู่เสมอ มันอาจจะไม่ได้เพียวได้ขนาดนั้น แต่เราก็แค่ตั้งใจว่าอย่างน้อยที่สุด ถึงแม้ว่าสิ่งที่เราทำมันจะอาจนำไปสู่ในทางเสื่อมได้ในบางครั้ง ทำให้เกิดความลุ่มหลงบ้าง ทำให้เกิดการยึดติดบ้าง แต่มันก็มีจุดที่ดีเหลืออยู่บ้าง ซึ่งเราก็ต้องพยายามมุ่งเน้นตรงนั้นเพื่อที่จะประคองให้ใจเราไม่ทำงานสิ่งนี้ได้ความลุ่มหลง 100% เพื่อพาให้ทุกอย่างมันหลงไปกันหมดครับ
The People: ตอนเราออกรายการ The Mask Singer เราเป็นหน้ากากหอยนางรม ตอนเราบวชเราใส่หน้ากากอะไร
ปัณฑพล:
นั่นน่ะ มันก็เหมือนเราใส่หน้ากากพระ ซึ่งก็โดนดุไงว่าผิด สุดท้ายแล้วมันต้องไม่มีอะไรเลย เพราะข้อแม้เราก็คือความว่างเปล่าหนึ่ง เราเกิดมาก็ว่างเปล่าหนึ่ง เราสร้างอุปาทานจนกำหนดว่าเราเป็นเรา จริง ๆ อุปาทานนั้นเมื่อเรามองเห็นว่าอุปาทานนั้นเป็นสิ่งที่เราเพียงแต่สมมติมันขึ้นมา มันจึงไม่มีสิ่งใดปกปิดเราอยู่เช่นเดียวกัน เราไม่มีสิ่งใดต้องปกปิดเพราะว่าเราไม่มีแม้กระทั่งตนถึงสวมหน้ากากทับลงไปก็ไม่มีอะไรอยู่ข้างไหนอยู่ดีอะไรอย่างนี้อะครับ
The People: ตอนนี้ คุณทำงานบริหารแล้ว (ผู้บริหารค่ายเพลง Gene Lab) คุณเอาหลักธรรมมาใช้ในการบริหารอย่างไรบ้าง
ปัณฑพล:
โดยหน้าที่การงานของผมมันจะมีสองสถานะก็คือการที่เราเป็นศิลปินกับการที่เราเป็นผู้บริหารถูกไหม เราเอาหลักการธรรมะหรือว่าเอาหลักคิดพวกนี้มาจับกับวิธีคิดในการทำงานของเราอย่างไรบ้าง
จริง ๆ หลักของพุทธองค์กว้างขวางมากนะครับ หลักในการบริหารคนอยู่ร่วมกับคน พรหมวิหาร 4 ก็ชัดเจนมาก ทิศ 6 อย่างนี้ หรือเรื่องของมรรคมีองค์ 8 สัมมาทิฏฐิ สัมมาอาชีวะ สัมมาอะไรต่าง ๆ มันก็ใช้ได้หมด ผมว่าธรรมะ ปรัชญาเนี่ย ในความเป็นพระพุทธศาสนา มันคือธรรมชาติครับ คือการอยู่อย่างไรกับสิ่งที่มันเป็น มันช่วยทุกอย่างในการทำงานทุกเรื่อง เมื่อเรารู้สึกว่าเมื่อผมทำเพราะผมต้องทำ ผมจะไม่ยึดติดว่าเมื่อผมต้องเป็นผู้บริหารผมก็จะต้องเป็นผู้บริหารไง มันต้องทำแบบนี้เมื่อผมเป็นนักร้องต้องทำแบบนี้มันจึงไม่ได้ยากที่จะถอดหัวโขนออก เพราะมันไม่ได้เป็นหัวโขนมันเป็นบทบาทที่ต้องทำตาม ก็คือแค่นั้น เราไม่ได้พยายามสวมตัวตนว่าเราต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพียงแค่เราเป็นเพราะภาวะบอกให้เราต้องเป็น เสร็จงานนี้ก็ไปต่ออีกงานหนึ่ง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3487
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
818
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Culture
Interview
The People
COCKTAIL
ศิลปิน
โอม ค็อกเทล