และแว นอยะธา ทหารพม่า ยกอยุธยาตีแตกยาก ดั่ง "เมืองคนบิน"
นายทหารพม่าผู้มีราชทินนามว่า และแว นอยะธา นามเดิมคือ อูเมี๊ยตต่าเหน่ (พ.ศ.2266-2334) ได้เข้าร่วมรบในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดยมากับทัพของเนเมียวสีหบดี ซึ่งยกทัพเข้ามาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ผ่านเข้ามาทางเมืองเชียงใหม่ ลำปาง สวรรคโลก พิชัย พิษณุโลก นครสวรรค์ สิงห์บุรี มุ่งสู่กรุงศรีอยุธยา
สิ่งที่น่าสนใจคือเขาเล่าเหตุการณ์เสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 และแสดงทัศนะต่อเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ในงานเขียนของเขาโดยเปรียบเมืองอยุธยาเป็นเมืองคนบิน!
การเล่าเหตุการณ์เสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 มีเรื่องเล่ามากมายหลายกระแสเสียง แต่เรื่องเล่าที่มักนำมาเล่าและผลิตซ้ำในนิยายและละครอิงประวัติศาสตร์ไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมาคือ การไล่ตามหาตัวผู้ร้ายที่คิดคดทรยศบ้านเมือง ตามหาว่าใครเป็นคนเปิดประตูให้ข้าศึกเข้ามาในกรุงศรีฯ ถามหาว่าใครเป็นไส้ศึกเพื่อจะรุมประณาม หรือการกล่าวหาว่าเป็นเพราะราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั่นแหละ ซึ่งทั้งหมดยังผูกติดอยู่กับชุดความรู้กรณีกรุงแตกภายใต้กรอบโครงเดิม ๆ ที่ไม่เปลี่ยนแปลงมานาน
แต่ในที่นี้ เราลองมามองเรื่องเล่าของนายทหารพม่าผู้รู้เห็นเหตุการณ์กรุงศรีฯ แตกกันบ้าง
และแว นอยะธา อาศัยเหตุการณ์ที่ตนได้พบเห็นและมีส่วนร่วมมาเป็นวัตถุดิบเรียงเป็นบทร้อยกรองที่ไพเราะและพรรณนาเหตุการณ์ครั้งนั้นได้อย่างละเอียดลออ บทร้อยกรองของเขามีชื่อว่า “โยดะยาหน่ายหม่อกูน” หรือที่ผมแปลว่า ลิลิตโยดะยาพ่าย/ลิลิตอยุธยาพ่าย
โยดะยาหน่ายหม่อกูน เป็นงานประพันธ์ประเภทหม่อกูนซึ่งคล้ายลิลิตของไทย มีวัตถุประสงค์ในการแต่งเพื่อประกาศเกียรติคุณบุคคลสำคัญ เช่น กษัตริย์ หม่อกูนใช้คำประพันธ์ประเภทกลอนสี่แบบพม่าคือ บาทหนึ่งมีสี่พยางค์รับส่งกันไป มีจำนวน 46 บท
เนื้อหาของลิลิตโยดะยาพ่าย แบ่งเป็น 5 ส่วนด้วยกัน ประกอบด้วยส่วนที่ 1 ว่าด้วยพันธกิจการตีกรุงศรีฯ เป็นมรดกที่พระเจ้ามังระต้องสานสืบต่อจากพระเจ้าอลองพญาซึ่งทำค้างมือไว้ และกล่าวถึงการรวบรวมกองทัพพม่าเพื่อไปตีล้านนาและล้านช้าง รวมถึงระบุชื่อแม่ทัพนายกองที่สำคัญ
ส่วนที่ 2 ว่าด้วยการยกทัพจากล้านนา ไล่ตีเมืองรายทางลงมายังกรุงศรีฯ ส่วนที่ 3 ว่าด้วยการตั้งรับศึกอย่างเข้มแข็งของอยุธยา และการรบเพื่อหาทางเข้าปิดล้อมกำแพงกรุงศรีฯ แบบปิดตาย ส่วนที่ 4 ว่าด้วยสภาพกรุงศรีฯ ก่อนกรุงแตก ฝ่ายอังวะใช้วิธีขุดอุโมงค์เข้าไปเผาฐานรากกำแพงจนพังครืนลงมา ทำให้ทัพอังวะสามารถเข้าเมืองได้ และส่วนที่ 5 ว่าด้วยการบำเหน็จรางวัลอวยยศแก่แม่ทัพนายกอง ประกาศสรรเสริญเกียรติคุณของพระเจ้ามังระ และบรรยายความสูญเสียที่เกิดขึ้นของทั้งสองฝ่าย
การอ่านงานวรรณกรรมชิ้นนี้พบว่า สิ่งที่นายทหารรายงานสดจากค่ายปากน้ำประสบหรืออาจเป็นค่ายโพธิ์สามต้น ใน พ.ศ.2310 เล่าว่าการที่จะพิชิตกรุงศรีฯ ให้ได้นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ยากกว่าทุกเมืองที่เคยไปมา เพราะเขาเล่าว่าชัยภูมิของอยุธยาได้เปรียบและเป็นเมืองที่มีที่ตั้งดีเยี่ยม ทัพอังวะเข้าปิดล้อมกรุงศรีฯ ทุกทิศทางเป็นเวลานานกว่า 14 เดือน เขารายงานว่าทางกรุงศรีฯ มีการเตรียมรับศึกเป็นอย่างดี โดยใช้วิธีรับศึกด้วยวิธีอุทกปราการใช้มวลน้ำเป็นปราการป้องกันกรุง
ยุทธวิธีอุทกปราการ ทำให้ทัพอังวะต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธี เขารายงานว่าแม่ทัพใหญ่คือเนเมียวสีหบดี เรียกนายกองต่าง ๆ ประชุมด่วน เพื่อวางหมากรุกฆาตกรุงศรีฯ ใหม่ มีมติให้ใช้กลศึกของพระมโหสถคือการขุดอุโมงค์สายเข้าไปในเมือง กลศึกพระมโหสถนี้ นักวิชาการสมัยใหม่เรียกว่า “tunnel warfare”
อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ก็มิได้เป็นข้อมูลใหม่อะไร เพราะมีเล่าอยู่ในพงศาวดารไทยและพม่า แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้เมื่ออ่านงานของนายทหารผู้นี้คือ ฝ่ายอังวะตะลึงในความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีฯ เขากล่าวย้ำแล้วย้ำอีกไว้ในลิลิตโยดะยาพ่ายว่า กรุงศรีฯ เข้มแข็งและมั่งคั่ง ทหารกรุงศรีฯ รบป้องกันพระนครอย่างแข็งขัน
เมื่ออ่านถึงกลอนบทที่ 32 ผมสะดุดโดนกับคำเปรียบที่นายทหารกวีผู้นี้ใช้เปรียบกรุงศรีฯ ว่า ขนาดปิดล้อมชนิดปิดตายมานานแล้วยังไม่สามารถตีเมืองได้ ชะรอยว่าจะเหมือนกับ “เมืองคนบิน”
พอพูดว่าตียากเหมือน “เมืองคนบิน” แวบแรกทำให้นึกถึงเมืองเป๊ะตะโนหรือเมืองพิษณุอันเป็นเมืองในวัฒนธรรมปยู ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 5-7 ร่วมสมัยกับยุคทวารวดีในดินแดนไทย เมืองเป๊ะตะโนนี้ก็พิชิตได้ยากมาก สมัยพระนางปั่นถวานั่งเมือง เวลามีศัตรูมารุกรานจะตีกลองใบใหญ่มหึมาเป็นสัญญาณ สิ้นเสียงกลองจะมีมวลน้ำหลากไหลมาตามคูคลองที่เป็นปราการ เอ่อท่วมรอบเมืองทำให้ศัตรูจมน้ำตาย
แต่ และแว นอยะธา เปรียบอยุธยากับเมืองคนบิน เมืองเป๊ะตะโนไม่มีเรื่องคนบิน ตำนานเมืองคนบินอยู่ในราชวงศ์ปกรณ์ยะไข่ ในตอนต้น ๆ เล่าว่า พี่น้องวาสุเทวะทั้งสิบ ซึ่งเป็นเจ้าชาย มีเจ้าชายวาสุเทวะเป็นพี่ใหญ่ ต้องการเข้าตีเมืองตั่นดแว (เมืองท่าโบราณที่มีความสำคัญอยู่ในรัฐยะไข่) แต่ไปตีกี่ครั้งกี่หนก็ไม่ได้เสียที เพราะเมืองตั่นดแวเป็นเมืองติดทะเล มีแม่น้ำล้อมรอบ ด้านหลังเป็นภูเขาสูง เมืองนี้มีเหล่ายักษ์เฝ้ารักษาเมืองจำนวนมาก
นายทหารผู้นี้รายงานว่า กองทัพอังวะยกมาแบบมืดฟ้ามัวดิน นอกจากพลอังวะแล้วยังมีไพร่พลที่ตีเก็บได้ตามรายทาง ไม่ว่าจะเป็น ไพร่พลเชียงใหม่ ลำปาง เงี้ยว ลื้อ เขิน ลาว สวรรคโลก พิชัย พิษณุโลก ฯลฯ เติมเพิ่มสมทบกันเข้าไปอีกพสุธากระหน่ำระส่ำระสาย นั่นยังไม่พอ ยังขนอาวุธปืนใหญ่ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “มยะตะปู่” มีปากกระบอกปืนกว้าง 4-6 นิ้ว ลำปืนยาว 4-6 ฟุต น้ำหนักเบาขนย้ายได้ง่ายและมีอานุภาพทำลายล้างสูงมาอีกเป็นจำนวนมาก มยะตะปู่เป็นอาวุธที่สำคัญในกองทัพพม่า พบหลักฐานว่าเริ่มใช้มากตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15
การปิดล้อมตีกรุงศรีครั้งนี้ต้องใช้ทั้งพละกำลังอาวุธที่ทันสมัย แค่นี้ไม่พอยังต้องมีปฏิภาณไหวพริบ ปัญญาและความเพียรเป็นเลิศอีกด้วย เขารู้สึกว่าทำไมเมืองนี้ถึงได้เข้าตีได้ยากเย็นเช่นนี้ จึงยกเปรียบเมืองอยุธยานี้ว่าเหมือนกับ “เมืองคนบิน”
ความลับของเมืองนี้คือ ถ้ามีศัตรูบุกเข้ามารุกรานถึงชานเมือง ตัวลาที่อยู่นอกกำแพงเมืองจะคอยทำหน้าที่ตรวจจับคนแปลกปลอมเข้าเมือง และจะให้เสียงเป็นสัญญาณว่ามีศัตรูบุก พอคนในเมืองได้ยินเสียงลา ยักษ์เฝ้าเมืองจะร่ายมนต์วิเศษทำให้คนที่อยู่ในเมืองทั้งหมดบินได้ คนในเมืองจะบินหลบหนีออกไปหลบอยู่ที่เกาะลับกลางมหาสมุทร เมื่อศัตรูยกทัพกลับ ลาตัวเดิมจะให้เสียงสัญญาณความปลอดภัย ผู้คนจะบินกลับเข้าเมืองดังเดิม เป็นอยู่อย่างนี้ ทำให้เมืองนี้ไม่เคยเสียแก่ศัตรู
ฝ่ายเจ้าชายวาสุเทวะพร้อมด้วยพี่น้องจนปัญญาไม่รู้จะทำอย่างไร จึงไปขอคำปรึกษาจากฤษีตนหนึ่ง ฤษีแนะนำว่าให้ไปประจบลาตัวนั้น ทำทีว่าเข้าไปขอเป็นลูกน้องลา พี่น้องวาสุเทวะทั้งสิบเข้าไปลูบหางลา อ้อนวอนคุกเข่าแทบเท้าลาเพื่อขอสวามิภักดิ์และล่อลวงให้ลาตัวนั้นบอกความลับ
เมื่อพี่น้องวาสุเทวะเข้ามาประจบประแจงเป็นลูกน้อง ลาก็หลงเผยความลับว่าให้ลอบเข้าเมืองตอนเที่ยงคืนพอดี ใช้ตอม่อเหล็กปักไว้ที่ประตูเมืองทั้งสี่ แอบซุ่มที่ประตูเมืองและเตรียมวงแหวนเหล็กกลมติดไว้ที่ปลายท่อนเหล็ก เมื่อลาตัวนั้นส่งสัญญาณให้เสียงเหมือนทุกครั้งว่ามีศัตรูบุกรุกมา ให้พี่น้องวาสุเทวะนำวงแหวนเหล็กที่ติดไว้กับท่อนเหล็ก สวมลงไปที่ตอม่อเหล็กที่ปักไว้ตามประตูเมือง จะทำให้มนตร์ของยักษ์เสื่อม คนในเมืองก็ไม่สามารถบินหนีออกไปที่เกาะลับได้ เมื่อทำตามนั้น พวกพี่น้องวาสุเทวะก็สามารถเข้าไปในเมืองเพื่อจับตัวกษัตริย์ที่บินหนีไม่ได้แล้วสังหารเสีย จากนั้นก็ยึดและเข้าปกครองเมืองคนบินนี้แทน
การยกอุปมา “เมืองคนบิน” ทำให้เห็นว่าอังวะต้องใช้วิทยายุทธ์หลากหลายในการพิชิตกรุงศรีฯ เข้าทำนองว่าไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ข้อมูลที่เอามาตีแผ่ทำให้เห็นฝ่ายตรงข้ามมองกรุงศรีฯ ว่ามิได้อ่อนแอและเข้าตีได้โดยง่าย ตรงกันข้ามกรุงศรีฯ ก็ยื้อเวลาป้องกันพระนครจนสุด ๆ แล้วแต่เสียเปรียบมากเพราะถูกปิดตาย ไม่มีกำลังพลมาเติม และฝ่ายตรงข้ามก็รู้ความลับเรื่องมวลน้ำแล้ว
การยกอุปมาว่าอยุธยาดั่งเมืองคนบิน อาจมองว่าเป็นการเสริมให้เห็นความเก่งกล้าของอังวะขึ้นไปอีก แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง สอดคล้องกับที่ปิดล้อมกรุงศรีฯ อยู่เป็นปีกว่า จนหลังวันกรุงแตกนายทหารยังรายงานว่าเหมือนโลกแตกถล่มทลาย อุทกปราการรอบกรุงแดงฉานไปด้วยดอกบัวแดงที่ลอยเหนือผิวน้ำ นั่นคือสภาพหลังกรุงแตกซึ่งเต็มไปด้วยคราบเลือดและศพคนตาย กลายเป็นความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย
ถ้าเราขยับขยายมุมมองออกไปอีกด้วยการมองว่า สงครามอังวะกับอยุธยาสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์โลก กรณีกรุงศรีฯ แตกเป็น trend ตามทฤษฎี Domino คือล้มตามกัน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกันในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือ กรุงศรีฯ แตก เสียกรุงตั้งกรุงธนฯ-กรุงเทพฯ ค.ศ.1767-1791 ราชวงศ์ตองอูยุคฟื้นฟูของพม่าล่มสลายเพราะกบฏมอญ ตั้งวงศ์อลองพญา ค.ศ.1752 ตระกูลเหงียนกับตระกูลตรินห์ของเวียดนามรบกันแยกตัวจากกัน ค.ศ.1773 อาณาจักรมะตะรัมในอินโดนีเซียล่ม เกิดขั้วอำนาจใหม่คือราชวงศ์ยกยาการ์ต้าและสุราการ์ตา ค.ศ. 1756
อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตว่า และแว นอยะธา เป็นอีกผู้หนึ่งที่ควรพิจารณาในฐานะผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในเวลาที่นักประวัติศาสตร์พูดถึงประวัติศาสตร์ช่วงกรุงศรีฯ แตก เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ว่า เราเล่าอย่างไรและเขาเล่าอย่างไร ซึ่งอาจช่วยปรับมุมมองและขยายองค์ความรู้ให้กว้างขวางออกไป และเข้าใจกรณีกรุงแตกได้อย่างที่ควรจะเป็น
เรื่อง: วทัญญู ฟักทอง
ภาพ: รูปวาดนายทหารร่วมสมัย (มิใช่ภาพ และแว นอยะธา) ของห้องสมุด วิคตอเรีย อัลเบิร์ต (Victoria and Albert Museum)